พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย |
|
---|---|
พระบรมนามาภิไธย | สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร |
ราชวงศ์ | ราชวงศ์จักรี |
ครองราชย์ | 7 กันยายน พ.ศ. 2352 - 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 |
ระยะครองราชย์ | 15 ปี |
รัชกาลก่อนหน้า | พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช |
รัชกาลถัดไป | พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว |
วัดประจำรัชกาล | วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร |
ข้อมูลส่วนพระองค์ | |
พระราชสมภพ | 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2310 |
สวรรคต | 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 รวมพระชนมพรรษา 57 พรรษา |
พระราชบิดา | พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช |
พระราชมารดา | สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี |
พระมเหสี | สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี |
พระราชโอรส/ธิดา | 73 พระองค์ |
พระบาทสมเด็จพระบรมราชพงศ์เชษมเหศวรสุนทร พระพุทธเลิศหล้านภาลัย (24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2310-21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 ครองราชย์ 7 กันยายนพ.ศ. 2352 - 21 กรกฎาคมพ.ศ. 2367) รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี
พระนามที่ปรากฏ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนั้น เพิ่งถวายพระนามเรียกเมื่อสมัยรัชกาลที่ 3 เนื่องจากพระปรมาภิไธยที่จารึกในพระสุพรรณบัฏ ของรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2 จะเหมือนกันทุกตัวอักษร เพราะในเวลานั้นยังไม่มีธรรมเนียมที่จะต้องมีพระปรมาภิไธยแตกต่างกันในแต่ละพระองค์ จนถึงรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา จึงทรงได้พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บัญญัติไว้ว่า ในแต่ละรัชกาลจะต้องมีพระปรมาภิไธยแตกต่างกัน เว้นแต่สร้อยพระปรมาภิไธยเท่านั้นที่อณุโลมให้ซ้ำกันได้บ้าง ส่วนคำนำหน้าพระนาม รัชกาลที่ 4 ก็ได้ทรงบัญญัติให้ใช้คำว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทร์ หรือ ปรเมนทร์ เป็นคำนำทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลำดับรัชกาลว่าจะเป็นเลขคี่หรือเลขคู่
เดิมทีเดียวคนสมัยก่อนมักเรียกรัชกาลที่ 1 ว่า แผ่นดินต้น และเรียกรัชกาลที่ 2 ว่า แผ่นดินกลาง เหตุเพราะพระนามในพระสุพรรณบัฎเหมือนกัน รัชกาลที่ 3 จึงไม่โปรดให้ใช้ตามอย่างรัชกาลที่ 1 และ 2 เพราะเหตุเช่นนั้นจะทำให้ประชาชนสมัยนั้นเรียกว่าแผ่นดินปลาย ซึ่งดูไม่เป็นมงคล
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงมีพระนามเดิมว่า ฉิม (สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร) พระราชสมภพเมื่อ วันพุธ ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 4 ปีกุน เวลาเช้า 5 ยาม ซึ่งตรงกับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2310 เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 4 ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสวยราชสมบัติ เมื่อปีมะเส็ง ปีพ.ศ. 2352 - 2367 ขณะมีพระชนมายุได้ 42 พรรษา
เนื้อหา |
[แก้] พระนามเต็ม
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีพระนามเต็มว่า พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราช รัตนากาศภาสกรวงศ์ องค์ปรมาธิเบศ ตรีภูวเนตรวรนายก ดิลกรัตนราชชาติอาชาวศรัย สมุทัยดโรมนต์ สากลจักรวาฬาธิเบนทร สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทรา ธาดาธิบดี ศรีวิบูลยคุณอกนิษฐ ฤทธิราเมศวรมหันต บรมธรรมิกราชาธิราชเดโชชัย พรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร์ ภูมิทรปรมาธิเบศ โลกเชษฐวิสุทธิ รัตนมกุฎประกาศ คตามหาพุทธางกูรบรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว
พระปรมาภิไธยที่จารึกในพระสุพรรณบัฏ ของรัชกาลที่ 1 รัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 3 เหมือนกันทุกตัวอักษร เนื่องจากในเวลานั้น ยังไม่มีธรรมเนียม ที่จะต้องมีพระปรมาภิไธยแตกต่างกัน ในแต่ละพระองค์ จนในรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บัญญัติไว้ว่า ในแต่ละรัชกาลจะต้องมีพระปรมาภิไธยแตกต่างกัน เว้นแต่สร้อยพระปรมาภิไธยเท่านั้นที่อนุโลมให้ซ้ำกันได้บ้าง ส่วนคำนำหน้าพระนาม รัชกาลที่ 4 ก็ได้ทรงบัญญัติให้ใช้คำว่า "พระบาทสมเด็จพระปรมินทร์ หรือปรเมนทร์" เป็นคำนำทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลำดับรัชกาลว่าจะเป็นเลขคี่หรือเลขคู่ เดิมทีเดียวคนสมัยก่อนมักเรียกรัชกาลที่ 1 ว่าแผ่นดินต้น และเรียกรัชกาลที่ 2 ว่าแผ่นดินกลาง เหตุเพราะพระนามในพระสุพรรณบัฎเหมือนกัน รัชกาลที่ 3 จึงไม่โปรดให้ใช้ตามอย่างรัชกาลที่ 1 และ 2 เพราะเหตุเช่นนั้น จะทำให้ประชาชนสมัยนั้นเรียกว่าแผ่นดินปลาย ซึ่งดูไม่เป็นมงคล
[แก้] ปราบดาภิเษก
เมื่อถึงวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2352 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จสวรรคตด้วยพระโรคชรา ขณะมีพระชนมายุได้ 73 พรรษา นับเวลาในการเสด็จครองราชย์ได้นานถึง 27 ปี สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร กรมพระราชวังบวรสถานมงคล จึงได้เสด็จขึ้นทรงราชย์สืบพระราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี ใช้พระนามเต็มว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยแต่เนื่องจากในระยะหัวเลี่ยวหัวต่อที่เสด็จขึ้นทรงราชย์มีเหตุการณ์ไม่ปกติ มีผู้ทิ้งหนังสือกล่าวหาพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ กรมขุนกษัตรานุชิต พระราชโอรสสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่ประสูติแต่พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ร่วมกับพรรคพวกคบคิดกันจะแย่งราชสมบัติ จึงมีการจับกุม เมื่อชำระได้ความแล้วเป็นสัตย์จริง จึงให้นำกรมขุนกษัตรานุชิตไปประหารด้วยท่อนจันท์ที่วัดปทุมคงคา และบรรดาสมัครพรรคพวกก็ให้ประหารชีวิตสิ้น ดังนั้นจึงไม่เรียกพิธีเสด็จขึ้นทรงราชย์ตามราชประเพณีว่าพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แต่เรียกว่าปราบดาภิเษกทั้งๆที่เนื้อหาแห่งพระราชพิธีก็คือพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณี[ต้องการอ้างอิง]
[แก้] พระปรีชาสามารถ
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระปรีชาสามารถในศิลปกรรมด้านต่างๆ หลายสาขา ดังจะขอยกตัวอย่างต่อไปนี้
[แก้] ด้านกวีนิพนธ์
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้รับการยกย่องว่า เป็นยุคทองของวรรณคดีสมัยหนึ่งเลยทีเดียว ด้านกาพย์กลอนเจริญสูงสุด จนมีคำกล่าวว่า "ในรัชกาลที่ 2 นั้น ใครเป็นกวีก็เป็นคนโปรด" กวีที่มีชื่อเสียงนอกจากพระองค์เองแล้ว ยังมีกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (รัชกาลที่ 3) สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส สุนทรภู่ พระยาตรัง และนายนรินทรธิเบศร์ (อิน) เป็นต้น พระองค์มีพระราชนิพนธ์ที่เป็นบทกลอนมากมาย ทรงเป็นยอดกวีด้านการแต่งบทละครทั้งละครในและละครนอก มีหลายเรื่องที่มีอยู่เดิมและทรงนำมาแต่งใหม่เพื่อให้ใช้ในการแสดงได้ เช่น รามเกียรติ์ อุณรุท และอิเหนา โดยเรื่องอิเหนานี้ เรื่องเดิมมีความยาวมาก ได้ทรงพระราชนิพนธ์ใหม่ตั้งแต่ต้นจนจบ เป็นเรื่องยาวที่สุดของพระองค์ วรรณคดีสโมสรในรัชกาลที่ 6 ได้ยกย่องให้เป็นยอดบทละครรำที่แต่งดี ยอดเยี่ยมทั้งเนื้อความ ทำนองกลอนและกระบวนการเล่นทั้งร้องและรำ นอกจากนี้ยังมีละครนอกอื่นๆ เช่น ไกรทอง สังข์ทอง ไชยเชษฐ์ หลวิชัยคาวี มณีพิชัย สังข์ศิลป์ชัย ได้ทรงเลือกเอาของเก่ามาทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นใหม่บางตอน และยังทรงพระราชนิพนธ์บทพากย์โขนอีกหลายชุด เช่น ชุดนางลอย ชุดนาคบาศ และชุดพรหมาสตร์ ซึ่งล้วนมีความไพเราะซาบซึ้งเป็นอมตะใช้แสดงมาจนทุกวันนี้
[แก้] ด้านปฏิมากรรม /ประติมากรรม
นอกจากจะทรงส่งเสริมงานช่างด้านหล่อพระพุทธรูปแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยยังได้ทรงพระราชอุตสาหะปั้นหุ่นพระพักตร์ของพระพุทธธรรมิศรราชโลกธาตุดิลก พระประธานในพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม อันเป็นพระพุทธรูปที่สำคัญยิ่งองค์หนึ่งไทยด้วยพระองค์เอง ซึ่งลักษณะและทรวดทรงของพระพุทธรูปองค์นี้เป็นแบบอย่างที่ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ 2 นี้เอง ส่วนด้านการช่างฝีมือและการแกะสลักลวดลายในรัชกาลของพระองค์ได้มีความเจริญก้าวหน้าไปอย่างมาก และพระองค์เองก็ทรงเป็นช่างทั้งการปั้นและการแกะสลักที่เชี่ยวชาญยิ่งพระองค์หนึ่งอย่างยากที่จะหาผู้ใดทัดเทียมได้ นอกจากฝีพระหัตถ์ในการปั้นพระพักตร์พระพุทธธรรมิศรราชโลกธาตุดิลกแล้ว ยังทรงแกะสลักบานประตูพระวิหารพระศรีศากยมุนี วัดสุทัศนเทพวราราม คู่หน้าด้วยพระองค์เองร่วมกับกรมหมื่นจิตรภักดี และทรงแกะหน้าหุ่นหน้าพระใหญ่และพระน้อยที่ทำจากไม้รักคู่หนึ่งที่เรียกว่าพระยารักใหญ่ และพระยารักน้อยไว้ด้วย
[แก้] ด้านดนตรี
กล่าวได้ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงมีพระปรีชาสามารถในด้านนี้ไม่น้อยไปกว่าด้านละครและฟ้อนรำ เครื่องดนตรีที่ทรงถนัดและโปรดปรานคือ ซอสามสาย ซึ่งซอคู่พระหัตถ์ที่สำคัญได้พระราชทานนามว่า "ซอสายฟ้าฟาด" และเพลงพระราชนิพนธ์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีคือ "เพลงบุหลันลอยเลื่อน" หรือ "บุหลัน (เลื่อน) ลอยฟ้า" แต่ต่อมามักจะเรียกว่า "เพลงทรงพระสุบิน" เพราะเพลงมีนี้มีกำเนิดมาจากพระสุบิน (ฝัน) ของพระองค์เอง โดยเล่ากันว่าคืนหนึ่งหลังจากได้ทรงซอสามสายจนดึก ก็เสด็จเข้าที่บรรทมแล้วทรงพระสุบินว่า ได้เสด็จไปยังดินแดนที่สวยงามดุจสวรรค์ ณ ที่นั่น มีพระจันทร์อันกระจ่างได้ลอยมาใกล้พระองค์ พร้อมกับมีเสียงทิพยดนตรีอันไพเราะยิ่ง ประทับแน่นในพระราชหฤทัย ครั้นทรงตื่นบรรทมก็ยังทรงจดจำเพลงนั้นได้ จึงได้เรียกพนักงานดนตรีมาต่อเพลงนั้นไว้ และทรงอนุญาตให้นำออกเผยแพร่ได้ เพลงนี้จึงเป็นที่แพร่หลายและรู้จักกันกว้างขวางมาจนทุกวันนี้
[แก้] เสด็จสวรรคต
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระประชวรด้วยโรคพิษไข้ ทรงไม่รู้สึกพระองค์เป็นเวลา 8 วัน พระอาการประชวรก็ได้ทรุดลงตามลำดับ และเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 สิริรวมพระชนมพรรษาได้ 57 พรรษา และครองราชสมบัติได้ 15 ปี
[แก้] พระมเหสี พระราชโอรส พระราชธิดา
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงมี พระราชโอรส - พระราชธิดา รวมทั้งสิ้น 73 พระองค์ โดยประสูติเมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร 47 พระองค์ ประสูติเมื่อดำรงพระอิสรยยศเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล 4 พระองค์ และประสูติภายหลังบรมราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์แล้ว 22 พระองค์[1]
ดูที่ พระมเหสี เจ้าจอม พระราชโอรส และ พระราชธิดา ในรัชกาลที่ 2
[แก้] ลำดับประวัติศาสตร์เหตุการณ์สำคัญ
โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมจัดพิธีอุปราชาภิเษก ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุ้ย ในรัชกาลที่ 1 ขึ้นเป็น สมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาเสนานุรักษ์ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระมหาอุปราชเจ้า
สถาปนาพระราชชนนีขึ้นเป็น กรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ พระราชชนนีในรัชกาล 2
กรุงสยามมีการเปลี่ยนธงประจำชาติ จากธงแดง เป็นธงช้าง มีลักษณะพื้นสีแดง ตรงกลางเป็นวงกลมสีขาว มีรูปช้างเผือกสีขาวภายในวงกลม แต่เมื่อจะใช้ชักเป็นธงบนเรือสินค้า ให้งดวงกลมออกเสีย เหลือแต่รูปช้างเผือกสีขาวเท่านั้น ดังนั้น บันทึกที่พบในต่างประเทศจึงระบุว่ากรุงสยาม ใช้ธงประจำชาติเป็นรูปช้างเผือกสีขาวบนพื้นแดง ดูเรื่อง ธงชาติไทย
- พ.ศ. 2310
- 24 กุมภาพันธ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยพระราชสมภพ ณ ตำบลอัมพวา เมืองสมุทรสงคราม พระนามเดิม ฉิม
- พ.ศ. 2325
- พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
- ทรงได้รับการสถาปนาพระยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร
- พ.ศ. 2352
- พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จสวรรคต
- พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนางกราบบังคมทูลอัญเชิญพระองค์ขึ้นครองราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ 2 แห่งพระราชวงศ์จักรี เฉลิมพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
- เจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิตกับพวก คิดกบฏ โปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ชำระความ
- สงครามกับพม่าที่เมืองถลาง
- พ.ศ. 2354
- โปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายไปกำกับราชการตามกระทรวงต่างๆ
- โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานออก "เดินสวนเดินนา"
- ออกพระราชกำหนดห้ามสูบและซื้อขายฝิ่น
- จัดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
- เกิดอหิวาตกโรคครั้งใหญ่
- โปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธี "อาพาธพินาศ"
- โปรดเกล้าฯ ให้กองทัพไทย ไประงับความวุ่นวายในกัมพูชา
- อิน-จัน แฝดสยามคู่แรกของโลกถือกำเนิดขึ้น
- พ.ศ. 2355
- โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระแก้วผลึก (พระพุทธบุษยรัตน์) จากเมืองจำปาศักดิ์มายังกรุงเทพฯ
- พ.ศ. 2356
- พม่าให้ชาวกรุงเก่านำสาส์นจากเจ้าเมืองเมาะตะมะมาขอทำไมตรีกับสยาม
- พระองค์เจ้าชายทับ (พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) ได้รับการสถาปนาเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์
- พ.ศ. 2357
- โปรดเกล้าฯ ให้ส่งคณะสมณทูตเดินทางไปศรีลังกา
- โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง นครเขื่อนขันธ์ ขึ้นที่บริเวณพระประแดง เพื่อสำหรับรับข้าศึกที่มาทางทะเล
- พ.ศ. 2359
- โปรดเกล้าฯ ให้จัดการปรับปรุงการสอบปริยัติธรรมใหม่ กำหนดขึ้นเป็น 9 ประโยค
- พ.ศ. 2360
- ทรงฟื้นฟูประเพณี วันวิสาขบูชา
- พ.ศ. 2361
- ขยายเขตพระบรมมหาราชวังจนจรดวัดพระเชตุพน โดยสร้างถนนท้ายวังคั่น
- โปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการออกแบบและสร้างสวนขวาขึ้นในพระบรมมหาราชวัง
- คณะสมณทูตที่พระองค์ทรงส่งไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาที่ ประเทศลังกาเดินทางกลับ
- เจ้าเมืองมาเก๊า ส่งทูตเข้ามาถวายพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการเพื่อเจริญทางพระราชไมตรี
- พ.ศ. 2363
- ฉลองวัดอรุณราชวราราม
- สังคายนาบทสวดมนต์ภาษาไทยครั้งแรก ในประเทศไทย
- โปรตุเกสตั้งสถานกงสุลในกรุงเทพฯ นับเป็นสถานกงสุลต่างชาติแห่งแรกของสยาม
- พ.ศ. 2365
- เซอร์จอห์น ครอฟอร์ด เป็นทูตเข้ามาเจริญพระราชไมตรี
- พ.ศ. 2367
- เสด็จสวรรคต
[แก้] ราชตระกูล
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย |
พระชนก: พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช |
พระอัยกาฝ่ายพระชนก: สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก |
พระปัยกาฝ่ายพระชนก: พระยาราชนิกูล (ทองคำ) |
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนก: ไม่มีข้อมูล |
|||
พระอัยยิกาฝ่ายพระชนก: พระอัครมเหสีหยก |
พระปัยกาฝ่ายพระชนก: ไม่มีข้อมูล |
||
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนก: ไม่มีข้อมูล |
|||
พระชนนี: สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี |
พระอัยกาฝ่ายพระชนนี: พระชนกทอง |
พระปัยกาฝ่ายพระชนนี: ไม่มีข้อมูล |
|
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนนี: ไม่มีข้อมูล |
|||
พระอัยยิกาฝ่ายพระชนนี: สมเด็จพระรูปศิริโสภาค มหานาคนารี |
พระปัยกาฝ่ายพระชนนี: ไม่มีข้อมูล |
||
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนนี: ไม่มีข้อมูล |
[แก้] ดูเพิ่ม
[แก้] อ้างอิง
- ^ ราชสกุลวงศ์ พระนามเจ้าฟ้าและพระองค์เจ้าในกรุงรัตนโกสินทร์, พระนคร, โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2475
สมัยก่อนหน้า | พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย | สมัยถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท | กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (พ.ศ. 2350 - 7 กันยายน พ.ศ. 2352) |
สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ | ||
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช | พระมหากษัตริย์สยาม (7 กันยายน พ.ศ. 2352 - 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367) |
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาเจษฎาบดินทร์ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว |
|
|
|
|