พ่อขุนรามคำแหงมหาราช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พ่อขุนรามคำแหงมหาราช
Ramkhamhaeng the Great.jpg
พระปรมาภิไธย พ่อขุนรามราช
พระอิสริยยศ พระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรสุโขทัย
ราชวงศ์ ราชวงศ์พระร่วง
ครองราชย์ พ.ศ. 1822-พ.ศ. 1841
(โดยประมาณ)
ระยะครองราชย์ 19 ปี (โดยประมาณ)
รัชกาลก่อนหน้า พ่อขุนบานเมือง
รัชกาลถัดไป พระยาเลอไทย
ข้อมูลส่วนพระองค์
พระราชสมภพ ระหว่าง พ.ศ. 1780-1790
สวรรคต พ.ศ. 1841
พระราชบิดา พ่อขุนศรีอินทราทิตย์
พระราชมารดา นางเสือง
    

พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 3 ในราชวงศ์พระร่วงแห่งราชอาณาจักรสุโขทัย เสวยราชย์ประมาณ พ.ศ. 1822 ถึงประมาณ พ.ศ. 1841 พระองค์ทรงรวบรวมอาณาจักรไทยจนเป็นปึกแผ่นกว้างขวาง ทั้งยังได้ทรงประดิษฐ์ตัวอักษรไทยขึ้น ทำให้ชาติไทยได้สะสมความรู้ทางศิลปะ วัฒนธรรม และวิชาการต่าง ๆ สืบทอดกันมากว่าเจ็ดร้อยปี

เนื้อหา

[แก้] พระราชประวัติ

ถ้าจะเปรียบพระมหากษัตริย์ทั้งหมด ในด้านความเป็นสัพพัญญู และพหูสูต พ่อขุนรามคำแหงก็น่าจะอยู่ในอันดับแรก เพราะพระองค์ทรงเป็นตัวอย่างในด้านความรอบรู้อย่างดี ที่ว่าเป็นตัวอย่างนั้น เพราะพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ในสมัยพระองค์ เริ่มต้นและเป็นไปอย่างราบรื่น เมื่อพระองค์เป็นผู้ริเริ่ม เป็นผู้ประเดิม จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะทรงเป็น มหาราช องค์แรกของไทย และควรจะนับได้ด้วยว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงเป็นมหาราชองค์เดียว ที่ไม่ต้องอาศัยสงครามและการสู้รบมาเสริมพระบารมี

[แก้] พระประสูติกาล

พ่อขุนรามคำแหงมหาราชเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 3 ของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์กับนางเสือง พระเชษฐาองค์แรกสิ้นพระชนม์ตั้งแต่พ่อขุนรามคำแหง ยังทรงพระเยาว์ พระเชษฐาองค์ที่สองทรงพระนามตามศิลาจารึกว่า "พระยาบานเมือง" ซึ่งได้เสวยราชย์ต่อจากพระราชบิดา และเมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว พ่อขุนรามคำแหงมหาราชก็เสวยราชย์แทนต่อมา

ตามพงศาวดารโยนก พ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งสุโขทัย พ่อขุนเม็งรายมหาราชแห่งล้านนา และพ่อขุนงำเมืองแห่งพะเยา เป็นศิษย์ร่วมพระอาจารย์เดียวกัน ณ สำนักพระสุตทันตฤๅษี ที่เมืองละโว้ จึงน่าจะมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน โดยพ่อขุนเม็งรายประสูติเมื่อ พ.ศ. 1782 พ่อขุนรามฯ น่าจะประสูติในปีใกล้เคียงกันนี้

[แก้] พระนาม

เมื่อพ่อขุนรามคำแหงมหาราชมีพระชนมายุสิบเก้าพรรษา ได้ทรงทำยุทธหัตถีมีชัยต่อขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด (อยู่บนน้ำแม่สอดใกล้จังหวัดตาก แต่อาจจะอยู่ในเขตประเทศพม่าในปัจจุบัน) พระราชบิดาจึงทรงขนานพระนามว่า "พระรามคำแหง" ซึ่งแปลว่า "พระรามผู้กล้าหาญ"

ราชบัณฑิตยสถานสันนิษฐานว่า พระนามเดิมของพระองค์คือ "ราม" เพราะปรากฏพระนามเมื่อเสวยราชย์แล้วว่า "พ่อขุนรามราช" อนึ่ง สมัยนั้นนิยมนำชื่อปู่มาตั้งเป็นชื่อหลาน ซึ่งตามศิลาจารึกหลักที่ 11 พระราชนัดดาของพระองค์มีพระนามว่า "พระยาพระราม" และในชั้นพระราชนัดดาของพระราชนัดดา ในเหตุการณ์การแย่งชิงราชสมบัติกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 1962 ตามพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ปรากฏเจ้าเมืองพระนามว่า "พระยาบาลเมือง" และ "พระยาราม"

[แก้] การเสวยราชย์

นายตรี อมาตยกุล ได้เสนอว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราชน่าจะเสวยราชย์ พ.ศ. 1820 เพราะเป็นปีที่ทรงปลูกต้นตาลที่สุโขทัย

ศาสตราจารย์ประเสริฐ ณ นคร ราชบัณฑิต จึงได้หาหลักฐานมาประกอบพบว่า กษัตริย์ไทยอาหมถือประเพณีทรงปลูกต้นไทรตอนขึ้นเสวยราชย์อย่างน้อยเจ็ดรัชกาลด้วยกัน ทั้งนี้ เพื่อสร้างโชคชัยว่ารัชกาลจะอยู่ยืนยงเหมือนต้นไทร อนึ่ง ต้นตาลและต้นไทรเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของลังกาจนทำหาย

[แก้] พระราชกรณียกิจ

รัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชเป็นยุคที่กรุงสุโขทัยเฟื่องฟูและเจริญขึ้นกว่าเดิมเป็นอันมาก ระบบการปกครองภายในก่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยอย่างมีประสิทธิภาพ มีการติดต่อสัมพันธ์กับต่างประเทศทั้งในด้านเศรษฐิกิจและการเมือง ประชาชนอยู่ดีกินดี สภาพบ้านเมืองก้าวหน้าทั้งทางเกษตร การชลประทาน การอุตสาหกรรม และการศาสนา อาณาเขตของกรุงสุโขทัยได้ขยายออกไปกว้างใหญ่ไพศาล

[แก้] การบริหารรัฐกิจ

เมื่อพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ทรงขจัดอิทธิพลของเขมรออกไปจากกรุงสุโขทัยได้ในปลายพุทธศตวรรษที่ 18 การปกครองของกษัตริย์สุโขทัยได้ใช้ระบบปิตุราชาธิปไตยหรือ "พ่อปกครองลูก" ดังข้อความในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงว่า

Cquote1.svg

...เมื่อชั่วพ่อกู กูบำเรอแก่พ่อกู กูได้ตัวเนื้อตัวปลา กูเอามาแก่พ่อกู กูได้หมากส้มหมากหวาน อันใดกินอร่อยดี กูเอามาแก่พ่อกู กูไปตีหนังวังช้างได้ กูเอามาแก่พ่อกู กูไปท่อบ้านท่อเมือง ได้ช้างได้งวง ได้ปั่วได้นาง ได้เงือนได้ทอง กูเอามาเวนแก่พ่อกู...

Cquote2.svg

ข้อความดังกล่าวแสดงการนับถือบิดามารดา และถือว่าความผูกพันในครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญ ครอบครัวทั้งหลายรวมกันเข้าเป็นเมืองหรือรัฐ มีเจ้าเมืองหรือพระมหากษัตริย์เป็นหัวหน้าครอบครัว

ปรากฏข้อความในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงว่าพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงใช้พระราชอำนาจในการยุติธรรมและนิติบัญญัติไว้ดังต่อไปนี้ 1) ราษฎรสามารถค้าขายได้โดยเสรี เจ้าเมืองไม่เรียกเก็บจังกอบหรือภาษีผ่านทาง 2) ผู้ใดล้มตายลง ทรัพย์มรดกก็ตกแก่บุตร และ 3) หากผู้ใดไม่ได้รับความเป็นธรรมในกรณีพิพาท ก็มีสิทธิไปสั่นกระดิ่งที่แขวนไว้หน้าประตูวังเพื่อถวายฎีกาต่อพระมหากษัตริย์ได้

นอกจากนี้ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชยังทรงใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องช่วยในการปกครอง โดยได้ทรงสร้างพระแท่นมนังคศิลาบาตรขึ้น เพื่อให้พระเถรานุเถระแสดงพระธรรมเทศนาแก่ประชาชนในวันพระ ส่วนวันธรรมดาพระองค์จะเสรด็จประทับเป็นประธานให้เจ้านายและข้าราชการปรึกษาราชการร่วมกัน

พระราชกรณียกิจที่สำคัญของพ่อขุนรามคำแหง มีดังนี้ 1. ด้านการเมืองการปกครอง พระราชกรณียกิจทางด้านการเมืองการปกครองของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ประกอบด้วย 1.1 ทรงทำสงครามขยายอาณาเขตไปอย่างกว้างขวางมากที่สุดในสมัยสุโขทัย 1.2 โปรดให้สร้างพระแท่นศิลาขึ้น เรียกว่า “พระแท่นมนังคศิลาบาตร” ตั้งไว้กลางดงตาลสำหรับไว้ให้พระภิกษุสงฆ์ขึ้นแสดงธรรมสวนะและทรงใช้เป็นที่ประทับสำหรับอบรมสั่งสอนบรรดาขุนนางและพสกนิกรในวันธรรมดา 1.3 ทรงเอาพระทัยใส่ดูแลทุกข์สุขของราษฎรอย่างใกล้ชิด พระองค์โปรดให้แขวนกระดิ่งไว้ที่พระดูพระราชวัง เพื่อให้ราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนและไม่ได้รับความเป็นธรรม ไปสั่นกระดิ่งกราบทูลความเดือดร้อนของตนให้พระองค์ทราบ พระองค์ก็จะทรงตัดสินด้วยพระองค์เอง 2. ด้านเศรษฐกิจ พระราชกรณียกิจทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญของพ่ขุนรามคำแหงมหาราช ประกอบด้วย 2.1 โปรดให้สร้างทำนบกักน้ำที่เรียกว่า “สรีดภงส์” เพื่อนำน้ำไปใช้ในตัวเมืองสุโขทัยและบริเวณใกล้เคียง โดยอาศัยแนวคันดินที่เรียกว่า “เขื่อนพระร่วง” ทำให้มีน้ำสำหรับใช้ในการเพาะปลูกและอุปโภคบริโภคในยาม ที่บ้านเมืองขาดแคลนน้ำ 2.2 ทรงส่งเสริมการค้าขายภายในราชอาณาจักรเป็นอย่างดีด้วยการไม่เก็บภาษีผ่านด่านหรือ “จกอบ” (จังกอบ) จากบรรดาพ่อค้าที่เข้ามาค้าขายในกรุงสุโขทัย ทำให้การค้าขายขายออกไปอย่างกว้างขวาง 3. ด้านวัฒนธรรม พระราชกรณียกิจที่สำคัญของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทางด้านวัฒนธรรม มีดังนี้ 3.1 ทรงคิดประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใช้แทนตัวอักษรขอมที่เคยใช้กันมาแต่เดิม เมื่อ พ.ศ. 1826 เรียกว่า “ลายสือไทย” และได้มีการพัฒนาการมาเป็นลำดับจนถึงอักษรไทยในยุคปัจจุบัน ทำให้คนไทยมีอักษรไทยใช้มาจนถึงทุกวันนี้ 3.2 ทรงรับเอาพระพุทธศาสนา นิกายเถรวาท ลัท ธิลังกาวงศ์ จากลังกา ผ่านเมืองนครศรีธรรมราช มาประดิษฐานที่เมืองสุโขทัย ทำให้พระพุทธศาสนาวางรากฐานมั่นคงในอาณาจักรสุโขทัย และเผยแผ่ไปยังหัวเมืองต่างๆในราชอาณาจักรสุโขทัย จนกระทั่งได้กลายเป็นศาสนาประจำชาติไทยมาจนถึงทุกวันนี้ 3.3 โปรดให้จารึกเรื่องราวบางส่วนที่เกิดในสมัยของพระองค์ โดยปรากฏอยู่ในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 ทำให้คนไทยยุคหลังได้ทราบ และนักประวัติศาสตร์ได้ใช้ศิลาจารึกดังกล่าวเป็นข้อมูลหลักฐานในการศึกษาค้นคว้าเรื่องราวประวัติศาสตร์สุโขทัย 4. ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ พระราชกรณียกิจทางด้านความสำคัญระหว่าง ประเทศของพ่อขุนรามคำแหง ได้แก่ การใช้ความสัมพันธ์ทางด้านการทูตและความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรม โดยเฉพาะทางด้านพระพุทธศาสนาแทนการทำสงคราม ทำให้สุโขทัยมีแต่ความสงบร่มเย็น ไม่เกิดสงครามกับแคว้นต่างๆ ในสมัยของพระองค์ และได้หัวเมืองประเทศราชเพิ่มขึ้นอีกด้วย

[แก้] อาณาเขต

พ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ทรงขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวางไพศาล คือ

[แก้] ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ทรงทำพระราชไมตรีกับพ่อขุนเม็งรายมหาราชแห่งล้านนา และพ่อขุนงำเมืองแห่งพะเยา โดยทรงยินยอมให้พ่อขุนเม็งรายมหาราชขยายอาณาเขตล้านนาทางแม่น้ำกก แม่น้ำปิง และแม่น้ำวังได้อย่างสะดวก เพื่อให้เป็นกันชนระหว่างจีนกับสุโขทัย กับทั้งยังได้เสด็จไปทรงช่วยเหลือพ่อขุนเม็งรายมหาราชหาชัยภูมิสร้างเมืองเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. 1839 ด้วย

ทางประเทศมอญ มีพ่อค้าไทยใหญ่ชื่อ "มะกะโท" เข้ารับราชการอยู่ในราชสำนักของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มะกะโทได้ผูกสมัครรักใคร่กับพระธิดาของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช แล้วพากันหนีไปอยู่เมืองเมาะตะมะ ต่อมาได้ฆ่าเจ้าเมืองและขึ้นเป็นแทนเมื่อ พ.ศ. 1824 แล้วจึงขออภัยโทษต่อพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ขอพระราชทานนาม และขอยินยอมเป็นประเทศราชของกรุงสุโขทัย ซึ่งพ่อขุนรามคำแหงได้พระราชทานนามว่า "พระเจ้าฟ้ารั่ว"

ทางทิศใต้ ได้ทรงอาราธนาพระมหาเถรสังฆราชผู้เรียนจบพระไตรปิฎกมาจากนครศรีธรรมราช ให้มาเผยแพ่พุทธศาสนาในกรุงสุโขทัย

ส่วนด้านเมืองละโว้นั้นทรงปล่อยให้เป็นเอกราชอยู่ เพราะปรากฏว่ายังส่งเครื่องบรรณาการไปจีนอยู่ระหว่าง พ.ศ. 1834 ถึง พ.ศ. 1840 ทั้งนี้ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชก็คงจะได้ทรงผูกไมตรีกับเมืองละโว้ไว้ นอกจากนี้ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชเองก็ทรงส่งราชทูตไปจีนสามครั้งเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี

[แก้] ประดิษฐกรรม

พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใช้เมื่อ พ.ศ. 1826 ตัวหนังสือไทยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชมีลักษณะพิเศษกว่าตัวหนังสือของชาติอื่นซึ่งขอยืมตัวหนังสือของอินเดียมาใช้ กล่าวคือ พระองค์ได้ทรงประดิษฐ์พยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ เพิ่มขึ้นให้สามารถเขียนแทนเสียงพูดของคำในภาษาไทยได้ทุกคำ กับทั้งได้นำสระและพยัญชนะมาอยู่ในบรรทัดเดียวกันโดยไม่ต้องใช้พยัญชนะซ้อนกัน ทำให้เขียนและอ่านหนังสือไทยได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น

[แก้] วรรณกรรม

วรรณกรรมสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชสูญหายไปหมดแล้ว คงเหลือแต่ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง (พ.ศ. 1835) ซึ่งแม้จะมีข้อความเป็นร้อยแก้ว แต่ก็มีสัมผัสคล้องจองทำให้ไพเราะซาบซึ้งตรึงใจ เช่น

Cquote1.svg

...ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว...ลูท่างเพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย...เห็นข้าวท่านบ่ใคร่พิน เห็นสินท่านบ่ใคร่เดือด

Cquote2.svg

นับเป็นวรรณคดีเริ่มแรกของกรุงสุโขทัยซึ่งตกทอดมาถึงปัจจุบันโดยมิได้มีผู้คัดลอกให้ผิดเพี้ยนไปจากเดิม

อย่างไรก็ดี ในช่วงตั้งแต่ พ.ศ. 2520 เป็นต้นมา มีข้อสงสัยทางวิชาการว่าศิลาจารึกดังกล่าวจะมิได้ทำขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และมีผู้เสนอว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพบศิลานั้นเมื่อเสด็จจาริกธุดงค์ เป็นผู้ทรงทำศิลานั้นขึ้นเพื่อเหตุผลทางการเมืองในการสร้างประวัติศาสตร์ชาติไทยให้ชาติตะวันตกเห็นว่ามีและรุ่งเรืองมาอย่างยาวนาน เป็นการป้องปัดภัยการล่าอาณานิคมในสมัยนั้น ทั้งนี้ข้อสงสัยนี้กำลังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่

[แก้] อ้างอิง

  • ตรี อมาตยกุล. (2523, 2524, 2525 และ 2527). "ประวัติศาสตร์สุโขทัย." แถลงงานประวัติศาสตร์ เอกสารโบราณคดี, (ปีที่ 14 เล่ม 1, ปีที่ 15 เล่ม 1, ปีที่ 16 เล่ม 1 และปีที่ 18 เล่ม 1).
  • ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 1. (2521). คณะกรรมการพิจารณาและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี.
  • ประเสริฐ ณ นคร. (2534). "ประวัติศาสตร์สุโขทัยจากจารึก." งานจารึกและประวัติศาสตร์ของประเสริฐ ณ นคร. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน.
  • ประเสริฐ ณ นคร. (2544). "รามคำแหงมหาราช, พ่อขุน". สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน, (เล่ม 25 : ราชบัณฑิตยสถาน-โลกธรรม). กรุงเทพฯ : สหมิตรพริ้นติ้ง. หน้า 15887-15892.
  • ประเสริฐ ณ นคร. (2534). "ลายสือไทย". งานจารึกและประวัติศาสตร์ของประเสริฐ ณ นคร. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน.
  • เจ้าพระยาพระคลัง (หน). (2515). ราชาธิราช. พระนคร : บรรณาการ.

[แก้] ดูเพิ่ม

สมัยก่อนหน้า พ่อขุนรามคำแหงมหาราช สมัยถัดไป
พ่อขุนบานเมือง
ราชวงศ์พระร่วง
2leftarrow.png พระมหากษัตริย์ไทย
อาณาจักรสุโขทัย

(ประมาณ พ.ศ. 1820-ประมาณ พ.ศ. 1841)
2rightarrow.png พระยาเลอไทย
ราชวงศ์พระร่วง


เครื่องมือส่วนตัว

สิ่งที่แตกต่าง
การกระทำ
ป้ายบอกทาง
มีส่วนร่วม
พิมพ์/ส่งออก
เครื่องมือ
ภาษาอื่น