สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
Pra sath thong.jpg
พระบรมนามาภิไธย พระองค์ไล
พระอิสริยยศ พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา
ครองราชย์ พ.ศ. 2173
ระยะครองราชย์ 25 ปี
รัชกาลก่อนหน้า พระอาทิตยวงศ์
รัชกาลถัดไป สมเด็จเจ้าฟ้าไชย
ข้อมูลส่วนพระองค์
พระราชสมภพ พ.ศ. 2143
สวรรคต พ.ศ. 2199
พระราชบิดา ออกญาศรีธรรมาธิราช
พระราชโอรส/ธิดา สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
    

สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 5 พระมหากษัตริย์อาณาจักรอยุธยาพระองค์ที่ 24 (ครองราชย์ พ.ศ. 2173 - พ.ศ. 2199) และทรงเป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ปราสาททอง ราชวงศ์ลำดับที่ 4 ของอาณาจักรอยุธยา

เนื้อหา

[แก้] พระนาม

  1. เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ (บรรดาศักดิ์)
  2. พระเจ้าปราสาททอง (เมื่อครองราชย์)
  3. พระสรรเพชญ์ที่ 5 (พระราชพงศาวดาร)
  4. พระรามาธิเบศร (คำให้การชาวกรุงเก่า)

[แก้] พระราชประวัติ

[แก้] พื้นเพเดิม

[แก้] แนวความคิดที่หนึ่ง

เป็นตำนานเล่ากันมาว่า เมื่อสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถยังเป็นพระมหาอุปราชอยู่ วันหนึ่งเสด็จประพาสลำน้ำมาถึงเกาะบางปะอิน เรือพระที่นั่งถูกพายุพัดจนล่มจึงต้องเสด็จไปอาศัยบนเกาะบางปะอิน จึงได้นางอิน หญิงบนเกาะมาเป็นบาทบริจาริกาจนนางคลอดบุตรเป็นชาย สมเด็จพระเอกาทศรถจะรับเป็นพระโอรสก็ละอายพระทัยจึงทรงรับไปเลี้ยงแต่เด็กจนกระทั่งเติบใหญ่

[แก้] แนวความคิดที่สอง

มาจากจดหมายเหตุวัน วลิต ซึ่งเป็นเอกสารที่เขียนในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง กล่าวว่าพระเจ้าปราสาททองนั้นเป็นบุตรออกญาศรีธรรมาธิราช ซึ่งเป็นพี่ชายคนใหญ่ของพระชนนีสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม คนทั้งหลายเรียกท่านกันว่า พระองค์ไล ประสูติในปีชวด รัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (ตรงกับ พ.ศ. 2143)

[แก้] การรับราชการ

วัน วลิตกล่าวไว้ว่า พระองค์ไลได้เริ่มต้นรับราชการโดยเริ่มจากการเป็นมหาดเล็ก แล้วจึงได้เลื่อนเป็นหุ้มแพร และได้เลื่อนเป็นจมื่นศรีสรรักษ์ เมื่อจมื่นศรีสรรักษ์มีอายุได้ 18 ปี ได้ไปก่อเหตุทำร้ายพระยาแรกนาแล้วหนีไปหลบอยู่ในวัด พระเจ้าอยู่หัวจึงให้จับตัวออกญาศรีธรรมาธิราชผู้เป็นบิดาไปขัง จมื่นศรีสรรักษ์จึงเข้ามามอบตัว มีรับสั่งให้จับไปขังคุก 5 เดือน แต่ เจ้าขรัวมณีจันทร์ พระชายาม่ายในสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงมาทูลขอพระราชทานอภัยโทษแทน จมื่นศรีสรรักษ์จึงได้รับพระราชทานอภัยโทษออกมารับราชการตามเดิม แต่จมื่นศรีสรรักษ์ก็ยังก่อเรื่องวุ่นวายอีกจนถูกจำคุกอีกสองหน ต่อมาได้เลื่อนเป็นจมื่นสรรเพชญ์ภักดี และได้เลื่อนเป็นออกญาศรีวรวงศ์ตามลำดับ เป็นขุนนางที่ไว้วางพระราชหฤทัยอย่างมาก

จนถึง พ.ศ. 2171 สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมประชวรหนัก จึงให้ออกญาศรีวรวงศ์เชิญกระแสรับสั่งออกในที่ประชุมขุนนางเรื่องรัชทายาท ซึ่งเหล่าขุนนางมีความเห็นแตกเป็นสองฝ่าย

  • สนับสนุนพระเชษฐาธิราช พระโอรสองค์ใหญ่ของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งมีพระชนมายุ 14 ชันษา
  • สนับสนุนพระศรีศิลป์ พระอนุชาของพระเจ้าทรงธรรมซึ่งผนวชอยู่ที่วัดระฆัง ฝ่ายนี้มี ออกญากลาโหม ออกญาท้ายน้ำ ออกหลวงธรรมไตรโลก ออกพระศรีเนาวรัตน์และออกพระจุฬา (ราชมนตรี) สนับสนุน

สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมมีพระราชประสงค์ให้พระเชษฐาธิราชได้ครองราชสมบัติ ทรงมีรับสั่งให้ออกญาศรีวรวงศ์ แจ้งให้บรรดาเสนาบดีทราบ

วันรุ่งขึ้นหลังสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมสวรรคต พระยาศรีวรวงศ์แจ้งให้เหล่าขุนนางทราบว่าทรงให้พระเชษฐาธิราชครองราชย์ต่อ สมเด็จพระเชษฐาธิราชจึงเสด็จขึ้นครองราชสมบัติต่อจากพระบิดา ระหว่างพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา พระยาศรีวรวงศ์สั่งให้จับออกญากลาโหมกับขุนนางที่สนับสนุนพระศรีศิลป์ไปประหารชีวิตที่ท่าช้าง แล้วริบทรัพย์สมบัติมาแจกจ่ายผู้มีความชอบ สมเด็จพระเชษฐาธิราชทรงตั้งพระยาศรีวรวงศ์เป็น เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ เสนาบดีที่สมุหพระกลาโหม แทนเจ้าพระยามหาเสนาบดีที่ถูกประหาร เรียกกันสั้นๆว่า ออกญากลาโหม

ภายหลังออกญากลาโหมได้ให้ออกญาเสนาภิมุขไปลวงพระศรีศิลป์มาสังหารทิ้ง

[แก้] การแย่งชิงราชสมบัติ

ใน พ.ศ. 2173 มารดาของเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ถึงแก่กรรม (จดหมายเหตุวัน วลิตกล่าวว่าน้องชาย) เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ได้จัดงานศพอย่างใหญ่โต ขุนนางทั้งหลายต่างไปช่วย บางคนถึงกับไปนอนค้าง เมื่อสมเด็จพระเชษฐาธิราชออกว่าราชการ มีข้าราชการหายไปจำนวนมากจึงทรงพระพิโรธว่าจะลงอาญาข้าราชการเหล่านั้น เหล่าข้าราชการจึงไปขอพึ่งเจ้าพระยากลาโหม และไม่ไปเข้าเฝ้า พวกข้าหลวงเดิมก็ทูลยุยงว่าเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์คิดเป็นกบฏ จึงทรงให้ข้าหลวงไปหลอกให้เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์เข้าวังมาเพื่อสังหารทิ้ง แต่เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์รู้ตัวก่อนจึงประกาศแก่คนทั้งปวงว่า

Cquote1.svg

...เราได้ทำราชการมาด้วยความสุจริต เดี๋ยวนี้พระเจ้าแผ่นดินพาลเอาผิดว่าคิดกบฏ เมื่อภัยมาถึงตัวก็จำต้องเป็นกบฏตามรับสั่ง...

Cquote2.svg

ข้าราชการทั้งปวงก็พากันเข้าด้วย จึงคุมกำลังเข้ามาปล้นพระราชวัง จับสมเด็จพระเชษฐาธิราชไปปลงพระชนม์

ข้าราชการทั้งปวงจึงอัญเชิญเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ให้ขึ้นครองราชย์ แต่เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ปฏิเสธและอัญเชิญสมเด็จพระอาทิตยวงศ์ พระโอรสองค์เล็กของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมขึ้นครองราชสมบัติสืบไป โดยมีเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เพราะยังทรงพระเยาว์มาก วันๆ ได้แต่ทรงเล่นสนุก ขุนนางทั้งปวงจึงไปขอร้องให้เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ขึ้นครองบัลลังก์เพื่อเห็นแก่บ้านเมือง เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์จึงปลงพระอาทิตยวงศ์ลงจากราชสมบัติ แล้วจึงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ใน พ.ศ. 2173 เมื่อมีพระชนมายุได้ 30 พรรษา ทรงพระนาม สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง


ทรงครองราชย์ได้ 25 ปี สวรรคตลงในปี พ.ศ. 2198 พระชนมายุได้ 55 พรรษา

[แก้] พระราชกรณียกิจ

[แก้] การพระราชทานรางวัล

เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ โปรดให้เลื่อนยศและตำแหน่งแก่ผู้ร่วมก่อการมากับพระองค์ เช่นจมื่นสรรเพชญ์ภักดี ผู้เขียนหนังสือเป็นรหัสบอกพระองค์ โปรดแต่งตั้งเป็นพระยาราชภักดี เจ้ากรมพระคลังมหาสมบัติ

[แก้] การสงคราม

พระองค์ได้เสด็จยกทัพไปตีเขมร ซึ่งเป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา แต่ได้แข็งเมืองมาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ทำให้เขมรกลับมาเป็นหัวเมืองประเทศราชของกรุงศรีอยุธยาดังเดิม

ในตอนต้นรัชสมัยของพระองค์ หัวเมืองประเทศราชทางใต้ คิดกบฏยกทัพไปตีเมืองสงขลาและเมืองพัทลุง พระองค์ได้ส่งกองทัพไปปราบปรามได้ราบคาบ แต่ในขณะเดียวกันก็เสียเมืองเชียงใหม่ และหัวเมืองล้านนาแก่พม่า

(ไม่เคยมีหลักฐานชั้นต้นไหน ที่ระบุว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ทรงยกทัพไปตีเขมร มีแต่ในพระราชนิพนธ์ ไทยรบพม่า ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ แต่เพียงพระองค์เดียว ซึ่งก็ไม่มีที่มาอีกว่า พระองค์ไปได้แหล่งอ้างอิงมาจากไหน)

[แก้] การตรากฎหมาย

ในรัชสมัยของพระองค์ได้มีการตรากฎหมายที่สำคัญ เช่น พระไอยการลักษณะอุทธรณ์ พระไอยการลักษณะมรดก พระไอยการลักษณะกู้หนี้ และพระธรรมนูญ

[แก้] การลบศักราช

ในปีจุลศักราช 1000 ตรงกับปีขาล (พ.ศ. 2181) ซึ่งมีความเชื่อกันว่าจะเกิดเหตุร้ายแรงถึงขั้นกลียุค พระองค์จึงทรงให้จัดพิธีลบศักราช เปลี่ยนจากปีขาลเป็นปีกุน แล้วแจ้งให้หัวเมืองน้อยใหญ่รวมทั้งเมืองประเทศราช ให้ใช้ปีศักราชตามที่ทางกรุงศรีอยุธยากำหนดขึ้นมาใหม่ [1]

[แก้] การสร้างปราสาทราชวัง

ทรงสร้างปราสาทหลายหลังเช่นการสร้างพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์และการสร้างพระที่นั่งวิหารสมเด็จขึ้นแทนพระที่นั่งมังคลาภิเศกที่ถูกไฟใหม้

ใน พ.ศ. 2175 พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ พร้อมทั้งหมู่พระราชนิเวศ และวัดชุมพลนิกายาราม ขึ้นที่บางปะอิน อันเป็นสถานที่ประสูติของพระองค์ สำหรับไว้เป็นที่แปรพระราชฐาน

[แก้] การพระศาสนา

พระองค์มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง และได้ทรงสถาปนาวัดสำคัญ ๆ หลายวัด เช่น วัดไชยวัฒนาราม วัดพระศรีสรรเพชญ์ และวัดชุมพลนิกายารามราชวรวิหาร ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ปฏิสังขรณ์พระปรางค์วัดมหาธาตุ และโปรดที่จะเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค ไปทรงนมัสการรอยพระพุทธบาทที่สระบุรี มีการสร้างพระปรางค์ตามแบบขอม เป็นการเริ่มต้นรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยที่ 3 ของกรุงศรีอยุธยา (ยุคของพระเจ้าปราสาททองถึงพระเจ้าท้ายสระ)

[แก้] ที่มาของพระนามปราสาททอง

เหตุที่ทรงใช้พระนามว่าปราสาททอง อันเป็นชื่อเดียวกับชื่อราชวงศ์ด้วย ในคำให้การชาวกรุงเก่าและคำให้การขุนหลวงหาวัดระบุว่า เมื่อพระองค์ครองราชย์แล้ววันหนึ่งทรงพระสุบินว่าได้ขุดค้นพบปราสาททองหลังหนึ่งฝังอยู่ในจอมปลวกที่พระองค์เคยประทับเล่นเมื่อทรงพระเยาว์ จึงให้ไปขุดที่จอมปลวกนั้นและพบปราสาททองเหมือนที่ทรงพระสุบิน จึงเรียกขานพระนามว่าพระเจ้าปราสาททองมาแต่บัดนั้น

[แก้] พระโอรส-ธิดา

พระเจ้าปราสาททองมีโอรสธิดารวมกัน 8 พระองค์ เป็นพระโอรส 7 พระองค์ เป็นพระธิดา 1 พระองค์

[แก้] พระมเหสีองค์แรก

มีพระโอรส 1 พระองค์ คือ

[แก้] พระราชเทวี องค์ที่ 1

ได้แก่ พระราชเทวี สิริกัลยาณี ซึ่งมีพระโอรส 1 พระองค์ และพระธิดา 1 พระองค์ คือ

[แก้] พระราชเทวี องค์ที่ 2

มีพระโอรส 2 พระองค์ คือ

[แก้] พระสนม

มีพระโอรส 3 พระองค์ คือ

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ http://www4.sac.or.th/jaruk/inscription_details.php?id_name=321&userinput=72
  2. ^ พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ (บรรณาธิการ).เล่าเรื่อง...เฉกอะหมัด ต้นสกุลบุนนาค จากเอกสารพิมพ์ดีด ๒๔๘๒. กรุงเทพฯ:บันทึกสยาม, พ.ศ. 2553. หน้า 48.

[แก้] ดูเพิ่ม

สมัยก่อนหน้า สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง สมัยถัดไป
พระอาทิตยวงศ์
(ราชวงศ์สุโขทัย)

(พ.ศ. 2173 )
2leftarrow.png Seal of Ayutthaya (King Narai).png
พระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรอยุธยา
(ราชวงศ์ปราสาททอง)

(พ.ศ. 2173 - พ.ศ. 2199)
2rightarrow.png สมเด็จเจ้าฟ้าไชย
(ราชวงศ์ปราสาททอง)

(พ.ศ. 2199)


เครื่องมือส่วนตัว

สิ่งที่แตกต่าง
การกระทำ
ป้ายบอกทาง
มีส่วนร่วม
พิมพ์/ส่งออก
เครื่องมือ
ภาษาอื่น