ขุนวรวงศาธิราช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ขุนวรวงศาธิราช
พระบรมนามาภิไธย บุญศรี
พระอิสริยยศ พระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรอยุธยา
ครองราชย์ พ.ศ. 2091
ระยะครองราชย์ 42 วัน
รัชกาลก่อนหน้า พระยอดฟ้า
รัชกาลถัดไป สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
ข้อมูลส่วนพระองค์
สวรรคต พ.ศ. 2091
ถูกลอบปลงพระชนม์
พระมเหสี นางพญาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์
พระราชโอรส/ธิดา พระธิดาไม่ทราบพระนาม 1 พระองค์
    

ขุนวรวงศาธิราช เป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา แต่นักประวัติศาสตร์ไทยถือว่า พระองค์ไม่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์เพราะถือว่าเป็นกบฏสมคบกับท้าวศรีสุดาจันทร์แย่งชิงราชบัลลังก์จากพระยอดฟ้า อย่างไรก็ตาม ในพงศาวดารได้ระบุว่าพระองค์ได้ผ่านพระราชพิธีราชาภิเษกแล้ว

เนื้อหา

[แก้] พระราชประวัติ

ขุนวรวงศาธิราชมีพระนามเดิมว่าว่า บุญศรี พระราชสมภพในวันจันทร์ ตระกูลอำมาตย์ อาจเป็นทรงมีเชื้อสายราชวงศ์อู่ทอง เดิมมีตำแหน่งเป็น พันบุตรศรีเทพ เชื่อว่าเป็นพราหมณ์ผู้เฝ้าหอพระข้างหน้า มีหน้าที่เป็นผู้กระทำพิธีการต่าง ๆ

[แก้] การพบกับท้าวศรีสุดาจันทร์

วันหนึ่งในรัชสมัยสมเด็จพระยอดฟ้า ท้าวศรีสุดาจันทร์พระมารดาของสมเด็จพระยอดฟ้าเสด็จไปพระที่นั่งพิมานรัตยาหอพระข้างหน้า ทอดพระเนตรเห็นพันบุตรศรีเทพก็เกิดมีความรักใคร่ จึงสั่งให้สาวใช้เอาเมี่ยงหมากห่อผ้าไปพระราชทานให้ พันบุตรศรีเทพก็เข้าใจว่าพระนางมีใจรักจึงเอาดอกจำปาให้สาวใช้นำไปถวาย ท้าวศรีสุดาจันทร์ก็ยิ่งมีความกำหนัดในตัวพันบุตรศรีเทพ

[แก้] การเลื่อนบรรดาศักดิ์

ต่อมาท้าวศรีสุดาจันทร์ได้ให้พระยาราชภักดีเลื่อนพันบุตรศรีเทพเป็น ขุนชินราช (ในคำให้การชาวกรุงเก่าเรียกว่า ขุนเชียรราช) ผู้รักษาหอพระข้างใน ส่วนขุนชินราชคนเดิมให้ไปเป็นพันบุตรศรีเทพ จากนั้นขุนชินราชก็ลักลอบเป็นชู้กับท้าวศรีสุดาจันทร์เป็นเวลานาน

ท้าวศรีสุดาจันทร์คิดจะแย่งชิงราชบัลลังก์ให้กับขุนชินราช จึงให้พระยาราชภักดีเลื่อนบรรดาศักดิ์ขุนชินราชเป็น ขุนวรวงศาธิราช เพื่อเป็นการเพิ่มอำนาจ นอกจากนั้นยังให้ปลูกจวนอยู่ริมศาลาสารบัญชีกับจวนสำหรับขุนวรวงศาธิราชว่าราชการอยู่ที่ประตูดินริมต้นหมัน ให้พิจารณาเลขสังกัดสมพรรค์ แล้วให้เตียงอันเป็นพระราชาอาสน์ให้ขุนวรวงศาธิราชนั่งเพื่อให้ขุนนางทั้งหลายมีความยำเกรง

เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ พระยามหาเสนาได้พูดกับพระยาราชภักดีว่า"เมื่อแผ่นดินเป็นทุรยศฉะนี้ เราจะคิดประการใด" ท้าวศรีสุดาจันทร์ทรงทราบจึงให้พระยามหาเสนามาเข้าเฝ้าที่ประตูดิน จนเวลาค่ำพระยามหาเสนากลับออกไป มีผู้มาแทงพระยามหาเสนาตาย ก่อนตายพระยามหาเสนากล่าวว่า "เมื่อเราเป็นดั่งนี้แล้ว ผู้อยู่ภายหลังจะเป็นประการใดเล่า"

[แก้] การขึ้นครองราชสมบัติ

ในพ.ศ. 2091 ท้าวศรีสุดาจันทร์ทรงอ้างว่าสมเด็จพระยอดฟ้ายังทรงพระเยาว์ หัวเมืองฝ่ายเหนือก็ไม่เป็นปกติจึงปรึกษากับขุนนางว่าจะให้ให้ขุนวรวงศาธิราชชู้รักว่าราชการแผ่นดินจนกระทั่งสมเด็จพระยอดฟ้าทรงเจริญพระชันษา จึงทำพิธีราชาภิเษกขุนวรวงศาธิราชเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาและสถาปนานายจัน น้องชายขุนวรวงศาธิราชอยู่บ้านมหาโลก ขึ้นเป็นพระมหาอุปราช

เมื่อสมเด็จพระวรวงศาธิราชได้ครองราชบัลลังก์ก็สมคบกับท้าวศรีสุดาจันทร์นำสมเด็จพระยอดฟ้าไปสำเร็จโทษที่วัดโคกพระยา เมื่อ พ.ศ. 2091 วันอาทิตย์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 8 ส่วนพระศรีศิลป์พระโอรสองค์เล็กในสมเด็จพระไชยราชาธิราชที่ประสูติแต่ท้าวศรีสุดาจันทร์นั้นไม่ได้นำไปสำเร็จโทษแต่ให้เลี้ยงไว้

[แก้] การถูกล้มล้างราชบัลลังก์

การครองราชบัลลังก์ของสมเด็จพระวรวงศาธิราชนั้น ไม่เป็นที่เห็นชอบของขุนนางในราชสำนักและพระญาติวงศ์บางส่วน เพราะสมเด็จพระวรวงศาธิราชทรงขึ้นครองบัลลังก์โดยไม่ชอบธรรมจึงมีขุนนางบางคนรวมตัวกันเพื่อล้มล้างราชบัลลังก์ ได้แก่ ขุนพิเรนทรเทพ เจ้านายเชื้อสายราชวงศ์พระร่วง ขุนอินทรเทพ หมื่นราชเสน่หา (ในราชการ) และหลวงศรียศบ้านลานตากฟ้า

ทั้งสี่ร่วมกันวางแผนลอบปลงพระชนม์ จนโอกาสมาถึงเมื่อกรมการเมืองลพบุรีกราบทูลสมเด็จพระวรวงศาธิราชว่า มีช้างเผือกเชือกหนึ่งที่ลพบุรี ขุนวรวงศาธิราชรับสั่งว่าจะไปจับแต่ต่อมาเปลี่ยนพระทัยให้กรมการเมืองลพบุรีไปจับแทน หลังจากนั้น 7 วันช้างเผือกเข้ามาทางวัดแม่นางปลื้มเข้าเพนียดวัดซองพระองค์จึงรับสั่งว่าหนนี้จะเสด็จไปจับเอง

ขุนพิเรนทรเทพสั่งให้หมื่นราชเสน่หา(นอกราชการ) ไปดักยิงอุปราชจันน้องสมเด็จพระวรวงศาธิราชตายที่ท่าเสื่อระหว่างขี่ช้างไปเพนียด จากนั้น ขุนพิเรนทรเทพได้เรียกพระยาพิชัยกับพระยาสวรรคโลก ข้าราชการเมืองเหนือลงมาร่วมมือในการก่อการครั้งนี้ด้วย

ขุนวรวงศาธิราชประทับนั่งเรือพระที่นั่งไปกับท้าวศรีสุดาจันทร์กับพระธิดา (บางตำราว่าพระโอรส) ที่เกิดด้วยกันและพระศรีศิลป์ ดังนั้น ขุนวรวงศาธิราชจึงทรงถูกลอบปลงพระชนม์ที่คลองสระบัว ข้างคลองปลาหมอโดยขุนพิเรนทรเทพกับสมัครพรรคพวก (ในบันทึกของเจอเรมิส วันวลิต บอกว่าถูกลอบยิงด้วยปืนที่ข้างประตูวัง) พร้อมท้าวศรีสุดาจันทร์และพระธิดา รวมระยะเวลาครองราชย์ 42 วัน พระบรมศพนั้นถูกนำไปเสียบประจานไว้ที่วัดแร้ง

ข้าราชการทั้งหลายจึงกราบบังคมทูลเชิญพระเฑียรราชา พระราชโอรสในสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 และเป็นพระอนุชาต่างมารดาของสมเด็จพระไชยราชาธิราช ซึ่งผนวชอยู่ที่วัดราชประดิษฐาน เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาต่อไป

[แก้] พระราชกรณียกิจ

  • ข้าราชการหัวเมืองเหนือทั้ง 7 มีความกระด้างกระเดื่องต่อขุนวรวงศาธิราช จึงให้สมุหนายกมีหมายเรียกข้าราชการหัวเมืองเหนือลงมาที่กรุงศรีอยุธยา
  • เมื่อขุนวรวงศาธิราชได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ก็ให้เอาพงศาวดารเก่า ๆ เผาไฟเสียบ้าง ด้วยเหตุนี้พงศาวดารเก่า ๆ จึงขาดเป็นตอน ๆ

[แก้] อ้างอิง

  • วิชาการ.คอม
  • หอมรดกไทย
  • พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์อธิบายประกอบ สำนักงานพิมพ์โอเดียนสโตร์ จัดพิมพ์จำหน่าย พ.ศ. ๒๕๑๐
  • พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ สำนักงานพิมพ์คลังวิทยา จัดพิมพ์จำหน่าย พ.ศ. ๒๕๑๐
  • คำให้การชาวกรุงเก่า สำนักงานพิมพ์คลังวิทยา จัดพิมพ์จำหน่าย พ.ศ. ๒๕๑๐

[แก้] ดูเพิ่ม

สมัยก่อนหน้า ขุนวรวงศาธิราช สมัยถัดไป
สมเด็จพระยอดฟ้า
ราชวงศ์สุพรรณภูมิ (พ.ศ. 2089 - พ.ศ. 2091)
2leftarrow.png Seal of Ayutthaya (King Narai).png
พระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรอยุธยา
((มิได้เทียบเทียมเท่ากษัตริย์องค์อื่น) (พ.ศ. 2091))
2rightarrow.png สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
ราชวงศ์สุพรรณภูมิ (พ.ศ. 2091 - พ.ศ. 2111)


เครื่องมือส่วนตัว

สิ่งที่แตกต่าง
การกระทำ
ป้ายบอกทาง
มีส่วนร่วม
พิมพ์/ส่งออก
เครื่องมือ
ภาษาอื่น