ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์
โครงการห้องสมุดโรงเรียนในฝัน

***ร่วมสร้างองค์ความรู้ สู่การศึกษาตลอดชีวิต วิทยพัฒนาเด็กไทยในท้องถิ่น***


000 หมวดเบ็ดเตล็ด
(Generalities)

100 หมวดปรัชญา
(Philosophy)

200 หมวดศาสนา
(Religion)

300 หมวดสังคมศาสตร์
(Social Sciences)

400 หมวดภาษาศาสตร์
(Language)

500 หมวดวิทยาศาสตร์
(Pure Sciences)

600 หมวดเทคโนโลยี
(Technology)

700 หมวดศิลปะ
(The Arts)

800 หมวดวรรณคดี
(Literature)

900 หมวดประวัติศาสตร์
(Geography & History)


Home

   

บทที่ 17 ภูมิศาสตร์กายภาพ

    ความหมายของวิชาภูมิศาสตร์ หมายถึง วิชาที่ศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างโลกกับมนุษย์ หรือการศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งแวดล้อมกับมนุษย์
    ความหมายของวิชาภูมิศาสตร์กายภาพ หมายถึง วิชาที่ศึกษาลักษณะต่าง ๆ ของโลก อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ ได้แก่ ลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ทรัพยากรธรรมชาติ

ประโยชน์ของการศึกษาวิชาภูมิศาสตร์กายภาพ
      1. เพื่อให้เห็นคุณค่าและความสำคัญของสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ และเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม
      2. เพื่อแก้ไขปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม
      3. เพื่อวางแผนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ

องค์ประกอบของสิ่งแวดล้อมทางกายภาพของประเทศไทย

     1. ลักษณะภูมิประเทศ
            ลักษณะของเปลือกโลกที่เห็นเป็นรูปแบบต่าง ๆ เช่น ที่ราบ ที่ราบสูง ภูเขา เนินเขา เป็นต้น ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท
          - ลักษณะภูมิประเทศหลัก ไม่เปลี่ยนรูปง่าย ได้แก่ ที่ราบ ที่ราบสูง ภูเขา และเนินเขา - ลักษณะภูมิประเทศรอง เปลี่ยนแปลงรูปได้ง่าย ได้แก่         หุบเขา ห้วย เกาะ อ่าว แม่น้ำ สันดอนทราย แหลม ทะเลสาบ

     2. ลักษณะภูมิอากาศ
             ลมฟ้าอากาศ หมายถึง สภาวะอากาศที่เกิดขึ้นในบริเวณใดบริเวณหนึ่งช่วงระยะเวลาสั้น ๆ
             ภูมิอากาศ หมายถึง ค่าเฉลี่ยของลมฟ้าอากาศที่เกิดขึ้นเป็นประจำในบริวเณใดบริเวณหนึ่งในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
         โดยรวบรวมข้อมูลประมาณ 15 ปีขึ้นไป

         องค์ประกอบของภูมิอากาศ
             1. อุณหภูมิของอากาศ
             2. ความกดอากาศ
             3. ความชื้นและปริมาณน้ำฝน
             4. ลมและทิศทางของลม

        ปัจจัยควบคุมอากาศ
             1. ตำแหน่งละติจูดและที่ตั้ง บริเวณที่ละติจูดต่ำ อากาศจะร้อนที่สุด เพราะได้รับแสงตรงจากดวงอาทิตย์ ส่วนบริเวณที่ละติจูดสูงขึ้นเรื่อย ๆ         อุณหภูมิของอากาศจะลดลงเรื่อย ๆ อุณหภูมิต่ำลง
             2. ความใกล้หรือไกลทะเล ถ้าอยู่ใกล้ทะเลอากาศเย็นสบาย ความชุ่มชื่นมาก แต่ถ้าอยู่ไกลทะเลอากาศจะร้อนและแห้งแล้งมากขึ้น
             3. การวางตัวของเทือกเขาสูง บริเวณที่เป็นด้านรับลมหรือด้านหน้าภูเขาจะมีความชุ่มชื้นและฝนตกชุก         ส่วนด้านหลังเขาหรือด้านอับลมจะมีไม่มีฝนตกเลย หรือที่เรียกว่า เขตเงาฝน
             4. ความสูงต่ำของพื้นที่ บริเวณที่ตั้งอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล อุณหภูมิจะสูง และค่อย ๆ ลดต่ำลงเมื่อพื้นที่สูงขึ้น         บริเวณที่ราบจึงมีอากาศร้อนกว่าบริเวณยอดเขาสูง ๆ
             5. กระแสน้ำในมหาสมุทร กระแสน้ำในมหาสมุทรมี 2 ชนิด คือ กระแสน้ำอุ่น และกระแสน้ำเย็น         บริเวณที่มีกระแสน้ำอุ่นไหลผ่านจะมีความชุ่มชื้นและอากาศอบอุ่น และบริเวณที่มีกระแสน้ำเย็นไหลผ่านจะมีอากาศแห้งแล้งและหนาวเย็น
             6. ทิศทางของลมประจำ ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดผ่านจะทำให้เกิดอากาศหนาวเย็นและแห้งแล้ง ทำให้เกิดฤดูหนาว         แต่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดผ่านจะทำให้เกิดฝนตกชุกและนำความชุ่มชื้นมาสู่แผ่นดิน
        ประเภทของภูมิอากาศ
            1. ภูมิอากาศแบบร้อนชื้น หรือแบบ A คือ มีปริมาณน้ำฝนมาก ไม่มีฤดูหนาว อุณหภูมิสูงตลอดปี ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ คือ
                   - Af คือ แบบร้อนชื้น
                   - Am คือ แบบมรสุม
                   - Aw คือ แบบทุ่งหญ้าสะวันนา
            2. ภูมิอากาศแบบแห้งแล้ง หรือแบบ B คือ ฝนตกน้อยมาก แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ
                   - BW คือ แบบทะเลทราย
                   - BS คือ แบบทุ่งหญ้าสเตปป์
            3. ภูมิอากาศแบบอบอุ่น หรือแบบ C คือ อุณหภูมิปานกลาง แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ คือ
                   - Cw คือ แบบกึ่งโซนร้อน
                   - Cf คือ แบบชายฝั่งทะเลตะวันตก
                   - Cs คือ แบบเมดิเตอร์เรเนียน
            4. ภูมิอากาศแบบหนาว หรือแบบ D คือ อากาศหนาวที่สุดอุณหภูมิต่ำกว่า -3 องศาเซลเซียส แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
                   - Df คือ แบบเย็นหรือหิมะตลอดปี
                   - Dw คือ แบบหิมะหรือแบบเย็นที่มีความชื้นตลอดปี
           5. ภูมิอากาศแบบทุ่งน้ำแข็ง หรือแบบ E คือ อากาศหนาวเย็นจัด แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ
                   - ET คือ อากาศแบบทุนดรา ลักษณะ 3 เดือนช่วงน้ำแข็งละลาย
                   - EF คือ อากาศแบบขั้วโลกหรือเขตน้ำแข็งที่ปกคลุมตลอดทั้งปี


     ลักษณะภูมิอากาศของประเทศไทย
       ประเทศไทยมีภูมิอากาศแบบร้อนชื้น โดยแบ่งตามระบบของเคิปเปน แบ่งเป็น
           1. ภูมิอากาศแบบมรสุมเขตร้อน (Am) ลักษณะมีฝนตกชุกตลอดทั้งปี ฤดูแล้งสั้น ๆ คั่นสลับ บางเดือนมีฝนตกมากกว่า 60 มิลลิเมตร        พืชพรรณธรรมชาติเป็นป่าไม้เขตมรสุมครอบคลุมพื้นที่ภาคใต้ และภาคตะวันออกแถบจังหวัดระยอง จันทบุรี ตราด
           2. ภูมิอากาศแบบทุ่งหญ้าสะวันนา (Aw) ลักษณะมีฝนตกปานกลาง ฤดูแล้งยาวนาน ฤดูฝนสั้น ฝนตกน้อยกว่า 60 มิลลิเมตรต่อเดือน        พืชพรรณธรรมชาติเป็นทุ่งหญ้าสลับป่าไม้ ครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก        และทางตอนเหนือของภาคตะวันออก


ทรัพยากรธรรมชาติ
        ทรัพยากรธรรมชาติ หมายถึง สิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และมนุษย์สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตได้ แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ
1. ทรัพยากรดิน
2. ทรัพยากรน้ำ
3. ทรัพยากรป่าไม้
4. ทรัพยากรแร่ธาตุ
        ประเภทของทรัพยากรธรรมชาติ แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ
1. ทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไปไม่สามารถเกิดมาทดแทนใหม่ได้ เช่น น้ำมัน แร่ธาตุ
2. ทรัพยากรที่ใช้แล้วสามารถสร้างทดแทนได้ เช่น ป่าไม้ สัตว์บก สัตว์น้ำ
3. ทรัพยากรที่ใช้แล้วไม่หมดไป เช่น น้ำ อากาศ เป็นต้น


การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
      การอนุรักษ์ หมายถึง การรู้จักใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าและให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
วัตถุประสงค์ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาต
1. เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของมนุษย์ หมายถึง การใช้ประโยชน์สูงสุด และรักษาสมดุลของธรรมชาติไว้ด้วยในเวลาเดียวกัน    โดยใช้เทคโนโลยีที่ทำให้เกิดผลเสียต่อสภาพแวดล้อมน้อยที่สุด
2. เพื่อรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในสภาพสมดุล โดยไม่เกิดสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ (Polution) จนทำให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

1. การเพิ่มประชากร มีผลทำให้ต้องใช้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จึงเกิดปัญหาความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมตามมามากขึ้น
2. การใช้เทคโนโลยีทันสมัย ซึ่งอาจทำให้เกิดทั้งผลดีและผลเสียต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

ทรัพยากรดิน
         ดินเกิดจากการสลายตัวของหิน แร่ธาตุและอินทรีย์วัตถุต่าง ๆ อันเนื่องมาจากการกระทำของลม ฟ้า อากาศและอื่น ๆ ส่วนประกอบที่สำคัญของดิน ได้แก่
   - อนินทรีย์วัตถุ หรือแร่ธาตุ ประมาณ 45%
   - อินทรีย์วัตถุ ประมาณ 5%
   - น้ำ ประมาณ 25%
   - อากาศ ประมาณ 25%
ดินที่พบในประเทศไทย
   1. ดินอุลติซอล เป็นดินที่สะสมตัวอยู่ในชั้นรองของดินเหนียว พบอยู่กว้างขวางที่สุดในประเทศไทย**
   2. ดินฮีสโตซอล เป็นดินที่มีอินทรีย์วัตถุปนอยู่มาก พบในภาคใต้
   3. ดินอัลฟิซอล ดินชั้นบนและชั้นรองมีดินเหนียวสะสมมาก พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้
   4. ดินมอลติซอล เป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก พบในภาคกลาง
   5. ดินอินเซฟติซอล เป็นดินที่มีเนื้อละเอียด พบในภาคกลางตอนล่าง ภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
   6. ดินเอ็นติซอล พบบริเวณชายฝั่งทะเล และที่ราบริมแม่น้ำ
   7. ดินเวอร์ติซอล เป็นดินเหนียวที่หดและขยายตัวตามความชื้น พบในจังหวัดสระบุรี ลพบุรี และสิงห์บุรี
   8. ดินสโปโตซอล เป็นดินทรายมีการสะสมของสารสีแดงในชั้นดินรอง พบในชายฝั่งสงขลาถึงปัตตานี
   9. ดินออกซิซอล เป็นดินร่วนหรือดินเหนียว มีสีแดงเหลือง มีอาหารของพืชต่ำ มีเหล็ก และอะลูมินัมสูง พบในเขตภูเขาในภาคต่าง ๆ
ปัญหาของการใช้ทรัพยากรดิน
   1. เกิดจากการกระทำของธรรมชาติ เช่น การสึกกร่อนพังทลายที่เกิดจากลม กระแสน้ำ และการชะล้างแร่ธาตุต่าง ๆ ในดิน
   2. เกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น
         - การทำลายป่าไม้
         - การปลูกพืชชนิดเดียวซ้ำซาก
         - การเผาป่าและไร่นา ทำให้สูญเสียหน้าดิน
         - ขาดการบำรุงรักษาดิน
การอนุรักษ์ทรัพยากรดิน
   1. ปลูกพืชหมุนเวียน
   2. การปลูกพืชแบบขั้นบันไดป้องกันการเซาะของน้ำ
   3. ปลูกพืชคลุ่มดิน ป้องกันการชะล้างหน้าดิน
   4. ไม่ตัดไม้ทำลายป่า
   5. การปลูกป่าในบริเวณที่มีความลาดชันเพื่อป้องกันการพังทลายของดิน


ทรัพยากรน้ำ
     น้ำเป็นทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และสิ่งมีชีวิต ใช้แล้วไม่หมดสิ้นไป แบ่งเป็น
        1. น้ำบนดิน ได้แก่ แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง ทะเลสาบ ปริมาณน้ำขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝน
        2. น้ำใต้ดิน หรือน้ำบาดาล ปริมาณน้ำขึ้นอยู่กับน้ำที่ไหลซึมลงไปจากพื้นดิน และความสามารถในการกักน้ำในชั้นหินใต้ดิน
        3. น้ำฝน ได้จากฝนตก ซึ่งแต่ละบริเวณจะมีปริมาณน้ำแตกต่างกัน
ปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ
        1. เกิดภาวะการขาดแคลนน้ำ
        2. เกิดมลพิษทางน้ำ เช่น น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม


ทรัพยากรป่าไม้
      ป่าไม้มีความสำคัญต่อมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ช่วยรักษาสภาพดิน น้ำ อากาศ บรรเทาความรุนแรงของลมพายุ และยังได้รับผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ หรือใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจได้

ประเภทของป่าไมแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
      1. ป่าไม้ไม่ผลัดใบ
             - ป่าดงดิบ หรือป่าดิบ เป็นป่าไม้บริเวณที่มีฝนตกชุก พบมากทางภาคใต้ และภาคตะวันออก ไม้ที่เกิดบริเวณป่าดงดิบ เช่น ไม้ยาง               ไม้ตะเคียน กระบาก และเถาวัลย์ต่าง ๆ
            - ป่าดิบเขา พบมากในภาคเหนือ ไม้ที่พบในบริเวณป่าดิบเขา เช่น ไม้กำยาน ไม้จำปีป่า
            - ป่าสนเขา พบทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไม้สำคัญคือ ไม้สน ใช้ในอุตสาหกรรมกระดาษ
            - ป่าชายเลนน้ำเค็ม เป็นป่าไม้ตามดินเลนน้ำเค็มและน้ำกร่อย ไม้ที่พบได้แก่ ไม้โกงกาง แสมทะเล ปรง ตะบูน ลำพู พบบริเวณชายฝั่ง
       2. ป่าไม้ผลัดใบ
            - ป่าเบญจพรรณ เป็นป่าผลัดใบผสม พบมากที่สุดภาคเหนือ ไม้ที่พบในบริเวณป่านี้คือ ไม้สัก ไม้ประดู่ ไม้ชิงชัง ไม้แดง ไม้มะค่า              ซึ่งมีความสำคัญทางเศรษฐกิจสูง
            - ป่าแดง ป่าโคก ป่าแพะ เป็นป่าโปร่งพบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ไม้เต็ง ไม้รัง พะยอม
            - ป่าชายหาด เป็นต้นไม้เล็ก ๆ ขึ้นตามชายหาด เช่น สนทะเล โพธิ์ทะเล
            - ป่าพรุ หรือป่าบึง เป็นป่าไม้ที่เกิดตามดินเลน เช่น ต้นสนุ่น จิก หวายน้ำ อ้อมและแขน

การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้
      1. ออกกฎหมายคุ้มครองป่าไม้ คือ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507
      2. ป้องกันไฟไหม้ป่า
      3. ปลูกป่าทดแทนไม้ที่ถูกทำลายไป
      4. ป้องกันการลักลอบตัดไม้
      5. ใช้ไม้ให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่ามากที่สุด


ทรัพยากรแร่ธาตุ
       แร่ธาตุ หมายถึง สารประกอบเคมีที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แบ่งออกเป็น
             - แร่โลหะ ได้แก่ เหล็ก ทองแดง สังกะสี ดีบุก ตะกั่ว
             - แร่อโลหะ ได้แก่ ยิปซั่ม ฟลูออไรด์ โปแตช เกลือหิน
             - แร่เชื้อเพลิง ได้แก่ ลิกไนต์ หินน้ำมัน ปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ
             - แร่รัตนชาติ ได้แก่ พลอยสีต่าง ๆ

แหล่งกำเนิดของแร่
      1. เกิดจากหินอัคนีหรือหินแกรนิต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแร่โลหะ
      2. เกิดจากหินชั้นและหินแปร ซึ่งจะเป็นแร่อโลหะและแร่เชื้อเพลิง

แหล่งที่มา

บทที่ 17 ภูมิศาสตร์กายภาพ. (2555). ค้นจาก http://www.lks.ac.th/kukiat/student/

betterroyal/social/17.html

 


Copyright
All copyright rights in the Dewey Decimal Classification system are owned by OCLC. Dewey, Dewey Decimal Classification, DDC and WebDewey are registered trademarks of OCLC
Revised:March 2009


Send comments to chumpot@hotmail.com