พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ (15 พฤษภาคม พ.ศ. 2475 — ) เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย คนที่ 22 ของไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม อดีตผู้บัญชาการทหารบกและอดีดรักษาการผู้บัญชาการทหารสูงสุด
เป็นเจ้าของสมญา "ขงเบ้งแห่งกองทัพบก" เคยได้รับการแต่งตั้งให้เป็น สมาชิกวุฒิสภา ขณะดำรงตำแหน่งทางทหาร เป็นผู้ก่อตั้ง และหัวหน้า พรรคความหวังใหม่ คนแรก และเป็นอดีต ส.ส.หลายสมัย มีคะแนนเสียงหนาแน่นในจังหวัดนครพนม
สื่อมวลชนและประชาชนทั่วไป เรียก พล.อ.ชวลิต ว่า "บิ๊กจิ๋ว" และในพื้นที่ภาคอีสาน เรียก พล.อ.ชวลิต ว่า "พ่อใหญ่จิ๋ว" นอกจากนี้แล้วยังมีอีกฉายาหนึ่งว่า "จิ๋วหวานเจี๊ยบ" จากการมีบุคคลิกพูดจาอ่อนนิ่ม นุ่มนวล
[แก้] ประวัติ
พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เกิดวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2475 ที่ จังหวัดนนทบุรีเป็นบุตรของ ร้อยเอกชั้น ยงใจยุทธ และนางสุรีย์ศรี (ละมุน) ยงใจยุทธ สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เมื่อ พ.ศ. 2496 และ โรงเรียนเสนาธิการทหารบก เมื่อ พ.ศ. 2507
พล.อ.ชวลิต สมรสกับ คุณหญิงพันธุ์เครือ ยงใจยุทธ (ลิมปภมร) มีบุตร 3 คน คือ นายคฤกพล ยงใจยุทธ นางอรพิณ นพวงศ์ (ถึงแก่กรรม) และ พันตำรวจตรีหญิงศรีสุภางค์ โสมกุล
ประวัติการศึกษา และวุฒิกิตติมศักดิ์
การรับราชการ พล.อ.ชวลิต รับราชการทหารเหล่าสื่อสาร เป็นคนแรกๆ ที่แต่งตำราการซ่อมโทรทัศน์ เมื่อประมาณ พ.ศ. 2490-95 เคยเป็นผู้บัญชาการทหารบก ลำดับที่ 25 (27 พ.ค. 2529 - 28 มี.ค. 2533) และรักษาราชการผู้บัญชาการทหารสูงสุด (พ.ศ. 2530 - 28 มี.ค. 2533)
การดำรงตำแหน่งทางราชการ
- พ.ศ. 2503 : ผู้บังคับกองร้อยซ่อมบำรุงเครื่องสื่อสารเขตหลัง กรมการทหารสื่อสาร
- พ.ศ. 2510 : นายทหารฝ่ายยุทธการและการฝึก กรมการทหารอาสาสมัคร
- พ.ศ. 2511 : นายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำกรม กรมยุทธการทหารบก
- พ.ศ. 2514 : หัวหน้ากอง กรมยุทธการทหารบก
- พ.ศ. 2522 : นายทหารคนสนิทรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และประจำกองบัญชาการกองทัพบก
- พ.ศ. 2524 : เจ้ากรมยุทธการทหารบก
- พ.ศ. 2525 : ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายยุทธการ
- พ.ศ. 2526 : รองเสนาธิการทหารบก
- พ.ศ. 2528 : เสนาธิการทหารบก
- พ.ศ. 2529 : ผู้บัญชาการทหารบก
- พ.ศ. 2530 : ผู้บัญชาการทหารบก และ รักษาราชการผู้บัญชาการทหารสูงสุด
[แก้] การเมือง
พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ลาออกจากตำแหน่ง ผู้บัญชาการทหารสูงสุด แล้วเข้าสู่การเมือง ก่อตั้งพรรคความหวังใหม่ ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี พ.ศ. 2535 พล.อ.ชวลิต เป็นหนึ่งในผู้ที่ปราศรัยขับไล่ พลเอกสุจินดา คราประยูร ที่สนามหลวง เป็นคนแรกด้วย การเมืองหลังจากนั้น พรรคความหวังใหม่กลายเป็นพรรคที่มีผู้สนับสนุนมากที่สุดในภาคอีสาน ก่อนที่จะย้ายพรรคมาสังกัดพรรคไทยรักไทย ในปี พ.ศ. 2544 และ พล.อ.ชวลิต ก็รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรสมัยแรกด้วย
หลังเหตุการณ์รัฐประหารในปี พ.ศ. 2549 พล.อ.ชวลิต พยายามจะเป็นผู้เสนอตัวไกล่เกลี่ยทำความเข้าใจระหว่างกลุ่มผู้ที่ขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ และกลุ่มผู้ที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ให้ "สมานฉันท์" กัน โดยเรียกบทบาทตัวเองว่า "โซ่ข้อกลาง" รวมทั้งมีการข่าวว่าอาจจะเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชาชน แต่แล้วตำแหน่งนี้ในที่สุดก็ตกเป็นของ นายสมัคร สุนทรเวช
ในรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พล.อ.ชวลิตได้เข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่เจรจากับฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยโดยเฉพาะ แต่หลังจากรับตำแหน่งเพียงไม่กี่วัน ก็เกิดเหตุการณ์นองเลือดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ที่หน้าอาคารรัฐสภา พล.อ.ชวลิตก็ขอลาออกทันที
ในกลางปี พ.ศ. 2552 หลังจากถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดในกรณีเหตุการณ์นองเลือดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม แล้วนั้น พล.อ.ชวลิตก็ได้สมัครเข้าสู่พรรคเพื่อไทย โดยให้เหตุผลว่าต้องการเข้ามาเพื่อสมานฉันท์ โดยไม่ต้องการเป็นคู่ขัดแย้งกับใคร[1] และหลังจากนั้นทางพรรคเพื่อไทยก็ได้มีมติให้ พล.อ.ชวลิตดำรงตำแหน่งประธานพรรค
ต่อมาในวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2554 ท่ามกลางข่าวลือที่มีมาช่วงระยะหนึ่ง พล.อ.ชวลิตก็ได้ลาออกจากทุกตำแหน่งในพรรคเพื่อไทย ทั้งนี้ คนใกล้ชิดของ พล.อ.ชวลิตอ้างว่า พล.อ.ชวลิตไม่พอใจที่มีสมาชิกพรรคเพื่อไทยบางคนที่เข้าทำกิจกรรมร่วมกับทางแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือ กลุ่มคนเสื้อแดง และมีพฤติกรรมจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ก่อนหน้านั้นไม่นาน[2]
ตำแหน่งสำคัญทางการเมือง :
- 23 มีนาคม 2527 : สมาชิกวุฒิสภา
- 22 เมษายน 2530 : สมาชิกวุฒิสภา
- 30 มีนาคม 2533 : รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (รัฐบาลชาติชาย ครม.คณะที่ 45)
- 22 มีนาคม 2535 : สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนนทบุรี
- 15 พฤษภาคม 2535 : ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
- 13 กันยายน 2535 : สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนนทบุรี
- 29 กันยายน 2535 : รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (รัฐบาลชวน ครม.คณะที่ 50)
- 14 กรกฎาคม 2537 : รองนายกรัฐมนตรี (รัฐบาลชวน ครม.คณะที่ 50)
- 2 กรกฎาคม 2538 : สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครพนม
- 18 กรกฎาคม 2538 : รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (รัฐบาลบรรหาร ครม.คณะที่ 51)
- 17 พฤศจิกายน 2539 : สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจ ังหวัดนครพนม
- 25 พฤศจิกายน 2539 : นายกรัฐมนตรี
- 29 พฤศจิกายน 2539 : รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (รัฐบาลชวลิต ครม.คณะที่ 52)
- 10 เมษายน 2540 : ประธานคณะผู้บริหารความหวังใหม่
- 26 พฤศจิกายน 2540 : ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
- 2 กันยายน 2541 : ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
- 12 พฤษภาคม 2542 : ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
- 17 กุมภาพันธ์ 2544 : รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (รัฐบาลทักษิณ ครม.คณะที่ 54)
- 24 กันยายน 2551 - 7 ตุลาคม 2551 : รองนายกรัฐมนตรี ((รัฐบาลสมชาย ครม.คณะที่ 58)
- 27 ตุลาคม 2552 - 18 เมษายน 2554 : ประธานพรรคเพื่อไทย (ลาออก)[3][4]
รัฐบาลของ พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นรัฐบาลที่มีส่วนรับผิดชอบต่อวิกฤตการณ์ทางการเงิน เมื่อปี พ.ศ. 2540 (ค.ศ. 1997) ที่ทำให้ประเทศไทยล้มละลาย และ ขยายผลไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยรอบ ด้วยการทำเงินคงคลังทั้งหมดของประเทศเข้าไปอุ้มค่าเงินบาท ซึ่งถูกปล่อยขายในขณะนั้น ธุรกิจของเหล่าแกนหลักของรัฐบาลชุดนี้ ยังถูกตั้งข้อสังเกตว่า ไม่ได้รับผลกระทบต่อวิกฤตกรณ์แต่อย่างใด ในขณะที่ธุรกิจของบุคคลโดยทั่วไปที่ไม่มีความเกี่ยวข้อง กับคนในรัฐบาลนั้น ได้รับผลกระทบถึงขั้นล้มละลายเป็นจำนวนมาก ทั่วประเทศ
[แก้] เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้] ข้อวิจารณ์
- เมื่อครั้งประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 เกิดขึ้นในสมัย พล.อ.ชวลิต ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้รับการวิจารณ์ว่าตัดสินใจอย่างผิดพลาดที่ไปประกาศลดค่าเงินบาท ซึ่งก่อให้เกิดเป็นปัญหาเศรษฐกิจระดับชาติตามมาหลังจากนั้นอย่างวิกฤต ซึ่ง พล.อ.ชวลิต ก็ได้แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก หลังจากเกิดมีนักธุรกิจและชนชั้นกลางรวมตัวกันขับไล่ที่ถนนสีลม แต่ทว่าก็ยังมีข้อสงสัยอยู่ว่า เหตุใดธุรกิจของคณะรัฐมนตรีและนักการเมืองร่วมรัฐบาลกลับไม่ได้รับผลกระทบต่อวิกฤตกรณ์แต่อย่างใด ในขณะที่ธุรกิจของบุคคลโดยทั่วไปที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับคนในรัฐบาลนั้น ได้รับผลกระทบถึงขั้นล้มละลายเป็นจำนวนมากทั่วประเทศ [6]
- ได้รับการวิจารณ์ว่า แม้จะเป็นบุคคลที่มีบุคคลิกพูดจาอ่อนหวาน น่าฟัง แต่ทว่ากลับพูดไม่รู้เรื่อง หรือมักลืมคำถามหรือสิ่งที่ตนพูดอยู่เสมอ ๆ จนได้รับฉายาว่า "จิ๋ว อัลไซเมอร์"[7]
- ก่อนการเข้ารับตำแหน่งประธานพรรคเพื่อไทย ได้รับคำเตือนจาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรีว่า คิดให้ดี อย่าทรยศต่อชาติ[8][9]
- เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ใด ๆ ที่ พล.อ.ชวลิต รับหน้าที่อยู่ มักจะแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกเสมอ จนได้รับฉายาว่า "พ่อใหญ่ลา"[10]
- หลังการการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ พ.ศ. 2552 จบลง ได้เดินทางไปยังประเทศกัมพูชา เข้าพบ สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เพื่อปรึกษาเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่หน้าที่ อีกทั้งในขณะนั้นประเทศไทยมีปัญหาระหว่างประเทศกับกัมพูชาอยู่ จนได้รับการกล่าวหาว่า "ขายชาติ"[11][12]
- ในช่วงการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ พ.ศ. 2553 ได้เสนอทางออกของปัญหา คือ การขอพึ่งพาพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเรื่องนี้ได้ก่อให้เกิดการวิจารณ์ตามมามากมายว่าไม่บังควรอย่างยิ่ง แม้เจ้าตัวจะได้ปฏิเสธในภายหลังว่ามิได้มีเจตนาเช่นนั้น[13]
[แก้] อ้างอิง
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น