สมเด็จพระไชยราชาธิราช
สมเด็จพระไชยราชาธิราช |
|
---|---|
พระบรมนามาภิไธย | พระไชยราชา |
พระปรมาภิไธย | สมเด็จพระไชยราชาธิราช |
ราชวงศ์ | ราชวงศ์สุพรรณภูมิ |
ครองราชย์ | พ.ศ. 2077 - พ.ศ. 2089 |
ระยะครองราชย์ | 13 ปี |
รัชกาลก่อนหน้า | พระรัษฎาธิราช |
รัชกาลถัดไป | พระยอดฟ้า |
ข้อมูลส่วนพระองค์ | |
สวรรคต | พ.ศ. 2089 |
พระราชบิดา | สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 |
พระมเหสี | ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ท้าวศรีสุดาจันทร์ |
พระราชโอรส/ธิดา | พระยอดฟ้า พระศรีศิลป์ |
สมเด็จพระไชยราชาธิราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 13 แห่งกรุงศรีอยุธยา หลังจากได้ขึ้นครองราชย์ ได้ทรงแผ่บุญญาธิการ เป็นที่ประจักษ์โดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทรงเป็นผู้นำทัพออกรบปราบกบฏหัวเมืองอยู่เนืองๆ
เนื้อหา |
[แก้] พระราชประวัติ
เชื่อว่าพระองค์เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เสด็จขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 2077 หลังการปราบดาภิเษก โดยการสำเร็จโทษสมเด็จพระรัษฎาธิราชกุมาร หลังจากได้ขึ้นครองราชย์ ได้ทรงแผ่บุญญาธิการ เป็นที่ประจักษ์โดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทรงเป็นผู้นำทัพออกรบปราบกบฏหัวเมืองอยู่เนืองๆ
[แก้] พระมเหสี พระราชโอรส ธิดา
สมเด็จพระไชยราชาธิราชมีพระมเหสี 4 พระองค์คือ[ต้องการอ้างอิง]
- ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือ จิตราวดี[ต้องการอ้างอิง] เชื้อพระวงศ์พระร่วง พระเชษฐภคินีของสมเด็จพระสุริโยทัย ทรงสิ้นพระชนม์หลังประสูติพระราชบุตร (บ้างว่า เป็นพระยอดฟ้า บ้างว่า เป็นบุตรที่ทรงตกเสีย)[ต้องการอ้างอิง]
- ท้าวศรีสุดาจันทร์ เชื้อพระวงศ์อู่ทอง ภายหลังนางสนมนางนี้ได้เป็นชู้กับขุนวรวงศาธิราชจึงวางยาพิษ เป็นเหตุให้ราชสำนักวุ่นวาย และบุคคลที่มีบทบาทมากที่สุดในพระมเหสีทั้งสี่พระองค์
- ท้าวอินทรเทวี เชื้อพระวงศ์ศรีธรรมาโศกราช เป็นญาติกับขุนอินทรเทพ[ต้องการอ้างอิง] และอยู่เบื้องหลังการครองราชย์ของพระเฑียรราชา[ต้องการอ้างอิง]
- ท้าวอินทรสุเรนทร์ เชื้อพระวงศ์สุพรรณภูมิ ไม่มีการบันทึกบทบาทของพระนางเลยแม้แต่น้อย จึงไม่ปรากฏประวัติ
สมเด็จพระไชยราชาธิราชมีพระโอรสที่ปรากฏในพงศาวดาร 2 พระองค์คือ
- พระยอดฟ้า โอรสที่เกิดแต่จิตราวดี (บ้างว่า ท้าวศรีสุดาจันทร์) ได้ครองราชย์หลังจากพระไชยราชาธิราชสวรรคตไม่ถึง 2 ปี ก็ถูกสังหารโดยขุนวรวงศาธิราช
- พระศรีศิลป์ โอรสที่เกิดแต่ท้าวศรีสุดาจันทร์ ขุนวรวงศาธิราชนั้นได้ลอบสังหารพระยอดฟ้าเสีย แต่พระศรีศิลป์เลี้ยงไว้ ต่อมา เมื่อขุนนางฝ่ายพระไชยราชาได้สังหารขุนวรวงศาและท้าวศรีสุดาจันทร์ที่คลองสระบัว พระศรีศิลป์ได้อยู่ในเหตุการณ์แต่รอดชีวิตกลับมาได้ ในรัชสมัยพระมหาจักรพรรดิ พระศรีศิลป์ได้คิดกบฏ ต่อพระมหาจักรพรรดิจนต้องปืนตาย
[แก้] การสวรรคต
ท้าวศรีสุดาจันทร์ สนมเอกได้ลักลอบมีความสัมพันธ์กับพันบุตรศรีเทพ (ขุนวรวงศาธิราช) พราหมณ์ผู้คุมหอพระ ซึ่งต่อมาได้ลักลอบลองปลงพระชนม์พระองค์ด้วยยาพิษ ในปี พ.ศ. 2089
อย่างไรก็ดี การสวรรคตของสมเด็จพระไชยราชาธิราชด้วยยาพิษนั้นเป็นมาจากบันทึกของพ่อค้าชาวโปรตุเกสที่เข้ามาในอาณาจักรอยุธยาในสมัยนั้น ชื่อ เฟอร์ดินันท์ เมนเดซ ปินโต ซึ่งเป็นข้อมูลหลักในบทภาพยนตร์เรื่อง สุริโยไท แต่การสวรรคตของพระองค์ตามที่ปรากฏในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของไทยหลายส่วนเช่น พงศาวดารต่าง ๆ ต่างระบุว่าพระองค์สวรรคตด้วยอาการพระประชวร หลังจากการกลับจากสงคราม
[แก้] พระราชกรณียกิจ
[แก้] ราชการสงคราม
[แก้] สงครามเชียงกราน
ในรัชสมัยของพระองค์ได้เกิดสงครามไทยกับพม่า เมื่อปี พ.ศ. 2081 เมื่อพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ แห่งกรุงหงสาวดี ได้ยกกองทัพมาตีเมืองเชียงกราน อันเป็นหัวเมืองชายแดนทางทิศตะวันตกของกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงยกทัพไปตีกลับคืนมา ในการทัพครั้งนี้ พระองค์นำทหารอาสาชาวโปรตุเกสไปด้วย อาสาชาวโปรตุเกสมีความชำนาญในการใช้ปืนไฟ และได้เริ่มใช้ปืนไฟ ในการรบเป็นครั้งแรก กองทัพไทยสามารถยึดเมืองเชียงกราน กลับคืนมาได้
เมื่อพระองค์ยกทัพกลับมาถึงกรุงศรีอยุธยา พระองค์ได้ทรงปูนบำเหน็จความชอบแก่กองอาสาชาวโปรตุเกส พระราชทานที่ดินให้ตั้งบ้านเรือนที่บริเวณตำบลบ้านดิน เหนือคลองตะเคียน ซึ่งต่อมาเรียกว่าบ้านโปรตุเกส และทรงอนุญาตให้สร้างโบสถ์คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ทำให้มีบาทหลวงเข้ามาเผยแผ่คริสต์ศาสนา
[แก้] สงครามกับล้านนา
เกิดการผลัดแผ่นดินขึ้นที่เชียงใหม่ พระเมืองเกษเกล้าถูกลอบปลงพระชนม์ บรรดาท้าวพระยาเมืองลำปาง เมืองเชียงราย และเมืองพานได้ ยกกำลังเข้ายึดเมืองเชียงใหม่ได้ แล้วพร้อมใจกันแต่งตั้งพระนางมหาเทวีจิรประภา พระอัครมเหสีพระเมืองเกษเกล้า ขึ้นครองเมืองเชียงใหม่
สมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงยกกองทัพไปถึงเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2081 พระนางมหาเทวีจิรประภาได้ออกมาถวายการต้อนรับ และขอเป็นไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา ซึ่งในขณะนั้นพระนางมหาเทวี ฯ ทรงเกรงอานุภาพของพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ ซึ่งได้ขยายอาณาเขตมาจรดเขตของเชียงใหม่ จึงได้ยอมอ่อนน้อมต่อฝ่ายพม่า สมเด็จพระไชยราชาธิราช ทรงพิจารณาเห็นว่า ถ้าปล่อยให้สถานการณ์เป็นไปเช่นนี้ ในอนาคตพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ จะเข้ามารุกรานกรุงศรีอยุธยา พระองค์จึงได้ยกทัพเข้าตีเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2088 โดยได้ตีนครลำปาง และนครลำพูน พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระยาพิษณุโลกเป็นทัพยกไปเชียงใหม่ พระนางมหาเทวี ฯ จึงเห็นสถานการณ์เช่นนั้นแล้ว จึงทรงต้อนรับพระยาพิษณุโลก และทรงยอมเป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา
[แก้] การคมนาคม
ในรัชสมัยของพระองค์ได้โปรดเกล้าให้ขุดคลองลัดบางกอก เนื่องจากแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ปากน้ำไปถึง กรุงศรีอยุธยามีความคดเคี้ยวหลายแห่ง ทำให้เสียเวลาในการเดินทางเรือ พระองค์ทรงพิจารณาเห็นว่า แผ่นดินระหว่างคลองบางกอกใหญ่ และคลองบางกอกน้อยแคบ สามารถเดินถึงกันได้ ผลจากการขุดคลองลัดบางกอกทำให้สายน้ำเปลี่ยนทางเดินจนคลองลัดบางกอกกลายเป็นลำน้ำเจ้าพระยา จึงโปรดเกล้าให้ขุดคลองลัด ณ บริเวณดังกล่าวเป็นบริเวณตรงข้ามพระบรมมหาราชวัง ด้านท่าราชวรดิษฐ์ในปัจจุบัน
[แก้] อ้างอิง
- วิชาการ.คอม
- หอมรดกไทย
- พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์อธิบายประกอบ สำนักงานพิมพ์โอเดียนสโตร์ จัดพิมพ์จำหน่าย พ.ศ. 2510
- ไทยรบพม่า เล่ม 1 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สำนักงานพิมพ์อักษรเจริญทัศน์ จัดพิมพ์จำหน่าย พ.ศ. 2546
- พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ สำนักงานพิมพ์คลังวิทยา จัดพิมพ์จำหน่าย พ.ศ. 2510
[แก้] ดูเพิ่ม
สมัยก่อนหน้า | สมเด็จพระไชยราชาธิราช | สมัยถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
พระรัษฎาธิราช (ราชวงศ์สุพรรณภูมิ) (พ.ศ. 2076 - พ.ศ. 2077) |
พระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรอยุธยา (ราชวงศ์สุพรรณภูมิ) (พ.ศ. 2077 - พ.ศ. 2089) |
พระยอดฟ้า (ราชวงศ์สุพรรณภูมิ) (พ.ศ. 2089 - พ.ศ. 2091) |
|
|