ประเทศกัมพูชา
-
บทความนี้เกี่ยวกับประเทศกัมพูชา สำหรับความหมายอื่น ดูที่ กัมพูชา (แก้ความกำกวม)
-
"ราชอาณาจักรกัมพูชา" เปลี่ยนทางมาที่นี่ สำหรับกัมพูชาในสงครามเย็น ดูที่ ราชอาณาจักรกัมพูชา (พ.ศ. 2497–2513)
กัมพูชา ชื่ออย่างเป็นทางการว่า พระราชอาณาจักรกัมพูชา (เขมร: ព្រះរាជាណាចក្រកម្ពុជា พฺระราชาณาจกฺรกมฺพุชา "พระราชาณาจักรกัมพูชา") เป็นประเทศตั้งอยู่ในส่วนใต้ของคาบสมุทรอินโดจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพื้นที่ 181,035 ตารางกิโลเมตร มีพรมแดนทิศตะวันตกติดต่อกับประเทศไทย ทิศเหนือติดกับประเทศไทยและลาว ทิศตะวันออกและทิศใต้ติดกับเวียดนาม และทิศตะวันตกเฉียงใต้ติดอ่าวไทย
ด้วยประชากรกว่า 14.8 ล้านคน กัมพูชาเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดอันดับที่ 66 ของโลก ศาสนาพุทธนิกายเถรวาทเป็นศาสนาประจำชาติ ซึ่งประชากรกัมพูชานับถือประมาณ 95% ชนกลุ่มน้อยในประเทศมีชาวเวียดนาม ชาวจีน ชาวจามและชาวเขากว่า 30 เผ่า[5] เมืองหลวงและเมืองใหญ่สุด คือ พนมเปญ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรมของกัมพูชา
ราชอาณาจักรกัมพูชาปกครองแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ มีพระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี มาจากการเลือกตั้งโดยราชสภาเพื่อราชบัลลังก์ เป็นประมุขแห่งรัฐ ประมุขรัฐบาล คือ สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน ผู้ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้นำที่ดำรงตำแหน่งนานที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยได้ปกครองกัมพูชามาเป็นระยะเวลากว่า 25 ปี
ใน พ.ศ. 1345 พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ปราบดาภิเษกตนเป็นพระมหากษัตริย์ อันเป็นจุดเริ่มต้นของจักรวรรดิขะแมร์ อำนาจและความมั่งคังมหาศาลของจักรวรรดิขะแมร์ที่มีพระมหากษัตริย์ครองราชสมบัติสืบต่อกนมานั้นได้ครอบงำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากเป็นเวลากว่า 600 ปี กัมพูชาถูกปกครองเป็นเมืองขึ้นของประเทศเพื่อนบ้าน กระทั่งถูกฝรั่งเศสยึดเป็นอาณานิคมในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 กัมพูชาได้รับเอกราชใน พ.ศ. 2496 สงครามเวียดนามได้ขยายเข้าสู่กัมพูชา ทำให้เขมรแดงขึ้นสู่อำนาจ ซึ่งยึดกรุงพนมเปญได้ใน พ.ศ. 2518 กัมพูชาผงาดขึ้นอีกหลายปีให้หลังภายในเขตอิทธิพลสังคมนิยมเป็นสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชากระทั่ง พ.ศ. 2536 หลังจากหลายปีแห่งการโดดดี่ยว ชาติซึ่งเสียหายจากสงครามก็ได้รวมเข้าด้วยกันอีกครั้งภายใต้ระบอบราชาธิปไตยในปีเดียวกันนั้นเอง
ในการบูรณะประเทศหลังสงครามกลางเมืองนานหลายทศวรรษ กัมพูชามีความคืบหน้าอย่างรวดเร็วในด้านเศรษฐกิจและทรัพยากรมนุษย์ ประเทศกัมพูชาได้มีหนึ่งในบันทึกเศรษฐกิจที่ดีที่สุดในเอเชีย โดยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 6.0% เป็นเวลานาน 10 ปี ภาคสิ่งทอ เกษตรกรรม ก่อสร้าง เสื้อผ้าและการท่องเที่ยวที่เข้มแข็งได้นำไปสู่การลงทุนจากต่างชาติและการค้าระหว่างประเทศ[6] ใน พ.ศ. 2548 มีการพบแหล่งน้ำมันและแก๊สธรรมชาติใต้น่านน้ำอาณาเขตของกัมพูชา และเมื่อการขุดเจาะเชิงพาณิชย์เริ่มขึ้นใน พ.ศ. 2556 รายได้จากน้ำมันสามารถมีผลต่อเศรษฐกิจกัมพูชาอย่างลึกซึ้ง[7]
เนื้อหา |
[แก้] ประวัติศาสตร์
[แก้] ยุคมืดของกัมพูชา
ยุคมืดของกัมพูชา เริ่มตั้งแต่อาณาจักรอยุธยาได้โจมตีอาณาจักรเขมร และ ได้เผา พระนคร เมืองหลวงของอาณาจักรเขมร ราบเป็นหน้ากลอง ทำให้อาณาจักรเขมรเป็นส่วนหนึ่งของสยามประเทศตั้งแต่บัดนั้นมา เขมรเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยาในฐานะดินแดน ประเทศราช อาณาจักรอยุธยาปกครองเขมรเป็นเวลาเกือบ400ปี ต่อมาในสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์เขมรตกอยู่ภายใต้การควบคุมของจักรวรรดิสยามอย่างเข้มงวด ในสมัยรัชกาลที่3 ได้เกิด สงครามอานามสยามยุทธทำให้กัมพูชาเป็นรัฐอารักขาระหว่างสยามกับญวณ ก่อนที่จะตกเป็นของฝรั่งเศสในเวลาต่อมา
[แก้] สมัยอาณานิคมฝรั่งเศส
กัมพูชาเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสมาตั้งแต่พ.ศ. 2406 ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นได้เข้ายึดครองกัมพูชาไว้ แล้วปลดผู้ปกครองกัมพูชาที่เป็นชาวฝรั่งเศสและผู้นิยมฝรั่งเศสออกไป เมื่อสงครามโลกครั่งที่ 2 ยุติลง ฝรั่งเศสได้ขับไล่ญี่ปุ่นออกจากกัมพูชาเป็นฝ่ายชนะสงคราม กัมพูชาจึงต้องตกเป็นของฝรั่งเศสอีกครั้งหนึ่ง ต่อมาฝรั่งเศสมีภาระการต่อสู้ติดพันกับนักชาตินิยมในเวียดนาม จึงต้องหาทางประนีประนอมกับกัมพูชา โดยได้จัดทำสนธิสัญญาขึ้นเพื่อเปลี่ยนสภาพจากการที่กัมพูชาเป็นเมืองขึ้นมาเป็นรัฐในอารักขาแห่งเครือจักรภพของฝรั่งเศสในระยะที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝรั่งเศสได้เจ้าสีหนุเป็นกษัตริย์ปกครองกัมพูชา เมื่อญี่ปุ่นยึดกัมพูชาได้ จึงให้เจ้าสีหนุประกาศเอกราชเป็นอิสระจากฝรั่งเศส แต่เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม ฝรั่งเศสจึงกลับเข้ามามีอำนาจในกัมพูชาเหมือนเดิม
[แก้] การเมือง
สภาพการเมืองในกัมพูชาปัจจุบันถือว่ามีเสถียรภาพ พรรคการเมืองสองพรรคหลักซึ่งประกอบขึ้นเป็นรัฐบาลกัมพูชา คือ พรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ของสมเด็จฮุน เซน และพรรคฟุนซินเปค (FUNCINPEC) ของสมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์ สามารถร่วมมือกันได้อย่างราบรื่น ทั้งในด้านบริหารและด้านนิติบัญญัติ รวมทั้งมีท่าทีที่สอดคล้องกันเป็นส่วนใหญ่ในประเด็นทางการเมืองสำคัญๆ ของประเทศ อาทิ เรื่องการนำตัวอดีตผู้นำเขมรแดงมาพิพากษาโทษ เป็นต้น
กลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลยังไม่มีความเข้มแข็งมากพอ และคงสามารถทำได้เพียงแต่สร้างผลกระทบทางลบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล โดยในทางการเมือง พรรคสม รังสี พรรคการเมืองฝ่ายค้านหนึ่งเดียวในสภาแห่งชาติกัมพูชา ได้เคลื่อนไหวตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลกัมพูชาอย่างแข็งขัน พยายามชี้ให้สาธารณชนและนานาชาติ เห็นถึงการทุจริตและประพฤติมิชอบของรัฐบาล รวมทั้งการใช้อำนาจทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนและของพรรค อย่างไรก็ดี ในด้านความมั่นคง มีปรากฏการณ์ใหม่ คือ ได้เกิดกลุ่มติดอาวุธที่มีวัตถุประสงค์จะโค่นล้มรัฐบาลของสมเด็จฮุน เซน ที่สำคัญคือ Cambodian Freedom Fighters (CFF) ซึ่งมีชาวกัมพูชาสัญชาติอเมริกันเป็นหัวหน้า กลุ่มดังกล่าวได้ก่อการร้ายขึ้นในกรุงพนมเปญเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 แต่รัฐบาลกัมพูชาสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ และอยู่ระหว่างกระบวนการพิพากษาตัวผู้กระทำผิด
[แก้] การสืบราชสันตติวงศ์
ไม่เหมือนกับระบบกษัตริย์ส่วนใหญ่ในประเทศอื่นๆ ระบบกษัตริย์ของกัมพูชา ไม่เสมอไปที่ราชบัลลังก์จะตกไปสู่ผู้มีลำดับการสืบราชสันตติวงศ์ลำดับถัดไป ( ผู้ที่มีศักดิ์สูงสุดในราชวงศ์ หรือลูกคนโตของกษัตริย์องค์ก่อน เป็นต้น) และพระมหากษัตริย์ ไม่สามารถเลือกผู้ที่จะมาสืบราชสันตติวงศ์ได้ด้วยตัวเอง แต่ผู้ที่มีสิทธิ์ในการเลือกพระมหากษัตริย์องค์ใหม่นั้นคือ ราชสภาเพื่อคัดเลือกผู้ที่จะได้รับการสืบราชสันตติวงศ์ (Literally: ราชสภาเพื่อราชบัลลังก์) (Royal Council of the Throne) ซึ่งมีสมาชิกดังนี้ 1). ประธานสภารัฐสภา แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา (Radhsaphea ney Preah Reacheanachak Kampuchea: รัฐสเภียะ เนะ เพรียะ เรียะชอาณาจักร กัมปูเชีย) 2). นายกรัฐมนตรี 3).พระสังฆราช ศาสนาพุทธ ฝ่ายมหานิกาย 4). พระสังฆราช ศาสนาพุทธ ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย 5).รองประธานรัฐสภาคนที่หนึ่ง และ 6).รองประธานสภาคนที่สอง ราชสภาจะจัดการประชุมในสัปดาห์ที่พระมหากษัตริย์ สวรรคตหรือ ไม่สามารถปฏิบัติพระราชกรณียกิจได้ต่อไป และเลือกพระมหากษัตริย์องค์ใหม่จากรายชื่อผู้มีสิทธิ์สืบราชสันตติวงศ์ และเป็นสมาชิกราชวงศ์
[แก้] การแบ่งเขตการปกครอง
-
ดูบทความหลักที่ เขตการปกครองของกัมพูชา
ประเทศกัมพูชาแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 20 จังหวัด[ต้องการอ้างอิง] (เขต: provinces; khet) และ 4 เทศบาล* (กรุง: municipalities; krung)
ชื่อ | เมืองเอก | พื้นที่ (กม.²) | ประชากร (ปี 2541) |
---|---|---|---|
1.ខេត្តបន្ទាយមានជ័យ บันทายมีชัย / บันเตียเมียนเจย (Banteay Meanchey) | เมืองศรีโสภณ | 6,679 | 577,772 |
2. พระตะบอง / บัดด็อมบอง (Battambang) | เมืองพระตะบอง | 11,702 | 793,129 |
3.ខេត្តកំពង់ចាម กำปงจาม / ก็อมปวงจาม (Kampong Cham) | เมืองกำปงจาม | 9,799 | 1,608,914 |
4.ខេត្តកំពង់ឆ្នាំង กำปงชนัง / ก็อมปวงชนัง (Kampong Chhnang) | เมืองกำปงชนัง | 5,421 | 417,693 |
5.ខេត្តកំពង់ស្ពឺ กำปงสปือ / ก็อมปวงสปือ (Kampong Speu) | เมืองกำปงสปือ | 7,017 | 598,882 |
6.ខេត្តកំពង់ធំ กำปงธม / ก็อมปวงต็วม (Kampong Thom) | เมืองกำปงธม | 13,814 | 569,060 |
7.ខេត្តកំពត กำปอด / กำโพธิ (Kampot) | เมืองกำโพธิ | 4,873 | 528,405 |
8.ខេត្តកណ្តាល กันดาล / ก็อนดาล (Kandal) | เมืองท่าเขมา | 3,568 | 1,075,125 |
9.ខេត្តកោះកុង เกาะกง / เกาะฮฺกง (Koh Kong) | กรุงเกาะกง | 11,160 | 132,106 |
10.កែប แกบ* (Kep) | - | 336 | 28,660 |
11.ខេត្តក្រចេះ กระแจะ (Kratié) | เมืองกระแจะ | 11,094 | 263,175 |
12.ខេត្តមណ្ឌលគីរី มณฑลคีรี / ม็อนด็อลกิรี (Mondulkiri) | เมืองแสนมโนรมย์ | 14,228 | 32,407 |
13.ខេត្តឧត្តរមានជ័យ อุดรมีชัย / โอดดาร์เมียนเจีย (Oddar Meancheay) | เมืองสำโรง | 6,158 | 68,279 |
14.ក្រុងប៉ែលិន ไพลิน* (Pailin) | - | 803 | 22,906 |
15.ក្រុងភ្នំពេញ พนมเปญ / พนุมเป็ญ* (Phnom Penh) | - | 376 | 2,009,264 |
16.ក្រុងព្រះសីហនុ สีหนุวิลล์ / กรุงพระสีหนุ กำปงโสม /ก็อมปงโซม* (Sihanoukville, Kampong Som) |
- | 868 | 235,190 |
17.ខេត្តព្រះវិហារ พระวิหาร / เปรียะฮ์วิเหียร์ (Preah Vihear) | เมืองพนมตะเบงเมียนไจย | 13,788 | 119,261 |
18.ខេត្តពោធិសាត់ โพธิสัตว์ / โพธิ์ซัด (Pursat) | เมืองโพธิสัตว์ | 12,692 | 360,445 |
19.ខេត្តព្រែវែង ไพรแวง (Prey Veng) | เมืองเปรยแวง | 4,883 | 946,042 |
20. รัตนคีรี (Ratanakiri) | เมืองบ้านลุง | 10,782 | 94,243 |
21.ខេត្តសៀមរាប เสียมราฐ / เสียมเรียบ (Siem Reap) | เมืองเสียมเรียบ | 10,299 | 696,164 |
22.ខេត្តស្ទឹងត្រែង สตึงแตรง (Stung Treng) | เมืองสตรึงแตรง | 11,092 | 81,074 |
23.ខេត្តស្វាយរៀង สวายเรียง (Svay Rieng) | เมืองสวายเรียง | 2,966 | 478,252 |
24.ខេត្តតាកែវ ตาแก้ว (Takéo) | เมืองตาแก้ว | 3,563 | 790,168 |
เมืองใหญ่ที่สุดในประเทศกัมพูชา |
|||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
ที่ | เมือง | จังหวัด | ประชากร | ||||||
พนมเปญ |
1 | พนมเปญ | พนมเปญ | 2,234,566 | เสียมราฐ |
||||
2 | พระตะบอง | พระตะบอง | 250,000 | ||||||
3 | เสียมราฐ | เสียมราฐ | 171,800 | ||||||
4 | สีหนุวิลล์ | สีหนุวิลล์ | 132,000 | ||||||
5 | ปอยเปต | บันเตียเมียนเจย | 89,549 | ||||||
6 | เปรยแวง | เปรยแวง | 74,000 | ||||||
7 | กำปงจาม | กำปงจาม | 63,770 | ||||||
8 | ศรีโสภณ | บันเตียเมียนเจย | 61,631 | ||||||
9 | ตาคเมา | กันดาล | 58,264 | ||||||
10 | โพธิสัตว์ | โพธิสัตว์ | 57,000 |
[แก้] ภูมิประเทศ
- ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ ประกอบด้วยที่ราบรอบทะเลสาบเขมร และที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง
- มีทิวเขาล้อมรอบทางเหนือ คือ เทือกเขาพนมดงรัก เทือกเขาบรรทัด เทือกเขาอันนัม
กัมพูชา มีลักษณะภูมิประเทศคล้ายชามหรืออ่าง คือ ตรงกลางเป็นแอ่งทะเลสาบและลุ่มแม่น้ำโขงอันกว้างขวาง มีภูเขาล้อมรอบอยู่ 3 ด้าน ได้แก่
- ด้านตะวันออกมีแนวเทือกเขาอันนัมที่เป็นพรมแดนกับประเทศเวียดนาม
- ด้านเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือมีแนวเทือกเขาพนมดงรักที่เป็นพรมแดนกับประเทศไทย
- ด้านใต้และตะวันตกใต้มีแนวเทือกเขาบรรทัดที่เป็นแนวพรมแดนกับประเทศไทย
เฉพาะด้านตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้นที่เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง
[แก้] แม่น้ำ/ทะเลสาบสำคัญ
- แม่น้ำโขง ไหลจากลาวเข้าสู่ภาคเหนือของกัมพูชาแล้วไหลผ่านเข้าเขตเวียดนาม มีความยาวในเขตกัมพูชารวม 500 กิโลเมตร
- แม่น้ำทะเลสาบ เชื่อมระหว่างแม่น้ำโขงกับทะเลสาบ ความยาว 130 กิโลเมตร
- แม่น้ำบาสัก (Bassac) เชื่อมต่อกับแม่น้ำทะเลสาบที่หน้าพระมหาราชวัง กรุงพนมเปญ ความยาว 80 กิโลเมตร
- ทะเลสาบโตนเลสาบ อยู่ห่างจากกรุงพนมเปญประมาณ 100 กิโลเมตร ฤดูน้ำหลากน้ำท่วมถึง 7,500 ตารางกิโลเมตร ลึกถึง 10 เมตร โตนเลสาบครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ กำปงธม กำปงซะนัง โพธิสัตว์ พระตะบอง และเสียมราฐ ในโตนเลสาบมีปลาชุกชุมกว่า 300 ชนิด
[แก้] ภูเขา
ยอดเขาสูงที่สุดของกัมพูชาคือ พนมอาออรัล สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,813 เมตรทิศเหนือของกัมพูชามีเขตแดนติดกับประเทศไทยระยะทางยาว 750 กิโลเมตร ติดกับจังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ สระแก้ว จันทบุรี ตราด โดยมีเทือกเขาพนมดงรัก และเทือกเขาบรรทัดกั้น
[แก้] ป่าไม้
กัมพูชาเป็นประเทศที่มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์มากที่สุดหากเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจุบันป่าไม้ลดลงอย่างมากหลังจากที่รัฐบาลเปิดให้สัมปทานป่ากับบริษัทเอกชนจากประเทศ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และญี่ปุ่น
[แก้] ภูมิอากาศ
- มีอากาศมรสุมเขตร้อนเป็นแบบร้อนชื้นแถบมรสุม ฤดูฝนเริ่มจากเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ฤดูแล้ง เริ่มจากเดือนพฤศจิกายน-เมษายน เดือนเมษายนมีอุณหภูมิสูงสุดที่สุด เดือนมกราคมมีอุณหภูมิต่ำที่สุด เดือนตุลาคมมีฝนตกชุกที่สุด
ข้อมูลภูมิอากาศของกรุงพนมเปญ, ประเทศกัมพูชา | |||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
เดือน | ม.ค. | ก.พ. | มี.ค. | เม.ย. | พ.ค. | มิ.ย. | ก.ค. | ส.ค. | ก.ย. | ต.ค. | พ.ย. | ธ.ค. | ทั้งปี |
อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย °C (°F) | 31.5 (88.7) |
32.8 (91) |
34.9 (94.8) |
34.9 (94.8) |
34.3 (93.7) |
33.5 (92.3) |
32.5 (90.5) |
32.5 (90.5) |
32.3 (90.1) |
31.1 (88) |
29.9 (85.8) |
30.1 (86.2) |
32.5 (90.5) |
อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย °C (°F) | 21.9 (71.4) |
23.0 (73.4) |
24.1 (75.4) |
25.0 (77) |
25.3 (77.5) |
25.0 (77) |
24.7 (76.5) |
24.6 (76.3) |
24.3 (75.7) |
23.8 (74.8) |
22.7 (72.9) |
21.7 (71.1) |
23.84 (74.92) |
หยาดน้ำฟ้า มม (นิ้ว) | 25.5 (1.004) |
11.5 (0.453) |
58.0 (2.283) |
101.0 (3.976) |
111.6 (4.394) |
177.1 (6.972) |
195.9 (7.713) |
172.0 (6.772) |
248.8 (9.795) |
318.9 (12.555) |
135.0 (5.315) |
80.3 (3.161) |
1,635.6 (64.394) |
วันที่มีหยาดน้ำฟ้าโดยเฉลี่ย (≥ 0.1 mm) | 2.8 | 2.4 | 5.2 | 8.6 | 16.4 | 16.6 | 19.6 | 21.4 | 19.8 | 24.0 | 11.8 | 4.8 | 153.4 |
จำนวนชั่วโมงที่มีแดด | 279 | 252 | 248 | 240 | 217 | 180 | 155 | 155 | 150 | 186 | 240 | 279 | 2,581 |
แหล่งที่มา: HKO |
[แก้] เศรษฐกิจ
- เกษตรกรรม อยู่บริเวณที่ราบภาคกลาง รอบทะเลสาบเขมร พืชที่สำคัญคือ ข้าวเจ้า ยางพารา พริกไทย
- การประมง บริเวณรอบทะเลสาบเขมร เป็นแหล่งประมงน้ำจืดที่สำคัญที่สุดในภูมิภาค
- การทำป่าไม้ บริเวณเขตภูเขาทางภาคเหนือ โดยล่องมาตามแม่น้ำโขง
- การทำเหมืองแร่ ยังไม่ค่อยสำคัญ
- อุตสาหกรรม เป็นอุตสาหกรรมขนาดย่อม ส่วนใหญ่เป็นโรงสีข้าว โรงเลื่อย รองเท้า
ภาวะเศรษฐกิจของกัมพูชาหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสังคมนิยมเป็นระบอบประชาธิปไตย และหลังจากสงครามภายใน ประเทศกัมพูชาเริ่มสงบลง และเริ่มพัฒนาฟื้นฟูบูรณะประเทศ ทำให้ความต้องการสินค้าและบริการเพิ่มมากขึ้น จึงเปิดโอกาสให้ ประเทศทำการค้าขายกับต่างประเทศมากยิ่งขึ้น กัมพูชาจึงกำหนดนโยบายที่มุ่งหวังการพัฒนาศักยภาพทางการเกษตร การท่องเที่ยว และส่งเสริมให้มีการลงทุนจากต่างชาติ โดยกำหนดยุทธการต่างๆ เพื่อเพิ่มรายได้ของรัฐและได้ดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การปรับปรุงกฎหมายด้านเศรษฐกิจ การเพิ่มสิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนต่างประเทศ การปฏิรูประบบจัดเก็บภาษีเงินได้ และเร่งรัดพัฒนาโครงสร้าง พื้นฐานทางเศรษฐกิจ เช่น สนามบิน ถนน ไฟฟ้า ประปา และสาธารณูปโภคต่างๆ เป็นต้น ภายใต้ความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย และ UNDP รวมทั้งประเทศที่ให้ความช่วยเหลืออื่นๆ
แต่การพัฒนาเศรษฐกิจของกัมพูชาได้เติบโตอย่างช้าๆ โดยเฉพาะในช่วงปี 2540-2541 กัมพูชาต้องเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย และความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศ ส่งผลให้นักลงทุนต่างประเทศถอนตัวออกจากประเทศกัมพูชา ส่งผลให้การฟื้นฟูบูรณะและการพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างล่าช้า แต่หลังจากปี 2542 สถานการณ์การเมืองกัมพูชาเริ่มมีความมั่นคงพอสมควร และนับเป็นปีแรกที่กัมพูชามีสันติภาพอย่างแท้จริง เพราะปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในหมดไป ปัจจุบัน กัมพูชากำลังพัฒนาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (ตุลาคม 2543 - กันยายน 2548) ทั้งนี้เพื่อให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในเกณฑ์ร้อยละ 6-7 ต่อปี ภาวะเศรษฐกิจของกัมพูชาในอดีตที่ผ่านมาสามารถสรุปได้ดังนี้
สินค้าเกษตรกรรมถือว่าเป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศประมาณร้อยละ 43 ของ GDP มาจากข้าวและปศุสัตว์ ส่วนการประมงและป่าไม้มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 5 สินค้าเกษตรที่ส่งออกได้แก่ข้าว ไม้ และยางพารา รองลงมาได้แก่ ข้าวโพด ถั่วเหลือง สัตว์มีชีวิต ผลไม้ และปลา เป็นต้น ทั่วไปกัมพูชามีสินค้าส่งออกที่สำคัญได้แก่ เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม ไม้ ยางพารา ข้าว และปลา สินค้านำเข้าที่สำคัญได้แก่ผลิตภัณฑ์น้ำมันเชื้อเพลิง บุหรี่ ทอง วัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรและเครื่องยนต์
เศรษฐกิจกัมพูชาในปี 2546 คาดการณ์โดย The Economist Intelligence Unit (EIU) มีการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเหลือ 5.0 % และ International Monetary Fund (IMF) คาดว่าเศรษฐกิจขยายตัว 4.7 % เทียบกับที่ขยายตัวราว 5.5 % ในปี 2545 ปัจจัยสำคัญที่บั่นทอนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกัมพูชา ได้แก่ รายได้จากภาคการท่องเที่ยวที่ลดลง เนื่องจากเกิดเหตุการณ์การก่อความไม่สงบ โดยมีการเผาสถานทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ เกิดปัญหาการระบาดของโรคทางเดินหายใจ เฉียบพลันรุนแรง (SARS) ประกอบกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองในกัมพูชา (หลังการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2546 ที่ผ่านมา) ทำให้นักท่องเที่ยวไม่มั่นใจในความปลอดภัยและ ปัญหาการเมืองที่ยังคงไร้เสถียรภาพ ทำให้นักลงทุนต่างชาติขาดความเชื่อมั่นในการเข้าไปลงทุนในกัมพูชา ถึงแม้ว่าวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2546 สภาแห่งชาติของกัมพูชา (The National Assembly) ได้อนุมัติการออกกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายการลงทุนฉบับลงวันที่ 5 สิงหาคม 2534 (Law on the Amendment to the Law on Investment of the Kingdom of Cambodia) เพื่อเอื้อสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนแก่นักลงทุนต่างชาติ ส่วนภาคธุรกิจก่อสร้างยังคงอยู่ในภาวะซบเซา
ปี 2547 EIU และ IMF คาดว่าเศรษฐกิจกัมพูชาจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 5.5 % - 5.8 % ซึ่งใกล้เคียงกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลกัมพูชาคาดว่าจะขยายตัวสูงถึง 5.5 % - 6.0 % เนื่องจากรายได้จากการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น ประกอบกับเมื่อเดือนธันวาคม 2546 รัฐบาลสหรัฐอเมริกาประกาศเพิ่มโควตานำเข้าสิ่งทอสำหรับปี 2547 ให้กัมพูชาเพิ่มขึ้นอีก 14 % ซึ่งคาดว่าจะทำให้กัมพูชามีรายได้จากการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น และภาคธุรกิจก่อสร้างเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น และจากการที่กัมพูชาได้เข้าเป็นสมาชิก ใหม่ของ WTO อย่างสมบูรณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2547 ทำให้กัมพูชามีพันธกรณีที่ต้องเร่งปรับปรุงกฎหมายด้านการลงทุนให้ได้มาตรฐานสากล ซึ่งจะทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นและเข้าไปลงทุนในกัมพูชาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการย้ายฐานการผลิตเข้าไปตั้งโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปในกัมพูชาเพื่อส่งออก เนื่องจากกัมพูชายังมีอัตราค่าจ้างแรงงานที่ต่ำ ทางด้านอัตราเงินเฟ้อ EIU และ IMF คาดว่าปี 2547 กัมพูชาจะมีอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 3.1 % - 3.5 % จากอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยราว 1.3 % - 2.6 % ในปี 2546 เนื่องจากราคาอาหารในประเทศปรับตัวสูงขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก (ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย, 2547)
[แก้] ประชากร
- จำนวนประชากร
- 14,071,001 คน (ก.ค. 2548)
- เชื้อชาติ
- ชาวเขมร 85% ชาวญวน 5% ชาวจีน 5 % อื่นๆ เช่นชาวไทย ดูเพิ่มได้ที่ไทยเกาะกง ชาวลาว ชาวจาม ชาวจะราย ชาวระแดว์ ชาวเสตียง ชาวเมฺรญ และชาวเปือร์ 3% เป็นต้น
- ภาษา
- ภาษาเขมรเป็นภาษาทางการ ส่วนภาษาที่ใช้โดยทั่วไป ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเวียดนาม ภาษาไทย และภาษาจีน
- ศาสนา
- รัฐธรรมนูญกัมพูชาบัญญัติให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ เพราะมีผู้นับถือพระพุทธศาสนา 95% ศาสนาอิสลาม 3% ศาสนาคริสต์ 1.7% ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู 0.3%
[แก้] ดูเพิ่ม
[แก้] อ้างอิง
- ^ Department of Economic and Social Affairs Population Division (2009) (PDF). World Population Prospects, Table A.1. 2008 revision. United Nations. http://www.theodora.com/wfbcurrent/cambodia/cambodia_economy.pdf. เรียกข้อมูลเมื่อ March 12, 2009.[ลิงก์เสีย]
- ^ 2.0 2.1 "Cambodia". International Monetary Fund. http://www.imf.org/external/pubs/ft/weo/2011/01/weodata/weorept.aspx?sy=2008&ey=2011&scsm=1&ssd=1&sort=country&ds=.&br=1&c=522&s=NGDPD%2CNGDPDPC%2CPPPGDP%2CPPPPC%2CLP&grp=0&a=&pr.x=43&pr.y=1. เรียกข้อมูลเมื่อ April 21, 2011.
- ^ "Distribution of family income – Gini index". The World Factbook. CIA. https://www.cia.gov/library/publications/the-world-factbook/fields/2172.html. เรียกข้อมูลเมื่อ September 1, 2009.
- ^ "Human Development Report 2009. Human development index trends: Table G". The United Nations. http://hdr.undp.org/en/media/HDR_2009_EN_Complete.pdf. เรียกข้อมูลเมื่อ October 5, 2009.
- ^ Cambodia to celebrate day for indigenous people near Angkor Wat
- ^ Cambodia to outgrow LDC status by 2020 | Business | The Phnom Penh Post – Cambodia's Newspaper of Record. The Phnom Penh Post (May 18, 2011). Retrieved on June 20, 2011.
- ^ Ek Madra. "Oil Revenue Not Likely Until 2013: Ministry", January 19, 2007. สืบค้นวันที่ December 19, 2011
- ประเทศกัมพูชา จากเว็บไซต์กระทรวงต่างประเทศ
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
- ประเทศกัมพูชา ที่ ดีมอซ
- ประเทศกัมพูชา ข้อมูลการท่องเที่ยวจากวิกิท่องเที่ยว
- ประวัติศาสตร์การเมืองกัมพูชา
- http://www.isc-gspa.org/country/kumb/10.pdf
|
|
|
|