สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3
สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 |
|
---|---|
พระบรมนามาภิไธย | พระบรมราชา |
พระปรมาภิไธย | สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 |
พระอิสริยยศ | พระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรอยุธยา |
ราชวงศ์ | ราชวงศ์สุพรรณภูมิ |
ครองราชย์ | พ.ศ. 2031-พ.ศ. 2034 |
ระยะครองราชย์ | 3 ปี |
รัชกาลก่อนหน้า | สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ |
รัชกาลถัดไป | สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 |
ข้อมูลส่วนพระองค์ | |
สวรรคต | พ.ศ. 2034 |
พระราชบิดา | สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ |
สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 พระนามเดิม พระบรมราชา เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และเป็นพระเชษฐาต่างพระมารดาของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ. 2031 เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 แห่งกรุงศรีอยุธยา มีหลักฐานหลายอย่างที่สนับสนุนว่าพระองค์อาจเป็นพระองค์เดียวกับพระอินทราชา พระโอรสอีกพระองค์ของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
เนื้อหา |
[แก้] พระราชประวัติ
สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 มีพระนามเดิมว่า พระบรมราชา เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระองค์มีพระเชษฐา คือ สมเด็จพระอินทราชา และมีพระอนุชาต่างพระมารดา คือ สมเด็จพระเชษฐาธิราช (ต่อมา คือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2)
ในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถนั้น เป็นช่วงเวลาที่กรุงศรีอยุธยาทำสงครามกับอาณาจักรล้านนาหลายครั้ง พระองค์จึงตัดสินพระทัยเสด็จไปเสวยราชสมบัติ ณ เมืองพิษณุโลก เพื่อที่จะไปป้องกันหัวเมืองเหนือจากล้านนา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2006 ดังนั้น เมืองพิษณุโลกจึงกลายเป็นเมืองราชธานีในสมัยนี้ ส่วนทางกรุงศรีอยุธยา พระองค์ทรงสถาปนาให้พระบรมราชาขึ้นครองราชสมบัติทรงมีพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราช (ที่ 3) ดังนั้น ในช่วงเวลาดังกล่าวจึงมีพระมหากษัตริย์พร้อมกัน 2 พระองค์ นอกจากนี้ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถยังโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระเชษฐาธิราชที่พระมหาอุปราชด้วย
เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2031 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 ซึ่งครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาอยู่นั้นได้ย้ายราชธานีกลับมาที่กรุงศรีอยุธยาอีกครั้งหนึ่ง ส่วนเมืองพิษณุโลกนั้น สมเด็จพระเชษฐาธิราช ผู้เป็นพระอนุชาได้ปกครองอยู่ในฐานะพระมหาอุปราช
สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 เสด็จสวรรคต เมื่อพ.ศ. 2034 ครองสิริราชสมบัติได้ 3 ปี สมเด็จพระเชษฐาธิราชเจ้า ผู้เป็นพระอนุชาได้ขึ้นครองราชย์ต่อทรงมีพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2
[แก้] พระราชกรณีกิจ
[แก้] ด้านการปกครอง
สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 ทรงดูแลกรุงศรีอยุธยาแทนพระบิดาเป็นเวลา 25 ปีก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์
[แก้] ด้านการสงคราม
ทรงเสด็จไปตีเมืองทวายซึ่งตั้งแข็งเมืองต่อกรุงศรีอยุธยาและทรงได้รับชัยชนะ
[แก้] ด้านวรรณกรรม
นักวิชาการหลายท่านเชื่อว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 ทรงเป็นผู้พระราชนิพนธ์ กำสรวลสมุทร (นิยมเรียกกันว่า กำสรวลศรีปราชญ์) ก่อนขึ้นครองราชสมบัติเนื่องในการเสด็จประพาสชลมารคตามแม่น้ำเจ้าพระยา จากกรุงศรีอยุธยาไปยังหัวเมืองชายทะเลแถวปากแม่น้ำ พระราชนิพนธ์นี้ได้กล่าวถึงความยิ่งใหญ่ของกรุงศรีอยุธยา
[แก้] เหตุการณ์สำคัญ
- พ.ศ. 2026 สมเด็จพระบรมราชาเสด็จไปวังช้าง ตำบลไทรย้อย
- พ.ศ. 2027 พระเชษฐาธิราช และพระราชโอรสของสมเด็จพระบรมราชาธิราชทรงผนวชทั้ง 2 พระองค์
- พ.ศ. 2028 พระเชษฐาธิราชลาพระผนวช สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถสถาปนาพระเชษฐาธิราชเป็นพระมหาอุปราช
- พ.ศ. 2029 สมเด็จพระบรมราชาเสด็จไปวังช้าง ตำบลสัมฤทธิบูรณ์
- พ.ศ. 2031 สมเด็จพระบรมราชาเสด็จยกทัพไปตีเมืองทวายและได้กวาดต้อนผู้คนมาเป็นจำนวนมาก
- พ.ศ. 2033 มีการก่อกำแพงเมืองพิชัยเป็นครั้งแรก
[แก้] อ้างอิง
- วิชาการ.คอม
- หอมรดกไทย
- ไทยรบพม่า เล่ม 1 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สำนักงานพิมพ์อักษรเจริญทัศน์ จัดพิมพ์จำหน่าย พ.ศ. 2546
- พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ สำนักงานพิมพ์คลังวิทยา จัดพิมพ์จำหน่าย พ.ศ. 2510
[แก้] ดูเพิ่ม
สมัยก่อนหน้า | สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 | สมัยถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ราชวงศ์สุพรรณภูมิ (พ.ศ. 1991 - พ.ศ. 2031) |
พระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรอยุธยา (ราชวงศ์สุพรรณภูมิ (พ.ศ. 2031 - พ.ศ. 2034)) |
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ราชวงศ์สุพรรณภูมิ (พ.ศ. 2034 - พ.ศ. 2072) |
|