ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์
โครงการห้องสมุดโรงเรียนในฝัน

***ร่วมสร้างองค์ความรู้ สู่การศึกษาตลอดชีวิต วิทยพัฒนาเด็กไทยในท้องถิ่น***


000 หมวดเบ็ดเตล็ด
(Generalities)

100 หมวดปรัชญา
(Philosophy)

200 หมวดศาสนา
(Religion)

300 หมวดสังคมศาสตร์
(Social Sciences)

400 หมวดภาษาศาสตร์
(Language)

500 หมวดวิทยาศาสตร์
(Pure Sciences)

600 หมวดเทคโนโลยี
(Technology)

700 หมวดศิลปะ
(The Arts)

800 หมวดวรรณคดี
(Literature)

900 หมวดประวัติศาสตร์
(Geography & History)


Home

   

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต

                   

พระประวัติ

จอมพล จอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต (๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๔ - ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๗) หรือ ทูลกระหม่อมบริพัตร ทรงดำรงตำแหน่งที่สำคัญทางการทหาร ตำแหน่งเสนาธิการทหารบก ผู้บัญชาการกรมทหารเรือ เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ เสนาธิการทหารบก เสนาบดีกระทรวงกลาโหม เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย และผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร ทรงดำรงตำแหน่งองคมนตรีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้ยังทรงพระปรีชาสามารถในงานดนตรี ทรงได้รับการขนานพระนามเป็น"พระบิดาแห่งเพลงไทยเดิม" ทรงพระนิพนธ์เพลงไทย เพลงฝรั่งและเพลงไทยเดิมไว้มากมาย ทรงนิพนธ์เพลง วอทซ์ปลื้มจิต, วอทซ์ชุมพล, สุดเสนาะ, เพลงมหาฤกษ์, เพลงพญาโศก

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ต้องเสด็จออกจากประเทศไทยอย่างกะทันหัน โดยเสด็จไปด้วยรถไฟขบวนพิเศษ ซึ่งวิ่งตลอดไม่มีหยุดพักจนถึงปีนังวันที่ ๓ กรกฎาคม และย้ายไปประทับอยู่ที่เมืองบันดุง เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย

จอมพลเรือ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสด็จถึงทิวงคตด้วยพระโรคไตและพระหทัย เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๗ ที่ตำหนักประเสบัน เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย ในขณะที่ทรงพระชนพรรษา ๖๓ พรรษา และได้มีการพระราชทานเพลิงพระศพ ที่พระเมรุท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๓

พระโอรส-ธิดา

พระโอรสและพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
๑. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต เสกสมรสกับหม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตร (เทวกุล)
๒. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงศิริรัตนบุษบง เสกสมรสกับหม่อมเจ้าอาชวดิศ ดิศกุล
๓. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงสุทธวงษ์วิจิตร
๔. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงพิสิฐสบสมัย เสกสมรสกับหม่อมเจ้าโกลิต กิติยากร
๕. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงจุไรรัตนศิริมาน เสกสมรสกับหม่อมเจ้าฉัตรมงคล โสณกุล
๖. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงจันทรกานตมณี
๗. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงน้อง
๘. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชายปรียชาติสุขุมพันธุ์
๙. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงอินทุรัตนา
๑๐. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุขุมาภินันท์

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงมีพระชายา ๑ พระองค์ คือ หม่อมเจ้าประสงค์สม บริพัตร (พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไชยันตมงคล กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ประสูติแต่กลีบ ซูกะวิโรจน์) และจากที่หม่อมเจ้าประสงค์สม ประชวรจึงทรงรับ คุณสัมพันธ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา เป็นหม่อมอีก ๑ ท่าน โดยทรงมีพระโอรสธิดาจำนวน ๑๐ พระองค์

ตำแหน่งสำคัญ

เสนาธิการทหารบก (๒๔๔๖ - ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๔๗)

ผู้บัญชาการกรมทหารเรือ (๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๔๗ - ๑๐ ธันวาคม ๒๔๕๓)

องคมนตรี (๒๔ ตุลาคม ๒๔๕๓ - ๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๖๘)

เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ (๑๑ ธันวาคม ๒๔๕๓ - ๑๘ มิถุนายน ๒๔๖๓)

เสนาธิการทหารบก และผู้บัญชาการกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ (๑๙ มิถุนายน ๒๔๖๓ - ๒๓ สิงหาคม ๒๔๖๙)

อุปนายกผู้อำนวยการสภากาชาดสยาม (๑๒ กรกฎาคม ๒๔๖๓ - ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕)

อภิรัฐมนตรีสภา (๒๘ พฤษภาคม ๒๔๖๘ - ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕)

เสนาบดีกระทรวงกลาโหม (๒๔ สิงหาคม ๒๔๖๙ - ๓๑ มกราคม ๒๔๗๑)

เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย (๑ เมษายน ๒๔๗๑ - ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕)

อุปนายกสภาป้องกันพระราชอาณาจักร (๗ เมษายน ๒๔๗๒ - ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕)

ประธานอภิรัฐมนตรีสภาและเสนาบดีสภา (๒๓ กรกฎาคม ๒๔๗๒ - ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕)

ผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร (๒๕ กรกฎาคม ๒๔๗๒ - ๑๑ ตุลาคม ๒๔๗๒) (๙ เมษายน ๒๔๗๓ - ๘ พฤษภาคม ๒๔๗๓) (๑๙ มีนาคม ๒๔๗๓ - ๑๒ ตุลาคม ๒๔๗๔)

ผลงานดนตรี

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงสีซอได้ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ต่อมาทรงต่อเพลงกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ จนมีฝีพระหัตถ์ดีเยี่ยม และทรงต่อเพลงกับเจ้าเทพกัญญา บูรณพิมพ์ เป็นครั้งคราว

พระองค์ทรงเครื่องดนตรีไทยได้หลายชนิด เช่น ฆ้องวงใหญ่ ระนาด ซอ ทั้งยังทรงเปียโนได้ดีอีกด้วย เมื่อพระองค์เสด็จมาประทับที่วังบางขุนพรหม ทรงมีทั้งวงปี่พาทย์และวงเครื่องสายประจำวัง

วงปี่พาทย์นั้นเริ่มแรกทรงใช้วงดนตรีมหาดเล็กเรือนนอก ซึ่งเป็นของตระกูลนิลวงศ์จากอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ต่อมาทรงได้วงดนตรีของหลวงกัลยาณมิตตาวาส (ทับ พาทยโกศล) และจางวางทั่ว พาทยโกศล ซึ่งมีนักดนตรีและนักร้องที่มีชื่อเสียงประจำวง เช่น
นายทรัพย์ เซ็นพานิช - ระนาดเอก
จ่าเอกกมล มาลัยมาลย์ - ระนาดเอก
นายสาลี่ มาลัยมาลย์ - ระนาดเอก,ฆ้องวง
จ่าโทฉัตร สุนทรวาทิน - ระนาดทุ้ม
นายศิริ ชิดท้วม - ระนาดทุ้ม
นายช่อ สุนทรวาทิน - ฆ้องวงใหญ่
ร้อยเอก นพ ศรีเพชรดี - ฆ้องวงใหญ่
จ่าสิบเอก พังพอน แตงสืบพันธุ์ - ฆ้องวงเล็ก
นายละม้าย พาทยโกศล - เครื่องหนัง
จ่าสิบเอก ยรรยงค์ โปร่งน้ำใจ - เครื่องหนัง
นายเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล - ปี่ใน,ซอสามสาย
นางเจริญ พาทยโกศล - นักร้อง
จ่าเอก อิน อ๊อกกังวาล - นักร้อง
นางสาวสอาด อ๊อกกังวาล - นักร้อง
นางเทียม เซ็นพานิช - นักร้อง
คุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ - นักร้อง
นางสว่าง คงลายทอง - นักร้อง

วงเครื่องสายทูลกระหม่อมบริพัตรฯส่วนวงเครื่องสายนั้นเป็นวงที่ทรงบรรเลงร่วมกับพระราชธิดา พระประยุรญาติ และผู้ใกล้ชิด มีนายสังวาล กุลวัลกี เป็นผู้ฝึกสอน นักดนตรีและนักร้อง เช่น

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต - ซอสามสาย

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศิริรัตนบุษบง - ซอด้วง

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจันทรกานต์มณี - ซอด้วง

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธวงศ์วิจิตร - ซออู้

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุไรรัตนศิริมาน - ซออู้

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพิสิฐสบสมัย - จะเข้

คุณร่ำ บุนนาค - จะเข้

หม่อมสมพันธุ์ บริพัตร - ซออู้

คุณบุญวิจิตร อมาตยกุล - ซออู้

คุณสุดา จาตุรงคกุล - ขลุ่ย

คุณหญิงแฉล้ม เดชประดิยุทธ์ -โทน,รำมะนา

คุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ - นักร้อง

นางหอม สุนทรวาทิน - นักร้อง

นางเทียม กรานต์เลิศ - นักร้อง

นางสว่าง คงลายทอง - นักร้อง

ในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ และพระบาทสมเด็จปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ นั้น วังบางขุนพรหมเป็นศูนย์กลางการประชันวงปี่พาทย์ การแสดงดนตรี และการละเล่นต่างๆ และเป็นที่เกิดของเพลงที่มีชื่อเสียงเป็นจำนวนมาก ส่วนวงปี่พาทย์วังบางขุนพรหมนั้น ก็เป็นวงที่มีชื่อเสียงมาก และได้เข้าร่วมในการประชันวงที่วังบางขุนพรหมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖ ซึ่งได้รับการตัดสินให้ชนะเลิศ เป็นต้นตำรับการขับร้องที่สืบทอดมาแต่โบราณ

ทูลกระหม่อมบริพัตรฯ ทรงโปรดใช้เวลาว่างส่วนพระองค์ในการศึกษาวิชาดนตรี ทั้งด้านประสานเสียง และการประพันธ์เพลง จนทรงสามารถประพันธ์เพลง และทำหน้าที่เป็นวาทยากรได้อย่างคล่องแคล่ว เคยทรงเล่าประทานพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอินทุรัตนา พระธิดา ฟังว่า “…ถ้าพ่อเลือกได้ พ่อจะเรียนดนตรีและภาษา และจะทำงานด้านดนตรีอย่างเดียว แต่พ่อเลือกไม่ได้ เพราะพ่อบังเกิดมามียศตำแหน่ง ต้องทำงานให้ประเทศชาติ ทูลหม่อม (รัชกาลที่ ๕) สั่งให้พ่อไปเรียนวิชาทหารเพื่อกลับมาปรับปรุงกองทัพไทย พ่อก็ไปเรียนวิชาทหาร บางครั้งพ่อเบื่อบางวิชาที่ต้องเรียนจนทนไม่ไหว ต้องเก็บพ็อกเก็ตมันนี่เอาแอบไปเรียนดนตรี แอบไปเรียนเพราะพวกผู้ใหญ่สมัยนั้นเห็นว่าวิชาดนตรีไม่เหมาะกับชายชาติทหาร เมื่อได้เรียนดนตรีที่พ่อรักก็สบายใจ เกิดความอดทนที่จะเรียนและทำงานที่พ่อเบื่อ…”

ทรงเริ่มแต่งเพลงสากลก่อนเพลงไทย เพลงชุดแรกๆ มีเพลงวอลทซ์โนรี และเพลงจังหวะโปลก้า ชื่อเพลงมณฑาทอง เป็นต้น

ทรงนิพนธ์เพลงไทยประสานเสียงแบบเพลงสากล เช่น เพลงมหาฤกษ์ เพลงมหาชัย เพลงสรรเสริญเสือป่า เพลงสาครลั่น และทรงแยกเสียงประสานเพลงไทยสำหรับบรรเลงด้วยวงโยธวาฑิต ทำให้แตรวงบรรเลงเพลงไทยได้ไพเราะ มีหลักการประสานเสียงดียิ่งขึ้น ได้ทรงประดิษฐ์เพลงแตรวงไว้หลายเพลง เช่น โหมโรงสะบัดสะบิ้ง เพลงเขมรใหญ่ เถา เพลงแขกมัสหรี เถา เพลงแขกสี่เกลอ เถา

เพลงที่ทรงนิพนธ์ไว้ทั้งสำหรับวงโยธวาฑิตและปี่พาทย์ เช่น เพลงแขกมอญบางขุนพรหม เถา (พ.ศ. ๒๔๕๓) เพลงพม่าห้าท่อน เถา เพลงแขกสาย เถา (พ.ศ. ๒๔๗๑) เพลงพ่าห้าท่อน เถา เพลงพวงร้อย เถา

ทรงนิพนธ์เพลงเถาสำหรับปี่พาทย์ไว้เป็นจำนวนมาก เช่น เพลงเทวาประสิทธิ์ เถา (พ.ศ. ๒๔๗๑) เพลงอาถรรพ์ เถา (พ.ศ. ๒๔๗๑) เพลงสมิงทองเทศ เถา (พ.ศ. ๒๔๗๓) และภายหลังเมื่อเสด็จไปประทับที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซียแล้ว ยังได้ทรงนิพนธ์เพลงสำหรับวงปี่พาทย์ไม้แข็งขึ้นอีกหลายเพลง เช่น เพลงน้ำลอดใต้ทราย เถา (พ.ศ. ๒๔๘๐) เพลงนารายณ์แปลงรูป เถา (พ.ศ. ๒๔๘๐) และเพลงสุดถวิล เถา (พ.ศ. ๒๔๘๔)

ในขณะที่ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ ทรงปรับปรุงวงดนตรีสากลของกองดุริยางค์ทหารเรือ จนสามารถบรรเลงเพลงประเภทซิมโฟนีได้ดีเป็นที่ยอมรับมาจนถึงปัจจุบัน

พระนิพนธ์

เพลงฝรั่ง
เพลงวอลทซ์ปลื้มจิตต์
เพลงวอลทซ์ประชุมพล
เพลงสุดเสนาะ
เพลงมณฑาทอง
เพลงวอลทซ์เมฆลา
เพลงมหาฤกษ์
เพลงสรรเสริญเสือป่า
เพลงวอลทซ์โนรี
เพลงสาครลั่น
เพลงโศรก
เพลงนางครวญ ๓ ชั้น

เพลงไทยแท้
เพลงแขกมอญบางขุนพรหม
เพลงสุดสงวน ๒ ชั้น
เพลงเขมรพวง ๓ ชั้น
เพลงเขมรชมจันทร์
เพลงสารถี ๓ ชั้น
เพลงสบัดสบิ้ง
เพลงทยอยนอก
เพลงทยอยเขมร
เพลงทยอยในเถา
เพลงแขกเห่
เพลงถอนสมอ
เพลงแขกมัสซีรี
เพลงครอบจักรวาฬเถา
เพลงบุหลันชกมวย ๓ ชั้น
เพลงเขมรใหญ่เถา
เพลงพม่าเถา
เพลงแขกสี่เกลอเถา
เพลงแขกสายเถา
เพลงบาทสกุณี
เพลงขับไม้
เพลงเขมรโพธิสัตว์เถา

เพลงไทยเดิม ซึ่งเป็นทางและทำนองสำหรับใช้บรรเลงพิณพาทย์โดยตรง
เพลงแขกสายเถา
เพลงอาถรรพ์เถา
เพลงแขกสาหร่าย ๓ ชั้น
เพลงสมิงทองมอญเถา
เพลงอาเฮีย
เพลงสารถี ๓ ชั้น

เพลงไทยเดิม ทรงพระนิพนธ์เมื่อเสด็จจากกรุงเทพฯ แล้วไปประทับอยู่ที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย
เพลงต้นแขกไทร ๒ ชั้น
เพลงครวญหาเถา
เพลงกำสรวญสุรางค์
เพลงอักษรสำอางค์และเพลงสุรางค์จำเรียง
เพลงจีนลั่นถัน
เพลงจีนเข้าห้อง
เพลงน้ำลอดใต้ทรายเถา
เพลงขยะแขยง ๓ ชั้น
เพลงจีนเก็บบุปผาเถา
เพลงดอกไม้ร่วง
เพลงเทวาประสิทธิ์เถา
เพลงวิลันดาโอด
เพลงจิ้งจกทองเถา
เพลงตนาวเถา
เพลงพวงร้อยเถา
เพลงถอนสมอเถา
เพลงพระจันทรครึ่งซีกเถา

ที่มา

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. (2553). สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์

กรมพระนครสวรรค์วรพินิต. ค้นเมื่อ กันยายน 25, 2553, จาก
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%
E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%
88%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%
B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%A3%
E0%B8%A1%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B9%
8C%E0%B9%80%E0%B8%98%E0%B8%AD_%E0%B9%80%E0%
B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%9F%E0%B9%89%
E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%
9E%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%
B8%B8%E0%B8%82%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%9E%
E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B8%B8%E0%B9%
8C_%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%
B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%A3%
E0%B8%AA%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%
84%E0%B9%8C%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%9E%E0%
B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%95

 


Copyright
All copyright rights in the Dewey Decimal Classification system are owned by OCLC. Dewey, Dewey Decimal Classification, DDC and WebDewey are registered trademarks of OCLC
Revised:March 2009


Send comments to Chumpot@hotmail.com