หน้าแรกคลังปัญญาไทย
หน้าแรกคลังปัญญาไทย
รามเกียรติ์

จาก คลังปัญญาไทย, สารานุกรมฟรี

Jump to: navigation, search

         รามเกียรติ์เป็น วรรณคดี ที่สำคัญของไทย เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย เนื้อเรื่องและสำนวนกลอนในเรื่องรามเกียรติ์มีความไพเราะ มีคติสอนและแง่คิดในด้าน ต่าง ๆ อยู่เป็นอันมาก สอดแทรกเอาไว้ตลอดทั้งเรื่อง ตามหลักนิยมของอินเดียในเนื้อเรื่อง และหลักนิยมของไทยในสำนวนกลอน จิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ ที่รอบพระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ( วัดพระแก้ว) เขียนขึ้นมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธ ยอดฟ้าฯ จำนวน 178 ห้อง เขียนโดยจิตรกรที่มีฝีมือยอดเยี่ยมของไทย เป็นภาพวิจิตรงดงาม ทรงคุณค่าทางศิลปกรรมเป็นอย่างยิ่ง โดยมีการ ซ่อมแซมหลายครั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2375, พ.ศ. 2425, พ.ศ. 2475 และครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2525


ภาพ:รามเกีตริ.gif

[แก้ไข]
รามเกียรติ์

         รามเกียรติ์ มีที่มาจากเรื่อง รามยณะ ที่ฤาษีวาลมิกิ ชาวอินเดีย แต่งขึ้นเป็นภาษาสันกฤต เมื่อประมาณ 2,400 ปีเศษ มาแล้วและได้แพร่หลาย จากอินเดียไปยังประเทศใกล้เคียง และได้มีการเพิ่มเติมรายละเอียด ผิดแผกแตกต่างออกไปจากต้นฉบับเดิมไปไม่น้อย


         รามยณะเป็นปางหนึ่งในสิบปางของการอวตารมาปราบยุคเข็ญของพระนารายณ์ ที่มีชื่อว่า รามาวตาร สำหรับเรื่องรามเกียรติ์ ของไทยนั้น มีมาแต่สมัยอยุธยา ใน สมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้ทรงพระราชนิพนธ์สำหรับให้ละครหลวงเล่น ปัจจุบันมีอยู่ไม่ครบ ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ได้ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเพื่อรวบรวมเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งมีมาแต่เดิมให้ครบถ้วน สมบูรณ์ตั้งแต่ต้นจนจบ


         พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ เพื่อให้ ละครหลวง เล่น ได้ทรงเลือกมาเป็นตอน ๆ รามเกียรติ์ นี้จึงมีสำนวนกลอนที่ไพเราะที่สุด พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ โดยดัดแปลงจากพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ เพื่อใช้ในการเล่น โขน ซึ่งจะมีอยู่เพียงบางตอนที่คัดเลือกไว้เท่านั้น เช่น ตอนนางลอย ตอนหักคอช้างเอราวัณ ตอนสีดาลุยไฟ เป็นต้น


         นอกจากเนื้อเรื่องรามเกียรติ์แท้ ๆ จากห้อง 1 ถึงห้อง 178 ยังมีเรื่องการอวตารของพระนารายณ์ในปางก่อน ๆ อันเป็นที่มาของเรื่อง รามเกียรติ์อีกหลายปางคือนรสิงหาวตาร ซึ่งเป็นปางที่สี่ วราหาวคาร ซึ่งเป็นปางที่ก่อให้เกิดวงศ์พระนารายณ์ขึ้นที่โลกมนุษย์ คือ ท้าวอโนมาตัน โอรสพระนารายณ์ ที่เกิดจากองค์พระนารายณ์เองให้ครองกรุงศรีอยุธยาที่พระอิศวรโปรดให้พระอินทร์ ลงมาสร้างให้หลานปู่ของท้าวอโนมาตัน คือท้าวทศรถ ผู้เป็นพระราชบิดาของพระราม


         เรื่องย่อรามเกียรติ์


         ท้าวทศรถ เป็นกษัตริย์ครองกรุงอโยธยา มีพระมเหสี ๓ องค์ คือ นางเกาสุริยา นางไกยเกษี และ นางสมุทรเทวีวันหนึ่ง ท้าวทศรถไปรบกับยักษ์ ชื่อ ปทูตทันต์ โดยนางไกยเกษี ตามเสด็จไปด้วย ขณะรบกัน ยักษ์แผลงศรไปถูกเพลารถของท้าวทศรถหัก นางไกยเกษี รีบกระโดด ลงจากรถ เอาแขนของนางสอดแทนเพลารถ เมื่อท้าวทศรถฆ่ายักษ์ได้แล้ว ได้ทรงทราบ ถึงความ จงรักภักดีของนางไกยเกษี จึงประทานพรว่า หากนางปรารถนาสิ่งใด พระองค์ก็จะประทานให้ ท้าวทศรถ ครองราชสมบัติมานานหลายปีแล้ว แต่ยังไม่มีโอรส จึงทำพิธีกวนข้าวทิพย์ กลิ่นข้าวทิพย์หอมไปถึงกรุงลงกา ทศกัณฐ์ จึงใช้ นางยักษ์กากนาสูร มาขโมย นางแปลงร่างเป็นอีกา โฉบเอาข้าว ทิพย์ ไปได้เพียงครึ่งก้อน ทศกัณฐ์นำข้าวทิพย์ให้ นางมณโฑ ผู้เป็นมเหสีกิน นางมณโฑ จึงตั้ง ครรภ์และประสูติพระธิดาออกมา แต่ขณะที่ประสูตินั้นพระธิดาร้องว่า " ผลาญราพณ์" ขึ้นสามครั้ง พิเภกและโหรอื่นๆ ทำนายว่าเป็นกาลีบ้านกาลีเมือง ทศกัณฐ์จึงสั่งให้นำ พระธิดาผู้นั้นใส่ผอบ ลอยน้ำไป พระฤาษีชนกซึ่งเดิมเป็นราชาแห่งเมืองมิถิลาพบเข้า ก็เก็บไปฝังดินฝากแม่พระธรณีไว้ จนเวลาล่วงไปถึง 16 ปี จึงไปขุดนางขึ้นมา แล้วตั้งชื่อให้ว่า สีดา แล้วกลับไปครองเมืองมิถิลา เช่นเดิม และได้จัดพิธียกศรเพื่อหาคู่ครองให้นางสีดา พระรามยกศรได้จึงได้อภิเษกกับนางสีดา และพานางกลับไปอยู่ที่กรุงอโยธยา


         ส่วนข้าวทิพย์ที่เหลือสามก้อนครึ่ง ท้าวทศรถแบ่งให้มเหสีทั้งสาม ซึ่งต่อมานางตั้งครรภ์ และ ให้กำเนิดโอรส คือ นางเกาสุริยาประสูติ พระราม นางไกยเกษีประสูติ พระพรต นางสมุทรเทวี ประสูติ พระลักษมณ์ กับ พระสัตรุด


         ต่อมา ท้าวทศรถคิดจะยกราชสมบัติให้พระรามปกครอง แต่นางไกยเกษี ทูลขอเมืองอโยธยา ให้ พระพรต โอรสของตน และขอให้พระรามออกเดินป่าเป็นเวลา 14 ปี ท้าวทศรถเคยประทานพร ให้นางไว้ จึงจำต้องรักษาวาจาสัตย์ พระราม ก็ยินยอมออกจากเมืองโดยดี ซึ่งพระลักษณ์กับ นาง สีดาขอตามเสด็จไปด้วย ท้าวทศรถเสียพระทัยมากจนกระทั่งสิ้นพระชนม์


         พระราม พระลักษมณ์ และ นางสีดา ไปตั้งอาศรมอยู่ในป่า วันหนึ่ง นางสำมนักขา น้อง สาวของทศกัณฐ์ออกไปเที่ยวป่า ได้พบพระรามเข้า เห็นพระรามมีรูปโฉมงดงามก็หลงรัก เข้าไป เกี้ยว พาราสีพระราม และทำร้ายนางสีดา พระลักษณ์โกรธมาก จับนางมาตัดหู จมูก มือ และเท้า แล้ว ปล่อยตัวไป นางกลับไปฟ้องพี่ชายทั้งสาม คือ ทูษณ์ ขร ตรีเศียร ให้ไปรบกับพระราม แต่ก็ถูก พระรามฆ่าตาย นางจึงไปเล่าถึงความงดงามของนางสีดาให้ทศกัณฐ์ฟัง ทศกัณฐ์อยาก ได้นาง มา เป็นชายา จึงออกอุบายให้มารีศ แปลงตัวเป็นกวางทองมาล่อ นางสีดาเห็นกวางทองเข้าก็อยากได้ ขอให้พระรามไปจับมาให้ พอมารีศถูกศรพระรามก็แกล้งทำเสียงพระรามร้องให้ช่วย นางสีดาจึงขอ ให้พระลักษมณ์ตามไป ทศกัณฐ์ได้โอกาสจึงเข้ามาลักพานางสีดาไปกรุงลงกา


         พระราม พระลักษมณ์ เสด็จออกติดตามนางด้วยความห่วงใย จนได้พบกับ หนุมาน และ สุครีพ สุครีพขอให้พระรามฆ่า พาลี ผู้เป็นพี่ชายของตนเสียก่อน ตนจึงจะช่วยทำสงครามกับทศกัณฐ์ เนื่อง จากสุครีพแค้นใจ ทีครั้งหนึ่งพระอินทร์ฝากผอบใส่นางดารามากับ พาลี เพื่อเป็นรางวัล ให้สุครีพ ที่ยกเขาพระสุเมรุให้ตั้งตรงได้ แต่ถูกพาลีริบไปเป็นของตน และครั้งสุดท้าย พาลีเข้าไปสู้รบกับควาย ชื่อ ทรพี ในถ้ำ แล้วสั่งสุครีพให้คอยดูอยู่ปากถ้ำ ถ้าเลือดที่ไหลออกมาข้นเป็นเลือดควาย ถ้าเลือดใส เป็นเลือดของตน ให้สุครีพปิดปากถ้ำเสีย สุครีพเฝ้าดูอยู่ เห็นเลือดที่ไหลออกมาใส เพราะน้ำฝน ชะ จึงคิดว่าพาลีตาย จึงเอาหินปิดปากถ้ำไว้ พาลีเข้าใจว่าสุครีพคิดฆ่าตน จึงขับไล่สุครีพออกจากเมือง พระรามได้แผลงศรไปฆ่าพาลีตาย สุครีพจึงเกณฑ์ไพร่พลลิงมาช่วยพระรามรบ


         คืนหนึ่ง ทศกัณฐ์ฝันร้าย พิเภก ทำนายทศกัณฐ์ถึงคราวมีเคราะห์ ให้ส่งนางสีดาคืนไปเสีย ทศกัณฐ์โกรธมากขับไล่พิเภกออกจากเมือง พิเภกจึงเข้าไปสวามิภักดิ์กับพระราม ช่วยให้คำแนะ นำ ที่เป็นประโยชน์ในการทำสงครามแก่พระรามอยู่เสมอ


         พระรามทำสงครามกับทศกัณฐ์อยู่นานหลายปี จนญาติพี่น้องของทศกัณฐ์ตายในสงครามกันหมด ทศกัณฐ์ต้องออกรบเองพระรามแผลงศรถูกหลายครั้งแต่ทศกัณฐ์ก็ไม่ตาย เพราะถอดดวงใจ ฝาก พระฤาษีโคบุตรไว้ หนุมานกับ องคต จึงทูลรับอาสาพระราม ไปหลอกเอากล่องดวงใจมาจนได้ ทศกัณฐ์ออกรบอีก พอพระรามแผลงศรไปปักอกทศกัณฐ์ หนุมานก็ขยี้กล่องดวงใจจนแหลกลาญ ทศกัณฐ์จึงสิ้นชีวิต จากนั้น พิเภกก็พานางสีดามาคืนให้พระราม และเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ นางสีดาจึงขอทำพิธีลุยไฟ ซึ่งนางสีดาสามารถลุยไฟได้อย่างปลอดภัย พระรามตั้งให้พิเภกครอง กรุงลงกา แล้วพระรามก็เสด็จกลับอโยธยาพร้อมด้วยนางสีดา และพระลักษมณ์


         ต่อมา ปีศาจยักษ์ตนหนึ่งชื่อ นางอดูล ได้แปลงร่างเป็นสาวใช้ของนางสีดา ขอร้องให้นาง สีดาวาดรูปทศกัณฐ์ให้ดู พอดีพระรามเสด็จมา นางสีดาตกใจพยายามลบเท่าไรก็ลบไม่ออก จึงรีบ ซ่อนไว้ใต้บรรทม ทำให้พระรามบรรทมไม่หลับ ต้องสั่งให้พระลักษมณ์มาค้นดู ก็ได้รูปของทศกัณฐ์ พระรามกริ้วมากหาว่านางสีดามีใจรักทศกัณฐ์สั่งให้พระลักษมณ์นำนางไปประหารแต่ พระลักษมณ์ ปล่อยนางไป นางสีดาไปอาศัยอยู่กับฤาษีตนหนี่ง จนประสูติโอรสองค์หนึ่ง คือ พระมงกุฎ


         วันหนึ่ง นางสีดาไปอาบน้ำที่ลำธารเห็นลิงเอาลูกเกาะหน้าเกาะหลังพาไปไหนมาไหนด้วย นางจึงกลับไปอุ้มโอรสที่ฝากพระฤาษีเลี้ยงไว้มาด้วยเมื่อพระฤาษีลืมตาขึ้นมาจากการบำเพ็ญตบะ ไม่เห็นพระมงกุฎ จึงชุบกุมารขึ้นอีกองค์กนึ่งชื่อว่า พระลบ นางสีดาจึงมีโอรสสององค์พระฤๅษีได้สั่งสอนศิลปวิทยาให้กุมารทั้งสองจนเก่งกล้า


         พระรามได้ทำพิธีปล่อยม้าอุปการม้าผ่านเข้าไปในป่าพระมงกุฎเห็นเข้าก็จับมาขี่เล่นพระพรต แผลงศรไปจับตัวพระมงกุฎได้ พระรามสั่งให้นำตัวไปประจานเจ็ดวัน แล้วให้ประหารเสียแต่ พระลบ มาช่วยไปได้ พระรามออกรบด้วยตนเองแต่ไม่สามารถเอาชนะกันได้จนกระทั่งรู้ว่า เป็นพ่อลูกกัน พระรามไปอ้อนวอนนางสีดาให้กลับอยุธยา แต่นางสีดาไม่ยอม พระรามจึงทำอุบายว่าสิ้นพระชนม์ นางสีดาตกใจรีบกลับมาเยี่ยมพระศพ พระรามจึงออกมาจากโกศจับนางสีดาไว้ นางสีดารู้ว่าถูก หลอก จึงอธิษฐานแทรกแผ่นดินหนีไปอยู่เมืองบาดาล พิเภกแนะนำพระราม ออกเดินป่า อีกครั้ง เพื่อเสดาะเคราะห์ พระรามจึงเสด็จไปพร้อมพระลักษมณ์ ได้ฆ่ายักษ์ตายอีกหลายตน ครั้งสุดท้าย พระรามได้สู้กับท้าวอุณาราช พระรามถอนต้นกกมาพาดสาย ยิงไปตรึง ท้าวอุณาราช ไว้กับแผ่นดิน แล้วจึงเสด็จกลับเข้ากรุงอยุธยา พระอิศวร สงสารพระราม จึงช่วยไกล่เกลี่ย ให้นางสีดายอมคืน ดีกับพระราม จากนั้น พระรามกับนางสีดาก็กลับมาครองกรุงอโยธยาอย่างมีความสุข


         ผู้แต่ง


         เรื่องรามเกียรติ์ที่พบในประเทศไทยมีมากฉบับด้วยกัน อาจมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้วก็ได้ แต่ที่มีหลักฐานชัดเจนนั้นได้แก่


         1.ฉบับพระราชนิพนธ์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งมีเพียงไม่กี่ตอน


         2.ฉบับพระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หรือเรียกสั้นๆว่ารามเกียรติ์รัชกาลที่ ๑


         3.ฉบับพระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย หรือเรียกสั้นๆว่า รามเกียรติ์รัชกาลที่ ๒ ทรงมุ่งพระราชนิพนธ์ให้เป็นบท ละครรำ โดยแท้


         4.ฉบับพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงพระราชนิพนธ์สำหรับเล่น โขนหรือละครโดยตรงเป็นตอน ๆ


         5.ฉบับพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือราชเกียรติ์รัชกาลที่ 5 แปลกกว่า รามเกียรติ์ฉบับก่อน ๆ ทรงพระราชนิพนธ์เป็นโคลงจารึกไว้ตามเสาพระระเบียงวัดพระศรีศาสดาราม ตรงตามภาพวาดที่อยู่ตามฝาผนังเป็นช่อง ๆ ไป รวมหลายพันบทด้วยกัน


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

 
 
 
   Hosted by kapook.com