|
895.913 นวนิยายไทย (Thai Literature & rhetoric)
ข้างหลังภาพ
หม่อมราชวงศ์กีรติดำรงความเป็นสาวอยู่จนเข้าขีดความสาวทึมทึก ก็ยังไม่พบรักหรือชายที่สมควรแก่ความรักของเธอมาสู่ขอในขณะที่อายุย่างเข้าปีที่ 35 จึงมีข้าราชการชั้นพระยาอายุ 50 ปี ซึ่งเป็นพ่อหม้ายมีลูกติด 2 คนมาสู่ขอ ด้วยความหมดหวังที่จะได้พบชายที่ดีกว่านั้น และนิสัยนักศิลปะของเธอทำให้มีความต้องการจะรู้จักความเป็นไปของโลกให้กว้างกว่าที่ได้พบเห็นอยู่ในวงแคบเป็นเวลาถึง 35 ปี หม่อมราชวงศ์กีรติจึงได้ยอมแต่งงานกับเจ้าคุณผู้นั้น และแล้วก็ได้พบเห็นโลกภายนอกบ้านของเธอสมความปรารถนา เจ้าคุณสามี ( พระยาอธิการบดี ) พาเธอไปเที่ยวญี่ปุ่น ณ ที่นั้นเอง หม่อมราชวงศ์กีรติก็ได้พบกับนพพร นิสิตหนุ่มแห่งมหาวิทยาลัยริคเคียว ซึ่งเป็นบุตรชายของเพื่อนสามี และซึ่งสามีของเธอขอร้องให้ช่วยจัดหาบ้านพักและนำเที่ยวด้วยเป็นครั้งแรก
หม่อมราชวงศ์กีรติยังสาวและสวยสดชื่นอยู่ เช่นเดียวกับสุภาพสตรีสมัยใหม่ที่รู้จักบำรุงรักษาความงามแลวัยไว้ได้ ด้วยเหตุนี้ เธอจึงเป็นที่สะดุดตาสะดุดใจของนพพร เด็กหนุ่มผู้ห่างการสมาคมกับสุภาพสตรีไทยถึง 3 ปีเศษแล้วอย่างมากมาย และโดยที่ได้ติดต่อกันอยู่ตลอดเวลาที่หม่อมราชวงศ์กีรติกับสามีพักอยู่ที่ประเทศนั้นจึงทำให้นพพรกับหม่อมราชวงศ์กีรติคุ้นกันจนถึงขีดสนิทสนม ประกอบกับได้อยู่ด้วยกันท่ามกลางภูมิภาพอันสวยงามของประเทศญี่ปุ่น และความงามความเปล่งปลั่งของหม่อมราชวงศ์กีรติเป็นสื่อชักจูงใจด้วยในที่สุดนพพรเด็กหนุ่มผู้ไม่เดียงสาในเรื่องรัก ก็เกิดความรักในหม่อมราชวงศ์กีรติขึ้น
ความรักอันบริสุทธิ์และร้อนแรงของผู้ที่เพิ่งมีความรักเป็นครั้งแรกนี้ดูเหมือนจะทำให้หม่อมราชวงศ์กีรตินักศิลปะซึ่งไม่เคยได้พบความรักเลยรู้สึกลำบากใจที่จะข่มใจไว้อยู่มากเหมือนหัน แต่หม่อมราชวงศ์กีรติมีอายุมากแล้ว และทั้งได้รับการอบรมศึกษาในทางดีงามในชีวิตเบื้องต้นมาแล้ว ก็ข่มใจไว้อย่างดี จนนพพรไม่สามารถจะทราบได้ว่า หม่อมราชวงศ์กีรติรักตนหรือไม่ ครั้นแล้วทั้งสองก็จากกัน เมื่อกำหนดการเที่ยวญี่ปุ่นของพระยาอธิการบดียุติลง ความรักของนพพรคงรบเร้าจิตใจให้กระสับกระส่ายจนถึงขีดสุด เมื่อตอนที่จากกันไปใหม่ๆครั้นแล้วก็ค่อยๆอ่อนลงตามธรรมชาติของคนที่มีภาระที่จะต้องใส่ใจมากกว่าความรู้สึกนี้ จนในที่สุดเมื่อสองปีล่วงไปแล้ว นพพรก็รู้สึกในกีรติอย่างมิตรคนหนึ่งเท่านั้น
6 ปีล่วงไป นพพรสำเร็จการศึกษาและฝึกหัดงานที่ญี่ปุ่นพอสมควรแก่การแล้วก็กลับสยาม ในขณะนี้หม่อมราชวงศ์กีรติเป็นหม้ายแล้ว และบำเพ็ญชีวิตอยู่อย่างสงบเสงี่ยม เขาทั้งสองคนได้พบกันอีกครั้งหนึ่ง แต่เป็นการพบที่นพพรรู้สึกเหมือนพบพี่สาวที่ดีคนหนึ่งเท่านั้น เวลา 6 ปีในญี่ปุ่นได้เปลี่ยนจิตใจของนพพรเด็กหนุ่มผู้อ่อนแก่ความรักให้เป็นชายหนุ่มญี่ปุ่นที่ไม่ใคร่จะคิดถึงใครจะคิดถึงอะไรนอกจากงานและการตั้งตัวเท่านั้น ครั้นแล้วนพพรก็แต่งงานกับคู่หมั้นที่บิดาหาไว้ไห้เมื่อครั้งยังศึกษาอยู่ในญี่ปุ่น เมื่อแต่งงานแล้วได้สองเดือน นพพรได้ทราบว่าหม่อมราชวงศ์กีรติได้เจ็บหนักด้วยโรควัณโรค และอยากพบเขา จนแพทย์และพยาบาลรู้สึกว่าควรจะมาตามเขาให้ไปพบ เพื่อให้คนไข้ได้สงบจิตใจในวาระสุดท้าย นพพรก็ไปเยี่ยมและหม่อมราชวงศ์กีรติก็ให้ภาพเขียนที่ระลึกถึงสถานที่ให้กำเนิดความรักแก่เขาทั้งสอง ซึ่งเป็นภาพวาดโดยฝีมือของเธอเอง พร้อมด้วยคำตัดพ้อบางประโยคเป็นที่สะกิดใจนพพรให้ระลึกถึงความหลังและหวนคิดเสียดายอาลัยคนรักคนแรกของตน ครั้นแล้วหม่อมราชวงศ์กีรติสตรีผู้อาภัพในเรื่องรักก็ถึงแก่กรรมใน 7 วันต่อมา และเรื่องก็จบลงเพียงเท่านี้
ข้อคิดที่ได้จากเรื่องข้างหลังภาพ
1.ชีวิตของคนเราที่สมบูรณ์หรือดีพร้อมก็พบกับความเศร้าได้ เช่น
ชีวิตของท่านหญิงกีรติที่ดูเหมือนจะสมบูรณืหรืองามพร้อมก็พบกับความเศร้าได้ เพราะสิ่งที่เป็นจริงแท้ก็คือ สิ่งที่มีชีวิตจะต้องรู้จักเจ็บปวดเหมือนกันหมด ไม่เลือกเชื้อชาติ วรรณะ เพศ สัตว์ มนุษย์
2.ความแตกต่างระหว่างความรักที่มีสตินำ ได้แก่ความรักของคุณหญิง กับความรักที่มีอารมณ์นำ ซึ่งก็คือนพพร เช่นคำพูดที่นพพรพูดไว้ว่า ความรักมีอำนาจเหนือผม ความรักตรึงใจผม ทำให้ผมหมดสติ
3.รู้จักสถานะแห่งตนเอง เมื่อครั้นเจ้าคุณตายไป คุณหญิงก็ไม่เคยปริปากพูดตรงๆอีกเรื่องความรัก แต่จะใช้คำพูดที่มีความหมายล้ำลึกภายใน เช่น ฉันก็อิ่มใจว่าฉันมีคนที่ฉันรัก
4.หม่อมราชวงศ์กีรติเป็นแบบหนึ่งของสุภาพสตรีไทยสมัยสังคมของเรา คือไม่ปล่อยให้ความปรารถนาเป็นใหญ่ในใจเมื่อมีโอกาสจะทำได้
5.ความรักของสตรีและบุรุษนั้นต่างกัน เช่น เมื่อเวลาผ่านไป 6 ปี ความรักของนพพรก็จืดจางลงกลับกลายเป็นความรักแบบมิตร แต่คุณหญิงยังรอความรักจากนพพรตลอดมาจนสิ้นชีวิตก็ยังรัก ดังนั้นเวลารักใครจึงไม่ควรทุ่มเทให้ทั้งชีวิต ควรเผื่อใจไว้ให้ตัวเองบ้าง
6.ความคิดค่านิยมที่ผิดๆของสังคมชั้นสูงที่วิจารณ์สถานะนักเรียนนอกที่ทุกคนพากันคิดว่า จบจากนอกแล้วต้องเก่งกว่า ดีกว่าซึ่งเป็นความคิดที่ผิดๆ ถึงเป็นนักเรียนนอกถ้าไม่รู้จักแสวงหาโอกาสทำคุณประโยชน์ให้กับบ้านเมืองก็จะกลายเป็นคนไร้ค่า เช่น
เราจะมีวุฒิพิเศษอะไรเล่า สิทธิพิเศษอะไรที่จะไปเดินเชิดหน้าทำทีว่าเรามีวุฒิพิเศษกว่าใครๆในวงสมาคมเมืองไทย
7.การแบ่งเพศทางสังคม สังคมที่ผู้ชายเป็นผู้นำ และผู้หญิงเป็นเครื่องรองรับอารมณ์ตน ดังตอนที่คุณหญิงกล่าว เธอจงเห็นใจฉันเถิด เราเกิดมาโดยเขากำหนดให้เป็นเครื่องประดับโลก ประโลมโลก มันเป็นหน้าที่ของเรา ยิ่งกว่านั้น บางทีคุณงามความดีของสตรีก็ถูกมองข้ามไปเลย ถ้ามิได้อยู่ในความงาม
8.ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ดังเช่นการกระทำของนพพรตัดสินใจอยู่เรียนที่ญี่ปุ่นจนจบ โดยไม่ได้ตามคุณหญิงกลับมาเมืองไทยแล้วละทิ้งการเรียนที่ญี่ปุ่น
ที่มา
ข้างหลังภาพ. (2554). ค้นเมื่อ สิงหาคม 12, 2554, จาก
http://www.dek-d.com/board/view.php?id=939244
|
|