ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์
โครงการห้องสมุดโรงเรียนในฝัน

***ร่วมสร้างองค์ความรู้ สู่การศึกษาตลอดชีวิต วิทยพัฒนาเด็กไทยในท้องถิ่น***


000 หมวดเบ็ดเตล็ด
(Generalities)

100 หมวดปรัชญา
(Philosophy)

200 หมวดศาสนา
(Religion)

300 หมวดสังคมศาสตร์
(Social Sciences)

400 หมวดภาษาศาสตร์
(Language)

500 หมวดวิทยาศาสตร์
(Pure Sciences)

600 หมวดเทคโนโลยี
(Technology)

700 หมวดศิลปะ
(The Arts)

800 หมวดวรรณคดี
(Literature)

900 หมวดประวัติศาสตร์
(Geography & History)


Home

   

895.913 นวนิยายไทย
ศัตรูของเจ้าหล่อน / ดอกไม้สด

วิเคราะห์งานของดอกไม้สด : ศัตรูของเจ้าหล่อน

ศัตรูของเจ้าหล่อน นวนิยายเรื่องแรกของ “ดอกไม้สด

“ศัตรูของเจ้าหล่อน” สะท้อนภาพความขัดแย้งระหว่างสองวัฒนธรรมสมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นนวนิยายเกี่ยวกับความรักของคนในสังคมชั้นสูงที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมตะวันตกเนื่องมาจากการไปใช้ชีวิตในต่างแดนเพื่อเรียนหนังสือ และตัวละครเอกมีความคิดที่จะต่อสู้กับแนวคิดแบบเก่าๆที่ล้าสมัย และดำเนินการประท้วงไปจนกระทั่งพบจุดจบแบบกลับตาลปัตรที่กลายเป็นว่าวัฒนธรรมไทยแบบเดิมๆนั้นกลายเป็นสิ่งดีและปลอดภัยที่สุดสำหรับผู้หญิง

ความสำเร็จของนวนิยายเรื่อง “ศัตรูของเจ้าหล่อน” เป็นเสมือนบทโหมโรงที่จะทำให้ผู้อ่านมีความสนใจในนวนิยายเรื่องต่อไปของบุปผา นิมมานเหมินทร์ มากขึ้น และทำให้นามปากกา “ดอกไม้สด” มีชื่อเสียงมากพอที่จะทำให้เธอสามารถผลิตนวนิยายออกมาอีกหลายเรื่อง และทุกเรื่องก็ส่งผลให้เธอกลายเป็นนักเขียนนวนิยายสตรีคนแรก และเป็นคนที่ดีที่สุดในบรรดานักเขียนนวนิยายของไทยในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากนวนิยายเรื่องนี้ได้ถือกำเนิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผู้แต่งยังอยู่ในวัยอ่อนประสบการณ์ คืออายุเพียง 20 ต้นๆ และยังไม่เคยผ่านงานเขียนมามากเท่าใดนัก “ศัตรูของเจ้าหล่อน” จึงถือว่าเป็นนวนิยายเรื่องแรก แต่มิใช่นวนิยายเรื่องที่แต่งดีเมื่อเทียบกับเรื่องอื่นๆที่กำเนิดจากฝีปากกาของ “ดอกไม้สด” เพราะมีข้อด้อยอยู่หลายประการทั้งในเรื่องความสมจริงของเนื้อหาการใช้ภาษา ความรัดกุมของโครงเรื่อง และการให้ข้อคิดที่ได้จากเรื่อง โดยเฉพาะหากพิจารณาในด้านเนื้อหาแล้วจะพบว่าแนวคิดหลักของเรื่องยังคงวนเวียนอยู่กับเหตุแห่งความรัก ความแค้น ความเข้าใจผิด ความไม่สมหวัง และอุดมคติของชีวิตที่ฉาบฉวยซึ่งพบได้ในนวนิยายทั่วไป ดังนั้นจึงไม่พบแก่นเรื่อง (themes) ที่น่าประทับใจเท่าใดนัก

ดังที่ “ดอกไม้สด” ได้กล่าวออกตัวไว้ใน “คำแถลงของผู้ประพันธ์” เมื่อมีการพิมพ์นวนิยายเรื่อง “ศัตรูของเจ้าหล่อน” อีกครั้งในปี พ.ศ. 2494 เพื่ออุทิศแก่กองอาสากาชาดให้จัดพิมพ์เป็นเล่มจำหน่ายในงานสโมสรสันนิบาต มีความว่าดังนี้

“เมื่อข้าพเจ้าตกลงให้สำนักพิมพ์หอวิทยาการ ตีพิมพ์เรื่องนี้ออกจำหน่ายอีกนั้น ข้าพเจ้าก็มีความหวังอยู่ว่าจะแก้ไขสำนวนโวหารในเรื่อง รวมทั้งวิธีดำเนินท้องเรื่องให้รัดกุมเหมาะเจาะขึ้นกว่าเก่าได้ แต่ครั้นได้ตรวจเข้าแล้วปรากฏว่าความบกพร่อมเกี่ยวกับท้องเรื่องนั้นเป็นสิ่งแก้ไม่ไหว หมายความว่าถ้าจะแก้ ก็จะต้องเขียนใหม่หมดทั้งเรื่อง ก็เท่ากับข้าพเจ้าแต่งหนังสือเรื่องใหม่โโยใช้เค้าโครงเรื่องเก่านั่นเอง แล้วคำที่ว่าเรื่อง ‘ศัตรูของเจ้าหล่อน’ เป็นนวนิยายเรื่องแรกของ ‘ดอกไม้สด’ ก็เป็นอันว่าใช้ไม่ได้ต่อไป ในส่วนที่เกี่ยวกับสำนวนโวหารที่ใดพอแก้ได้ ข้าพเจ้าก็ได้แก้เพื่อบรรเท่าความรำคาญของผู้อ่าน ถึงกระนั้นก็ยังรู้สึกว่า ‘ลุ่มๆดอนๆ’ อยู่มาก โดยเฉพาะในบางแห่งที่เกี่ยวกับความหนักเบาของ ‘คำ’…”

อีกประการหนึ่งก็คือ “ศัตรูของเจ้าหล่อน” มิได้ให้ภาพสะท้อนของชีวิตมนุษย์จริงๆในสังคม แต่มีลักษณะของการสร้างขึ้นจากจินตนาการของผู้แต่งเอง ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่านวนิยายเรื่องนี้มิได้สะท้อนภาพสังคมในแง่ของการถ่ายทอดชีวิตมนุษย์ แต่สะท้อนความตระหนักรู้ในการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยในสมัยนั้น และสะท้อนความรู้สึกเคลือบแคลงสงสัยในวัฒนธรรมตะวันตกที่คนไทยนำเข้ามาสู่สังคมในยุคที่กำลังเผชิญปัญหาความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม

แม้ว่านวนิยายเรื่อง “ศัตรูของเจ้าหล่อน” จะถือว่าเป็นนวนิยายขั้นทดลองของ “ดอกไม้สด” แต่ก็มีความสำคัญอย่างมากสำหรับนักศึกษาวิชาวิวัฒนาการวรรณคดีร้อยแก้ว ในฐานะที่เป็นบันเทิงคดีร้อยแก้วรุ่นแรกของไทย ซึ่งมีองค์ประกอบและกลวิธีการประพันธ์สมบูรณ์ตามหลักการที่ว่าด้วยวรรณคดีร้อยแก้วรูปแบบนวนิยาย

“ศัตรูของเจ้าหล่อน” เขียนขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายที่จะให้ข้อคิดแก่เยาวชนสตรี ซึ่งจะมีความหลงใหลทราบซึ้ง และเอาใจไปผูกพันกับอารมณ์ ความคิด ความรู้สึก รวมไปถึงประสบการณ์ของมยุรี อันเป็นชีวิตในแบบพาฝัน และนักอ่านพวกนี้ก็จะซึมซับข้อคิดทางจริยธรรมที่แทรกอยู่ในตัวเรื่องเข้าไปโดยไม่รู้ตัว หรืออาจจะรู้ตัวก็ตาม ซึ่งเป็นวิธีการเดียวกันกับที่ “ดอกไม้สด” ใช้ในนวนิยายเรื่องต่อๆมาของเธอ

ลักษณะทั่วไปของนวนิยายเรื่อง “ศัตรูของเจ้าหล่อน”

โครงเรื่อง

เรื่องเปิดโดยมยุรี สาวสวยทันสมัยที่ต่อต้านการคลุมถุงชนโดยการปฏิเสธการแต่งงานระหว่างเธอกับประสงค์ คู่หมั้นที่ไม่เห็นหน้ากันมา 10 ปีแล้ว พระยาไมตรีฯ จึงต้องเขียนจดหมายมาขอโทษพระยาบำรุงประชากิจ บิดาของประสงค์ ให้ยกโทษในเรื่องที่ลูกสาวขอถอนหมั้น

ประสงค์ทั้งรัก และอาลัยในตัวมยุรีเนื่องจากผูกพันธ์กันมาแต่เด็ก ในขณะเดียวกันก็โกรธแค้นเธอด้วยที่บังอาจหักหน้าเขา จึงตัดสินใจปลอมตัวเป็น “ประสม” เข้าไปทำงานในบ้านของพระยาไมตรีฯ และได้พบกับมยุรี ซึ่งเขารู้สึกว่าเธอเป็นคนมีเสน่ห์น่ารักใคร่ แต่ติดอยู่ที่ความเย่อหยิ่ง ถือดี และเอาแต่ใจตัว ส่วนมยุรีก็เห็นว่าประสมเป็นคนที่หน้าตาดีไร้ที่ติ ติดอยู่ที่ไว้หนวดน่าเกลียด

มยุรีเป็นสาวสมัยใหม่ เธอออกเที่ยวเกือบทุกวัน โดยมีละออเพื่อนหนุ่มคอยติดสอยห้อยตามไปเกือบทุกครรั้ง พฤติกรรมเช่นนี้ทำให้ชื่อเสียงของเธอโด่งดังในทางที่ไม่ดี

ความสัมพันธ์ระหว่างประสม กับ มยุรีพัฒนาไปในทางที่แย่ลงเรื่อยๆ ผ่านการเฉยชามึนตึงใส่กัน และบทสนทนาที่ค่อนขอดซึ่งกันและกันตลอดเวลา ในวันหนึ่งประสมเกิดลืมตัวเข้าไปกอดจูบมยุรีอย่างบ้าคลั่ง มยุรีสั่งให้เขาคุกเข่าขอโทษ แต่ประสมปฏิเสธแถมยังต่อว่าเธอกลับในเรื่องพฤติกรรมทางสังคมที่ไม่เหมาะสมของเธอ

เย็นวันหนึ่ง มยุรีกับประสมออกไปงานสังคมนอกบ้านด้วยกัน ทั้งคู่ได้รับเชิญจากหลวงประเสริฐให้ไปรับประทานอาหารที่บ้าน ประสมออกไปเต้นรำกับประภาน้องสาวของประเสริฐในฐานะผู้สอนเต้น มยุรีเกิดอาการหึงหวงความสนิทสนมของประสมกับประภาที่เริ่มก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ จนสุดท้ายก็ทนไม่ได้ ต้องออกไปโทรศัพท์หาละออ ขอให้เขามาพาเธอกลับไป และในวันนั้นเองที่ละออลวงเธอไปที่บ้าน และพยายามจะข่มขืน

ประสมตามมาช่วยทันเวลา พามยุรีกลับบ้านและปลอบประโลมด้วยความอ่อนโยน มยุรีรู้ทันทีว่าเธอรักประสมเข้าแล้วอย่างสุดใจ และเธอจะรักชายผู้ที่ไม่มีใจให้เธอไม่ได้ เธอจึงนึกถึงคู่หมั้นและหวังว่าเขาจะช่วยป้องกันมิให้เธอรักประสม

ในตอนท้ายของเรื่อง มีการเชิญพระยาบำรุง บิดาของประสงค์มาที่กรุงเทพฯ และมยุรีก็ได้รู้ความจริงว่า ประสม พนักงานในบ้านของเธอ ที่แท้ก็คือ ประสงค์คู่หมั้นของเธอที่ปลอมตัวเข้ามาเพื่อคอยสังเกตการณ์เธอนั่นเอง

แก่นเรื่อง

นวนิยายเรื่องนี้จบลงด้วยการครองรักกันอย่างมีความสุขของประสงค์ และมยุรี และทิ้งท้ายไว้ด้วยข้อคิดสำคัญแก่สตรีที่มีพฤติกรรมต่อต้านความไม่เสมอภาคของสิทธิชายหญิงในสังคมว่าจะต้องพบกับความสับสนและขมขื่นในท้ายที่สุด และมยุรีคือตัวอย่างของผู้หญิงที่ต่อต้าน และต้องประสบกับความล้มเหลว แต่ก็เป็นความล้มเหลวที่นำความสุขมาให้

ตัวละคร

1. Round character : ตัวละครหลายลักษณะ

มยุรี เป็นตัวละครมีลักษณะสมจริงคล้ายคนทั่วไป คือมีทั้งข้อดี ข้อเสีย ด้วยวัยเพียง 20 ปีเศษๆและเป็นลูกสาวคนเดียวของบิดา และการได้รับการศึกษาจากอเมริกา ได้หล่อหลอมให้เธอกลายเป็นคนเจ้าอารมณ์ เอาแต่ใจตัว มีความมั่นใจในตัวเองสูงจนถึงขั้นประมาท และกล้าปฏิเสธในสิ่งที่ตนไม่ชอบ

แต่ตัวละครมยุรี ขาดความสมเหตุสมผลอยู่ในเรื่องหนึ่งนั่นก็คือเธอเป็นหญิงสาวที่ไปเรียนในต่างแดนเป็นเวลานาน เหตุใดจึงพูดภาษาไทยได้ชัดเจนและเก่งอย่างน่าอัศจรรย์

2. Flat character : ตัวละครน้อยลักษณะ

ประสงค์ เป็นตัวละครที่มีลักษณะนิสัยของพระเอกในนวนิยาย เป้นผู้ชายสมบูรณ์แบบที่มีอยู่แค่ในอุดมคติเท่านั้น “ดอกไม้สด” กำหนดให้ประสงค์เป็นชายหนุ่มที่ดีพร้อมทั้งรูปสมบัติ และคุณสมบัติ เป็นลูกชายคนเดียวของขุนนางระดับสูงที่เป็นเจ้าของหุ้นบริษัทป่าไม้ สำเร็จการศึกษาจากประเทศฝรั่งเศส และมีความรักเดียวใจเดียว มั่นคงต่อหญิงที่ไม่ได้เจอหน้ากันมาถึง 10 ปี

ปมขัดแย้ง

ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์ กับมนุษย์ : ประสงค์ กับ มยุรีรู้สึกไม่ชอบกันตั้งแต่แรกเห็น โดยประสงค์มีความคับแค้นซ่อนอยู่ในเรื่องที่เขาปฏิเสธการแต่งงานกับเธอ ในขณะที่มยุรีไม่ชอบใจกับท่าทางเย่อหยิ่งจองหองของเขา จากความไม่ชอบกลายเป็นความอยากเอาชนะ มยุรีปรารถนาจะให้เขามาชอบเธอให้จงได้ จึงวางแผนไว้ว่าเมื่อทำเขาชอบเธอได้สำเร็จ ก็จะเขี่ยเขาทิ้งอย่างไม่ไยดี แต่ประสงค์ในคราบของประสมที่ปลอมตัวมาก็ไม่แสดงท่าทีสนใจเธอเลยแม้แต่น้อย ซ้ำยังรู้สึกไม่พอใจกับความสนิทสนมของเธอกับละออเพื่อนหนุ่ม รวมถึงไม่ชอบการวางตัวอย่างสาวสมัยใหม่เกินไปของเธอ ถึงขั้นต่อว่าเธอด้วยถ้อยคำเสียดสีรุนแรงในตอนหนึ่งของเรื่อง

เรื่องผู้ชายที่กระโดดน้ำตายดอกกระมังที่ทำให้คุณนึกถึงคู่หมั้น ไม่ต้องวิตกหรอก เขาคงไม่โง่บ้าพอที่จะกระโดดน้ำตาย คุณนั้นเหมือนดอกกุหลาบ งามพริ้งกลิ่นก็หอมฟุ้งซ่านใครผ่านก็กเตะจมูก ชาวฝรั่งเศสคิดเห็นว่าดอกกุหลาบนั้นคือเครื่องหมายของความงามที่มีความลำพองชูหัวกลัวใครจะไม่เห็น ประสงค์เป็นคนหนึ่งที่เห็นจริงตามความติดนั้น เขานิยมความงามอย่างดอกไวโอเล็ต ซุกซ่อนตัวอยู่ใต้ใบ ต้องดมชิดจึงจะได้กลิ่น และเมื่อเขาต้องการไวโอเล็ตดอกไหน เขาก็จะเด็ดได้ทันที จะมาเสียดายอะไรกับดอกกุหลาบ เด็ดดีไม่ดีหนามตำมือเข้าจะเจ็บ

และความขัดแย้งระหว่างประสงค์ กับ มยุรี ก็โยงเข้ากับชื่อเรื่อง “ศัตรูของเจ้าหล่อน” เพราะประสงค์คือศัตรูของมยุรี เป็นอุปสรรคที่มยุรีต้องต่อสู้ด้วยตลอดทั้งเรื่อง สู้กับความเย่อหยิ่งของเขาที่ไม่เคยยอมลงให้กับความเอาแต่ใจของหล่อน สู้กับความใจแข็งของเขาที่ไม่ยอมหลงรักสาวเจ้าเสน่ห์อย่างเธอเสียที และสุดท้ายมยุรีก็ต้องสู้กับความขัดแย้งภายในใจของตนเอง ที่ต้องพยายามหักห้ามไม่ให้ไปหลงรักคนอย่างประสงค์เข้า

มุมมอง

มุมมองของเรื่องเป็นแบบไม่จำกัด เป็นมุมมองแบบพระเจ้า คือการบรรยายที่ทำให้ผู้อ่านล่วงรู้ความคิดในใจของตัวละครทุกตัวในเรื่อง มุมมองประเภทนี้ง่ายต่อการประพันธ์ และการผูกเรื่อง นักเขียนผู้ที่ยังไม่มีประสบการณ์มากนักมักจะเลือกใช้มุมมองประเภทนี้เพราะจะทำให้ไม่ต้องพรรณนามาก อีกทั้งยังทำให้เนื้อหากระชับ ไม่เยิ่นเย้อ และง่ายต่อการเข้าใจ

ใน “ศัตรูของเจ้าหล่อน” มีการหยุดการบรรยายเรื่อง โดยการแทรกคำพูดของผู้เขียนที่ต้องการสื่อมายังผู้อ่านโดยเฉพาะ อย่างเช่นในตอนที่ มยุรี เกิดความคิดจะทำให้ประสงค์ชอบตนเพราะอยากเอาชนะเขา ก็ปรากฏเสียงบรรยายของ “ดอกไม้สด” เข้ามาในตอนนี้เพื่อแก้ตัวให้กับมยุรี มิให้ผู้อ่านมองเธอในแง่ร้ายจนเกินไป

ท่านผู้อ่านที่รักของข้าพเจ้า ถ้าท่านเป็นเพศชายควรถามภรรยา หรือน้อง หรือพี่ที่เป็นหญิงดูว่า เรื่องที่ข้าพเจ้าจะบอกต่อไปนี้เป็นเรื่องจริงหรือไม่ ถ้าท่านเป็นหญิงโปรดถามตัวท่านเองดู ข้าพเจ้าว่าหญิงสาวเกือบทุกคน และหญิงที่รู้ว่าตัวมีความสวยทุกคน หากว่ามีชายคนหนึ่งบังอาจดูถูกหล่อนด้วยตา ด้วยวาจา ด้วยท่า อย่างใดอย่างหนึ่ง กล่าวคือแสดงการไม่แยแส และเหยียดหล่อน ผู้นั้นอยาก-อยากที่สุด-ที่จะทำตัวให้เป็นที่ถูกใจเขา อยากให้เขานิยมในความงาม ความหรู ความน่ารัก หรืออะไรก็ตาม ให้เขากล่าวชม ถ้ายิ่งหลงรักหล่อนด้วยก็ดี แล้วและหล่อนจะได้ปัดความรักของเขา ด้วยคำพูดและกิริยาว่า หล่อนเห็นเขาดีกว่าแมวที่ผอมโซนิดหน่อยเท่านั้น เพียงเป็นการแก้แค้นทดแทนความดูถูกของเขา…

คุณค่าที่ได้รับ

ในเรื่อง “ศัตรูของเจ้าหล่อน” ตัวละครหญิงเป็นผู้ต่อต้านระบบการแต่งงานแบบคลุมถุงชน และการต่อสู้ของ มยุรี นางเอกของเรื่อง มีส่วนช่วยในการปลุกจิตสำนึกของสตรีในสังคมไทย อันเป็นสังคมที่คนไทยโดยทั่วไปถือว่าบุรุษมีสิทธิ และเสรีภาพทางสังคมเหนือสตรี ให้ตระหนักในสิทธิและบทบาทของตนเองมากขึ้น

นวนิยายเรื่องนี้ให้เราได้ศึกษาประวัติศาสตร์ และความเป็นไปของสังคม การแต่งกาย วัฒนธรรม สภาพบ้านเมืองในสมัยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้เป็นอย่างดี เช่น ในข้อความตอนหนึ่งของนวนิยายที่บรรยายถึงงานเต้นรำที่วังพระราชวังพญาไท

พระราชวังพญาไท ในสมัยรัชกาลที่ 7 ใครๆก็ทราบว่าเป็นสถานที่หรูที่สุดในกรุงเทพฯมหานคร ในวันพุธและวันเสาร์ย่อมมีสุภาพบุรุษและสตรีทั้งชาวพระนครและชาวต่างประเทศไปชุมนุมหาความเบิกบานกันมากมาย ตัวตึกชั้นล่างเป็นเฉลียงยาวมีคนเดินกันขวักไขว่ มีโต๊ะตั้งอยู่เป็นหย่อมๆ เสียงพูดภาษาฝรั่งและไทยดังแซ่…

…ห้องเต้นรำที่ออกจะแคบก็กอ้งไปด้วยเสียงดนตรีบรรเลงเพลงเต้นรำ ไทยจับคู่ฝรั่ง ฝรั่งจับคู่ไทย จีนกับไทย ไทยกับจีน ไทยต่อไทย ประคองก้าวเท้าเดินตามจังหวะดนตรี

…ฝ่ายชายเสื้อเชิ้ตชุ่มด้วยเหงื่อ ฝ่ายหญิงเสื้อแพรคอกว้างแขนไม่มีต่ำกว่าไหล่ หรือที่ถูกเสื้อไม่มีแขนเปิดให้ผิวหนังได้รับอากาศมากกว่า ถึงกระนั้นหล่อนก็ยังต้องใช้ผ้าเช็ดหน้า แพร หรือลินินกว้างยาวไม่เกินหนึ่งคืบซับเหงื่อที่หน้าผากบ่อยๆ

ภาษา

นวนิยายเรื่อง “ศัตรูของเจ้าหล่อน” มีลักษณะภาษาโดยรวม ดังนี้

1.ใช้ภาษาพูดในการบรรยายเรื่องแทบตลอดทั้งเรื่อง

อย่างเช่น การบรรยายลักษณะของตัวละคร ก็ใช้การบรรยายที่เหมือนการเล่าให้ฟัง

เขาเป็นคนจริงคนหนึ่ง จริงทุกๆสิ่ง รักจริง เกลียดจริง ทำจริง…

เลือกซิ่นอย่างงามตัวที่หล่อนโปรด เสื้อสีเข้ากันเชี้ยบ ถุงเท้ารองเท้า ตลอดทั้งตุ้มหู อาภรณ์เป็นสิ่งเดียวที่หล่อนใช้ เป็นสีเนื้อเข้ากันหมด เมื่อแสงไฟจับทำให้เห็นเป็นเนื้อนวลน่ารักยิ่งนัก…

2.ภาษาในการบรรยายฉากไม่ค่อยละเอียด มีการสลับฉากไปมาอย่างรวดเร็ว

ทันใดนั้นภาพแห่งเหตุการณ์ที่ล่วงแล้วมาปรากฏขึ้นในสมอง…

ภาพต่อมาก็คือ…

3 .คำว่า “แล้ว” และ “ต่อไป” เป็นสำนวนที่พบประจำในนวนิยายเรื่องนี้

ภาพต่อมาก็คือ เขาอุ้มหล่อนเจ้าของร่างมีอายุ 10 ปีลงมาที่สนาม แล้ววิ่งไล่เล่นหยอกล้อกันไปมา

เขาพูดต่อไปน้ำลายเป็นฟอง “บิดารองเจ้าคุณเป็นพระยา เอ! ลืมชื่อเสียแล้ว รู้สึกเสียใจที่จำม่ได้”

พูดแล้วนายนวลก็ก้มหน้าทำงานต่อไป

4.การบรรยายและพรรณนาถึงฉาก อารมณ์ความรู้สึก และสีหน้าของตัวละครไม่ค่อยละเอียด และขาดความสละสลวย

3 อาทิตย์หนึ่งหลังจากเวลาที่ได้กล้าวแล้ว เวลาเย็นมีชายคนหนึ่ง นุ่งผ้าม่วงสีน้ำเงินสวมเสื้อขาว มือถือกระเป๋าลงจากรถม้าเช่าที่ตรงประตูบ้านที่มีกำแพงทาสีน้ำเงินล้อมรอบอยู่ เขาหยุดยืนทอดสายตามองดูรอบตัว แล้วก็เปิดประตูเล็กของบ้านนั้น เดินเข้าไปภายใน ที่หน้าตึกมิมีใครอยู่…

ที่มา

วิเคราะห์งานของดอกไม้สด : ศัตรูของเจ้าหล่อน. (2555). ค้นจาก

http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=iamluckyseven&month
=02-10-2007&group=2&gblog=7

 


Copyright
All copyright rights in the Dewey Decimal Classification system are owned by OCLC. Dewey, Dewey Decimal Classification, DDC and WebDewey are registered trademarks of OCLC
Revised:March 2009


Send comments to Chumpot@hotmail.com