กีฬาโอลิมปิก
-
บทความนี้เกี่ยวกับกีฬาโอลิมปิก สำหรับความหมายอื่น ดูที่ โอลิมปิก (แก้ความกำกวม)
กีฬาโอลิมปิก |
องค์กร |
กฎบัตรโอลิมปิก ● คณะกรรมการโอลิมปิกสากล ● คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติ ● |
การแข่งขัน |
โอลิมปิกสมัยโบราณ โอลิมปิกฤดูร้อน โอลิมปิกฤดูหนาว กีฬาพาราลิมปิก โอลิมปิกเยาวชน |
การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก (อังกฤษ: Olympic Games) หรือ โอลิมปิกส์ (Olympics) เป็นการแข่งขันกีฬาหลายชนิด จากหลายประเทศทั่วโลก โดยจัดขึ้นทุก 4 ปี และมีการแบ่งออกเป็น โอลิมปิกฤดูร้อน และ โอลิมปิกฤดูหนาว
เนื้อหา |
[แก้] การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในสมัยโบราณ
ก่อนหน้าคริสตกาลกว่า 1,000 ปี การแข่งขันกีฬาได้ดำเนินการกันบนยอดเขาโอลิมปัส ในประเทศกรีซ โดยนักกีฬาจะต้องเปลือยกายเข้าแข่งขัน เพื่อประกวดความสมส่วนของร่างกาย และยังมีการต่อสู้บางประเภท เช่น กีฬาจำพวกมวยปล้ำ เพื่อพิสูจน์ความแข็งแรง ผู้ชมมีแต่เพียงผู้ชาย ห้ามผู้หญิงเข้าชม ดังนั้นผู้ชมจะต้องปีนขึ้นไปบนยอดเขา ครั้นต่อมามีผู้นิยมมากขึ้น สถานที่บนยอดเขาจึงคับแคบเกินไป ไม่เพียงพอที่จุทั้งผู้เล่นและผู้ชมได้ทั้งหมด
ดังนั้น เมื่อ 776 ปีก่อนคริสตกาล ชาวกรีกได้ย้ายที่แข่งขันลงมาที่เชิงเขาโอลิมปัส และได้ปรับปรุงการแข่งขันเสียใหม่ให้ดีขึ้น โดยให้ผู้เข้าแข่งขันสวมกางเกง พิธีการแข่งขันจัดอย่างเป็นระเบียบเป็นทางการ มีการบันทึกการแข่งขันอย่างชัดเจน มีจักรพรรดิมาเป็นองค์ประธาน อนุญาตให้สตรีเข้าชมการแข่งขันได้ แต่ไม่อนุญาตให้เข้าแข่งขัน ประเภทกรีฑาที่แข่งขันที่ถือเป็นทางการในครั้งแรกนี้ มี 5 ประเภท คือ วิ่ง, กระโดด, มวยปล้ำ, พุ่งแหลน และขว้างจักร ผู้เข้าแข่งขันคนหนึ่ง ๆ จะต้องเล่นทั้ง 5 ประเภท โดยผู้ชนะจะได้รับรางวัล คือ มงกุฎที่ทำด้วยกิ่งไม้มะกอกที่มีชื่อว่า ช่อลอเรล ซึ่งขึ้นอยู่บนยอดเขาโอลิมปัสนั่นเอง และได้รับเกียรติเดินทางท่องเที่ยวไปทุกรัฐ ในฐานะตัวแทนของพระเจ้า
การแข่งขันได้จัดขึ้น ณ เชิงเขาโอลิมปัส แคว้นอีลิส ที่เดิมเป็นประจำทุกสี่ปี และถือปฏิบัติติดต่อกันมาโดยไม่เว้น เมื่อถึงกำหนดการแข่งขัน ทุกรัฐจะต้องให้เกียรติ หากว่าขณะนั้นกำลังทำสงครามกันอยู่ จะต้องหยุดพักรบ และมาดูนักกีฬาของตนแข่งขัน หลังจากเสร็จจากการแข่งขันแล้ว จึงค่อยกลับไปทำสงครามกันใหม่ ประเภทของการแข่งขันได้เปลี่ยนแปลงไปบ้างในระยะต่อๆมา โดยมีการพิจารณาและลดประเภทของกรีฑาเรื่อยมา อย่างไรก็ดีในระยะแรกนี้กรีฑา 5 ประเภทดังกล่าวที่จัดแข่งขันกันในครั้งแรก ได้รับเกียรติให้คงไว้ ซึ่งเรียกกันว่า เพ็นตาธรอน หรือ ปัญจกรีฑา ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการรำลึกถึงกำเนิดของกรีฑา โดยในปัจจุบันนี้ก็ยังมีการแข่งขันกันอยู่ ซึ่งประเภทของปัญจกรีฑาได้เปลี่ยนไปตามเวลา
การแข่งขันได้ดำเนินติดต่อกันมานับเป็นเวลาถึง 1,200 ปี จนมาในปี พ.ศ. 936 (ค.ศ. 393) จักรพรรดิธีโอดอซิดุชแห่งโรมันได้ทรงประกาศให้ยกเลิกการแข่งขันนั้นเสีย เพราะเกิดมีการว่าจ้างกันเข้ามาเล่นเพื่อหวังรางวัล และผู้เล่นปรารถนาสินจ้างมากกว่าการเล่นเพื่อสุขภาพของตน รวมทั้งมีการพนันขันต่อ อันเป็นทางวิบัติซึ่งผิดไปจากวัตถุประสงค์เดิมคือ ผู้เข้าแข่งขันทั้งหลายต่างก็อยากได้ช่อลอเรลซึ่งเป็นรางวัลของผู้ชนะ ด้วยเหตุนี้เอง พระองค์จึงสั่งให้ล้มเลิกการแข่งขันนี้เสีย
ตลอดระยะเวลาที่มีการแข่งขันนั้น ได้จัดขึ้น ณ บริเวณที่แห่งเดียว คือ เชิงเขาโอลิมปัส แคว้นอีลิส จึงเรียกการแข่งขันตามชื่อของสถานที่ว่า “การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก”
[แก้] โอลิมปิกสมัยใหม่
หลังจากโอลิมปิกโบราณได้ล้มเลิกไปเป็นเวลาถึง 15 ศตวรรษ โอลิมปิกยุคใหม่ก็เกิดขึ้น โดยมีนักกีฬาคนสำคัญของฝรั่งเศสชื่อ ปิแอร์ เดอ ดูเบอร์แตง ท่านขุนนางผู้นี้เกิดในกรุงปารีส เมื่อ 1 มกราคม พ.ศ. 2406 (ค.ศ. 1863) สนใจประวัติศาสตร์ ปัญหาการเมืองและสังคม ในปี พ.ศ. 2432 (ค.ศ. 1889) ท่านอายุได้ 26 ปี ได้เกิดความคิดที่จะฟื้นฟูการแข่งขันโอลิมปิก ซึ่งได้ล้มเลิกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 936 (ค.ศ. 393) โดยติดต่อกับบุคคลสำคัญของประเทศอังกฤษ, สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส เป็นเวลาถึง 4 ปี ในที่สุดได้เปิดการประชุมอย่างไม่เป็นทางการขึ้น ที่ตำบลซอร์บอนน์ ในกรุงปารีส เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2435 (ค.ศ. 1892) และประกาศ ณ ที่นั้นว่า การแข่งขันโอลิมปิกซึ่งได้หยุดมานานกว่า 15 ศตวรรษ จักได้พื้นขึ้นใหม่เป็นการปัจจุบัน และแผนการของงานโอลิมปิกปัจจุบันนั้น ได้เป็นที่ตกลงกันในที่ประชุมจำนวน 15 ประเทศ ณ ตำบลซอร์บอนน์ ประเทศฝรั่งเศส
คณะกรรมการผู้ริเริ่ม ได้ลงมติว่า ให้ทำการเปิดการแข่งขันโอลิมปิกปัจจุบันขึ้น โดยกำหนด 4 ปีต่อ 1 ครั้ง โดยให้ประเทศสมาชิกหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพ แต่การเปิดแข่งขันครั้งแรกให้เริ่ม ณ กรุงเอเธนส์ ใน พ.ศ. 2439 (ค.ศ. 1896) เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งการกำเนิดกีฬาโอลิมปิกเมื่อครั้งโบราณ จากนั้นเป็นต้นมา การแข่งขันและวิธีเล่นกรีฑาก็พัฒนาไปอย่างกว้างขวาง และการแข่งขันทุก ๆ ครั้ง ให้ถือเอากรีฑาเป็นกีฬาหลัก ซึ่งจะขาดเสียมิได้ในการแข่งขันแต่ละครั้ง
[แก้] เจ้าภาพ
-
ดูบทความหลักที่ การคัดเลือกเจ้าภาพโอลิมปิก และ การลงคะแนนเสียงเลือกเจ้าภาพโอลิมปิก
การกำหนดว่าประเทศใดจะได้เป็นเจ้าภาพในครั้งต่อไปนั้น กระทำขึ้น ณ สถานที่ที่การแข่งขันครั้งล่าสุดดำเนินอยู่นั้นเอง คณะกรรมการโอลิมปิกสากลจะพิจารณาบรรดาประเทศสมาชิกที่เสนอขอจัด และมีอำนาจเด็ดขาดที่จะลงมติให้ประเทศใดเป็นเจ้าภาพ ซึ่งจะประกาศให้ทราบอย่างเป็นทางการ ในวันพิธีเปิดการแข่งขันครั้งล่าสุดนั้น ประเทศที่ได้รับพิจารณาให้เป็นเจ้าภาพ ถือได้ว่าเป็นเกียรติอย่างสูงที่ได้รับความไว้วางใจ อันก่อให้เกิดความภาคภูมิใจต่อประชาชนทั้งประเทศ
[แก้] สมาชิก
-
ดูบทความหลักที่ คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติ และ รายชื่อรหัสประเทศที่กำหนดโดยคณะกรรมการโอลิมปิกสากล
ในปัจจุบัน ประเทศทั่วโลกเป็นสมาชิกโอลิมปิก 197 ประเทศ แต่บางประเทศไม่ได้เข้าร่วมการแข่งขัน เพราะเป็นประเทศเล็ก ขาดความพร้อมในเรื่องตัวนักกีฬา บารอน ปิแอร์เดอ ดูเบอร์แตง ได้ให้นิยามการเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกว่า ผู้เข้าร่วมการแข่งขันนั้นไม่เลือกผิวพรรณ ศาสนา ลัทธิการปกครอง แต่อย่างใด ความหมายการแข่งขันเพื่อให้นักกีฬาชาติต่าง ๆ ได้มาร่วมชุมนุมกัน ตัวนักกีฬาเปรียบเสมือนทูตสันถวไมตรีส่งมาเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ ร่วมเล่นสนุกสนานด้วยความเห็นอกเห็นใจ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตลอดทั้งสร้างความเข้าใจอันดีต่อกัน อันนำมาซึ่งความสามัคคีและเพื่อสันติภาพของโลก การแพ้หรือชนะไม่ใช่สิ่งสำคัญ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ “การเข้าร่วม”
[แก้] รางวัล
-
ดูบทความหลักที่ สรุปเหรียญรางวัลโอลิมปิกตลอดกาล
รางวัลของการแข่งขันในสมัยโบราณผู้ที่ชนะจะได้รับการสรรเสริญมาก รางวัลที่ให้แก่ผู้ชนะในสมัยนั้น คือ กิ่งไม้มะกอกซึ่งตัดมาจากยอดเขาโอลิมปัส อันเป็นที่สิงสถิตของซุส แล้วทำเป็นวงคล้ายมงกุฎ จักรพรรดิจะเป็นผู้พระราชทานครอบลงบนศีรษะของผู้ชนะนั้น ๆ พร้อมทั้งได้สร้างอนุสาวรีย์ไว้ให้ชนรุ่นหลังศึกษาและชื่นชมต่อไป
สำหรับการแข่งขันโอลิมปิกสมัยปัจจุบันแบ่งรางวัลเป็นสามระดับ คือ เหรียญทอง, เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง ให้แก่ผู้ชนะเลิศ, ผู้ชนะเลิศที่สอง และที่สามตามลำดับ ส่วนอันดับที่สี่ไปถึงอันดับที่หก จะได้ประกาศนียบัตรการเข้าร่วมการแข่งขัน
[แก้] คบเพลิงโอลิมปิก
-
ดูบทความหลักที่ คบเพลิงโอลิมปิก
โคมไฟโอลิมปิก เมื่อมีการแข่งขันโอลิมปิกจะมีการจุดไฟกองใหญ่ขึ้นบนยอดเขาโอลิมปัส เพื่อให้ความสว่างไสว และเพื่อเป็นสัญญาณประกาศให้คนทั่วไปได้ทราบว่า การเฉลิมฉลองได้เริ่มขึ้นแล้ว พิธีการจุดไฟนั้น เริ่มแรกทำบนยอดเขาโอลิมปัส โดยใช้แว่นรวมแสงอาทิตย์ไปยังเชื้อเพลิง เมื่อติดไฟแล้ว จึงนำตะเกียงต่อเอาไว้ ไฟกองใหญ่จะคงลุกโชติช่วงต่อไปจนตลอดงานฉลอง ส่วนตะเกียงนั้นจะมีการวิ่งถือไปทั่วทุกนครรัฐ ด้วยการส่งต่อกันไปเป็นทอด ๆ จากนักวิ่ง คนละ 2 ไมล์ หากผ่านทะเลหรือแม่น้ำก็จะลงเรือข้ามฟากโดยไฟไม่ดับ ไฟนี้ชาวกรีก ถือว่าเป็นไฟศักดิ์สิทธิ์ และความสงบสุขของชาวกรีก ซึ่งพระเจ้าจะทรงพระพิโรธต่อบุคคลที่ไม่สนใจในกิจการนี้
โอลิมปิกในปัจจุบัน ยังคงรักษาประเพณีเรื่องการจุดไฟไว้ดังเดิมทุกประการ กล่าวคือ ก่อนจะมีการแข่งขันจะมีพิธีจุดไฟ ณ เขาโอลิมปัส ผู้จุดคือ สาวพรหมจารีย์ผู้บริสุทธิ์ เป็นผู้ต่อไฟจากแว่นรวมแสงของดวงอาทิตย์ด้วยคบเพลิง และไฟนี้จะถูกแจกจ่ายไปยังประเทศสมาชิกทั่วโลก และข้ามน้ำข้ามทะเลไปสู่ประเทศเจ้าภาพ และมีการวิ่งถือคบเพลิงส่งต่อกันไปจุดที่กระถางใหญ่บริเวณงานในวันแรกของพิธีเปิดการแข่งขัน ไฟจะต้องไม่ดับตั้งแต่เริ่มจุด ณ ภูเขาโอลิมปัส จนกว่าจะสิ้นสุดการแข่งขันโอลิมปิกในครั้งนั้น ๆ
[แก้] สัญลักษณ์โอลิมปิก
-
ดูบทความหลักที่ สัญลักษณ์โอลิมปิก
ธงโอลิมปิกมีผืนธงเป็นสีขาว ขนาดมาตรฐานยาว 3 เมตร กว้าง 2 เมตร ส่วนเครื่องหมายห้าห่วงคล้องกันอยู่บนกลางธง ขนาด 2 เมตร คูณ 0.60 เมตร มีสีฟ้า สีเหลือง สีดำ สีเขียว สีแดง ตามลำดับจากซ้ายไปขวา คล้องไขว้กันอยู่ตรงกลางสองแถว แถวบน 3 ห่วง แถวล่าง 2 ห่วง ห่วงสีที่คล้องกันอยู่ตรงกลางธงบนพื้นธงสีขาว รวมเป็น 6 สี โดยแท้จริงแล้ว ห้าห่วงหมายถึง ห้าส่วนของโลกที่อยู่ในโอบอ้อมของ “โอลิมปิกนิยม” มิเจาะจงเป็นห้าทวีปในโลกอย่างที่เข้าใจกัน แต่บังเอิญห้าทวีปนี้ก็เป็นห้าส่วนของโลกก็เลยอนุโลมกันไปเช่นนั้น ส่วนสีที่ห่วง 5 สี มิได้หมายถึงสีประจำทวีป ซึ่งสีทั้งหมด 6 สี รวมทั้งสีขาวที่เป็นพื้นธง หมายความว่า ธงชาติของประเทศต่าง ๆ ในโลกประกอบด้วยสีใดสีหนึ่งหรือมากกว่านั้นในจำนวนหกสีนั้น และไม่มีธงชาติของประเทศใดที่มีสีนอกเหนือไปจากหกสีนี้
ด้านล่างของห่วงมีคำอยู่ 3 คำ ซึ่งเป็นภาษาโรมัน แต่ละคำมีความหมายดังต่อไปนี้
- Citius (swifter) : ความเร็ว ผู้เข้าร่วมการแข่งขันต้องวิ่งให้เร็วที่สุด
- Altius (higher) : ความสูง ผู้เข้าร่วมการแข่งขันต้องทำให้สูงที่สุด
- Fortius (stronger) : ความแข็งแรง ผู้เข้าร่วมการแข่งขันต้องมีความแข็งแกร่งที่สุด
[แก้] สนามกีฬาโอลิมปิก
-
ดูบทความหลักที่ สนามกีฬาโอลิมปิก
[แก้] พิธีสำคัญ
[แก้] พิธีเปิด
ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกนั้นจะจัดให้มีทั้งพิธีเปิดและพิธีปิด ในช่วงก่อนและหลังการแข่งขันอย่างเป็นทางการ โดยในวันที่จัดพิธีเปิดนั้นจะไม่มีการจัดการแข่งขันกีฬา ซึ่งพิธีเปิดจะเริ่มต้นด้วยขบวนนักกีฬาจากประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมการแข่งขัน เดินเข้าสู่สนามตามลำดับตัวอักษร (โดยปกติ มักจะใช้ภาษาอังกฤษ) นำโดยผู้ถือป้ายชื่อประเทศ ผู้ถือธงชาติ และตามด้วยนักกีฬาของประเทศนั้น ซึ่งขบวนของประเทศเจ้าภาพจะเดินเข้าสู่สนามเป็นลำดับสุดท้าย ตามมาด้วยขบวนแห่ธงโอลิมปิกสากล โดยนายกเทศมนตรีที่เป็นเจ้าภาพครั้งล่าสุดที่ผ่านมา ทำพิธีมอบธงโอลิมปิกสากลให้นายกเทศมนตรีเมืองเจ้าภาพปัจจุบัน แล้วจึงนำธงโอลิมปิกสากลขึ้นสู่เสา จึงเริ่มต้นพิธีจุดคบเพลิง ด้วยการวิ่งส่งต่อคบเพลิงไปต่อเนื่อง จนถึงนักกีฬาคนสุดท้ายจึงจะวิ่งนำคบพลิงไปจุดบนกระถางคบเพลิง ประธานในพิธี (โดยปกติ มักเป็นประมุขของประเทศเจ้าภาพ) กล่าวเปิด แล้วปล่อยนกพิราบ อันเป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพ ต่อมานักกีฬากล่าวคำปฏิญาณตน รวมทั้งผู้ตัดสินก็กล่าวคำปฏิญาณตนเช่นกันว่า "จะตัดสินกีฬาครั้งนี้ด้วยใจเป็นธรรม" และนักกีฬาจึงเดินออกนอกสนาม ปิดท้ายด้วยการแสดงในลักษณะลีลาการเต้นรำ หรือฟ้อนรำ หรือกายบริหาร ซึ่งเป็นการแสดงออกในทางพิธีกรรมถวายแก่เทพเจ้าซีอุสในสมัยโบราณ และยังเป็นการแสดงออกถึงกิจกรรมทางการกีฬา
[แก้] พิธีปิด
ในพิธีปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก จะมีการแข่งขันกีฬาประเภทสุดท้าย ซึ่งจะแข่งขันในสนามกีฬาหลัก โดยมากมักจะเป็นการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศของกีฬาฟุตบอล เมื่อการแข่งขันกีฬาประเภทสุดท้ายเสร็จสิ้น ขบวนนักกีฬาจากประเทศต่างๆ จะเดินเข้าสนามเพื่อเข้าร่วมพิธีปิด โดยประธานในพิธีกล่าวปิด แล้วไฟในกระถางคบเพลิงก็จะเริ่มดับลง บนป้ายบอกคะแนนจะมีตัวอักษรขึ้นว่า "จนกว่าเราจะพบกันใหม่ ณ เมือง..." (สถานที่ที่จะมีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งต่อไปอีก 4 ปีข้างหน้า) สุดท้ายจึงร่วมร้องสามัคคีชุมนุมเป็นอันเสร็จสิ้น
[แก้] กีฬาในโอลิมปิก
-
ดูบทความหลักที่ กีฬาในโอลิมปิก
[แก้] กระบวนการโอลิมปิก
กระบวนการโอลิมปิก (อังกฤษ: Olympic Movement) เป็นการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ณ ที่ใดที่หนึ่งของโลกทุก 4 ปี เป็นลำดับไป โดยไม่ขาดตอนหรือหยุดยั้งอยู่ที่ใดที่หนึ่ง หรือล้มเลิกไปเหมือนอย่างในอดีตกาล รวมเข้าไปด้วย องค์กรต่างๆ นักกีฬา และ บุคคลที่เห็นด้วยกับแนวทางของกฎบัตรโอลิมปิก
กระบวนการโอลิมปิก ประกอบไปด้วยผู้ที่เห็นด้วยกับแนวทางของกฎบัตรโอลิมปิก และผู้ที่รับรองอำนาจของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (อังกฤษ: International Olympic Committee หรือ IOC) รวมไปถึง สหพันธ์ระหว่างประเทศ (อังกฤษ: International Federations หรือ IF) ของกีฬาที่มีการแข่งขันในกีฬาโอลิมปิก, คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติ (อังกฤษ: National Olympic Committees หรือ NOCs), คณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก (อังกฤษ: Organising Committees of the Olympic Games หรือ OCOGs) นักกีฬา กรรมการผู้ตัดสิน และผู้ตัดสิน สมาคม ชมรม รวมไปถึงองค์กรและสถาบันที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล
[แก้] กีฬาโอลิมปิกกับประเทศไทย
ประเทศไทยส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งแรก ในการแข่งขันครั้งที่ 15 ณ กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ระหว่างวันที่ 19 กรกฎาคม -- 3 สิงหาคม ค.ศ. 1952 (พ.ศ. 2495) และได้เข้าร่วมแข่งขันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ยกเว้น การแข่งขันครั้งที่ 22 ณ กรุงมอสโก สหภาพโซเวียต (ประเทศรัสเซียในปัจจุบัน) เมื่อปี ค.ศ. 1980 (พ.ศ. 2523) เพราะปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ ที่ไทยผูกพันกับสหรัฐอเมริกา จึงร่วมกันคว่ำบาตร (Boycott) สหภาพโซเวียต ชาติมหาอำนาจของค่ายคอมมิวนิสต์ ทำให้กองทัพนักกีฬาไทยงดเว้นไม่เข้าร่วมแข่งขันในครั้งนั้น[1]
[แก้] สถานที่จัดการแข่งขันโอลิมปิกในยุคปัจจุบัน
ตราวงแหวนโอลิมปิก |
|
ชื่อย่อ | Olympiad |
---|---|
คำขวัญ | Citius, Altius, Fortius เร็วขึ้น, สูงขึ้น, แกร่งขึ้น |
ก่อตั้ง | โอลิมปิก: ฤดูร้อนครั้งที่ 1 พ.ศ. 2439 กรุงเอเธนส์, กรีซ ฤดูหนาวครั้งที่ 1 พ.ศ. 2467 ชาโมนิกซ์, ฝรั่งเศส พาราลิมปิก: ฤดูร้อนครั้งที่ 1 พ.ศ. 2503 กรุงโรม, อิตาลี ฤดูหนาวครั้งที่ 1 พ.ศ. 2519 เอิร์นเชิลส์วีก, สวีเดน |
จัดขึ้นทุก | 4 ปี |
ครั้งล่าสุด | ฤดูร้อน: โอลิมปิกครั้งที่ 29/ พาราลิมปิกครั้งที่ 13 ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ฤดูหนาว: โอลิมปิกครั้งที่ 21/ พาราลิมปิกครั้งที่ 10 ที่แวนคูเวอร์ แคนาดา เยาวชน: ฤดูร้อนครั้งที่ 1 พ.ศ. 2553 สิงคโปร์ ฤดูหนาวครั้งที่ 1 พ.ศ. 2555 อินส์บรุค, รัฐทิโรล, ออสเตรีย |
วัตถุประสงค์ | กีฬาสำหรับนานาชาติ |
สำนักงานใหญ่ | คณะกรรมการโอลิมปิกสากล โลซาน, สวิตเซอร์แลนด์ |
ประธาน | ฌักส์ ร็อกก์ |
เว็บไซต์ | คณะกรรมการโอลิมปิกสากล |
หมายเหตุ | แบ่งเป็นโอลิมปิกฤดูร้อน โอลิมปิกฤดูหนาว พาราลิมปิกเกมส์ และโอลิมปิกเยาวชน |
ในด้านการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ผ่านมา จะมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนให้ประเทศสมาชิกต่างๆ ในแต่ละทวีปเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน และหากได้พิจารณาข้อมูลย้อนหลังนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1964 เป็นต้นมา ได้มีการพิจารณาตามเกณฑ์การกระจายแบบ Geographic Distribution
[แก้] ดูเพิ่ม
[แก้] อ้างอิง
- ^ ความรู้รอบตัว, สำนักพิมพ์พัฒนาศึกษา, พิมพ์ที่ โรงพิมพ์เพิ่มทรัพย์การพิมพ์, หน้า 75, ISBN 974-521-567-8
- ^ ยกเลิกเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 1
- ^ 3.0 3.1 3.2 3.3 ยกเลิกเนื่องจาก สงครามโลกครั้งที่ 2
|