กระจงควาย

กระจงควายเป็นหนึ่งในกระจงสองชนิดที่พบในประเทศไทย เป็นสัตว์กีบที่เกือบเล็กที่สุดในโลก หนักเพียง 5-8 กิโลกรัม ลำตัวยาว 70-75 เซนติเมตร ความสูงที่หัวไหล่ 30-35 เซนติเมตร หัวเล็กเป็นรูปสามเหลี่ยม จมูกยื่นแหลม ตาโต ลำตัวกลมปุ๊กลุกเหมือนกระต่าย ข้างหลังสูงกว่าข้างหน้า ขายาวเรียว ลำตัวสีน้ำตาลอมส้ม ใต้ท้อง หน้าอก และคางสีขาว หน้าคอมีเส้นสีขาวหลายเส้น ไม่มีเขา หางยาว 8-10 เซนติเมตร ตัวผู้มีเขี้ยวบนยาวแหลมโผล่พ้นปากออกมา มีกระเพาะสามตอน

กระจงควายชอบอาศัยอยู่ในตามพื้นล่างของป่าทึบที่ใกล้แหล่งน้ำ พบในประเทศไทย อินโดนีเซีย ศรีลังกา คาบสมุทรมลายู สุมาตราและบอร์เนียว

กระจงควายหากินเวลากลางคืน รักสันโดษมาก ไม่ขี้ตื่นเท่ากระจงเล็ก กระจงจะเดินตามทางด่านของตัวเองที่ดูเหมือนอุโมงค์ผ่านไปตามพุ่มไม้ กินผลไม้สุกที่หล่นตามพื้น พืชน้ำ ใบไม้ ยอดไม้ และหญ้า มันหวงถิ่นมาก ทำเครื่องหมายเขตแดนด้วยขี้ เยี่ยว และต่อมกลิ่นที่อยู่ใต้คาง เมื่อตื่นเต้นหรือโกรธ ตัวผู้จะถีบพื้นดินด้วยความถี่ราวสี่ครั้งต่อวินาที ตัวเมียมักอาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวตลอด ส่วนตัวผู้มักย้ายถิ่นเสมอ

กระจงควายผสมพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี ตัวผู้มีต่อมขนาดใหญ่ใต้กรามใช้ถูกับตัวเมียเมื่อต้องการดูว่าตัวเมียพร้อมผสมพันธุ์หรือยัง มีคาบการเป็นสัด 14 วัน ตัวเมียตั้งท้องนาน 152-155 วัน ออกลูกครั้งละ 1-2 ตัว ลูกแรกเกิดหนัก 373 กรัม หลังจากเกิดเพียงครึ่งชั่วโมงก็ยืนและเดินเหินได้อย่างคล่องแคล่ว แม่กระจงยืนสามขาขณะให้นม ลูกกระจงหย่านมได้เมื่ออายุ 8-12 สัปดาห์ และเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ได้เมื่ออายุ 4.5 เดือน

กระจงควายเป็นสัตว์ขยันทำลูกมาก ตัวเมียใช้ชีวิตผู้ใหญ่เกือบทั้งหมดไปกับการตั้งท้อง หลังจากที่ออกลูกได้เพียงชั่วโมงเศษก็เริ่มผสมพันธุ์ใหม่ได้แล้ว

ในแหล่งเพาะเลี้ยง กระจงควายมีอายุได้ถึง 16 ปี

ไอยูซีเอ็นประเมินสถานภาพของกระจงควายไว้ว่ามีความเสี่ยงน้อย (LC) ยกเว้นชนิดย่อย Tragulus napu nigricans ในเกาะบาลาบักที่ประเมินว่าอันตราย (EN) ชนิดย่อยนี้อยู่ในเกาะบาลาบักที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของฟิลิปินส์

ทราบหรือไม่?

  • Tragos เป็นภาษากรีก แปลว่าแพะ
  • ulus เป็นภาษาละติน เป็นคำปัจจัยที่แสดงถึงขนาดเล็ก
  • Napu เป็นชือถ้องถิ่นของสุมาตรา แปลตรง ๆ ว่ากระจง
  • เคยมีการพบกระจงควายที่ยืนด้วยขาเดียวโดยไม่ทราบเหตุผล
  • กระจงควายเลี้ยงให้เชื่องได้ง่าย
  • กระจงควายมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมากในช่วง 30 ล้านปีที่ผ่านมา จึงจัดเป็น “ฟอลซิลมีชีวิต”

อ่านเพิ่มเติม

  • สารานุกรมสัตว์ป่า, น.สพ. อลงกรณ์ มหรรณพ
  • สัตวกีบ, นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล, จารุจินต์ นภีตะภัฏ
  • Walker's Mammals of the World, Sixed edition, Ronald M. Nowak
  • Tragulus napu from Ultimate Ungulate
  • Tragulus napu from Animal Diversity Web
Tragulus napu
ชื่อไทยกระจงควาย
ชื่อวิทยาศาสตร์Tragulus napu
ชั้นMammalia
อันดับArtiodactyla
วงศ์Tragulidae
สกุลTragulus
ชื่ออื่นGreater Mouse-deer, Larger Malay Mouse Deer, Large Mouse-deer, Greater Oriental Chevrotain
สถานภาพการคุ้มครองไทย : สัตว์ป่าคุ้มครอง ไอยูซีเอ็น : ความเสี่ยงน้อย
ช้างเอเชีย, ช้างอินเดีย, ช้างไทย เสือปลา เสือโคร่ง, เสือลาย เสือดาว, เสือดำ เสือลายเมฆ เสือไฟ แมวดาว แมวป่าหัวแบน เสือลายเมฆบอร์เนียว แมวลายหินอ่อน แมวป่า, เสือกระต่าย, เสือบอง หมาจิ้งจอก สมเสร็จ, ผสมเสร็จ เก้ง, อีเก้ง, ฟาน สมัน, เนื้อสมัน, กวางเขาสุ่ม ลิงลม, นางอาย หนูผีจิ๋ว ชะนีมงกุฎ เม่นใหญ่, เม่นใหญ่แผงคอยาว ลิงไอ้เงี้ยะ, ลิงอ้ายเงี๊ยะ, ลิงวอกภูเขา, ลิงอัสสัม, ลิงภูเขา บ่าง, พุงจง, พะจง แรด, แรดชวา ลิ่น, นิ่ม, ลิ่นพันธุ์มลายู, ลิ่นชวา เก้งหม้อ, กวางเขาจุก กระซู่ เลียงผา นกกระเรียน ละอง, ละมั่ง หมีควาย, หมีดำ หมีหมา, หมีคน วัวแดง, วัวดำ, วัวเพลาะ พังพอนกินปู กวางผา, ม้าเทวดา นากเล็กเล็บสั้น พังพอนธรรมดา, พังพอนเล็ก กระแตหางขนนก เนื้อทราย, ทราย, ตามะแน อีเห็นเครือ, มูดสังไม้ ควายป่า กูปรี นกแต้วแล้วท้องดำ พะยูน, ปลาหมู, หมูดุด, ดุหยง หมาใน, หมาแดง กระจงควาย เพียงพอนเหลือง หมีขอ, บินตุรง กวางป่า, กวางม้า ค่างแว่นถิ่นใต้ กระทิง, เมย ค่างหงอก ชะนีมือขาว, ชะนีธรรมดา อีเห็นข้างลาย, อีเห็นธรรมดา กระต่ายป่า กระเล็นขนปลายหูสั้น กระเล็นขนปลายหูยาว หมูป่า ลิงกัง ค้างคาว กระจงหนู, กระจงเล็ก
เขียนโดย วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
โลกสีเขียว | เสือและแมว นักล่าผู้งามสง่า | แฟ้มสัตว์โลก | นายวิมุติ
Powered by Wimut Wasalai