กะโหลกศีรษะมนุษย์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กะโหลกศีรษะ
Gray190.png
ภาพวาดแสดงมุมมองจากทางด้านหน้าของกะโหลกศีรษะของมนุษย์
Gray188.png
ภาพวาดแสดงมุมมองจากทางด้านข้างซ้ายของกะโหลกศีรษะของมนุษย์
Dorlands/
Elsevier
s_13/12740407

กะโหลกศีรษะมนุษย์ (อังกฤษ: Human skull) เป็นโครงสร้างของกระดูกที่ประกอบขึ้นเป็นโครงร่างที่สำคัญศีรษะของมนุษย์ กะโหลกศีรษะทำหน้าที่ปกป้องสมองซึ่งเป็นศูนย์กลางของระบบประสาท รวมทั้งเป็นโครงร่างที่ค้ำจุนอวัยวะรับสัมผัสต่างๆ ทั้งตา หู จมูก และลิ้น และยังทำหน้าที่เป็นทางเข้าของทางเดินอาหารและทางเดินหายใจ เมื่อแรกเกิดกะโหลกศีรษะจะประกอบด้วยกระดูกหลายชิ้นซึ่งเมื่อเจริญเติบโตขึ้นกระดูกเหล่านี้จะเกิดการสร้างเนื้อกระดูกและเชื่อมรวมกัน แม้ว่ากะโหลกศีรษะจะเป็นโครงสร้างที่มีความแข็งแรงก็ตาม การกระทบกระเทือนที่ศีรษะอย่างแรงก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตและพิการได้ ทั้งจากการบาดเจ็บจากเนื้อสมองโดยตรง การตกเลือดในสมอง และการติดเชื้อ

การศึกษาเกี่ยวกับกะโหลกศีรษะของมนุษย์มีประโยชน์อย่างมากในการศึกษาด้านมานุษยวิทยาและโบราณคดี ซึ่งเป็นข้อมูลที่สำคัญทางบรรพชีวินวิทยา และยังช่วยให้เข้าใจถึงลำดับทางวิวัฒนาการ นอกจากนี้ในทางนิติเวชศาสตร์ กะโหลกศีรษะยังมีความสำคัญในการตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลและการแยกความแตกต่างระหว่างเพศชายและหญิง ซึ่งมีประโยชน์ในการสืบสวนสอบสวนคดีอีกด้วย

เนื้อหา

[แก้] มหกายวิภาคศาสตร์

กะโหลกศีรษะของมนุษย์ประกอบด้วยกระดูกทั้งหมด 22 ชิ้น[1][2] ทั้งนี้ไม่นับรวมกระดูกหู (ear ossicles) กระดูกแต่ละชิ้นของกะโหลกศีรษะเชื่อมต่อเข้าด้วยกันโดยข้อต่อแบบซูเจอร์ (Suture) ที่เคลื่อนไหวไม่ได้ แต่มีความแข็งแรงสูง ยกเว้นข้อต่อระหว่างกระดูกขากรรไกรล่างกับกระดูกขมับ หรือข้อต่อขากรรไกร (temperomandibular joint) ซึ่งเป็นข้อต่อแบบซินโนเวียลที่สามารถเคลื่อนไหวได้เพื่อใช้ในการขยับขากรรไกร[3] กระดูกของกะโหลกศีรษะทั้ง 22 ชิ้นนี้ สามารถแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่

นอกเหนือจากนี้ ยังมีกระดูกหูอีก 6 ชิ้น ซึ่งประกอบด้วย กระดูกค้อน (Malleus) กระดูกทั่ง (Incus) และกระดูกโกลน (Stapes) อย่างละ 2 ชิ้น ซึ่งไม่ได้มีหน้าที่ในการค้ำจุนโครงสร้าง แต่มีหน้าที่เกี่ยวกับการขยายความสั่นสะเทือนของเสียงจากเยื่อแก้วหูไปยังอวัยวะรูปหอยโข่ง (cochlear) โดยใช้หลักการได้เปรียบเชิงกลของคาน[7] และกระดูกไฮออยด์ (hyoid) ทำหน้าที่ค้ำจุนกล่องเสียงซึ่งไม่นับเป็นส่วนหนึ่งของกะโหลกศีรษะ[8][9] เพราะไม่ได้เกิดข้อต่อกับกระดูกชิ้นอื่นๆ ในกะโหลกศีรษะ

ภายในกะโหลกศีรษะยังมีโพรงไซนัส (sinus cavities) ซึ่งบุด้วยเนื้อเยื่อบุผิวแบบเดียวกับที่พบในทางเดินอากาศ โพรงไซนัสมี 4 คู่ หน้าที่ของโพรงไซนัสยังเป็นที่ถกเถียงอยู่ในปัจจุบัน แต่เชื่อว่าช่วยในการทำให้กะโหลกศีรษะมีน้ำหนักเบาขึ้นโดยไม่ทำให้กะโหลกศีรษะแข็งแรงน้อยลง ทำให้ศีรษะไม่เอนมาทางด้านหน้าและทำให้ศีรษะตั้งตรงได้[4] ช่วยให้เสียงก้องกังวาน และช่วยให้อากาศที่ผ่านโพรงจมูกเข้าไปในทางเดินหายใจอุ่นและชื้นมากขึ้น

ด้านในของกะโหลกศีรษะส่วนที่หุ้มสมองยังมีเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่หุ้มรอบโครงสร้างของระบบประสาทกลาง เรียกว่า เยื่อหุ้มสมอง (meninges) ซึ่งมีอยู่ 3 ชั้นเรียงจากชั้นนอกสุดเข้าไปยังชั้นในสุดได้แก่ เยื่อดูรา (dura mater) , เยื่ออะแร็กนอยด์ (arachnoid mater) , และเยื่อเพีย (pia mater) เยื่อหุ้มสมองมีหน้าที่สำคัญในการปกป้องและหน้าที่ทางสรีรวิทยาอื่นๆ อีกมากมาย

[แก้] การเจริญพัฒนา

กะโหลกศีรษะเป็นโครงสร้างที่ซับซ้อนและมีการเจริญพัฒนาที่แตกต่างกัน โดยที่กะโหลกศีรษะส่วนสแปลงคโนเครเนียมส่วนใหญ่จะมีการสร้างกระดูกในแบบ intramembranous ossification ซึ่งมีการสร้างเนื้อกระดูกจากจุดการสร้างกระดูกปฐมภูมิ[10] ในขณะที่กะโหลกศีรษะส่วนนิวโรเครเนียมส่วนใหญ่มีการสร้างกระดูกแบบ endochondral ossification ซึ่งอาศัยกระดูกอ่อนเป็นต้นแบบ[10]

กะโหลกศีรษะของเด็กแรกเกิดจะมีจำนวนถึง 45 ชิ้น แต่ต่อมาจะมีการเชื่อมรวมของกระดูกหลายชิ้นเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะทางด้านบนของกะโหลกศีรษะ ซึ่งกระดูกในส่วนของกล่องสมองยังไม่เชื่อมติดกันอย่างสมบูรณ์ แต่จะเป็นรอยประสานประกอบด้วยแผ่นของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันยึดอยู่เท่านั้น เรียกว่า ซูเจอร์ (suture) โดยซูเจอร์ทั้ง 5 ได้แก่

ในแรกเกิด บริเวณดังกล่าวจะเป็นเนื้อเยื่อเส้นใยที่เคลื่อนที่ได้ ซึ่งจำเป็นต่อการเคลื่อนไหวในระหว่างคลอดและรองรับการขยายขนาดของสมองในภายหลัง บริเวณที่ซูเจอร์หลายๆ อันมาบรรจบกันจะเรียกว่า กระหม่อม (fontanelle) ในช่วงแรกเกิด จะมี 6 จุด ได้แก่

บริเวณกระหม่อมนี้จะค่อยๆถูกแทนที่ด้วยกระดูก และจะปิดอย่างสมบูรณ์เมื่ออายุได้ประมาณ 8 สัปดาห์ แต่กระหม่อมหน้าอาจปิดได้ช้ากว่านั้น คือราวๆ ประมาณสัปดาห์ที่ 18[3][10] บริเวณของกระหม่อมนี้ยังเป็นจุดที่ใช้ในการตรวจสุขภาพของเด็กแรกเกิดและเด็กทารก เช่นการตรวจชีพจร ปริมาณน้ำ และการเจาะตรวจของเหลวรอบสมองและไขสันหลัง[3]

[แก้] พยาธิวิทยา

ภาพถ่ายเอกซ์เรย์ของกะโหลกศีรษะส่วนใบหน้าที่ได้รับบาดเจ็บจากการกระทบกระเทือน

การบาดเจ็บหรือบวมของเนื้อสมองเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตและความพิการ[3] แม้ว่ากะโหลกศีรษะจะเป็นโครงสร้างที่แข็งแรง แต่ก็ไม่สามารถทนทานต่อการกระทบกระเทือนที่รุนแรงได้ การบาดเจ็บที่กะโหลกศีรษะในส่วนที่ปกป้องสมอง อาจทำให้เกิดการแตกของหลอดเลือดสมองได้ โดยเฉพาะการกระทบกระเทือนที่บริเวณทัดดอกไม้ (Pterion) ซึ่งเป็นจุดที่บางที่สุดของกะโหลกศีรษะซึ่งเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดการตกเลือดเหนือเยื่อดูรา (epidural hematoma) [3][11] หรือภาวะที่หลอดเลือดดำขนาดเล็กซึ่งเชื่อมระหว่างเยื่อดูราและเยื่ออะแร็กนอยด์เกิดฉีกขาดทำให้เกิดการตกเลือดใต้เยื่อดูรา (subdural hematoma) ซึ่งพบได้มากในผู้สูงอายุที่สมองมีลักษณะเหี่ยวฝ่อลง[3]

ในภาวะที่มีเลือดออกในสมอง หรือมีความดันในกะโหลก (intracranial pressure) เพิ่มมากขึ้น อาจมีผลทำให้ส่วนก้านสมอง (brain stem) หรือซีรีเบลลัม (cerebellum) ถูกเบียดเลื่อนผ่านช่องฟอราเมน แมกนัม (foramen magnum) [12] เพราะเนื้อที่ในสมองมีจำกัดไม่สามารถขยายได้ และทำให้ถึงแก่ชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาเพื่อลดความดันในกะโหลกอย่างทันท่วงที ดังนั้นผู้ป่วยที่ได้รับกระทบกระเทือนที่ศีรษะจึงต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่าในยุคหินใหม่มีการผ่าตัดกะโหลกศีรษะที่เรียกว่า การเจาะกะโหลก (trepanation) ซึ่งกระทำโดยการเจาะรูเข้าไปในกระดูกหุ้มสมอง การศึกษาทางบรรพชีวินวิทยาแสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยบางครั้งสามารถมีชีวิตอยู่ได้หลายปีหลังจากการเจาะกะโหลก และการเจาะกะโหลกบางครั้งอาจกระทำด้วยเหตุผลทางความเชื่อและศาสนานอกเหนือจากการรักษาชีวิต[13]

กระดูกในบริเวณใบหน้าก็เป็นอีกส่วนที่บาดเจ็บได้ง่ายในกรณีที่ได้รับการกระทบกระเทือน และอาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อและความผิดปกติอย่างถาวร เนื่องจากความเสียหายที่อาจลุกลามไปถึงหลอดเลือดและเส้นประสาทใกล้เคียง

[แก้] การศึกษากะโหลกศีรษะ และสัณฐานวิทยาของกะโหลกศีรษะ

กะโหลกศีรษะสามารถใช้ในการตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งสามารถบอกถึงประวัติและที่มาของเจ้าของได้ นักนิติวิทยาศาสตร์และนักโบราณคดีสามารถใช้กะโหลกในการจำลองใบหน้าของเจ้าของได้โดยการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างกระดูกและกล้ามเนื้อ และการสร้างภาพให้สอดคล้องกับกระดูก[14] เช่น หากนักโบราณคดีสามารถค้นพบชิ้นส่วนของกะโหลกศีรษะมนุษย์โบราณที่สำคัญได้จำนวนเพียงพอ รวมทั้งใช้ข้อมูลเกี่ยวกับความสูง ความกว้างและลักษณะอื่น ๆ ของโครงกระดูกก็สามารถทราบถึงความสัมพันธ์ทางมานุษยวิทยาและวิวัฒนาการของประชากรที่ศึกษา ทั้งที่มีชีวิตอยู่และสูญพันธ์ไปแล้ว นอกจากนี้การสืบสวนคดีฆาตกรรมหลายครั้งก็มีการนำกะโหลกศีรษะที่ต้องสงสัยว่าเป็นของเหยื่อของคดีมาจำลองใบหน้าของเจ้าของเพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบสำนวนคดีได้เช่นกัน[15][16]

ในราวทศวรรษที่ 1800 แพทย์ชาวเยอรมันชื่อว่า ฟรันซ์ โยเซฟ กัลล์ (Franz Joseph Gall) ได้ตั้งทฤษฎี Phrenology ซึ่งพยายามศึกษาเกี่ยวกับลักษณะเฉพาะของกะโหลกศีรษะที่สัมพันธ์กับบุคลิกภาพหรือความสามารถของเจ้าของกะโหลก[17] ซึ่งในปัจจุบันถือว่าทฤษฎีนี้ไม่ได้รับการยอมรับแล้ว[18]

การศึกษากะโหลกศีรษะมนุษย์ในอดีต บางครั้งใช้เพื่อบอกความแตกต่างของกะโหลกศีรษะในแต่ละเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ และบางครั้งใช้เพื่อตัดสินแนวความคิดว่าเชื้อชาติใดที่มีอำนาจยิ่งใหญ่เหนือกว่าเชื้อชาติอื่นๆ ซึ่งในปัจจุบันถือว่าทฤษฎีนี้ก็ไม่ได้รับการยอมรับเช่นกัน[19][20]

[แก้] ความแตกต่างของกะโหลกเพศชายและหญิง

โดยทั่วไปแล้ว กะโหลกศีรษะของผู้ชายจะมีแนวโน้มใหญ่กว่าและแข็งแรง ทนทานกว่าของเพศหญิง กะโหลกศีรษะของเพศชายจะมีแนวสันเหนือเบ้าตา (supraorbital ridges) , แสกหน้า (glabella) , และเส้นขมับ (Temporal line) ที่นูนเด่น นอกจากนี้กะโหลกศีรษะของเพศชายโดยเฉลี่ยยังมีขนาดใหญ่กว่า, เพดานปากกว้างกว่า, เบ้าตาเป็นรูปสี่เหลี่ยมมากกว่า, ปุ่มกกหู (mastoid process) ใหญ่กว่า, โพรงไซนัสใหญ่กว่า, และปุ่มกระดูกท้ายทอย (Occipital condyle) ที่ใหญ่กว่าของเพศหญิง ขากรรไกรล่างของเพศชายโดยทั่วไปจะเหลี่ยมและหนากว่า และจุดเกาะของกล้ามเนื้อมีความขรุขระกว่าของเพศหญิง[21][22]

อย่างไรก็ตาม ลักษณะที่กล่าวไปข้างต้นมีความแปรผันอย่างมากในประชากรมนุษย์ ซึ่งอาจทำให้ระบุเพศจากกะโหลกศีรษะได้ยากหากไม่มีความรู้เกี่ยวกับประชากรที่มาของกะโหลกศีรษะนี้

[แก้] ภาพอื่นๆ

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ 1.0 1.1 Gray H. 1918. "Gray's Anatomy of the Human Body" (Public Domain Resources)
  2. ^ ความรู้พื้นฐานของกะโหลกศีรษะ จากเว็บไซต์ Johns Hopkins Hospital
  3. ^ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 Moore K. L., Dalley A. F. Clinically Oriented Anatomy. 4th ed., 1997.
  4. ^ 4.0 4.1 มีชัย ศรีใส และคณะ. มหกายวิภาคศาสตร์ประยุกต์ เล่มที่ 2: ศีรษะและคอ. พิมพ์ครั้งที่ 3. เยียร์บุ๊คพับลิชเชอร์, 2541.
  5. ^ Skeletal System / Divisions of the Skeleton
  6. ^ facial+bone - ความหมายจาก Merriam-Webster's Medical Dictionary
  7. ^ The Ossicles จาก Hyperphysics
  8. ^ Skeletal System - Axial Skeleton จาก http://www.jrank.org
  9. ^ b_18/12192464 จาก Dorland's Medical Dictionary (อังกฤษ)
  10. ^ 10.0 10.1 10.2 Moore K. L., Persaud T. V. N., The Developing Human: Clinically Oriented Embryology, 6th ed., 1998.
  11. ^ Price D. D. 2008. "Epidural Hematoma" Emedicine.com
  12. ^ Shepherd S. 2004. "Head Trauma." Emedicine.com
  13. ^ Walker A. A. 1997. "Neolithic Surgery" Archaeology.org
  14. ^ Mikhail Gerasimov Method จากเว็บไซต์โบราณคดีไทย
  15. ^ Philips V. M. 2001. Skeletal Remains Identification by Facial Reconstruction Forensic Science Communications
  16. ^ Forensic Art Facial Reconstruction
  17. ^ Sabbatini R.M.E. 1997. "Phrenology: the History of Brain Localization." Brain & Mind online.
  18. ^ Sabbatini R.M.E. 1997. "Why Gall was right and wrong." Brain & Mind online.
  19. ^ Sabbatini R.M.E. 1997. "Modern Phrenology." Brain & Mind online.
  20. ^ Wohl A. S., van Wyhe J. 2004. "Phrenology and Race in Nineteenth-Century Britain." Victorian Web.
  21. ^ Facial Proportions, Bones, Muscles
  22. ^ Forensic Sex Determination จากเว็บไซต์ Minnesota State University, Mankato

[แก้] บรรณานุกรม

  • Gray's anatomy for students. Drake, RL., Vogl, W. and Mitchell, AWM.
  • Clinically Oriented Anatomy, 5th ed. Keith L. Moore and Arthur F. Dalley.

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

Commons
  • Dept of Anth Skull Module เว็บไซต์เกี่ยวกับกะโหลกศีรษะของมนุษย์
  • Skull Anatomy Tutorial. ภาพของกะโหลกศีรษะในมุมต่างๆ
เครื่องมือส่วนตัว

สิ่งที่แตกต่าง
การกระทำ
ป้ายบอกทาง
มีส่วนร่วม
พิมพ์/ส่งออก
เครื่องมือ
ภาษาอื่น