ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์
โครงการห้องสมุดโรงเรียนในฝัน

***ร่วมสร้างองค์ความรู้ สู่การศึกษาตลอดชีวิต วิทยพัฒนาเด็กไทยในท้องถิ่น***


000 หมวดเบ็ดเตล็ด
(Generalities)

100 หมวดปรัชญา
(Philosophy)

200 หมวดศาสนา
(Religion)

300 หมวดสังคมศาสตร์
(Social Sciences)

400 หมวดภาษาศาสตร์
(Language)

500 หมวดวิทยาศาสตร์
(Pure Sciences)

600 หมวดเทคโนโลยี
(Technology)

700 หมวดศิลปะ
(The Arts)

800 หมวดวรรณคดี
(Literature)

900 หมวดประวัติศาสตร์
(Geography & History)


Home

   

495.91 ภาษาไทย ประวัติ ความสำคัญ พัฒนาการความเป็นมา

แบบเรียนหรือหนังสือเรียนภาษาไทยตามหลักสูตรจากอดีตถึงปัจจุบัน

สมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย

แต่ก่อนใครมีความรู้ มีตำราอย่างไรก็ใช้สอนกันไปตามอัธยาศัย ครั้นถึงสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิรูปการศึกษาของชาติ จัดตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นเพื่อให้ราชการรับหน้าที่จัดการศึกษาแก่เยาวชนในปัจจุบันทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระยาศรีสุนทรโวหาร(น้อย อาจารยางกูร) ครั้งเป็นหลวงสารประเสริฐ เรียบเรียงแบบสอนหนังสือไทยขึ้นชุดหนึ่งชื่อว่า มูลบทบรรพกิจ(ประสมอักษรเบื้องต้น) วาหนิติ์นิกร (อักษรนำ) อักษรประโยค(คำควบกล้ำ, การใช้กับ แก่ แต่ ต่อ) สังโยคพิธาน (ตัวสะกด) ไวพจน์พิจารณ์ (คำที่ออกเสียงคล้ายกัน) พิศาลการันต์ (คำที่มีเครื่องหมายทัณฑฆาต) รวมพิมพ์ครั้งแรกที่โรงพิมพ์หลวง พ.ศ.๒๔๑๔ เฉพาะมูลบทบรรพกิจ สันนิษฐานว่า ได้เค้าและดัดแปลงมาจากหนังสือ จินดามณี ซึ่งว่าด้วยระเบียบของภาษาซึ่งพระโหราธิบดีแต่งไว้ในสมัยอยุธยา และยังแทรกเรื่อง กาพย์พระไชยสุริยา ของสุนทรภู่ ซึ่งแต่งในรัชกาลที่ ๓ เข้าไว้ด้วย นอกจากหนังสือชุดนี้แล้ว พระยาศรีสุนทรโวหารยังแต่งหนังสืออื่น ๆ อีก เช่น อนันตวิภาค (รวบรวมหมวดคำต่างๆ)

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพครั้งดำรงพระยศกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ และได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงบัญชาการกรมศึกษาธิการ ทรงเห็นว่าแบบเรียนหลวงชุด ๖ เล่ม ของพระยาศรีสุนทรโวหาร(น้อยอาจารยางกูร) นักเรียนต้องใช้เวลาเรียนถึง ๓ ปี น้อยคนนักที่จะเรียนจบ ส่วนมากจะลาออกจากโรงเรียนไปก่อน จึงทรงเรียบเรียงขึ้นใหม่ ชื่อว่า แบบเรียนเร็ว แบ่งเป็น ๓ เล่ม คือ ตอนต้นตอนกลาง และตอนท้าย เพื่อให้เรียนจบใน ๑ ปี หรือปีครึ่งเป็นอย่างช้า พิมพ์ใช้ในโรงเรียนครั้งแรก พ.ศ.๒๔๓๓ เนื้อหาเริ่มจากประสมคำง่ายๆไปหายาก มีเรื่องร้อยแก้วสนุก ๆ ประกอบ

นอกจากแบบเรียนเร็วแล้ว ในรัชกาลนี้ยังมีแบบเรียนของเอกชนที่จัดทำขึ้นและกรมศึกษาธิการอนุญาตให้ใช้ในโรงเรียน เช่น ประถม ก กา แบบเรียนง่าย ของ พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษณ์)แบบเรียนของเอกชนอีกชุดหนึ่ง คือ หนังสือดรุณศึกษา เป็นตำราเรียนภาษาไทยที่บาทหลวงฟ. ฮีแลร์ โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรักได้แต่งและเรียบเรียงขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๓ หลังจากพำนักในประเทศไทยเพียง ๙ ปี หนังสือชุดนี้เป็นที่นิยมกว้างขวางและถือว่าใช้ได้ดีมีประสิทธิผลชุดหนึ่ง ต่อมาได้ปรับปรุงรูปเล่ม ภาพประกอบบางตอนอยู่บ้าง แต่เนื้อหาสาระยังคงเดิมตามที่ผู้แต่งแต่งไว้เป็นเวลา ๑๐๐ ปีแล้ว โดยสอนการประสมคำ ให้นักเรียนรู้จักพยัญชนะและสระแต่ละชุด ชั้นเตรียมประถมมีเนื้อหายากเท่าชั้นประถมชั้นปีที่ ๑ – ๒ ของแบบเรียนหลวง พิมพ์เว้นวรรคระหว่างคำเช่นเดียวกับภาษาอังกฤษ แม้จะเป็นหนังสือสำหรับชั้นประถมปีที่ ๔ เนื้อเรื่องส่วนใหญ่เป็นร้อยแก้วแต่งขึ้นเองบ้าง เนื้อหามีหลากหลายด้าน บางเรื่องจะโยงไปถึงความศรัทธาในพระเจ้า หลักคำสอนของศาสนาคริสต์

นอกจากนี้ยังมีหนังสือที่เอกชนจัดทำขึ้นและกระทรวงศึกษาธิการอนุญาตให้ใช้ในโรงเรียน เช่น แบบสอนอ่าน ก ข ก กา และแบบหัดอ่านเบื้องต้น ของพระยาผดุงวิทยาเสริม (กำจัด พลางกูร) พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๔๕๕ ซึ่งปัจจุบันบริษัทเอกชนได้นำทั้งสองเล่มมาปรับปรุงพิมพ์ใหม่ชื่อว่า แบบเรียนเร็วใหม่ ก ข ก กา หนังสือเล่มนี้เป็นผู้ริเริ่มการท่องจำไม้ม้วน ๒๐ คำ “ผู้ใหญ่หาผ้าใหม่....”

ด้านหนังสืออ่านประกอบหรือหนังสืออ่านเพิ่มเติมในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกระทรวงธรรมการ ได้มอบให้กรมราชบัณฑิตพิมพ์หนังสือขึ้นหลายเล่ม ที่รู้จักกันดี ได้แก่ดอกสร้อยสุภาษิต สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงชักชวนกวีหลายคนร่วมกันแต่งเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๑ และพระองค์ทรงนิพนธ์บางบท โดยนำเนื้อหามาจาก บทกล่อมเด็กและบทร้องเล่นในท้องถิ่นต่างๆกำหนดทำนองเพลงไทยที่เข้ากับบทกลอนไว้ด้วย ขับร้องครั้งแรกในงานวันเปิดโรงเลี้ยงเด็กอนาถา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๓ ซึ่งรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างโรงเลี้ยงเด็กนี้ขึ้นตามพระประสงค์ของพระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์และจัดพิมพ์หนังสืออ่านชุดภาษาไทย บทดอกสร้อย จำหน่ายเป็นรายได้แก่โรงเลี้ยงเด็กอนาถา ในการเปิดโรงเลี้ยงเด็กครั้งนั้น และพิมพ์เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

นิทานอีสป คนไทยรู้จักนิทานอีสปและนิยมอ่านมาเป็นเวลานานแล้ว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระราชนิพนธ์แปลนิทานอีสปจากฉบับภาษาอังกฤษไว้จำนวน ๒๔ เรื่อง ต่อมามหาอำมาตย์ไทพระยาเมธาธิบดี (สาตร์ สุทธเสถียร) ครั้งยังเป็นพระจรัสชวนะพันธ์ ได้เรียบเรียงนิทานอีสปขึ้น ๔๕ เรื่อง ชื่อว่า หนังสืออ่านนิทานอีสป ตามพระดำรัสแนะนำของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ให้ใช้ภาษาง่ายๆ และประโยคสั้นๆเพื่อให้เด็กฝึกอ่าน และได้ข้อคิดนำไปประพฤติปฏิบัติส่วนแบบเรียนในระดับมัธยมศึกษาที่เป็นวรรณคดีไทย ซึ่งตอนแรกเรียกว่า จินตกวีนิพนธ์ ภายหลังเรียกว่า หนังสือกวีนิพนธ์ ได้ตัดมาเป็นตอนๆให้เรียน เช่น สังข์ทอง ตอน เลือกคู่ หาเนื้อหาปลา อิเหนา ตอน ศึกกะหมังกุหนิง รามเกียรติ์ ตอน ศึกกุมภกรรณ และตอน ท้าวมาลีวราชว่าความสามก๊ก ตอน โจโฉแตกทัพเรือ และที่เรียนเป็นเล่ม เช่น นิราศนรินทร์ ลิลิตนิทราชาคริต ลิลิตตะเลงพ่าย เงาะป่า โคลงโลกนิติ มหาเวสสันดรชาดก ตามใจท่าน พระร่วง นิราศลอนดอน สามัคคีเภทคำฉันท์ อิลราชคำฉันท์ เวนิสวาณิช

ในปี พ.ศ.๒๔๗๗ หลวงดรุณกิจวิทูรและนายฉันท์ ขำวิไล ได้ร่วมกันแต่งแบบเรียนเร็วใหม่ เล่ม ๑ ตอนต้น สำหรับชั้นประถมปีที่ ๑ และหลวงดรุณกิจวิทูรได้แต่งแบบเรียนเร็วใหม่ เล่ม ๑ ตอนกลาง สำหรับชั้นประถมปีที่ ๒ กล่าวได้ว่าเป็นที่นิยมและบางเล่มยังนำมาปรับปรุงภาพประกอบจัดพิมพ์ใช้ ในปัจจุบัน “อีกาตาดี ปะปู อีกาดูปู บิดาปะอีกาดูปู บิดาดูอีกา” “ป้าปะปู่ กู้อีจู้ ป้าดูปู่กู้อีจู้” “เด็กชายใหม่ รักหมู่ เป็นเด็กดี ตื่นนอนแต่เช้า ๆ ทุกวัน.....” “เมืองไทย ใหญ่อุดม ดินดีสม เป็นนาสวน....”

ในปีเดียวกันนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้จัดพิมพ์ แบบอ่านหนังสือไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ เล่ม ๑ และ เล่ม ๒ (เดิมมีเล่มต้นกับเล่มปลาย) ของอำมาตย์โท พระวิภาชน์วิทยาสิทธิ์(สังข์ พุกกะเวส) ขึ้นใช้ในโรงเรียน เป็นแบบเรียนอีกชุดที่คนรุ่นผู้ใหญ่ที่เคยใช้กล่าวถึงด้วยความประทับใจว่า เป็นหนังสือที่ช่วยอ่านเขียนภาษาไทยได้ดี“พ่อหลี พี่หนูหล่อ พ่อเขาชื่อ หมอหลำแม่ชื่อ แม่หยา อยู่แพ ที่สำเหร่ เขาค้าผ้าไหม หม้อใหม่ๆ ก็มี ดีหมี ดีหมูป่า หน่อไม้ หญ้าไซ หญ้าคา หน่องา และยาหมู่”ผ -?วะ ผัวะ ตีผัวะ ตาบัว ตีวัว ผัวะ ผัวะ ผ เ ี-ยะ เผียะ ตาสี ตีวัว เผียะ เผียะ

แบบเรียนสมัยต่อมา ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้คัดเลือกจัดพิมพ์เผยแพร่ คือ ชุด เรณู ปัญญา สอนอ่านเป็นคำ และเอาคำไปผูกเป็นประโยค เริ่มประโยคสั้นๆ แล้วค่อยๆ ยาวขึ้น แต่งเป็นเรื่องต่อเนื่องกัน ให้ความรู้รอบตัว เช่น การไปโรงเรียน การเที่ยวทางรถไฟผู้แต่งคือ นายกี่ กีรติวิทโยลาร นอกจากหนังสือชุดนี้ ท่านยังแต่งหนังสือที่น่าสนใจอีกหลายเรื่อง เช่น นกกางเขน กำหนดเป็นหนังสืออ่านสำหรับเด็ก พ.ศ. ๒๔๘๒ ชุดลูกสัตว์ต่างๆ รวม๗ เรื่อง ในช่วงเวลานั้นมีผู้วิจารณ์ในทางลบอย่างมาก แต่ต่อมาคนรุ่นผู้ใหญ่ในปัจจุบันกล่าวถึงหนังสือที่ท่านแต่งไว้ ว่าอยากให้คนรุ่นใหม่มีโอกาสได้อ่าน จึงมีการพิมพ์ขึ้นใหม่อีกหลายครั้ง ครั้งล่าสุด ชุด ลูกสัตว์ต่างๆ ได้แยกพิมพ์ เรื่องละ ๑ เล่ม รวม ๗ เล่ม

ภายหลังปี ๒๔๙๙ กระทรวงศึกษาธิการได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาแบบเรียนชั้นประถมศึกษาขึ้น คณะกรรมการได้คัดเลือก หนังสือแบบหัดอ่านหนังสือไทยเล่มต้นและเล่มปลาย ของ อำมาตย์โทพระวิภาชน์วิทยาสิทธิ์(สังข์ พุกกะเวส) มาปรับปรุงใช้เป็นแบบเรียนสำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ และชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ โดยจัดพิมพ์เรื่อยมาหลายสิบครั้งจนถึง พ.ศ.๒๕๒๐ในช่วงเวลานั้นมีหนังสือสำหรับสอนอ่านเกิดขึ้นหลายชุด เช่น แบบสอนอ่านภาษาไทย ของ นายสมาน แสงมลิ แบบสอนอ่านภาษาไทย ชุด สุดา คาวี ของ นายอภัย จันทวิมล แบบสอนอ่านเบื้องต้น ของ กรมวิชาการ แบบสอนอ่านภาษาไทย ตอนที่ ๑ เรื่อง เราช่วยกัน และตอนที่ ๒ เรื่อง เราขยันเรียน ของ นายก่อ สวัสดิพาณิชย์ส่วนหนังสือเรียนภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ - ๗ กระทรวงศึกษาธิการโดยคณะกรรมการดำเนินการปรับปรุง ได้คัดเลือกบทอ่านประกอบด้วย เพลงร้องเล่น นิทาน สารคดี เรื่องสั้นๆ หรือบทตัดตอนจากวรรคดี และจัดกิจกรรมท้ายบทที่น่าสนใจ ชื่อว่า แบบเรียนภาษาไทย ชั้นละ ๑ เล่ม ในระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๑ -๕ ได้ใช้แนวดำเนินการในรูปคณะกรรมการ แต่ใช้ชื่อว่า แบบเรียนวรรณคดีไทย ชั้นละ ๑ เล่ม เช่นกัน

พ.ศ.๒๕๒๑ กระทรวงศึกษาธิการประกาศใช้หลักสูตรฉบับใหม่ทั้งประถมศึกษา และมัธยมศึกษา โดยหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลายได้เปลี่ยนไปก่อน เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๘ และเปลี่ยนอีกครั้งเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๔ การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ นอกจากการเปลี่ยนแปลงการจัดชั้นเรียนแล้ว ยังเปลี่ยนแปลงการจัดทำหนังสือครั้งสำคัญด้วย กล่าวคือ ในระดับประถมศึกษามี หนังสือเรียนภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ -๖ ชั้นละ ๒ เล่ม แต่งเรื่องมีตัวละครชุดเดียวตั้งแต่ต้นจนจบ ตัวละครเด่นมี มานะ มานี ปิติ คนทั่วไปจึงมักเรียกว่า หนังสือชุด มานะ มานี ท้ายเล่มของหนังสือมีหนังสืออ่านนอกเวลาเพิ่มเติม ทั้งยังมีแบบฝึกหัดจัดพิมพ์เป็นเล่มให้ฝึกคัดและเขียนคำตอบด้วยระดับมัธยมศึกษาตอนต้น มีคณะกรรมการจัดทำหนังสือเรียนชุดใหม่ ชื่อว่า ทักษสัมพันธ์ และหลักภาษาชั้นละ ๑ เล่ม ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (พ.ศ. ๒๕๒๔) มีหนังสือชุดใหม่ ชื่อว่า วรรณวิจักษณ์, ทักษพัฒนา สำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ และ ๕ รวมชั้นละ ๒ เล่ม ส่วน ภาษาพิจารณ์ สำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ชั้นละ ๑ เล่ม ต่อมากระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศปรับปรุงหลักสูตรทั้ง ๓ ระดับในปี พ.ศ.๒๕๓๓ หนังสือภาษาไทยได้ปรับเปลี่ยนอีกครั้ง ระดับประถมศึกษาจากชุดที่เรียกว่า “มานะ มานี” เปลี่ยนมาเป็นชุด “รถไฟ” หรือชื่อชุดอย่างเป็นทางการ คือ ชุด พื้นฐานภาษา แนวของหนังสือชุด “รถไฟ” ต่างจากชุด “มานะ มานี”ที่การเสนอเรื่องไม่ได้เป็นตัวละครชุดเดียวกันหมด และนำคำคุ้นตามาใช้ตั้งแต่เริ่มต้นในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ปรับปรุงเนื้อหาหนังสือเรียนจากเดิมเพียงบางส่วน ส่วนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายปรับปรุงและจัดทำหนังสือเรียนชั้นละ ๒ เล่ม เพื่อความสะดวกในการใช้ ใน ๑ เล่มจะมีเนื้อหาทั้ง ๓ ส่วน คือ หลักภาษา การใช้ภาษา และวรรณคดี ชื่อหนังสือ วรรณสาร-วิจักษณ์เล่ม ๑ และ เล่ม ๒ สำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ วรรณสารวิจักษ์ เล่ม ๓ และ เล่ม ๔ สำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ และวรรณลักษณวิจารณ์ เล่ม ๑ และ เล่ม ๒ สำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖

การประกาศใช้หลักสูตรการศึกษา ขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๔๔ เป็นสาเหตุหนึ่งของการปรับปรุงหนังสือเรียนอีกครั้ง ระดับประถมศึกษาชุดใหม่ ชื่อว่า ชุดภาษาเพื่อชีวิต การจัดทำหนังสือชุดนี้ยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ทุกชั้น กระทรวงศึกษาธิการก็ปรับหลักสูตร ใช้ว่า หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ การจัดทำหนังสือเรียนจึงได้พัฒนาตาม ระดับประถมศึกษาใช้ชื่อชุดว่า ชุด ภาษาเพื่อชีวิต เหมือนเดิม เนื้อหาด้านหลักภาษาและการใช้ภาษา ชื่อหนังสือเรียน ภาษาพาที ด้านวรรณคดีแยกเป็นการเฉพาะ ๑ เล่มต่างหาก ชื่อ หนังสือเรียน วรรณคดีลำนำ และมีหนังสือสำหรับเสริมศักยภาพเด็กเก่ง คือ ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ - ๓ และ ๔ - ๖ มี วรรณกรรมปฏิสัมพันธ์ อีก ๑ เล่มให้เลือกใช้ รวมทั้งมีแบบฝึกหัด ทักษะปฏิสัมพันธ์ อีก ๑ เล่ม สำหรับแต่ละระดับให้เลือกใช้ตามความเหมาะสมด้วยหนังสือเรียนภาษาไทยระดับมัธยมศึกษา ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ มัธยมศึกษาตอนต้นสาระ ด้านหลักภาษาและการใช้ภาษา ทุกชั้นใช้ว่า หนังสือเรียนวิวิธภาษา แนวการนำเสนอใช้วรรณกรรมและงานเขียนรูปแบบต่างๆ เป็นบทอ่านโน้มนำให้นักเรียนศึกษาข้อคิดที่ได้จากเรื่อง และให้สังเกตลักษณะของภาษา การใช้ภาษาเรื่องต่างๆ เป็นลำดับต่อมา มากกว่าเป็นการสอนให้รู้กฎเกณฑ์ของภาษาโดยตรง

สาระด้านหลักภาษาและการใช้ภาษามัธยมศึกษาตอนปลาย ปรับปรุงจากหนังสือเรียนเดิมที่ใช้ตามหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย พุทธศักราช ๒๕๓๓ และพุทธศักราช ๒๕๔๕ ทุกชั้นใช้ชื่อหนังสือเรียนว่าหลักภาษาและการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย สาระด้านวรรณคดี ทุกชั้น ใช้ว่า หนังสือเรียนวรรณคดีวิจักษ์ทั้ง ๒ ระดับ มีลักษณะการเสนอเนื้อหาที่ให้ความเข้าใจเกี่ยวกับวรรณคดีที่กำหนดให้เรียนตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง วรรณคดีสำหรับจัดการเรียนการสอนภาษาไทย ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ ประกาศ ณ วันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๑ และท่องจำบทประพันธ์ที่ไพเราะอย่างเห็นคุณค่า โดยเสนอเนื้อหาที่ให้ความรู้ความเข้าใจ ประวัติความเป็นมา แนวการวิเคราะห์วิจารณ์ การประเมินวรรณคดี พร้อมการอธิบายศัพท์อย่างละเอียด ลักษณะที่นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้เอง ต่างจากหนังสือเรียนด้านวรรณคดีของกระทรวงศึกษาธิการในอดีต

ที่มา

สมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย. (2557). แบบเรียนหรือหนังสือเรียนภาษาไทยตาม

หลักสูตรจากอดีตถึงปัจจุบัน.
ค้นจาก http://www.attt.in.th/index.php?op=dynamiccontent_detail
&dynamiccontent_id=9112

 


Copyright
All copyright rights in the Dewey Decimal Classification system are owned by OCLC.
Dewey, Dewey Decimal Classification, DDC and WebDewey are
registered trademarks of OCLC
Revised:March 2013


Send comments to wachum49@hotmail.com