495.91 ภาษาไทย ประวัติ ความสำคัญ พัฒนาการความเป็นมา
มูลบทบรรพกิจ
แบบเรียนภาษาไทยของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)
ศาสตราจารย์วิสุทธ์ บุษยกุล
แบบเรียนภาษาไทยเล่มแรกของไทย ได้แก่ "จินดามณี" ซึ่งพระโหราธิบดีแต่งขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.2199-2231) หนังสือเล่มนี้ได้ใช้เป็นแบบเรียนภาษาไทยอยู่จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
เมื่อไทยเสียกรุงในปีพ.ศ.2310 หนังสือไทยถูกเผาทำลายไปมาก ส่วนที่เหลือตกทอดมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์คงเป็นเพียงส่วนน้อย แต่งานฟื้นฟูทางวรรณกรรมในรัชการที่ 1 และรัชกาลต่อๆ มา
ได้มีผลเกี่ยวกับการศึกษาของไทยมาก เพราะได้มีผู้แต่งแบบเรียนภาษาไทยขึ้นมาอีกหลายเล่มในระยะนั้น
การเรียนการสอนหนังสือไทยในสมัยโบราณนั้นปกติเป็นเรื่องที่ทำกันตัวต่อตัว
พ่อแม่อาจสอนลูกให้อ่านหนังสือในบ้านบ้างแต่ก็เป็นส่วนน้อย การเรียนการสอนส่วนใหญ่ทำกันในวัด คือพ่อแม่จะฝากลูกชายให้ไปเรียนหนังสือกับพระที่มีชื่อเสียงว่าเป็นผู้คงแก่เรียน เมื่อเริ่มเรียนแม้ครูจะมีหนังสือ จินดามณี เป็น
"คู่มือ" แล้วก็ตาม ครูจะเริ่มจากหนังสือโดยตรงยังไม่ได้ แต่ต้องเริ่มสอนพยัญชนะและสระเสียก่อน โดยใช้กระดานดำและดินสอเป็นเครื่องมือ ลายมือของครูที่เขียนบนกรดานดำของศิษย์แต่ละคนนั้นถือว่าเป็น
ของศักดิ์สิทธิ์นักเรียนจะลบก่อนหน้าได้รับอนุญาตไม่ได้ ครูจะพิจารณาให้ลบได้และเรียนต่อไปได้ก็ต่อเมื่อนักเรียนเขียนตามครูได้แล้ว
ต่อจากนั้นครูต้องสอนให้รู้จักประสมคำและเรียนมาตราตัวสะกดต่างๆ ตามวิธีที่ครูคิดขึ้น ครูจะใช้หนังสือจินดามณีเป็นคู่มือได้ก็ต่อเมื่อเรียนมาถึงเรื่องการผันเสียงวรรณยุกต์ แบบฝึกหัดที่จะให้นักเรียนอ่านประกอบในการเรียนเบื้องต้นครู
ก็ต้องคิดขึ้นเอง กว่าศิษย์จะอ่านหนังสือจินดามณีโดยตรงได้ก็หลังจากที่ได้เรียนรู้กับครูมาแล้ว
หลายเดือนหรือหลายปี
ความคิดที่จะให้ครูมีหนังสือคู่มือที่จะใช้สอนเด็กได้สะดวกกว่าหนังสือจินดามณี ฉบับพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากหนังสือจินดามณีฉบับเดิมมาก อย่างไรก็ตาม การที่จะใช้จินดามณี
ฉบับพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ เป็นแบบเรียนโดยตรงก็ไม่สะดวกนัก เพราะว่าครูผู้สอนยังคงต้องจัดหาตัวอย่างและแบบฝึกหัดมาให้นักเรียนอ่านเพิ่มเติม แต่ก็นับว่าสะดวกกว่าเดิมอยู่บ้างเพราะตัวอย่างจากหนังสือเป็นการแนะแนวทางสำหรับครู
ได้ดีพอสมควร
แบบสอนอ่านภาษาไทยเล่มแรกที่มีลำดับการสอนเป็นขั้นตอน มีแบบฝึกหัดอ่านมากเพียงพอที่จะเป็นการทบทวนความรู้ของนักเรียนและเป็นคู่มือที่อำนวยความสะดวกให้แก่ครูและนักเรียนจริง ๆ นั้น
ได้แก่ หนังสือชุดประถม ก กา และ ประถม ก กา หัดอ่าน หนังสือชุดนี้เมื่อพิจารณาจากสำนวนภาษาแล้ว เข้าใจว่าคงแต่งขึ้นประมาณสมัยรัชกาลที่ 3
หนังสือประถม ก กา เริ่มสอนด้วยการนำพยัญชนะ ก มาประสมกับสระทุกตัวตามลำดับ แล้วจึงขึ้นตัว ข และพยัญชนะตัวต่อๆ ไป โดยประสมกับสระทุกตัวจนครบ
ครูผู้สอนไม่ต้องคอยนั่งประสมอักษรแต่ละคำบนกระดานดำให้ศิษย์อ่านสอนเพียงไม่กี่ครั้งก็เริ่มใช้หนังสือประถม ก กา
ได้เพราะพยัญชนะแต่ละตัวมีการประสมสระแจกลูกจนครบอยู่แล้ว เมื่ออ่านแม่ ก กา จบแล้วก็เริ่มเรียนตัวสะกด เรียนอักษรควบ แล้วก็เรียนอักษรสามหมู่และอักษรนำต่อไป
หนังสือประถม ก กา นี้ นอกจากจะมีแบบสอนอ่านเป็นคำๆ แล้ว ยังมีแบบหัดอ่านที่แต่งเป็นกาพย์ไว้เป็นตอนๆ ซึ่งจะฝึกอ่านการใช้วรรณยุกต์ไปด้วยในตัว และครูยังสามารุให้นักเรียนอ่าน ประถม ก กา หัดอ่าน ควบคู่กันไปได้ด้วย
หนังสือปฐมมาลา ของพระเทพโมฬี วัดราชบูรณะ ก็เป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมมากเล่มหนึ่ง แต่งเป็นคำประพันธ์ประเภทกาพย์ทั้งเล่ม และเรียงลำดับตามแนวของหนังสือชุดประถม ก กา หนังสือเล่มนี้อธิบายหลักการเขียนภาษาไทย
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับภาษาบาลี และหลักการแต่งคำประพันธ์ ผู้เรียนที่อ่านหนังสือชุดประถม ก กา แล้วสามารถอ่านหนังสือนี้เป็นเล่มต่อไปได้
นอกจากนี้แล้วก็ยังมีหนังสืออักษรนิติ ของพระอมราภิรักขิต (เกิด) วัดบรมนิวาส กล่าวถึงการผันเสียงวรรณยุกต์ อักษรสามหมู่ อักษรนำและอักษรควบ คำเป็นคำตาย ไม้ม้วน ไม้มลาย การใช้ ศ ษ ส และตัวสะกดในมาตราแม่ต่างๆ
ซึ่งผู้แต่งได้ให้ศัพท์ภาษาไทยที่ผู้เรียนควรจะต้องรู้ในระดับสูงขึ้นไปอีก
หนังสือแบบเรียนภาษาไทยอีกเล่มหนึ่ง ได้แก่ หนังสือจินดามณีฉบับพระนิพนธ์ของ กรมขุนวงษาธิราชสนิท หนังสือเล่มนี้ดำเนินตามแนวของจินดามณี ฉบับของพระโหราธิบดี แต่ได้เพิ่มแบบฝึกหัดต่างๆ สำหรับให้นักเรียนได้อ่านมากขึ้น
นับว่าเป็นแบบเรียนที่ครูสามารถนำมาใช้เป็นคู่มือได้ดีขึ้นมาก หนังสือจินดามณี ทั้งฉบับเดิมและฉบับของกรมขุนวงษาธิราชสนิท เน้นการแต่งคำประพันธ์ประเภทร้อยกรองมากกว่าหนังสืออื่นๆ ที่กล่าวมาแล้ว
แบบเรียนภาษาไทยสมัยรัชกาลที่ 5
พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เกิดเมื่อ พ.ศ.2365 คือในตอนปลายรัชสมัย
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ท่านเกิดที่แขวงเมืองฉะเชิงเทรา เริ่มเรียนหนังสือเมื่ออายุ 6 ปี ต่อมาได้เข้ามาบวชเรียนอยู่ทีวัดสระเกศในกรุงเทพฯ และสอบได้เป็นเปรียญ 7 ประโยคตั้งแต่เมื่อท่านมีอายุได้ 27 ปี หลังจากลาสิกขา
ได้เข้าถวายตัวอยู่ในกรมมหาดเล็กเวรศักดิ์ พระบาทสมเด็๗พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น ขุนประสิทธิอักษรสาตร ผู้ช่วยเจ้ากรมพระอาลักษณ์และได้เลื่อนขึ้นเป็นที่ ขุนสารประเสริฐ
ปลัดทูลฉลองกรมพระอาลักษณ์ ในต้นรัชกาลที่ 5
ในระยะนี้ ท่านได้แต่งแบบเรียนภาษาไทยชุดแรกของท่าน ซึ่งมีชื่อสัมผัสคลองจองกันว่า มูลบทบรรพกิจ วาหนิติ์นิกร อักษรประโยค สังโยคพิธาน
และพิศาลการันต์ หนังสือชุด 5 เล่มนี้ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอักษรสาสนโสภณ ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวใน พ.ศ.2414 และได้รับพระบรมราชานุญาตให้โรงพิมพ์หลวงจัดพิมพ์ขึ้น 2,000 ฉบับ
สำหรับใช้เป็นแบบเรียนในโรงเรียนหนังสือไทย ที่อยู่ในกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ผู้ที่สอบไล่ได้หลังจากเรียนจบทั้ง 5 เล่มแล้วจะได้รับประกาศนียบัตรหนังสือ 5 เล่มนี้ได้ใช้เป็นแบบเรียนมาตรฐานสำหรับนักเรียนภาษาไทยทั้งไปแต่นั้นมา
จน สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์หนังสือชุดแบบเรียนเร็วขึ้น เนื้อหาหลักของแบบเรียนชุด 5 เล่มนี้ มีดังนี้
- มูลบทบรรพกิจ สอนเขียนสอนอ่านเบื้องต้น
- วาหนิติ์นิกร อักษรนำ
- อักษรประโยค อักษรควบ
- สังโยคพิธาน ตัวสะกดแม่ต่างๆ
- พิศาลการันต์ ตัวการันต์ต่างๆ
มูลบทบรรพกิจ
ชื่อหนังสือบอกชัดว่าเป็นหนังสือที่ใช้วางรากฐานผู้เรียนขั้นแรก เริ่มด้วยการสอนให้รู้จักสระ พยัญชนะ และวรรณยุกต์แต่ละตัว แล้วสอนจำแนกอักษรเป็นสามหมู่ จากนั้นเริ่มให้ตัวอย่างการประสมอักษรในแม่ ก กา
เริ่มตั้งแต่อักษรสูง แล้วจึงมาเรียนอักษรกลางและอักษรต่ำแล้วสอนการผันเสียงวรรณยุกต์โดยแยกตามอักษรสามหมู่เริ่มจากอักษรสูง แล้วาอักษรกลางและอักษรต่ำทีละหมู่ ต่อจากนั้นสอนคำไทยที่ใช้ไม้ม้วน
แล้วเรียนตัวสะกดในมาตราต่างๆ ตามลำดับ คือ แม่กน กง กก กด กบ กม และแม่
เกอย
มีข้อที่น่าสังเกตว่า (1) แม่ เกอว นั้นรวมอยู่กับแม่เกอย และ (2) ร หัน สระ ออ อัย และ อือ นั้นถือว่าเป็นการประสมพิเศษที่เติมไว้ท้ายแม่เกอย
(แต่มักถือกันว่า ร หัน อยู่ในแม่ เกอย แม้แต่หนังสือ ปกีระณำพจนาดถ์ ของพระยาศรีสุนทรโวหารเอง ในข้อ 9 เมื่อกล่าวถึง คำว่า กำ กำม์ และกรรม ก็ยังกล่าวว่า กรรม แม่เกย ตัวมอ มีรอหัน) แต่ละตอนมีแบบฝึกหัดอ่านที่นำมาจาก
กาพย์พระไชยสุริยา ของสุนทรภู่
ในท้ายเล่ม มีการอธิยายคำที่ใช้ ศ ษ ส วิธีนับ มาตราชั่งตวงวัด วันเดือนปี ฤดู ชื่อเดือนและสัตว์ประจำราศี ชื่อเดือนทางจันทรคติ ทิศต่างๆ คำที่สะกด อัย ไอย และไอ ไม้มลายที่ไม่ต้องมี ย สะกด
และที่ต้องมี ย สะกด
ลักณณะเด่นของหนังสือมูลบทบรรพกิจซึ่งเหมือนกับหนังสือประถม ก กา นั้น คือ มีการแจกลูกการประสมอักษรครบทุกรูป นักเรียนสามารถใช้เป็นแบบเรียนเบื้องต้นได้โดยไม่ต้องคอยให้ครูเขียนลงบนกระดานดำ
ตลอดเวลา ครูและนักเรียนจะใช้หนังสือนี้ด้วยกันได้หลังจากที่ครูเริ่มสอนด้วยกระดานดำและดินสอเพียงไม่กี่ครั้งและนักเรียนสามารถนำหนังสือนี้ไปอ่านทบทวนที่บ้านได้เอง
วิธีการของมูลบทบรรพกิจที่ฝึกให้ผันเสียงวรรณยุกต์
ไปทีละหมู่อักษรเป็นข้อเด่นอีกอย่างหนึ่งเพราะทำให้ผู้เรียนเข้าใจความแตกต่างของเสียงวรรณยุกต์สำหรับอักษรแต่ละหมู่ได้ชัดเจน และเป็นการสอนให้นักเรียนออกเสียงวรรณยุกต์ได้ครบทุกเสียง
ที่จริงวิธีแยกผันเสียงวรรณยุกต์สำหรับอักษรแต่ละหมู่นี้มีมาแล้วตั้งแต่ในหนังสือจินดามณี เป็นแต่ว่า หนังสือจินดามณีใช้ได้สำหรับครูเท่านั้นและไม่มีการแจกลูกหรือผันเสียงครบถ้วนอย่างในหนังสือมูลบทบรรพกิจ
(หนังสือประถม ก กา ไม่มีการฝึกผันเสียงวรรณยุกต์ หลังจากเรียนประสมพยัญชนะและสระพอที่จะอ่านได้ ก็จะเริ่มอ่านแบบฝึกหัดซึ่งมีวรรณยุกต์ซึ่งมีวรรณยุกต์แทรกอยู่ทันที ครูจะต้องบอกว่าคำที่มีเสียงวรรณยุกต์ใดอ่านอย่างไร
หรือนักเรียนจะต้อง หัดเดา เอาเอง ว่าคำใดควรอ่านออกเสียงอย่างไร เป็นวิธีการสอนให้เด็กเดาหรือท่องจำ โดยไม่มีหลักแน่นอน ทำให้เด็ก ไม่แม่น เรื่องเสียงวรรณยุกต์ ตำรายาโบราณจึงอาจเขียน ว่า กินกได ทากได
เมื่อผู้เขียนต้องการจะให้อ่านว่า กินก็ได้ ทาก็ได้ แม้ว่าในตอนท้ายของหนังสือจะมีกล่าวถึงวรรณยุกต์ ก็ไม่ใช่การฝึกออกเสียงแต่เป็นไวยากรณ์มากกว่า)
วาหนิติ์นิกร
บทที่สอนตรองตฤกนึกจงแน่
จะบอกแปลให้กระจ่างสว่างไสว
วาหะนิติ์ว่าตำราพานำไป
อักษรใดเสียงต่ำก็นำจูง
สูงสิบเอ็ดนำถ้วนจำนวนนับ
ต่ำก็กลับมีเสียงสำเนียงสูง
เพราะอักษรตัวน่ามาพะยูง
เช่นคนจูงมือกันขึ้น
วาหนิติ์นิกร เป็นแบบเรียนว่าด้วยการผันอักษรนำ คือ การผันอักษรสูงนำอักษรต่ำ
และการผันอักษรกลางนำอักษรต่ำ อธิบายว่า อักษรสูงในภาษไทยมีเพียง 11 ตัว และต้องการให้มีเสียงสูงเพิ่มขึ้น จึงต้องมีวิธีการใช้อักษรสูงนำอักษรต่ำให้ออกเสียงเป็นเสียงสูงด้วย อักษรสูง 10 ตัวแรก ( ข ฃ ฉ ฐ ถ ผ ฝ ศ ษ ส)
สามารถ "จูง" เสียงของอักษรต่ำได้ 7 ตัว (ว น ม ย ร ล ว) เมื่ออักษรสูง 10 จีงแรกนอักษรต่ำ 7 ตัว ที่ว่านี้ อักษรสูงจะมีเสียงเสมือนหนึ่งประวิสรรชนีย์ และเสียงอักษรต่ำจะถูกจูงให้เป้นอย่างเสียงของอักษรสูง ส่วนอักษรสูงตัวที่ 11 (คือตัว ห)
นั้นเมื่อใช้เป้นอักษรนำจะมมีเสียงสระกำกับ แต่จะทำหน้าที่ "จูง" เสียงอักษรต่ำได้อย่างเดียว อักษรต่ำที่ตัว ห จะจูงเสียงได้นี้มี 10 ตัว คือ ง ญ ณ น ม ย ร ล ว ฬ
มีคำชี้แจงไว้ด้วยว่า อักษรนำเหล่านี้ เมื่อแจกรูปแล้วมิใช่ว่าจะมีที่ใช้เสมอไป บางทีก็ไม่มีที่ใช้เลย เช่น ข นำ ง หรือบางทีก็มีเพียง 23 คำ เช่น ฉ นำ ง มีใช้ในคำว่า ฉงน ฉงาย หรือ ถ นำ ง ก็มีเพียงในคำว่า แถง ไถง ถงาด ถงม เท่านั้น
หนังสือวาหนิติ์นิกรแจกอักษรนำในมาตราต่างๆ ตั้งแต่แม่ ก กา จนถึง แม่เกอย ครบทุกตัวการที่แจกคำไทยที่มีอักษรนำทุกตัวตั้งแต่ตัว ข ถึง ตัว ศ ษ ส เช่นนี้ เป็นการสอนผู้เรียนให้รู้คำในภาษาไทยแม่นยำขึ้นมาก
อย่างไรก็ตาม มีข้อที่ควรสังเกตเกี่ยวกับ ศ ส นำ ร หลาย เช่น สราพก (ปัจจุบันสะกด ศราพก) ศรีสวัสดิ์ บ่อสระ สราญราย์ กำสรวญ (ปัจจุบันสะกด กำสรวล) สรงสนาน ก่อสร้าง แสร้งทำ และอื่น ๆ อีก
เพราะในปัจจุบันเราไม่อ่านคำที่ยกมาอย่างเป็นอักษรนำเสมอไป
- ศราพก และ สราญ เราอ่านว่า สะ-รา-พก และ สะ-ราน โดยที่ตัว ศ ส ไม่ได้ "จูง" เสียงวรรณยุกต์ของตัว ร เลย
- ศรีสวัสดิ์ บ่อสระ กำสรวล สรงสนาน ก่อสร้าง แสร้งทำ เราไม่ออกเสียงตัว ร เลย
หนังสือวาหนิติ์นิกร (และอักษรประโยค) ไม่อธิบายว่าคำที่ยกมาข้างต้นนี้แตกต่างจากหลักทั้งไปที่วางไว้
เมื่อแจกอักษรสูงทั้งสิบตัวที่นำอักษรต่ำ 7 ตัวครบแล้ว ก็ยกตัวอย่างตัว ห นำอักษรต่ำ 10 ตัว (ง น ม ย ร ล ว ญ ณ ฬ) และยกตัวอย่างประสมสระแต่ละตัวพร้อมทั้งให้คำอธิบายไว้ในตอนท้ายด้วยว่าคำไหนบ้างที่มีใช้ในภาษาไทย
หลังจากอักษรสูงนำอักษรต่ำแล้ว ก็พูดถึงอักษรกลางนำอักษรต่ำต่อไป แต่ไม่แจกลูกครบทุกรูปอย่างอักษรสูงนำอักษรต่ำ และในตอนท้ายของแต่ละตัว จะยกคำที่มีใช้ในภาษามาแจงไว้ให้เห็นด้วย
มีข้อควรสังเกตว่า ตัวอย่างที่ยกขึ้นในกลุ่มที่เป็นอักษรนำนั้น ที่เป็นอักษรควบก็มีปนอยู่มาก นักเรียนยังคงต้องอาศัยครูเป็นผู้ชี้ว่าคำไหนเป็นอักษรนำหรืออักษรควบ
อักษรประโยค
เป็นเรื่องของอักษรควบ ร ล ว ที่มีใช้ในภาษาไทย หนังสือชุดนี้เรียกอักษรที่ควบกันนี้ว่า อักษรประโยค
และใช้คำว่า ประโยค ในความหมายที่เราใช้ว่า ควบ ในปัจจุบัน เช่น ใช้ว่า ร ล ว เป็น ตัวประโยค (คือเป็น ตัวควบ) ที่สามารถนำไป ประโยค (คือ ควบ) กับอักษรอื่นได้ หรือ "อักษรสูง 10 ตัว ประโยคได้ทุกตัว"
(อักษรสูง 10 ตัว สามารถ ควบ กับตัว ร ล ว ได้ทุกตัว)
หนังสือที่กำหนดไว้เลยว่า ในจำนวนอักษรกลาง 9 ตัว มีเพียง 4 ตัวเท่านั้น (ก จ ต ป) สามารนำไป ประโยค กับตัว ร ล ว ได้ ส่วนอักษรต่ำมีเพียง 4 ตัว (ค ซ ท พ)
เท่านั้นที่จะประโยค กับตัว ร ล ว ได้ แต่ตัว ซ ควบนั้น ไม่มีใช้
ตัวอย่างคำอักษรประโยคที่ยกมาในหนังสือนี้หลายคำเป็นประเภทที่เราเรียกว่าอักษรนำ
ตัวอย่างอักษรควบ (หรือ "อักษรประโยค")
ที่ยกมาครบทุกเสียงมี กร กล กว, จร จล จว, ตร ตล ตว, ปร ปล ปว และตอนท้ายของแต่ละตอนมีบอกด้วยว่าภาษาไทยใช้ ศัพท์ที่เป็น อักษรประโยค ศัพท์ใดบ้าง บางทีก็มีปนกันที่อักษรนำและอักษรควบ เช่น
- จ ควบ ร แม่กง 3 คำ
คือ ความจริง ผกาแจรง จรุงใจ
- ต ควบ ล แม่กง 5 คำ คือ ริมตลิ่ง ตกตลึง เสาตลุง เตลงพากย แตลงแกง
- ป ควบ ล แม่กด 6 คน คือ ปลดชรา เปลื้องปลด ปลดปลิด พระปลัด ของปลาด วันปลอด
- ท ควบ ล แม่กง 1 คน คือ ทลวง
- ท ควบ ว แม่เกย 1 คำ คือ ทวาย
(คำที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นสะกดตัวตามหนังสืออักษรประโยค ในปัจจุบันเราสะกดคำเหล่านี้เป็น ตกตะลึง เสาตะลุง ตะเลงพากย์ ตะแลงแกง
ทะลวง ทะวายและทวาย และในการออกเสียง คำเหล่านี้เป็นอักษรนำก็มี เป็นอักษรควบก็มี)
ที่ควรสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในปัจจุบันตามหลักของพระยาอุปกิตศิลปสาร คำประเภทที่รูปเป็นอักษรควบ แต่เราไม่ออกเสียง ร ควบ ก็ดี
หรืออ่านเสียงเป็นอย่างอื่น เช่น ทร เป็น ซ ก็ดีเหล่านี้เรียกว่าควบไม่แท้ แต่แบบเรียนวาหนิติ์นิกรและอักษรประโยคไม่กล่าวถึงวิธีอ่านคำประเภทนี้เลย
ในตอนจบของอักษรประโยค ได้ยกพระบรมราชาธิบาย
ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าด้วยการใช้ กับ แก่ แต่ ต่อ และมีการยกตัวอย่างเพิ่มเติมไว้ด้วย
สังโยคพิธาน
สังโยคพิธาน กล่าวถึงตัวสะกดในแม่ กน กก กด กบ ว่าแต่ละแม่หรือแต่ละมาตราจะมีตัวสะกดตัวใดบ้าง มีโคลงซึ่งบอกจำนวนตัวสะกดในแต่ละแม่ไว้ด้วย
กนหกกกหกแจ้ง
| จำกัด | กดอัษฎารัศ |
รวบไว้ | กบเจ็ดปากแจงจัด | จำจด เทอญพ่อ |
สองแม่กงกมไซร้ | สกดใช้งอมอ |
ตัวสะกดในแม่กนนั้นมีจำกัดอยู่เพียง 6 ตัวอักษร แม่กกมี 6 ตัว แม่กดมี 18 ตัว แม่กบมี 7 ตัว ส่วนแม่กง แม่กม สองแม่นั้นสะกดด้วยตัว ง และ ตัว ม เท่านั้น
(อัษฎารัศ แปลว่า สิบแปด รูปที่ใช้ แผลงจากบาลี อฏฐารส ให้มีรูปคล้ายสันสกฤต แต่คำสันสกฤตที่แท้จริงนั้นสะกด อษฎาทศ)
หนังสือเล่มนี้ประมวลคำศัพท์ที่อยู่ในแม่หรือมาตราเดียวกันแต่ใช้ตัวสะกดต่างกัน
คำประเภทนี้ที่อ่านอย่างเดียวกัน (พ้องเสียง) นั้นมีมาก แต่ผู้เรียนจะต้องรู้ว่าควรจะสะกดตัวอย่างไรเป็นการสอนให้รู้คำไทยมากขึ้นและรู้วิธีเขียนไทยที่ถูกต้อง
- แม่กน มีตัวสะกด 6 ตัว คือ ญ ณ น ร ล ฬ
- แม่กก มีตัวสะกด 6 ตัว (เมื่อหักตัว ฃ-ขวด และ ฅ-คน ที่เราไม่ใช้ออกแล้ว เหลือเพียง 4 ตัว คือ ก ข ค ฆ
- แม่กด มีตัวสะกด 18 ตัว คือ ตัว จ ฉ ช ซ ฌ ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ ด ต ถ ท ธ ศ ษ ส
- แม่กบ มีตัวสะกด 7 ตัว คือ บ ป ผ ฝ พ ฟ ภ
ตัวอย่างที่ยกมาสำหรับตัวสะกดแต่ละแม่นั้นมีชี้แจงไว้แต่ต้นว่ายกมาเพียงบางคำเท่านั้น
ไม่สามารถยกมาจนครบได้ อย่างไรก็ตาม คำที่ยกมา ก็ทำให้ผู้เรียนมีความรู้ศัพท์ต่างๆ ที่มีใช้ในภาษาไทยได้มากพอสมควร การเรียนต้องอาศัยครูเป็นผู้แนะนำ
การใช้ตัว ศ ษ ส สะกดนั้น ได้ยกบทประพันธ์ที่มีในจินดามณีมาอ้าง
พิศาลการันต์
กล่าวถึงคำที่
"มีอักษรเพิ่มไว้ข้างท้ายคำแต่มิใช่ตัวสะกดเติมลงไว้ เพื่อจะให้เต็มคำ ซึ่งมาแต่ภาษามคธ และเสียงภาษาอื่นบ้าง" เหตุผลก็เพราะ
"เสียงไทยอ่านไม่ตลอดถึง" จึงต้องลงเครื่องหมายทัณฑฆาตไว้เป็นเครื่องสังเกต และเรียกว่า "การันต์"
เริ่มจาก ก การันต์ ไปจนถึง ห การันต์
ตัวอย่างคำที่ใสห้ไว้เป็คำบาลีหรือสันสกฤตเกือบทั้งหมด ที่เป็นคำไทยนั้นมี สำนักนิ์ พำนักนิ์ ทำนุกนิ์ สนุกนิ์
หนังสือพิศาลการันต์ไม่ใช้ ศ หรือ ส เป็นตัวการันต์เลย โดยตั้งหลักว่า คำบาลีหรือสันสกฤตที่ใช้ตัว ส หรือตัว ศ เป็นตัวสุดท้าย เมื่อมาเป็นตัวการันต์จะถูกเปลี่ยนเป็น ษ ทั้งหมด (เพราะฉะนั้น เราจึงเห็นหนังสือรุ่นเก่าเขียน
วงษ์ พงษ์ หงส์ อานิสงษ์ ไตรยางษ์ แทนที่จะเขียน วงศ์ พงศ์ หงส์ อานิสงส์ ไตรยางศ์ อย่างในปัจจุบัน)
ต่อจากตัวการันต์ต่างๆ เหล่านี้แล้ว มีกล่าวถึงคำที่ใช้ไม้ตรี ไม้จัตวา ไม้ไต่คู้ ในภาษาไทย
และการใช้เครื่องหมายไปยาลน้อยท้ายคำย่อด้วย
แบบเรียน 5 เล่มนี้ทำให้ขุนสารประเสริฐได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นหลวงสารประเสริฐปลัดทูลฉลองกรมพระอาลักษณ์ และยังได้รับหน้าที่เป็นอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนที่จัดตั้งขึ้น
ในกรมทหารมหาดเล็กด้วย
ต่อมาโดยที่หลวงสารประเสริฐเป็นผู้ที่มีผลงานผลิตออกมาเป็นประจำ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์และตำแหน่งของท่านให้สูงขึ้นตามลำดับ
จนได้เป็นเจ้ากรมพระอาลักษณ์และเป็นพระยาศรีสุนทรโวหาร(น้อย) แม้กระนั้นท่านก็มิได้หยุดงานภาษาไทยของท่าน ทำให้เราได้มีแบบเรียนภาษาไทย (นับเพิ่มจากแบบเรียนชุด 5 เล่ม ) อีกหลายเล่ม คือ
นิติสารสาธก
กล่าวถึงแบบเรียนภาษาไทยของท่าน
อันแบบเรียนที่หนึ่งถึงกำหนด
มูลบทบรรพกิจถ้วนถี่
ถัดมาวาหะนิติ์นิกรมี
แล้วถึงที่แบบสามตามนุกรม
นามตระหนักว่าอักษรประโยค
ที่สี่ซื่อสังโยคพิธานสม
กับเสริมใส่ไวพจน์พิจารณ์ระดม
นับนิยมรวบเข้าตามเค้ามูล
ที่ห้านั้นพิศาลการันต์บท
จงจำจดชื่อไว้อย่าให้สูญ
ยังที่หกยกเติมเข้าเพิ่มพูล
นอกประมูลบานพะแนกแยกออกมา
แบบนั้นชื่อ อะนันตะวิภาค
มีหลายหลากถ้วนถี่ดีหนักหน้า
นี่แบบเรียนต้องจำเป็นตำรา
ลำดับมาเท่านี้มีสำคัญ
ฯลฯ
ไวพจน์พิจารณ์ไวพจน์ประพันธ์ อุไภยพจน์ สังโยคพิธานแปล เกี่ยวกับคำพ้องรูป พ้องเสียง และอธิบายศัพท์
กลอนพิศาลการันต์ กล่าวถึงตัวการันต์
ปกีระณำพจนาดถ์ อธิบายศัพท์ต่างๆ ซึ่งบางทีก็เป็นเรื่องพ้องเสียงหรือพ้องรูป เขียนเป็นกลอนสุภาพเป็นข้อๆ
ประมาณ 100 ข้อ มีเนื้อความไม่เรียงกัน
อนันตวิภาพ อธิบายศัพท์ต่างๆ เช่น คำไทยแผลง คำเขมร คำเขมรแผลง คำชวา ราชาศัพท์ คำบาลีเทียบสันสกฤตและความหมาย
นอกจากนั้นยังมีการอธิบายชื่อวัน เดือน ปี ในภาษาบาลีด้วย
วรรณพฤติคำฉันท์ เกี่ยวกับแบบแผนคำประพันธ์ร้อยกรอง
พรรณพฤกษา สัตวาภิธาน เป็นหนังสือรวบรวมชื่อพืชและชื่อสัตว์ เช่น ชื่อชนิดมะม่วงและทุเรียน ชนิดของสัตว์ แยกประเภทเป็นพวกที่มีเท้ามากเกินสี่ขึ้นไป สัตว์สี่เท้า สัตว์สองเท้า
และสัตว์ไม่มีเท้า
กล่าวโดยสรุป ตำราเรียนภาษาไทยของ พระยาศรีสุนทรโวหาร(น้อย อาจารยางกูร) แสดงถึงความก้าวหน้าในวงการแบบเรียนภาษาไทย ที่ยังไม่ค่อยชัดเจนอยู่ก็มีเรื่องอักษรควบและอักษรนำโดยที่มีแนวโน้มว่า
ถ้าตัวหน้าเป็นอักษรสูงและตัวตามเป็น ร ล ว แล้ว จะอยู่ในพวกวาหนิติ์นิกร หรืออักษรนำ แต่ถ้าเป็นอักษรกลางที่อยู่หน้า ร ล ว แล้ว ไม่ว่าจะอ่านเป็นอักษรควบหรืออักษรนำก็จะอยู่ในพวกอักษรประโยคทั้งหมด หนังสือชุด
หนังสือชุดนี้เดิมมีเพียง 5 เล่มดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่ต่อมาได้เติมไวพจน์พิจารณ์เข้าในชุดด้วย ส่วนหนังสือนอกนั้นคงถือว่าเป็น "แบบเรียนประกอบ" ซึ่งถือว่าเป็นแบบเรียนผู้ใฝ่ใจเรียนภาษาไทยชั้นสูงต่อไป
ผู้เขียนบทความนี้มีความรู้สึกส่วนตัวว่าขณะนี้ เราไม่มีการกวดขันเรื่องเสียงวรรณยุกต์ที่ใช้ในภาษาไทย ไม่มีการกวดขันเรื่องการออกเสียงตัว ร และ ล ไม่มีการกวดขันเรื่องตัวควบ ร และ ล ทำให้การออกเสียงภาษาไทยของ
เราอยู่ในชั้น "วิบัติ" ยิ่งขึ้นกว่าเดิม เสียง ร ล และอักษรควบ ร ล ได้หายไปแล้วในกลุ่มคนบางกลุ่ม และทุกวันนี้นักเรียนหลายคนอ่าน กา ก่า ก้า ก๊า ก๋า เป็น กา ก่า ก๊า ก๊า ก๋า อ่านคา ค่า ค้า เป็น คา ค้า ค้า
และแม้แต่ในวิทยุและโทรทัศน์ คำว่า พ่อแม่ ไม่ได้ ให้บ้าง ช่วยเหลือ จะมีผู้ออกเสียงเป็น พ้อแม้ ไม้ด๊าย ไฮ้บ๊าง ช้วยเหลือ อยู่ทุกวัน เป็นลางที่บอกว่าเสียงวรรณยุกต์โทมีแนวโน้มที่หายไปโดยกลายเป็นเสียงวรรณยุกต์ตรี
ผู้เขียนเป็นคนรุ่นเก่า แม้จะยอมรับว่าภาษาย่อมมีการเปลี่ยนแปลง แต่การเปลี่ยนแปลงในเรื่องการออกเสียงวรรณยุกต์ที่ว่านี้ เป็นเรื่องของ "ความวิบัติ" ผู้เขียนจึงขอให้ครูบาอาจารย์ที่รักภาษาไทยทั้งหลายได้กวดขัน
ในเรื่องการออกเสียงภาษาไทยอย่างจริงจัง และทางการก็ควรจะพิจารณานำวิธีการผันเสียงวรรณยุกต์ตามแบบ มูลบทบรรพกิจ หรือ แบบเรียนเร็ว มาใช้ใหม่เพื่อมิให้การออกเสียงภาษาไทยวิบัติไปยิ่งกว่านี้
ที่มา
วิสุทธ์ บุษยกุล. (2546). แบบเรียนภาษาไทยของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร).
วารสารวิชาการ, 6 (7).
|