|
ภาษาถิ่นตระกูลไทย
417
ภาษาถิ่นตระกูลไทย
ผู้แต่ง: เรืองเดช ปันเขื่องขัติย์
ชื่อเรื่อง: ภาษาถิ่นตระกูลไทย
สรุปเนื้อหา
ภาษาถิ่นตระกูลไทยในประเทศไทย เป็นที่ทราบกันดีโดยทั่วไปในหมู่นักภาษาว่าในประเทศไทยมีภาษาไทยถิ่นต่าง ๆ ที่นักภาษาจัดอยู่ในตระกูลภาษาไทยอยู่หลายภาษา
เท่าที่พบมีพูดอยู่ 19 ภาษาถิ่นด้วยกัน เรียกตามภาษาถิ่นตระกูลไทยดังนี้
1. ภาษาไทสยาม หรือ ภาษาไทยกลาง ภาษาไทยมาตรฐานที่พูดโดยคนไทยส่วนใหญ่ที่อยู่บริเวณภาคกลางของประเทศไทย เป็นภาษากลางและภาษาราชการ
2. ภาษาไทใต้ หรือ ภาษาไทยถิ่นใต้ พูดโดยคนไทยส่วนใหญ่บริเวณภาคใต้ของประเทศไทย ตั้งแต่ จ.ชุมพรลงไปถึงชายแดนประเทศมาเลเซีย
3. ภาษาไทตากใบ หรือ ภาษาเจ๊ะเห เป็นภาษาไทยถิ่นหนึ่งที่พูดโดยคนไทยส่วนใหญ่ที่อยู่บริเวณ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส
4. ภาษาไทลาว หรือ ภาษาไทยถิ่นอีสาน พูดโดยคนไทยส่วนใหญ่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย
5. ภาษาไทญ้อ เป็นภาษาไทยถิ่นหนึ่งของภาษาถิ่นตระกูลไทยกลุ่มภาษาลาว ชาวไทยญ้อได้อพยพมาจากเมืองคำเกิด ประเทศลาว
6. ภาษาไทโย้ย เป็นภาษาถิ่นหนึ่งของภาษาถิ่นตระกูลไทยมีพูดอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ชาวไทยโย้ยได้อพยพจากประเทศลาวเข้ามาสู่ประเทศไทย
7. ภาษาไทพวน ผู้พูดภาษานี้เดิมอยู่ที่เมืองพวน จ.เชียงขวาง ประเทศลาว ได้อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยหลายร้อยปีมาแล้ว
8. ภาษาผู้ไท เดิมผู้พูดภาษานี้อยู่ในแคว้นสิบสองจุไทยประเทศลาวและเวียดนาม ส่วนใหญ่มีอยู่หลายจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย
9. ภาษาไทกะเลิง จัดอยู่ในกลุ่มภาษาลาว สันนิษฐานว่าชาวไทยกะเลิงอพยพมาจากประเทศลาวมาอยู่ในประเทศไทย
10. ภาษานครไท ภาษานครไทยมีสำเนียงแบบประสมระหว่างภาษาไทยถิ่นเหนือ (แพร่ น่าน) กับภาษาถิ่นอีสาน (เลย)และภาษาไทยกลาง (พิษณุโลก)
11. ภาษาไทแสก เป็นภาษาไทยถิ่นหนึ่งที่มีผู้พูดอยู้เฉพาะที่ จ.นครพนมเท่านั้น ชาวไทยแสกเดิมมีถิ่นฐานอยู่ที่เวียดนาม
12. ภาษาไตยวน หรือ ภาษาคำเมือง ผู้ที่พูดส่วนใหญ่อยู่บริเวณทางภาคเหนือของไทย
13. ภาษาไตใหญ่ ชาวลานนาและชาวลาวมักจะเรียกว่า เงี้ยว ส่วนนัภาษาจะเรียกว่า ภาษาชาน พูดโดยคนไทยส่วนใหญ่ในรัฐชานประเทศพม่า
14. ภาษาไตหย่า เจ้าของภาษามีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่เมืองหย่าในมณฑลยูนนานหรือคุนมิ้ง ซึ่งได้มีการอพยพเข้ามาในประเทศไทย
15. ภาษาไตขึน ภาษาไทยที่พูดในรัฐชานประเทศพม่า ส่วนใหญ่พูดในเขตเชียงตุงประเทศพม่า ซึ่งชาวไตขึนได้อพยพมาอยู่ทางภาคเหนือของไทย
16. ภาษาไตลื้อ ชาวไทยลื้อเรียกตัวเองว่า ไตลื้อ มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ในแคว้นสิบสองพันนา มณฑลยูนนานประเทศจีน
17. ภาษาไตยอง เป็นภาษาถิ่นของภาษาไทยลื้อที่พูดอยู่ในเมืองยอง แต่สำเนียงต่างจากภาษาไตลื้อที่พูดอยู่ที่เมืองยองปัจจุบันและภาษาไตลื้อที่สิบสองพันนามาก
18. ภาษาไตดำ ภาษาไทยถิ่นหนึ่งมีพูดส่วนใหญ่ในประเทศเวียดนามและลาว ต่อมาชาวไทยดำได้อพยพมาสู่ประเทศไทยด้วยเหตุผลทางการเมือง
19. ภาษาไตแดง เจ้าของภาษาจะเรียกตนเองว่า ไตแหลง ชาวไทยแดงมีถิ่นฐานเดิมอยู่บริเวณเดียวกับชาวไทยดำในเวียดนาม
ที่มา:
เรืองเดช ปันเขื่องขัติย์. (2531)ภาษาถิ่นตระกูลไทยกรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
|
|