|
อาขยาน"บิ๊กตู่" ปลุก"12ค่านิยมไทย
ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา* นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายให้หน่วยงานต่างๆ นำค่านิยมหลักคนไทย 12 ประการ ไปปฏิบัติ โดยเฉพาะโรงเรียน ได้มอบให้เด็กนำไปท่องบทอาขยานด้วย จนกลายเป็นเรื่องฮือฮาในสังคมไทย
ล่าสุด กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ออกมารับลูกและเตรียมให้เด็กนักเรียนทั่วประเทศได้ท่องบทอาขยานหน้าเสาธงหรือในห้องเรียน ตลอดจนขึ้นไวนิลหน้าโรงเรียนและเขตพื้นที่การศึกษา
บทอาขยานที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะให้เด็กท่องนั้น ได้รับมอบมาจากนายกรัฐมนตรี ผ่านไปทาง พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการ ศธ. มีเนื้อหา ดังนี้
"หนึ่งรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ สองซื่อสัตย์ เสียสละ อดทนได้
สามกตัญญู พ่อแม่ สุดหัวใจ สี่มุ่งใฝ่ เล่าเรียน เพียรวิชา
ห้ารักษา วัฒนธรรม ประจำชาติ หกไม่ขาด ศีลธรรม ศาสนา
เจ็ดเรียนรู้ อธิปไตย ของประชา แปดรักษา วินัย กฎหมายไทย
เก้าปฏิบัติ ตามพระ ราชดำรัส สิบไม่ขาด พอเพียง เลี้ยงชีพได้
สิบเอ็ดต้อง เข้มแข็ง ทั้งกายใจ สิบสองไซร้ คิดอะไร ให้ส่วนรวม"
นโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ให้เด็กไทยท่องบทอาขยานค่านิยม 12 ประการ ถือเป็นการฟื้นการ "ท่องอาขยาน" ให้กลับมาแพร่หลายอีกครั้ง
จากข้อมูลใน "หนังสืออ่านเพิ่มเติม บทอาขยานภาษาไทย ระดับมัธยมศึกษา" ปี 2542 ของกรมวิชาการเดิม สังกัด ศธ. ได้จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อให้โรงเรียนได้นำไปใช้ ได้เล่าย้อนรอยถึงความเป็นมาว่า "การท่องอาขยานในระยะแรก พ.ศ.2477-2478 เป็นการท่องจำบทร้อยกรองที่ถือว่าไพเราะ ตัดตอนมาจากหนังสือวรรณคดี โดยนำมาให้ท่องประมาณ 3-4 หน้า และมีการท่องบทอาขยานติดต่อกันเรื่อยมา
การท่องบทอาขยานจะใช้เวลาก่อนเลิกเรียนตอนเย็นเล็กน้อย และให้นักเรียนท่องพร้อมๆ กันทั้งห้อง แต่เมื่อมีการประกาศใช้หลักสูตรประถมศึกษา หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น พ.ศ.2521 และหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย พ.ศ.2524 จนถึงหลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2533 ไม่ได้ระบุให้ชัดเจนเกี่ยวกับการท่องบทอาขยาน จึงเป็นสาเหตุให้การท่องบทอาขยานเริ่มจะหายไปจากสถานศึกษาบางแห่ง
จนปี 2538 จึงกำหนดให้มีการท่องบทอาขยานในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย แต่ก็ยังไม่แพร่หลายเท่าที่ควร"
นางพจมาน พงษ์ไพบูลย์ อดีตผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา และผู้ทรงคุณวุฒิการศึกษา สพฐ. กล่าวว่า หลักสูตรการศึกษาตั้งแต่ปี พ.ศ.2503 การเรียนภาษาไทยหรือวิชาวรรณคดีไทยจะมีเรื่องของการท่องบทอาขยานแล้วอย่างระดับชั้น ป.4 จะมีเรื่องสังข์ทอง ขุนช้างขุนแขน รามเกียรติ์ ส่วนระดับชั้นที่โตขึ้นมาจะเป็นวรรณคดีที่ซับซ้อน เช่น อิเหนา เงาะป่า พระลอ โคลงสี่สุภาพ เป็นต้น จะท่องกันก่อนเลิกเรียน แต่ละห้องก็จะแข่งกันท่องว่าใครจะพร้อมเพรียงและเสียงดังมากกว่ากัน ยังจำบรรยากาศในสมัยที่เป็นนักเรียนได้
ข้อดีของการท่องบทอาขยาน ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้ในเรื่องของเนื้อหาแล้ว ยังได้ภาษาที่สวยงาม จังหวะ สุนทรีย์ ฉันทลักษณ์ เพราะในสมัยก่อนนักประพันธ์จะมีบทสัมผัสที่แวววาวไปหมด เป็นภาษาที่สวยงามมาก ในอดีตมีการท่องกันจนเป็นนิสัยและจำได้แม้กระทั่งทุกวันนี้ เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานฝังใจ อีกทั้งจะเป็นประโยชน์ในการเขียนเล่าเรื่องราวด้วย จะสังเกตว่า เด็กๆ ที่ท่องบทอาขยาน จะใช้ภาษาไทยได้ดี เขียนหนังสือด้วยถ้อยคำ มีความลึกซึ้งในการใช้ภาษามากขึ้น แต่น่าเสียดายหลักสูตรการเรียนการสอนยุคใหม่ได้ลดความสำคัญของการท่องอาขยาน หรือแม้แต่การเขียนกลอนง่ายๆ อย่าง *กาพย์ยานี 11* อย่างง่ายๆ ก็ถูกลดความสำคัญไป และไปให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีมากกว่า
ส่วนคุณลักษณะ 12 ประการ ที่นายกรัฐมนตรีจะให้เด็กไทยท่องเป็นบทอาขยานนั้น นางพจมานระบุว่า เป็นสิ่งดี ที่นายกฯอาจจะต้องการใหัเด็กตระหนัก มีจิตสำนึกในค่านิยมที่เด็กไทยควรมี และควรให้เด็กท่องตั้งแต่เล็กๆ จะได้ซึมซับและรู้ว่าการเป็นคนดีมีจริยธรรม ควรจะมีคุณลักษณะอย่างไร นอกจากบทอาขยานนี้แล้ว อยากจะให้รื้อฟื้นทบทวนอาขยานแต่ละช่วงชั้น โดยดูเนื้อหาบทนำในวรรณคดีมาใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย
เช่นเดียวกับ นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ค่านิยม 12 ประการของพล.อ.ประยุทธ์ได้รับอิทธิพลมาจากหลักสูตรการศึกษา พ.ศ.2503 เน้นความเป็นพลเมืองและคุณธรรมจริยธรรม เป็นหลักสูตรเดียวกับที่ตนเรียน สมัยนั้นนอกจากหลักสูตรดีแล้ว ครูก็เป็นครูที่สอบได้อันดับ 1 ของจังหวัด เป็นครูเก่ง ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์รู้สึกว่าเป็นระบบการศึกษาที่ดีที่อบรมสั่งสอนและสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรมผ่านครู ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์เติบโตมาเป็นคนดีและมีค่านิยม 12 ประการ ต่างจากหลักสูตรปัจจุบันที่ไม่มีค่านิยมอะไร เป็นค่านิยมเทียม เนื่องจากไม่ได้ยึดโยงคุณค่าสังคมไทย
อย่างไรก็ตาม ขอติง ศธ.ที่แปลงค่านิยม 12 ประการ มาสู่การปฏิบัติโดยการให้ขึ้นไวนิลหน้าโรงเรียน/เขตพื้นที่ฯ การท่องอาขยานหน้าเสาธงหรือในห้องเรียนเรียกว่าเป็นวัฒนธรรมองค์กร/แบบแผนของ ศธ.มักทำแบบนั้น ทั้งที่เรื่องนี้ไม่ควรสอนให้ท่องจำแบบนกแก้วนกขุนทอง แต่ควรสอนให้รู้จักคิดวิเคราะห์ ประเมินค่า ตัดสินใจ ก่อนนำไปสู่การปฏิบัติจริง เชื่อมโยงกับกรณีตัวอย่างดีๆ ในสังคม และทำสังคมให้ดี ที่สุดก็จะพัฒนาไปสู่บุคลิกของเด็กให้เกิดค่านิยม 12 ประการ
"อาขยานเป็นความสวยงามของภาษาไทยที่ช่วยให้เด็กจดจำได้ง่ายขึ้น สมัยก่อนอาขยานที่ดังๆ อาทิ เด็กเอ๋ยเด็กดี, อาขยานบทดอกสร้อย เป็นต้น แต่หลังจากเราเปิดประเทศและรับอิทธิพลตะวันตกทำให้หลักสูตรการศึกษาของไทยเปลี่ยนไป ค่านิยม วิชาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมืองหายไป และตอนนี้เรากำลังกลับมารื้อฟื้นให้มีเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม สำหรับเรื่องค่านิยม 12 ประการนั้น แม้เราจะใช้ความงดงามของภาษาไทยอย่างการท่องอาขยานมาช่วยให้เด็กจดจำได้ง่ายขึ้น แต่ต้องไม่หยุดอยู่แค่นั้น ต้องบูรณาการกับสังคม ศาสนาและวัฒนธรรม สอนให้เด็กคิดวิเคราะห์ ประเมินค่า ตัดสินใจเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ ดังที่ปราชญ์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า "พูดจะไม่เกิดประโยชน์ ถ้าเหงื่อไม่ออก" นั่นหมายความว่า ถ้าแค่สอนให้ท่องจำ แต่ไม่มีการปฏิบัติ ก็ไม่เกิดประโยชน์" นายสมพงษ์กล่าว
ปิดท้ายที่ความเห็นของกวีซีไรต์ นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ กล่าวว่า บทอาขยานที่ประทับใจสมัยเรียนชั้นประถมมีจำนวนมาก แต่บทแรกๆ ที่ท่องได้และจำแม่นไม่เคยลืมถึงวันนี้คือ บทที่กล่าวไว้ว่า
"แสนเสียดายนันทาผู้น่ารัก ชะล่านักเลี่ยงออกนอกถนน
มัวแต่เพลินปลาบปลื้มจนลืมตน ถูกรถยนต์แล่นทับดับชีวา
นิจจาเอ๋ยเคยเห็นทุกเย็นเช้า กลับเหลือแต่กรงเปล่าไม่เห็นหน้า
เคยวิ่งเล่นด้วยกันทุกวันมา ช่างทิ้งข้าเปลี่ยวเปล่าเศร้าใจเอย"
ที่ประทับใจอาขยานบทนี้ เพราะอ่านแล้วรู้สึกซาบซึ้งสะเทือนใจ รู้สึกรักสัตว์และสงสารแม่ไก่นันทา รวมถึงเกิดความซึมซับในสัมผัสของภาษา ตอนท่องอาจไม่ได้รู้สึกถึงข้อคิดหรือได้คติสอนใจอะไรมากมาย แต่เวลาท่องพร้อมๆ กัน ทำเสียงสูง ต่ำ ทุ้ม สลับกันไป ก็ทำให้เกิดความสนุกสนาน เป็นสุนทรีย์ทางภาษาซึมซับไปโดยไม่รู้ตัว ขณะเดียวกันยังมีบทอาขยานอีกหลายบท อ่านแล้วให้แง่คิด เช่น บทที่ว่า "รู้อะไรไม่สู้รู้วิชา รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี" จากเรื่องขุนช้างขุนแผน น่าเสียดายว่า การท่องกลอนหรือบทอาขยานหายไปจากการเรียน เป็นเพราะนักการศึกษาสมัยใหม่บางคน เห็นว่าการท่องจำเป็นนกแก้วนกขุนทองทำให้เด็กมีแต่ความจำ ไม่มีความคิด ตรงนี้คิดผิดเพราะเด็กจะมีความคิดได้ ต้องเกิดจากการมีข้อมูล และส่วนหนึ่งได้มาจากการท่องจำ
"แนวคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ให้นำค่านิยมหลักคนไทย 12 ประการมาแต่เป็นบทอาขยาน เป็นเรื่องที่ดี แต่ควรจะมีการแต่งให้ถูกต้องตามฉันทลักษณ์โครงกลอน เพราะเท่าที่ดู กลอนที่เผยแพร่ออกมายังมีความไม่ถูกต้องในเรื่องสัมผัสนอก สัมผัสในอยู่หลายคำ ดังนั้น หากอยากให้เด็กได้เรียนรู้และเกิดการซึมซับ ก็ควรแต่งให้มีความถูกต้องคล้องจอง เพื่อให้เด็กได้จดจำและเข้าใจในความสวยงามของภาษาไทยที่ได้มาตรฐานอย่างแท้จริง" กวีซีไรต์กล่าว
การท่องบทอาขยานมุ่งหวังให้เด็กไทยได้ซึมซับในค่านิยม 12 ประการ และเติบโตไปเป็นคนดี แม้ยังไม่ชัดเจนว่าจะทำให้บรรลุเป้าหมายได้มากน้อยแค่ไหน แต่อย่างน้อยก็ส่งผลดีที่ทำให้บทอาขยานกลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้งหลังจากหายไปนาน
แหล่งที่มา
มติชน. (2557). อาขยาน"บิ๊กตู่" ปลุก"12ค่านิยมไทย.
ค้นจาก http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1411355120
|
|