|
ใบความรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษา - พลศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
สมรรถภาพทางกาย
สมรรถภาพทางกาย (Physical Performance or Physical Fitness) หมายถึง ความสามารถ
ของบุคคลในการควบคุมและสั่งการให้ร่างกายปฏิบัติภารกิจต่างๆในชีวิตประจำวันและปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความคล่องแคล่วว่องไว กระฉับกระเฉง ทนทานโดยไม่แสดงอาการ
เหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้า หรืออ่อนเพลียให้ปรากฏและสามารถฟื้นตัวสู่สภาพปกติได้ในเวลาอันรวดเร็วการมีสมรรถภาพทางกายที่ดีจะมีผลต่อการมีสุขภาพดีห่างไกลจากโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจ
ความดันโลหิตสูง ลดไขมันในเลือด ช่วยระบบไหลเวียนของเลือด การหายใจ การย่อยอาหาร ช่วยควบคุมน้ำหนัก ทำให้ร่างกายมีสัดส่วนดี กล้ามเนื้อแข็งแรง ข้อต่อเคลื่อนไหวคล่องตัว และเมื่อ
รวมกับการมีสุขภาพจิตที่ดี การมีค่านิยมด้านคุณธรรม จริยธรรมและศีลธรรมอันดีงาม จะส่งผลให้บุคคลนั้นเป็นประชากรที่มีคุณภาพ เป็นคนดีของครอบครัวและสังคม มีประสิทธิภาพในการทำงาน
เพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวและสังคมอีกด้วย
องค์ประกอบของความสามารถทางกลไก (Motor Ability) หรือสมรรถภาพทางกายขั้นพิเศษ (Special Physical Fitness)
ความสามารถทางกลไก หมายถึง ความสามารถในการทำงานเฉพาะอย่างของกลไกร่างกายซึ่งสามารถตรวจสอบและทดสอบได้ โดยมีองค์ประกอบและความหมายดังนี้
1. การทรงตัว (Balance) หมายถึง ความสามารถในการรักษาสมดุลของร่างกายเอาไว้ได้ทั้งในขณะอยู่กับที่ เช่น การยืนบนขาเดียว และขณะเคลื่อนที่ด้วยรูปแบบและความเร็วต่าง ๆ เช่น การเลี้ยงลูกบาสเกตบอลและวิ่งไปด้วยโดยไม่ล้มหรือซวนเซ การเดินบนรางรถไฟ เป็นต้น
2. พลังหรือกำลัง (Power) หมายถึง ความต้องการที่จะเคลื่อนไหวร่างกายอย่างทันทีทันใด เช่น กระโดดสูง พุ่งแหลน ทุ่มน้ำหนัก ขว้างลูกเบสบอล การวิ่งเร็วเต็มที่ นั่นหมายถึงว่า ร่างกายต้องใช้แรงเป็นจำนวนมากในระยะเวลาสั้น ๆ และสั้นที่สุดเท่าที่จะสั้นได้ โดยให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุด
3. ความคล่องตัว (Agility) หมายถึง ความสามารถในการเปลี่ยนทิศทางอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งควบคุมได้ในขณะเคลื่อนไหวด้วยการใช้แรงเต็มที่ ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เช่น การวิ่งเก็บของ การวิ่งซิกแซ็ก วิ่งกลับตัวหรือหลบหลีกได้คล่องแคล่ว
4. ความเร็ว (Speed) หมายถึง ความสามารถในการเคลื่อนไหว ร่างกายทั้งหมดอย่างรวดเร็วจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง เช่น การวิ่ง 100 เมตร
5. เวลาเคลื่อนไหว (Movement Time) มีความหมายต่างจากความเร็ว เพราะหมายรวมถึงการเคลื่อนที่ด้วยส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง เช่น การวัดเวลาเคลื่อนไหวของแขนและไหล่โดยการขว้างลูกเบสบอลให้ไกลที่สุด
6. เวลาปฏิกิริยา (Reaction Time) หมายถึง ระยะเวลาที่จำเป็นต้องใช้เคลื่อนไหวเพื่อการตอบสนองต่อสิ่งเร้าเฉพาะอย่าง ถ้าเวลาเคลื่อนไหวบวกกับเวลาปฏิกิริยาจะกลายเป็นเวลาตอบสนอง (Response Time)
7. การทำงานประสานสัมพันธ์ (Coordination) หมายถึง การสั่งการของระบบประสาทและระบบกล้ามเนื้อมีความสัมพันธ์กันดี สามารถปฏิบัติตัวหรือเคลื่อนไหวได้ถูกต้องตามที่จิตสั่ง เช่นการตักอาหารเข้าปากได้ถูกต้อง
การทดสอบสมรรถภาพทางกาย (Physical Fitness Test)
มีจุดมุ่งหมายที่จะประเมินสมรรถภาพร่างกายและสุขภาพของบุคคลทั่วไปหรือนักกีฬาว่ามีจุดอ่อนและจุดแข็งอะไรบ้าง เพื่อนำไปสู่การวางแผนปรับปรุงข้อบกพร่องต่างๆ ส่งเสริมการฝึกฝนของแต่ละบุคคลให้มีสมรรถภาพทางกายถึงจุดสูงสุดและเหมาะสมกับการปฏิบัติกิจกรรมหรือการเล่นกีฬาแต่ละชนิด
วิธีการทดสอบสมรรถภาพทางกาย
วิธีการทดสอบมีหลายแบบ มีเครื่องมือหลากหลายชนิด ผู้ทำการทดสอบจะต้องรู้จักเลือกวิธีการทดสอบและเครื่องมือที่ดี มีความเที่ยงตรง ให้ผลเชื่อถือได้ มีความเป็นมาตรฐาน (เป็นสากล)ต้องศึกษาเรียนรู้วิธีการ ขั้นตอนการทดสอบ การเตรียมสถานที่ อุปกรณ์ และแบบบันทึกผลการ
ทดสอบให้เข้าใจอย่างท่องแท้และฝึกฝนจนชำนาญ อธิบายรายละเอียดให้ผู้รับการทดสอบทราบประเมินความพร้อมของผู้รับการทดสอบว่ามีข้อห้ามหรือไม่ และเมื่อทดสอบแล้วต้องรีบทำการวิเคราะห์แจ้งผลให้ผู้รับการทดสอบทราบโดยเร็ว พร้อมทั้งสามารถให้คำแนะนำและช่วยวางแผนการพัฒนาสมรรถภาพให้แต่ละบุคคลได้
การทดสอบสมรรถภาพทางกายวิธีที่นิยม มีดังนี้
รายการที่ 1 วิ่ง 50 เมตร
เมื่อให้สัญญานเข้าที่ ให้นักเรียนยืนให้ปลายเท้าข้างหนึ่งอยู่ชิดเส้นเริ่ม เมื่อได้ยินสัญญาณปล่อยตัว ให้วิ่งด้วยความเร็วเต็มที่ จนผ่านเส้นชัย
รายการที่ 2 วิ่งเก็บของ
วางไม้ทั้งสองท่อนกลางวงกลมที่อยู่ตรงข้ามกับเส้นเริ่ม นักเรียนยืยให้ปลายเท้าข้างหนึ่งอยู่ชิดเส้นเริ่ม เมื่อได้รับคำสั่งว่า ไป ให้นักเรียนวิ่งไปหยิบท่อนไม้ท่อนหนึ่งมาวางที่วงกลมหลังเส้นเริ่ม แล้วกลับตัววิ่งไปหยิบท่อนไม้อีกท่อนหนึ่งมาวางไว้เช่น เดียวกับท่อนแรกแล้ววิ่งเลยไป ห้ามโยนท่อนไม้ หากวางไม่เข้าในวงกลม ให้เริ่มใหม่
รายการที่ 3 ยืนกระโดดไกล
นักเรียนยืนที่เส้นเริ่มให้ปลายเท้าทั้งสองอยู่ชิดเส้นเริ่ม เหวี่ยงแขนทั้งสองไปข้างหลังพร้อมกับย่อเข่าและก้มตัว เมื่อได้จังหวะ ให้เหวี่ยงแขนไปข้างอย่างแรงพร้อมกับกระโดดด้วยเท้าทั้งสองข้างไปข้างหน้าให้ไกลที่สุด ใช้ไม้วัดทาบตั้งฉากกับขีดบอก ระยะ หากมีการเสียหลักหงายหลังหรือมือแตะพื้นให้ทำใหม่
รายการที่ 4 แรงบีบมือ
นักเรียนใช้มือข้างที่ถนัดจับเครื่องวัดแรงบีบมือโดยให้นิ้วข้อที่ 2 รับน้ำหนักของเครื่องวัด ยืนปล่อยแขนข้างลำตัว ห่างลำตัว เล็กน้อย แขนตึง กำมือบีบเครื่องวัดสุดแรงโดยไม่ให้เครื่องวัดถูกส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ห้ามโถมตัวหรือเหวี่ยงเครื่องมือ
รายการที่ 5 ลุกนั่ง
จัดนักเรียนเป็นคู่ ให้นักเรียนคนแรกนอนหงายบนเบาะยืดหยุ่น เข่างอเป็นมุมฉาก ปลายเท้าแยกห่างกัน ประสานมือที่ท้ายทอย นักเรียนคนที่สองคุกเข่าที่ปลายเท้าคนแรก มือทั้งสองกำและกดข้อเท้านักเรียนคนแรกไว้ให้เท้าติดพื้น เมื่อได้รับสัญญาณเริ่ม พร้อมกับจับเวลา นักเรียนลุกขึ้นนั่งให้ข้อศอกแตะเข่าตนเอง แล้วกลับลุกขึ้นนั่งใหม่ ทำเช่นนี้ติดต่อไปอย่างรวดเร็วจนครบ
30 วินาที จากนั้นจึงสลับกันปฏิบัติเช่นเดียวกัน
รายการที่6 ดึงข้อ (สำหรับนักเรียนชาย) งอแขนห้อยตัว (สำหรับนักเรียนหญิง)
การดึงข้อสำหรับนักเรียนชายโดยจัดระดับราวเดี่ยวให้มีความสูงพอที่จะให้ นักเรียนห้อยตัวจนสุดแล้วเท้าไม่ถึงพื้น ให้นักเรียนยืนบนม้ารอง จับราวในท่าคว่ำมือ มือห่างกันประมาณเท่ากับช่วงไหล่ เอาม้ารองออกให้นักเรียนปล่อยตัวจนแขน
ลำตัวและขาเหยียดตรงเป็นท่าเริ่มต้นเกร็งแขนดึงตัวขึ้นจนคางอยู่เหนือราวแล้วกลับเข้าสู่ท่าเริ่มต้น ทำติดต่อกันไปให้ได้ จำนวนครั้งมากที่สุดห้ามแกว่งเท้าหรือเตะขา ถ้าหยุดพักระหว่างครั้ง(ขึ้น-ลง) นานเกินกว่า 2 หรือ 3 วินาทีขึ้นไป หรือไม่สามารถดึงขึ้นให้คางพ้นราวได้ 2 ครั้งติดกันให้ยุติการทดสอบ
การงอแขนห้อยตัวจัดม้ารองเท้าใกล้ราวเดี่ยวให้สูงพอที่เมื่อนักเรียนยืนตรง บนม้าแล้วคางจะอยู่เหนือราวเล็กน้อย จับราวโดยใช้ท่าคว่ำมือ มือห่างกันเท่ากับช่วงไหล่และ แขนงอเต็มที่ เมื่อให้สัญญานเริ่ม(พร้อมกับเอาม้ารองออก) นักเรียนต้องเกร็งแขนและดึงตัวไว้ใน ท่าเดิมให้นานที่สุดถ้าคางต่ำลงถึงราวให้ยุติการทดสอบ ให้ตัวแทนกลุ่มนำเก้าอี้ จำนวน 2 ตัว มาวางไว้ตรงที่ทดสอบ
รายการที่ 7 การวิ่งระยะไกล 1,000 เมตร (สำหรับนักเรียนชาย) 800 เมตร (สำหรับนักเรียนหญิง)
เมื่อให้สัญญาณ เข้าที่ นักเรียนที่รับการทดสอบยืนให้ปลายเท้าข้างใดข้างหนึ่งชิดเส้นเริ่มเมื่อพร้อมแล้ว ให้สัญญาณ ไป ให้นักเรียนวิ่งไปตามเส้นทางที่กำหนดพยายามใช้เวลาน้อยที่สุด ควรรักษาความเร็วให้คงที่ ถ้าวิ่งไม่ไหวอาจหยุดเดินแล้ววิ่งต่อ หรือเดินต่อไปจนครบระยะทาง นักเรียนที่จับเวลาจะขานเวลาผู้ที่วิ่งถึงเส้นชัยทีละคน ให้บันทึกเวลาไว้ตามลำดับเป็นนาทีและวินาที
รายการที่ 8 การงอตัวข้างหน้า
การงอตัวข้างหน้าให้นักเรียนที่รับการทดสอบยืนบนโต๊ะหรือเก้าอี้ ปลายเท้าทั้งสองอยู่ชิดขอบโต๊ะหรือเก้าอี้ ขาทั้งสองเหยียดตรง เอานิ้วหัวแม่มือทั้งสองเกี่ยวกันค่อย ๆก้มตัวลงข้างหน้า เหยียดแขนทั้งสองข้าง เลื่อนลงไปตามแนวไม้บรรทัดจนไม่สามารถก้มตัวต่อไปได้ ห้ามงอเข่าหรือเอียงตัวไปข้างใดข้างหนึ่งหรือก้มตัวแรง ๆ
ข้อปฏิบัติสำหรับผู้เข้ารับการทดสอบสมรรถภาพทางกาย
1. ก่อนการทดสอบ พักผ่อนให้เพียงพอ งดออกกำลังกายอย่างหนักอย่างน้อย 24 ชั่วโมงรับประทานอาหารประจำวันตามปกติ หลีกเลียงการดื่มสุรา ไม่ใช้ความคิดหนักและงดกินยาที่ออกฤทธิ์นาน
2. วันที่ทำการทดสอบ สวมเครื่องแต่งกายให้เหมาะสม รับประทานอาหารหนักก่อนการทดสอบไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง ไม่กินยาหรือสิ่งกระตุ้นใดๆ เช่น ชา กาแฟ และบุหรี่
3. ในระหว่างการทดสอบ ตั้งใจทดสอบอย่างเต็มความสามารถ แต่ไม่ฝืนถ้ารู้สึกไม่สบายเช่น เหนื่อยหายใจไม่ทัน เจ็บหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้ ฯลฯ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที
แหล่งที่มา
อุเทน ผาภุมมา. (2555). สมรรถภาพทางกาย.
กาญจนบุรี: โรงเรียนบ้านดงโคร่ง.
|
|