|
แกะรอย "แท็บเล็ต" คุ้มหรือไม่คุ้ม
โครงการสมาร์ทคลาสรูม (Smart Classroom) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เดินหน้า ในขณะเดียวกันก็เป็นการปิดฉากนโยบายประชานิยม "1 คอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) ต่อ 1 นักเรียน" หรือ "One Tablet Per Child (OTPC)"
โครงการแจกแท็บเล็ตเริ่มต้นขึ้นภายใต้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยจัดหาคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตให้แก่นักเรียนทั่วประเทศตามนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554
ที่ผ่านมามีกระแสวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอดถึงความคุ้มค่าของงบประมาณหลายพันล้านบาทที่ต้องจัดซื้อแท็บเล็ตแจกนักเรียน แม้จะมีเสียงคัดค้าน แต่ที่สุดก็มีการผลักดันจนเกิดโครงการดังกล่าวขึ้นในปีงบประมาณ 2555 ในสมัย นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยได้จัดซื้อแท็บเล็ตจาก บริษัท เสิ่นเจิ้น สโคป ไซแอนทิฟิก เดเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในราคาเครื่องละ 82 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 2,674 บาท รวมค่าขนส่ง แจกให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ของโรงเรียนทุกสังกัดจำนวน 856,886 เครื่อง วงเงินเกือบ 2,000 ล้านบาท
ประกอบด้วย โรงเรียนสังกัด สพฐ. จำนวน 564,723 เครื่อง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จำนวน 183,360 เครื่อง โรงเรียนสาธิตในกำกับมหาวิทยาลัยสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จำนวน 3,845 เครื่อง โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร 46,575 เครื่อง โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน จำนวน 1,881 เครื่อง เมืองพัทยา 1,557 เครื่อง และโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วน
ท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 54,945 เครื่อง
การบริหารจัดการโครงการแท็บเล็ตมีปัญหาตั้งแต่ปีแรก เช่น การจัดส่งไปยังโรงเรียนล่าช้ากว่ากำหนด แท็บเล็ตมีปัญหาพังหรือเสีย โรงเรียนที่ได้รับแจกแท็บเล็ตในพื้นที่ห่างไกลยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ตลอดจนศูนย์ซ่อมก็มีไม่ครอบคลุมทุกจังหวัด
อย่างไรก็ตาม บริษัท เสิ่นเจิ้นฯ ได้แก้ไขปัญหาด้วยการจัดส่งเครื่องใหม่เปลี่ยน ทำให้ลดเสียงบ่นลงไปได้มาก
นอกจากนี้ยังมีปัญหาว่า เนื้อหาที่บรรจุลงในแท็บเล็ตยังไม่สามารถตอบโจทย์ของทุกโรงเรียนที่เด็กมีศักยภาพแตกต่างกันได้ ตลอดจนความไม่พร้อมของครูที่จะนำแท็บเล็ตไปใช้ในการเรียนการสอน จนช่วงแรกเกิดปัญหาว่าเด็กนำแท็บเล็ตไปใช้เพื่อการเล่นเกมมากกว่าการเรียนการสอน
และที่สำคัญคือ เป็นภาระของผู้ปกครองที่ต้องชดใช้เงินในกรณีที่แท็บเล็ตสูญหาย
เข้าสู่ปีที่สองในปี 2556 มีปัญหาชวนปวดหัว เมื่อการจัดซื้อจัดจ้างแท็บเล็ตคราวนี้เปิดโอกาสให้ตลาดภายในประเทศไทยเข้ามาแข่งขันประกวดราคาแท็บเล็ตชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 วงเงินจำนวน 4,611 ล้านบาท เมื่อรวมกับงบประมาณปีแรกเท่ากับใช้งบประมาณไปมากกว่า 6,000 ล้านบาท โดยรอบนี้ได้กำหนดราคากลางที่ 82 ดอลลาร์สหรัฐต่อเครื่อง หรือประมาณ 2,770 บาทเท่ากับปีแรก ซึ่ง สพฐ.เป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างแทนโรงเรียนทั้งหมดผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-ออคชั่น ที่แบ่งออกเป็น 4 โซน
ได้แก่ โซนที่ 1 เป็นการจัดซื้อแท็บเล็ตสำหรับนักเรียนชั้น ป.1 (ภาคกลางและภาคใต้) จำนวน 431,105 เครื่อง โซนที่ 2 นักเรียนชั้น ป.1 (ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) จำนวน 373,637 เครื่อง โซนที่ 3 นักเรียนชั้น ม.1 (ภาคกลางและภาคใต้) จำนวน 426,683 เครื่อง และโซนที่ 4 นักเรียนชั้น ม.1 (ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) จำนวน 402,889 เครื่อง
ผลการอี-ออคชั่น ปรากฏว่า บริษัท เสิ่นเจิ้น อิงถัง อินเทลลิเจนท์ คอนโทรล จำกัด (มหาชน) จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ชนะการประกวดราคาในโซนที่ 1 และ 2 ด้วยวงเงิน 30,605,600 บาท และ 786,000,000 บาท ตามลำดับ ส่วนโซน 3 บริษัท สุพรีม ดิสทริบิวชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด ชนะการประกวดราคาด้วยวงเงิน 1,240,900,000 บาท ส่วนโซน 4 ที่เปิดประมูลครั้งแรกไม่มีผู้ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติจนต้องเปิดประมูลรอบใหม่ และต่อมาบริษัท จัสมิน เทเลคอม ซิสเต็มส์ จำกัด (มหาชน) ชนะการประมูลที่ราคา 873,866,241 บาท
แต่ก็เกิดปัญหาการบริหารจัดการที่ล่าช้าข้ามปีจนเด็กชั้น ป.1 ที่ควรจะต้องได้รับแท็บเล็ตได้เลื่อนชั้นขึ้น ป.2 ไปแล้ว เนื่องจาก สพฐ.ต้องยกเลิกสัญญาจัดซื้อจัดจ้างโซนที่ 1 เพราะบริษัทที่ชนะการประมูลไม่สามารถจัดส่งเครื่องได้ตามสัญญา
ส่วนโซนที่ 3 มีปัญหาส่อฮั้วประมูลจนต้องมีการยื่นอุทธรณ์ร้องทุกข์และตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างย้อนหลังนานหลายเดือนจนทำให้กระบวนการต่างๆ หยุดชะงัก กว่าจะทยอยส่งเครื่องให้นักเรียนก็ล่าช้าไปหลายเดือนเลยทีเดียว
เช่นเดียวกับโซนที่ 4 ต้องยกเลิกสัญญาเช่นเดียวกัน เพราะบริษัทที่ชนะการประมูลไม่สามารถจัดส่งแท็บเล็ตได้ตามเวลาที่กำหนด
แต่ทั้งหมดเป็นปัญหาความล่าช้าในการบริหารจัดการ การจัดซื้อจัดจ้าง การจัดส่ง และการที่ สพฐ.ต้องยกเลิกสัญญา น่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตัดสินใจยกเลิกโครงการแจกแท็บเล็ตที่เหลือโซนที่ 4 และของปีงบประมาณ 2557 ทั้งหมด
แต่สิ่งที่พึงประเมินควบคู่คือความคุ้มค่ากับเด็ก
ผลวิจัยและการติดตามผลการใช้แท็บเล็ตของหน่วยงานต่างๆ สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันว่า การแจกแท็บเล็ตให้เด็กทุกคนไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่เสียไป
ตรงกันข้าม หากนำงบประมาณไปทำโครงการอื่นๆ เช่น สมาร์ทคลาสรูม อี-เลิร์นนิ่ง ซึ่งเป็นห้องคอมพิวเตอร์ที่โรงเรียนให้นักเรียนหมุนเวียนมาใช้ จะเกิดประโยชน์ในวงกว้างมากกว่า
ผลการวิจัยระบุว่า นักเรียนทุกคนไม่จำเป็นต้องมีแท็บเล็ตเป็นของตนเองเพราะใช้แท็บเล็ตเรียนเพียงแค่ 1-2 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น ดังนั้นการแจกแท็บเล็ตให้เด็กทุกคนจึงถือว่าไม่คุ้มค่า และไม่เหมาะสม
ขณะที่คุณภาพของเครื่อง เนื่องจากมีราคาถูก ทำให้แท็บเล็ตมีคุณภาพต่ำ อายุใช้งานสั้นเพียงแค่ 3 ปีเท่านั้น เพราะไม่คุ้มค่ากับการซ่อม
ผลของการติดตามโครงการแท็บเล็ตปี 2555 ของนายวัชรินทร์ จำปี ผู้ตรวจราชการ ศธ.ประจำเขตตรวจราชการ 17-18 ในพื้นที่จังหวัดเหนือ ระบุว่า โรงเรียนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะระดับโรงเรียนประถมศึกษาและโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลที่ไม่มีความพร้อมรองรับเพียงพอ จะมีปัญหาในการใช้แท็บเล็ตค่อนข้างมาก เพราะเด็กเล็กยังไม่มีความสามารถในการเก็บรักษาดูแลเครื่อง ขณะที่ยังมีปัญหาขาดแคลนครู โดยเฉพาะครูไอซีที ทำให้ไม่มีครูเชี่ยวชาญด้านไอซีทีมาสอนเด็กรวมถึงมาทำหน้าที่ดูแลรักษาเครื่อง
นอกจากนี้ แบตเตอรี่ไม่สามารถเก็บไฟได้นาน เสื่อมเร็ว รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานของโรงเรียนจำนวนมากที่ยังไม่มีความพร้อมรองรับเพียงพอ ทั้งไม่มีเครือข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ทำให้ไม่สามารถใช้งานแท็บเล็ตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะที่ผลการสำรวจความพึงพอใจของผู้บริหารโรงเรียน ครูผู้สอน ผู้ปกครอง และนักเรียนชั้น ป.1 ที่สำนักติดตามและประเมินผลการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ.ได้สอบถามไปยังโรงเรียนที่ได้รับแท็บเล็ตจำนวน 20,700 แห่ง ครอบคลุมนักเรียน 432,248 คน พบว่า ครูใช้แท็บเล็ตในการเรียนการสอนเฉลี่ยสัปดาห์ละ 4 วัน วันละประมาณ 55 นาที ใช้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิชาภาษาไทยมากที่สุด
ตามด้วยสังคมศึกษา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ตามลำดับ โดยครูผู้สอนเห็นว่าแท็บเล็ตส่งผลดีต่อการจัดการเรียนการสอน 89% ช่วยให้กระตือรือร้น ตั้งใจเรียน 83.68% ปลูกฝังนิสัยการรักสะอาด 61.18%
การสำรวจในครั้งนี้ยังได้สำรวจความสนใจของนักเรียนเมื่อใช้แท็บเล็ตเมื่ออยู่ตามลำพัง พบว่า สนใจเข้าไปใช้สื่อผสม (Multimedia) มากที่สุด 56% รองลงมาเป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-book) และบทเรียน 5 กลุ่มสาระวิชา
ทางด้านผู้ปกครอง พบว่า ผู้ปกครอง 86.1% เชื่อว่าการใช้แท็บเล็ตจะส่งผลดีต่อการศึกษาของเด็ก และผู้ปกครอง 93.9% เชื่อว่าแท็บเล็ตช่วยให้เด็กไทยก้าวทันเทคโนโลยี ส่วนผู้ปกครอง 82% เชื่อว่าแท็บเล็ตจะช่วยให้เด็กไทยรู้จักค้นคว้าหาความรู้ และช่วยให้เด็กไทยก้าวสู่ประชาคมอาเซียนได้ดี 66.8%
ส่วนผู้บริหารโรงเรียนเห็นว่า แท็บเล็ตจะส่งผลดีต่อการจัดการเรียนการสอน 91.52% เป็นวิธีการส่งเสริมความเท่าเทียมทางการศึกษา 85% และจะช่วยเพิ่มคุณภาพการศึกษาหรือมีการพัฒนาขึ้น 77.50%
จากวิจัยที่ปรากฏสามารถจำแนกได้ว่า ผู้บริหารส่วนกลางเห็นว่าแทบเล็ตไม่คุ้มค่ากับการใช้งบประมาณ แต่สำหรับครู นักเรียน และผู้ปกครองแล้ว กลับเห็นเป็นตรงกันข้าม
แกะรอย "แท็บเล็ต" คุ้มหรือไม่คุ้ม. (กรกฎาคม 7, 2557). มติชน, หน้า 6.
|
|