|
ประเพณีงานศพ
ในประเพณีทั้งหลายที่มีสืบทอดกันมา จะขอกล่าวถึงประเพณีการทำศพที่เห็นว่ามีกรรมวิธีมากมายซึ่งอาจมีหลาย ๆ คนที่ไม่เข้าใจ และทำตาม ๆ กันมาโดยไม่ทราบที่มาที่ไปของการกระทำนั้น ๆ
คำว่า ศพ มาจากภาษาสันสกฤต ศว หมายถึง ร่างคนที่ตายแล้ว หรือซากผี มีคติความเชื่อว่ามีวิญญาณอยู่ในร่างกายคน เมื่อสิ้นลมหายใจ จะครบอายุขัยเพราะแก่ชรา โดยภัยเบียดเบียน หรือเหตุใดก็ตามที เมื่อตายแล้ววิญญาณมี ๓ ดวง เมื่อตายแล้ว ดวงหนึ่งจะเข้าไปสิงอยู่ในป้ายวิณณาณสำหรับลูกหลานเซ่นไหว้ในเวลาอันสมควร อีกดวงหนึ่งไปอยู่ที่หลุมฝังศพ สำหรับลูกหลานเซ่นไหว้เช่นกัน อีกดวงหนึ่งไปยังยมโลกเพื่อรับรางวัลในบุญ หรือรับโทษในบาปที่ตนก่อ
อย่างไรก็ตาม คนส่วนมากเชื่อกันว่า คนที่ตายไปแล้วนั้น ตายแต่ร่างกาย มมีอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ตายแต่เปลี่ยนร่างเป็นอีกอย่างหนึ่ง ที่เรียกกันว่า ผี เป็นอมนุษย์ มีทั้งผีดีและผีร้าย ผีชั้นสูงที่เรียกกันว่า ผีฟ้า ที่เชื่อกันว่าอยู่บนสวรรค์ ผีที่อยู่ในเมืองมนุษย์ ถ้าอยู่ตามหุบห้วยป่าดง เช่น เทพารักษ์ เจ้าป่า เจ้าทุ่ง ถ้าอยู่ประจำท้องถิ่น สำหรับบ้านเรือนจะมีพระภูมิเจ้าที่ ผีเหย้าผีเรือน ผีปู่ย่า ตายาย
ดังนั้นการทำศพ จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับผี เกี่ยวกับผู้ตาย จึงต้องมีพิธีกรรม เพื่อป้องกันผีไม่ให้มาทำคนเป็นเดือดร้อน
เหตุที่ต้องทำศพ
๑. ทำพิธีเซ่นไหว้ อุทิศให้แก่ผู้ตาย ว่าผู้ตายมีลักษณะความเป็นอยู่คล้ายคลึงกับคนเป็น
๒. ปัดรังควาน เพื่อป้องกันการรบกวน
๓. ทำพิธีทางลัทธิศาสนา เพราะต้องการให้ผู้ตายได้รับประโยชน์แห่งความสุขในโลกหน้าให้มากที่สุดซึ่งทางลัทธิศาสนา จะพึงให้ได้ และเป็นการระลึกถึงพระคุณด้วยความกตัญญูกตเวที
ดังนั้น ความจำเป็นที่ต้องทำศพ สุดแต่วิธีใดจะเห็นว่าเป็นเครื่องช่วยให้ผู้ตายได้รับความสุข และเป็นเกียรติยศเชิดชูผู้ทำและผู้ตาย ซึ่งส่งเป็นจารีตประเพณี คือ เคยทำกันมาก่อน และมีธรรมเนียมสืบกันมา จารีตประเพณีจึงเป็นมรดกของบรรพบุรุษตกทอดมาถึงรุ่นเรา
ในส่วนที่เกี่ยวกับศพ สิ่งสำคัญประการแรกที่ต้องทำคือ การอาบน้ำ
ตามคติโบราณถือว่าการอาบน้ำเป็นการชำระมลทินในร่างกาย ได้แก่
- อาบน้ำเมื่อโกนผมไฟ เพื่อล้างผมที่โกนแล้วไม่ให้ติดตัว
- อาบน้ำเมื่อโกนจุก
- อาบน้ำเมื่อต่างงานเพื่อทำตัวให้สะอาดก่อนเข้าหอแต่ต่อมากลายเป็นสาระสำคัญของพิธีแต่งงาน คือการรดน้ำสังข์
- อาบน้ำเมื่อตาย
การอาบน้ำศพ คือการอาบน้ำชำระศพให้สะอาด เมื่ออาบน้ำแล้วต้องหวีผม หวีที่ใช้นั้นเมื่อเสร็จแล้วต้องหักทิ้ง ใช้ผ้าขาวนุ่งให้ศพโดยเอาชายพกไว้ข้างหลัง เมื่อนุ่งห่มเช่นนี้แล้ว ให้นุ่งห่มตามธรรมดาทับอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นปริศนาธรรม อธิบายได้ว่า คนเราเกิดมา ตายแล้วเกิดใหม่ ทนทุกขเวทนาเวียนว่ายตายเกิดไม่จบสิ้น เมื่ออาบน้ำ นุ่งผ้า หวีผมให้ศพเรียบร้อยแล้ว จะต้องปิดหน้าศพ การปิดหน้าศพใช้ขี้ผึ้งหนาประมาณครึ่งนิ้ว กว้างยาวขนาดหน้าของศพ แผ่ปิดหน้าเหมือนปิดด้วยหน้ากาก ในราชสำนักถ้าเป็นพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดิน จะใช้แผ่นทองปิดพระพักตร์ นอกจากนี้มีกรวยดอกไม้ ธูปเทียน ใช้ดอกไม้หนึ่งดอกเทียนหนึ่งเล่ม ใส่กรวยใบตองให้ศพพนมมือถือไว้ เพื่อนำไปไหว้พระจุฬามณีบนสวรรรค์
การนำเงินใส่ปากศพ เพื่อเป็นทางให้พิจารณาว่าบรรดาทรัพย์สินที่สะสมไว้ แม้มากเท่าใดก็นำไปไม่ได้จะเอาไปได้ก็แต่กรรมดีที่ติดตามไป แต่อย่างไรก็ตามชาวยิวก็ยังนิยมเอาเหรียญเงินใส่ปากศพ ส่วนชาวยุโรปที่นับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก จะเอาเงินหนึ่งเพนนีวางไว้ตรงกระบอกตาของผู้ตาย เพื่อเป็นค่าจ้างข้ามแม่น้ำแห่งความตาย ตามความเชื่อที่มีมาแต่โบราณ
การบรรจุศพ มีทั้ง หีบศพ โกศ และลุ้น การนำศพใส่โกศ สำหรับพระเจ้าแผ่นดินนั้นเนื่องจากคติทางศาสนาพราหมณ์ว่า เป็นเทวดาจุติลงมาเมื่อเสด็จสวรรคตแล้ว พระวิญญาณจะเสด็จคืนไปสู่สวรรค์ก่อนถวายพระเพลิงจึงต้องแต่งพระสรีระให้สมกับที่เป็นเทวดา และต้องถวายพระโกศใส่พระศพให้เหมือนประทับในปราสาท แต่เดิมมีพระโกศเฉพาะพระเจ้าแผ่นดิน ต่อมาโปรดเกล้าฯให้ใส่โกศเป็นเกรียติยศไปถึงพระศพพระมเหสี และเสนาบดีผู้มีความชอบต่อแผ่นดิน ปัจจุบันผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตั้งแต่ชั้นประถมมาภรณ์มงกุฎไทยขึ้นไป ก็จะได้รับพระราชทานโกศใส่ศพ
บุคคลธรรมดา ใช้บรรจุศพลงในหีบศพ และยังมีหีบศพที่เป็นหีบพระราชทานแก่ผู้สมควรได้รับพระราช-ทานซึ่งไม่ถึงขั้นที่จะพระราชทานโกศ เช่น หีบเชิงชาย
ส่วน ลุ้ง เป็นธรรมเนียมของจีน สำหรับใส่ศพพระจีนที่มรณภาพ โดยมิได้จัดตามสมณศักดิ์แต่อย่างไรหากอยู่ที่ลักษณะว่านั่งตายหรือนอนตาย ถ้านั่งตายก็ทำลุ้งให้ ถ้านอนตายก็ทำหีบใส่ เพราะไม่อยากถูกต้องแผ้วพานกับศพ ตายเท่าใดก็คงไว้ท่านั้น ทั้งนี้เป็นลักษณะของพระจีนที่บางรูปนั่งทำสมาธิไปจนตาย
เมื่อบรรจุศพลงในหีบแล้ว จะได้กล่าวถึงพิธีกรรมในงานต่อไป เริ่มต้นเมื่อเข้าไปในงานศพ เราจะเห็นพวงหรีด ที่องค์หรือผู้คุ้นเคย ญาติสนิทมิตรสหายของผู้ตาย นำไปเคารพศพ
พวงหรีด ต้นเหตุที่เกิดการวางพวงหรีดในงานศพเชื่อกันว่า พวงมาลาเป็นของสูงสำหรับรัดเศียรเทวดาต่อมากลายเป็นพวงหรีดและมงกุฎฝรั่ง อาจเป็นเพราะพวงหรีดไม่อ่อนปวกเปียกเหมือนพวงมาลา ใช้สอยได้สะดวกกว่า กรีกและโรมันมีธรรมเนียมว่า ถ้าผู้ใดไปรบทัพจับศึกและชนะกลับมา ประชาชนจะสวมพวงหรีดให้เป็นเกียรติยศ แม้ในปัจจุบัน เมื่อจะให้รางวัลผู้แข่งขันที่ได้ชัยชนะ ก็สวมพวงหรีดให้เป็นเกียรติยศ แต่ของไทยสวมพวงมาลา การสวมพวงมาลาให้แก่ผู้ตาย ถือว่าเป็นการให้เกียรติผู้ตายเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งเป็นพิธีกรรมของฮินดูในการสวมพวงมาลัยให้แก่ผู้ตาย แต่ปัจจุบันการนำพวงหรีดไปวางหน้าศพผู้ตาย ถือกันว่าเป็นการไว้อาลัยหรือเป็นเครื่องหมายแสดงความเศร้าโศกเท่านั้น
ภาพการเผาศพในงานศพพระ วัดดอยขะม้อ
งานศพพระ วัดดอยขะม้อ
การตามไฟหน้าศพ เป็นพิธีกรรมทางฮินดู แต่เดิมไฟนั้นใช้น้ำมันมะพร้าวใส่กะลามะพร้าว ใช้นมไม้ทองหลางร้อยด้ายเป็นไส้ บางทีใส่เกลือด้วย มีภาชนะบรรจุข้าวเปลือกกรองรับตะเกียงกะลามะพร้าว เหตุที่ตามไฟศพ อธิบายตามหลักพระพุทธศาสนาว่า มนุษย์เรานั้นมี ๔ จำพวก
๑. มาสว่างไปสว่าง พวกที่เกิดมาพบพระพุทธศาสนามีความเลื่อมใสนับถือ เจริญภาวนาปฏิบัติธรรมจึงได้ชื่อว่า มาสว่างไปสว่าง
๒. มาสว่างไปมืด พวกที่เกิดในพระพุทธศาสนาแต่ไม่เลื่อมใสศรัทธา ไม่ประพฤติปฏิบัติในศีล ไม่เลื่อมใสและไม่ปฏิบัติธรรม พวกนั้นถือว่า มาสว่างไปมืด
๓. มามืดไปสว่าง คือคนที่ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา ภายหลังมาเลื่อมใสศรัทธาบำเพ็ญทานศีลภวานาได้ชื่อว่ามามืดไปสว่าง
๔. มามืดไปมืด คือพวกที่เกิดมาจนตายก็ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา ได้ชื่อว่ามามืดไปมืด
ตามลัทธิฮินดู เหตุที่ตามไฟหน้าศพเพื่อเป็นเครื่องเตือนสติคนเป็นให้หาทางไปแต่ทางสว่าง หรืออีกนัยหนึ่งเมื่อยังมีชิวิตอยู่ ธาตุทั้ง ๔ ยังอยู่พร้อม ครั้นเมื่อตายแล้วธาตุทั้ง ๔ ก็แยกกัน จึงจุดไฟตามไว้
การสวดหน้าศพ ถือว่าเป็นเรื่องสอนคนเป็น เพื่อจะได้พิจารณาในมาณานุสสติ
การทำบุญหน้าศพ ตามประเพณีจีนและมอญนั้นจะทำบุญหน้าศพทุก ๆ วัน นับตั้งแต่วันตายไปจนครบ ๗ วัน เมื่อครบ ๗ วันแล้ว จึงจะทำบุญอีกครั้งหนึ่งและทำไปอีก ๗ ครั้ง ครบ ๕๐ วัน แล้วหยุดไปถึง ๑๐๐ วัน จึงทำพิธีใหญ่เป็นครั้งสุดท้าย และพิธีกงเต็กในงานศพก็ทำเช่นกัน
ประเพณีของคนไทย เดิมเราไม่มีการทำบุญ ๕๐ วัน และ ๑๐๐ วัน เพราะเราจะไม่เก็บศพไว้เกิน ๗ วันแต่การทำบุญดังกล่าวเป็นประเพณีของจีนและมอญ เพิ่งมีทำในราชกาลที่ ๕ ครั้งงานพระศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ มีการทำกงเต็ก ถือเป็นประเพณีที่เกิดขึ้น และมีสืบมาจนทุกวันนี้ และถือเป็นต้นแบบการทำบุญที่เรียกว่า สัตตมวาร (ทำบุญ ๗ วัน) ปัญญาสมวาร (ทำบุญ ๕๐ วัน) และสตมวาร (ทำบุญ ๑๐๐ วัน)
ธูป เทียน ดอกไม้จันทน์ ธูปและเทียนนั้นสำหรับขมาศพ ส่วนดอกไม้จันทน์คือเชื้อเพลิงสำหรับเผาศพประเพณีฮินดูนั้น เมื่อเกิดมาต้องจุดคบเพลิง ๑ ดวงไว้สำหรับตัวและต้องรักษาคบเพลิงนั้นไว้ตลอดชีพ เมื่อชีวิตดับใช้เพลิงนั้นเผาศพเป็นที่สุด แต่เรารับธรรมเนียมนี้มาใช้แต่เพียงจุดเทียนกัลเม็ดเมื่อเกิด และเมื่อตายมีเพลิงเผาศพ
การนำศพเวียนเชิงตะกอน โดยการเวียนซ้ายไปขวาให้ครบ ๓ รอบ อธิบายเป็นปริศนาธรรมได้ว่าสัตว์ทั้งหลายย่อมเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพทั้ง ๓ เป็นการเตือนสติผู้ยังไม่ตาย แต่บางท่านว่า เวียน ๓ รอบ ได้แก่ พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจํ ทุกขํ อนตฺตา เกิดมาเป็นทุกข์ มีความปรวนแปร ในที่สุดก็ตายเอาอะไรไปก็ไม่ได้ เป็นของเปล่าทั้งสิ้น ประเพณีฮินดูผู้เป็นทายาทเท่านั้นจะเวียนเชิงตะกอน ๓ ครั้ง และแบกหม้อน้ำไปด้วย ปล่อยให้น้ำหยดไปตลอดทาง แล้วเอาหม้อกระแทกกับหัวศพให้หม้อแตก หรืออีกนัยหนึ่ง ให้ผู้ตายได้ร่ำลาบรรดาญาติสนิทมิตรสหายที่มาร่วมงาน
การนำน้ำมะพร้าวล้างหน้าศพ เมื่อถึงเวลาจะเผาศพ จะนำมะพร้าวผลหนึ่งกะเทาะเปลือกเตรียมไว้ต่อยเอาน้ำรดหน้าศพ (เนื้อมะพร้าวที่หลังจากใช้น้ำล้างหน้าศพแล้วเชื่อกันว่าถ้าใครได้กินจะแก้การนอนกัดฟันได้) เรื่องนี้อธิบายเป็นปริศนาธรรมได้ว่า น้ำที่อยู่ในมะพร้าวมีเครื่องห่อหุ้มหลายชั้น เป็นของสะอาดผิดกับน้ำธรรมดา ซึ่งขุ่นระคนไปด้วยเปือกตม เปรียบด้วยกิเลศราคะที่ดองสันดานอยู่ เมื่อเอาน้ำมะพร้าวล้างหน้าศพ หมายความว่า ได้เอาสิ่งที่สะอาดจริง ๆ ล้างสิ่งโสโครก เท่ากับเอากุศลกรรม ฉะนั้น
ประเพณีมอญ ก่อนเผาศพ ทอดผ้าขาวชักมหาบังสุกุล จะต่อยมะพร้าว เอาน้ำราดหัวโลง ส่วนประเพณีชวา เวลานำศพลงหลุมจะต่อยมะพร้าวซีกหนึ่งวางไว้ทางศีรษะศพ อีกซีกหนึ่งวางไว้ปลายเท้าศพ
มะพร้าวนั้น ตามคติอินเดียในมัธยมประเทศ ถือว่าเป็นผลไม้ศักดิ์สิทธิ์ เรียกว่า ศรีผล หรือผลไม้ที่มีสิริ มะพร้าวเป็นเครื่องหมายแห่งความอุดมสมบูรณ์เมื่อจะทำพิธีใด ๆ จะขาดมะพร้าวไม่ได้ ส่วนงานศพพวกพราหมณ์บางแห่ง เมื่อหามศพไปถึงป่าช้าที่เผาวางพักศพลงบนแท่นที่พักศพก่อด้วยอิฐ เรียกว่าแท่นวิศราม นำมะพร้าว ๔ ผล ที่ผูกติดมากับที่หามศพต่อยให้แตก แล้วจึงยกศพไปเผา ตามคติของชาวฮินดูที่ว่าเวลาโยคีตายไป วิญญาณหรืออาตมันจะออกทางขม่อม เมื่อโยคีตนใดจะตาย เขาจะยกเอาไปไว้ในที่โปร่ง ๆ เพื่อให้อาตมันออกไปได้สะดวก เวลาเผาศพ พวกฮินดูฝ่ายเหนือ จะเอาไม้กระทุ้งกระโหลกศพให้แตก ในขณะที่ไฟไหม้ศพจวนจะมอด เพื่อให้อาตมันออกไป บางแห่งกล่าว พวกสันยาสี (นักบวช) เมื่อรู้ตัวว่าจะตาย สั่งให้พวกศิษย์พยุงตนขึ้นนั่งในหลุมที่เตรียมไว้และโรย เกลือให้ทั่ว พอจวนสิ้นใจ ศิษย์คนหนึ่งจะเอามะพร้าวห้าวหรือหินกระแทกศรีษะสันยาสีโดยแรง เพื่อให้ขม่อมแยกอาตมันจะได้หนีไปทางเบื้องสูง ถ้าไม่เช่นนั้น เวลาตายอาตมันจะออกทางทวารหนัก ซึ่งถือว่าไม่ดี เป็นเครื่องหมายของคนบาป คล้ายกับเรื่องทุบกะโหลกมะพร้าวของเรา ซึ่งอาจเป็นได้ว่าเราได้คตินี้มาจากฮินดู แต่เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะยังรู้สึกสมเพชเวทนาศพอยู่ จึงเปลี่ยนเป็นต่อยมะพร้าวแทน เพื่อนำน้ำมะพร้าวล้างหน้าศพ ซึ่งเชื่อกันว่าน้ำมะพร้าวล้างหน้าศพ ซึ่งเชื่อกันว่า น้ำมะพร้าวเกิดจากศรีผล หรือผลไม้อันเป็นสิริ จึงนำมาล้างหน้าศพเพื่อเอาเคล็ดดังกล่าว
การปลงศพ ตามแบบฉบับของอินเดีย มี ๒ แบบ
๑. คติทางพระพุทธศาสนา ใช้หีบศพใส่ศพ เมื่อเผาแล้วนำอัฐิไปบรรจุในสถูปหรือเจดีย์
๒. คติทางศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู ใช้โกศใส่ศพ เมื่อเผาแล้วนำอัฐิลอยน้ำ
ข้อนี้ยังเป็นประเพณีของคนไทยส่วนมาก ที่เรียกกันว่า ลอยอังคาร ที่เป็นเช่นนี้เพราะได้อิทธิพลทางศาสนาพราหมณ์จากขอม
การเดินสามหาบ หลังจากทำพิธีเผาศพแล้ว จะมีกรรมวิธีที่ถือกันว่าเป็นประเพณีเก่าแก่ เรียกว่า การเดินสามหาบ คือ การจัดทำสำรับคาวหวานหาบไปถวายพระสงฆ์ในวันรุ่งขึ้นจากที่ได้ทำพิธีเผาแล้ว
แปรรูปเก็บอิฐ เช้าวันรุ่งขึ้นหลังจากเผาศพแล้วจะนำอัฐิในกองฟอนมาเรียงเป็นรูปคน โดยเก็บส่วนของกระดูกเข้าลำดับของรูปเท่าที่จะทำได้ โดยหันหัวของรูปไปทางทิศตะวันตก สมมุติว่าตาย แล้วนิมนต์พระมาบังสุกุลผู้ตาย เสร็จแล้วเกลี่ยแปรรูปทำเป็นรูปใหม่ให้หันหัวไปทางตะวันออก สมมุติว่าเกิด และเอาเงินปลีกวางไว้บนอัฐิ ใช้ดอกไม้โปรยและประพรมด้วยของหอม แล้วพระจะบังสุกุลอีกครั้ง เสร็จแล้วเก็บอัฐิบางส่วนบรรจุไว้ในสถูปหรือเจดีย์ ส่วนอัฐิและเถ้าถ่านที่เหลือนำไปลอยในแม่น้ำ ที่เรียกกันว่า ลอยอังคารซึ่งเป็นคติทางศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู
การไว้ทุกข์ อาจเป็นเรื่องยุ่งยากด้วยเรื่องเกียรติยศและการถือชั้นกัน แต่ก่อนมีทั้งนุ่งดำ นุ่งขาว นุ่งน้ำเงิน และนุ่งผ้าสีนกพิราบ บางทีมีการโกนหัว อย่างไรก็ตามปรกติจะใช้สีดำ แต่ถ้าเป็นคนจีน คนในบ้านจะนุ่งขาวตลอดในวันปลงศพ แต่ถ้าเป็นแขกจะนุ่งดำและน้ำเงินสำหรับสีน้ำเงินนี้น่าจะเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๖เนื่องจากข้าราชการในสมัยนั้นนุ่งผ้าม่วงสีน้ำเงิน เมื่อไปในงานศพที่ไม่ได้เกี่ยวข้องเป็นญาติกับผู้ตาย แต่ประสงค์จะให้เป็นเกียรติยศแก่งาน จึงแต่งเครื่องแบบข้าราชการพลเรือนไป
ประเพณีในการไว้ทุกข์ แต่โบราณถ้าเป็นญาติผู้ใหญ่ เช่น บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ก็จะไว้ทุกข์กันไม่เกินหนึ่งปี แต่ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนไป ความจำเป็นในชีวิตปัจจุบันเปลี่ยนไป การไว้ทุกข์จึงอยู่ที่ความพร้อมของบุตรหลาน ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ ๑๐๐ วัน เป็นส่วนมาก
การโกนหัวไว้ทุกข์ ได้รับอิทธิพลจากอินเดียในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธ-ยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จสวรรคต ได้มีการให้ชายและหญิงโกนผมทุกคน เดือนละครั้ง จนกว่าจะถวายพระเพลิงพระบรมศพ เมื่อครั้งกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาทสวรรคต ใน พ.ศ. ๒๓๔๖ ก็เช่นกัน แต่มีบางเมืองยกเว้นเพื่อปิดบังไม่ให้ข้าศึกรู้เรื่องการสวรรคตเมืองที่ได้รับการยกเว้นได้แก่ เมืองตาก กำแพงเพชรศรีสวัสดิ์ ไทรโยค เมืองหน้าด่าน ลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน เชียงใหม่ หลวงพระบาง เวียนจันทน์ เมืองลาว เมืองเขมร ให้มีตราบอกไปให้ทราบ
ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า ตามโบราณราชประเพณี เวลาพระเจ้าแผ่นดินสวรรคคต พระบรมวงศ์ ข้าราชการและบรรดาราษฎรทั้งหลาย ต้องโกนผมแทนการไว้ทุกข์ทั่วพระราชอาณาจักร การไว้ทุกข์ด้วยวิธีการดังกล่าวนั้น ย่อมเป็นเครื่องเดือดร้อนอยู่เป็นส่วนมาก จึงมีพระบรมราชโองการให้ยกเลิกการโกนผมตั้งแต่นั้นมา
มีประเพณีทางภาคอีสานที่น่าสนใจเกี่ยวกับการบอกงานศพ กล่าวคือจะใช้วิธีตีกลอง ใครได้ยินก็ไปเองตามใจสมัคร ไม่จำเป็นต้องบอก จะบอกแต่คนที่โกรธกับผู้ตาย เพื่อให้ไปขอขมาลาโทษเป็นครั้งสุดท้าย แต่ในปัจจุบันไม่เป็นเช่นนั้น เพราะถือกันว่าการไปเผาศพเป็นเรื่องได้บุญ จะรู้จักหรือไม่รู้จักก็ไปเผาได้ประการสำคัญหนังสือที่เจ้าภาพพิมพ์แจกในงานศพ เป็นหนังสือที่มีผู้ประสงค์จะได้รับกันมาก เพราะส่วนมากเรื่องที่นำมาพิมพ์นั้น หาไม่ได้ในตลาดหนังสือทั่วไป
จารีตประเพณีที่พึงทำเมื่อกลับจากงานเผาศพ ต้องล้างหน้า ล้างมือ ล้างเท้า หรืออาบน้ำชำระร่างกายเพื่อปลดเปลื้องมลทินที่ไปเผาศพ เพื่อล้างจัญไรที่อาจติดมาให้สะอาดหมดจดกลับเป็นมงคลอีก ประเพณีที่ทำกันในชนบท จะตักน้ำใส่ครุตั้งไว้หลาย ๆ ครุ เมื่อเสร็จจากเผาศพ ผู้ที่มาจะวักน้ำในครุล้างหน้าและล้างศรีษะก่อนกลับบ้าน
ในเบื้องต้น ได้กล่าวถึง ดอกไม้จันทน์ ธูป เทียน ที่เกี่ยวกับงานศพมาแล้ว จะรวมกล่าวถึง ดอกไม้ธูป เทียน ที่ใช้ในกิจกรรมอื่นเพื่อให้สมบูรณ์เพราะเป็นเรื่องใกล้กัน
ดอกไม้ ตามคติพราหมณ์ ดอกไม้ไม่มีกลิ่นหรือมีกลิ่นเหม็น ไม่ให้นำมาบูชาเทพเจ้า
ประเพณีเก่าของไทย วันสงกรานต์หรือวันปีใหม่ผู้คนจะเก็บดอกไม้มาบูชาพระพุทธรูปในวัด ทำบุญใส่บาตรพร้อมธูปเทียน บางครั้ง หัวเรือซึ่งเป็นที่สิงสถิตของแม่ย่านางเรือก็ใช้ดอกไม้ประดับ แสดงว่าดอกไม้เป็นของสูง และของงาม จึงใช้เป็นเครื่องประดับ ดังนั้นประเพณีที่นำดอกไม้หรือพวงหรีด ไปวางเป็นเครื่องเคารพ ขมาศพ ก็เป็นคติเดียวกัน
ธูป เป็นคำสันสกฤตและบาลี แปลว่า กลิ่นหอมเครื่องหอม สิ่งเหล่านี้เป็นที่พึงใจของมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ จึงได้หาอุบายที่จะถวายกลิ่นหอมแก่เทวดา แต่เดิมคงใช้กองไฟเผา ต่อมาจึงได้นำภาชนะรองรับ เช่น ตะคันเผาธูป ชาวอียิปต์และกรีกใช้ในการทำพิธี ส่วนธูปที่เราใช้อยู่เข้าใจว่าคงได้มาจากจีน การจุดไฟให้เกิดเป็นควันหอม เท่ากับส่งอาณัติสัญญาณไปเมืองสวรรค์ให้เทวดาทราบ เพื่อให้รู้ว่ามีผู้มาบูชา เพื่อขอความช่วยเหลือ
เทียน มนุษย์เชื่อกันว่า การจุดเทียนบูชาคือความสว่าง เป็นเครื่องหมายแห่งความเจริญรุ่งเรือง และเป็นลักษณะของเทวดา หรือพระเจ้าซึ่งเรามองไม่เห็น และอีกอย่างหนึ่งเชื่อกันว่า ไฟสามารถชำระล้างบาปมลทินได้ การจุดประทีปให้มีแสงสว่างเป็นเครื่องบูชานั้น จัดเป็นมงคลในทางลัทธิศาสนา
รวมความว่า ดอกไม้เป็นสิ่งงดงาม ธูปเป็นสิ่งหอมเทียนเป็นแสงสว่าง ล้วนเป็นสิ่งดีทั้งสิ้น ดังนั้นการให้ของทั้งสามสิ่งนี้ แสดงให้เห็นด้วยตา เพื่อบูชาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์และผู้ที่ตนเคารพนับถือ ท่านผู้ใหญ่กล่าวว่าผู้ให้เป็นผู้บูชา ผู้รับเป็นผู้รับบูชา ผู้ให้ต้องเป็นผู้น้อยผู้รับต้องเป็นผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ด้วยทรงคุณความดีด้วยยศ ด้วยอายุ การนำดอกไม้ ธูป เทียน ไปเผาศพ คือการไปขมาศพ เป็นการอโหสิกรรม ซึ่งเท่ากับเป็นการบูชาให้เกียรติผู้ตาย
บทสรุปตรงนี้คือ ความเชื่อถือของคนแต่ก่อนซึ่งถือเป็นประเพณีสืบต่อกันมา ถ้าเอาความเห็นของคนถือเป็นประเพณีสืบต่อกันมา ถ้าเอาความเห็นเป็นการเชื่อถือกัน อย่างเหลวไหล ไม่มีเหตุผล ทั้งนี้เพราะเอาของใหม่ไปวัดของเก่า ความเชื่อถือของคนในสมัยใด ก็ย่อมต้องเป็นไปตามความต้องการของคนในสมัยนั้นเพราะจารีตประเพณีที่เกิดขึ้นต้องมีเหตุผลที่ถือกันว่าเป็นคุณประโยชน์ต่อส่วนรวม จารีตประเพณีนั้นจะเสื่อมสลายไปหรือ ไม่อยู่ที่การแก้ไขให้เหมาะ และแก้ไขเปลี่ยนแปลงพอกพูนกันเรื่อยมา นับได้หลายชั่วอายุคนจนเกิดเป็นจารีตประเพณีในทุกวันนี้
ที่มา
ช่อทิพย์ จำนงค์วงศ์. (2555). ประเพณีงานศพ. ค้นจาก
http://www.thairegaliabychad.com/?p=211
|
|