|
ประเพณีงานศพ
ประเพณีงานศพ อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ประเพณีงานศพ เป็นการประกอบพิธีที่ลูกหลานหรือเครือญาติจัดให้กับผู้ตาย ประเพณีนี้ชาวไชยาถือปฏิบัติกันมาช้านาน และยังกระทำกันทุกหมู่บ้าน
การจัดงานศพของชาวไชยาก็คล้ายคลึงกับท้องถิ่นอื่นๆ กล่าวคือเมื่อมีคนตาย ลูกหลานหรือครอบครัวก็จะจัดงานศพให้ถูกต้องตามประเพณี แม้ว่าจะอยู่ในระหว่างการเศร้าโศกสักเพียงใดก็ตาม สิ่งที่ต้องจัดการกับศพเป็นอันดับแรกคือ การอาบน้ำทำความสะอาดศพ ประพรมแป้งน้ำหอมอย่างดี แล้วแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าชุดที่ผู้ตายชอบใส่ การแต่งตัวให้ศพนั้นบางท้องที่จะแต่งตัวให้กลับกับที่คนเป็นใส่ โดยให้ด้านหน้าไปอยู่ด้านหลัง ตอนอาบน้ำศพนี้ ถ้าคนตายเป็นผู้ที่มีผู้คนเคารพนับถือมากๆ ก็จะเชิญแขกเหรื่อมาอาบน้ำศพอีกด้วย โดยวางศพไว้บนเตียงทอดมือขวาเหยียดออกไปให้ผู้มาอาบน้ำศพได้รดน้ำที่มือ หลังจากอาบน้ำศพแล้วเป็นหน้าที่ของสัปเหร่อ หรือผู้ที่จะจัดการกับศพ มีการเอาเหรียญหรือแหวนใส่ปากศพ ซึ่งบางกระแสว่าจะได้ให้ผู้ตายไปซื้อที่อยู่จากเจ้าเปรว หรือติดตัวเอาไปใช้ ขี้ผึ้งทาปากและปิดตาศพจัดศพให้เรียบร้อยพนมมือ ในมือศพมีดอกไม้ธูปเทียนเพื่อเอาไปบูชาพระจุฬามณีบนสวรรค์ และมัดศพเรียกว่าตราสัง การมัดศพนี้บางแห่งมัด 3 เปลาะ คือทำเป็นบ่วงผูกคอ มือ และเท้า หมายถึง ห่วงบุตร ห่วงภรรยา (สามี) และห่วงทรัพย์ บางแห่งมัด 5 เปราะ อันหมายถึงขันธ์ทั้งห้าคือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ การตราสังจะใช้ผ้าขาว เมื่อจัดการเกี่ยวกับศพเรียบร้อยก็จะบรรจุศพลงในโลง โลงศพในปัจจุบันจะใช้โลงไม้ที่จะเผาจริงอยู่ด้านในและครอบด้วยโลงที่แกะสลักอย่างสวยงามของวัดอีกชั้นหนึ่ง ในสมัยก่อนจะใช้โลงศพนอนตะแคง เพราะเวลาศพพองอืดจะไม่คับโลงหรือดันให้โลงโป่งออก แต่ปัจจุบันมักจะให้ศพนอนหงาย เพราะก่อนบรรจุศพได้ฉีดยาไว้แล้ว ปัญหาศพพองอืด ส่งกลิ่นเหม็นจึงหมดไป
การตั้งศพในบ้านหรือในวัดนั้น มักจะยึดถือว่าถ้าศพตายนอกบ้าน จะนิยมไว้ที่วัดโลงศพจะต้องตั้งให้ศีรษะผู้ตายอยู่ทางทิศตะวันตก เครื่องประกอบหน้าโลงศพนั้นเจ้าภาพจะต้องจัดโต๊ะหมู่บูชา พานใส่ธูปเทียนและไม้ขีดไฟเพื่อให้แขกมาเคารพศพ นอกจากนั้นจะมีรูปถ่ายผู้ตาย ภูษาโยงสายสิญจน์ และเครื่องอาหารคาวหวานชุดเล็กๆ ไว้เซ่นศพ และนิมนต์พระ 4 รูป มาสวดจะคืนละกี่เตียงก็แล้วแต่กำหนด บางคืนอาจมีการแสดงพระธรรมเทศนาด้วย
ในพื้นที่อำเภอไชยา การสวดมาลัยจะมีการสวดแทบทุกงานศพ โดยที่คณะมาลัยจะมาร่วมงานด้วยความสมัครใจ การสวดมาลัยจะเริ่มขึ้นภายหลังจากสวดอภิธรรมเสร็จ การสวดมาลัยนี้จะสวดกันจนสว่าง เป็นการสวดเพื่อเป็นเพื่อนศพ และเป็นเพื่อนแขกหรือเจ้าภาพที่เฝ้าศพทั้งคืนนั่นเอง
งานศพจะจัดเป็นเลขคี่ อาจเป็น 3 วัน 5 วัน 7 วัน ก็แล้วแต่เจ้าภาพ บางครั้งอาจต้องรอญาติที่ไปทำงานต่างถิ่นให้มาพร้อมหน้าพร้อมตากัน ซึ่งจะจัดงานไว้นาน นอกจากนี้อยู่กับฤกษ์วันเผา เช่น ไม่นิยมเผาศพในวันแรม 15 ค่ำ หรือบางแห่งถ้าตายวันเสาร์จะไม่เผาวันอังคารเพราะเชื่อว่าผีดุ การเคลื่อนเผาไปยังสุสานต้องมีพระเดินนำหน้าศพเรียกว่า พระนำทาง และพระองค์อื่นๆ จะอยู่ในขบวนสวดอภิธรรมไปตลอดทาง ก่อนเผานำศพไปวางบนศาลาเพื่อให้พระสวดอภิธรรม แสดงธรรมเทศนาและทอดผ้าบังสุกุล ตอนวางศพบนเชิงตะกอนญาติมิตรและแขกที่มาร่วมงาน จะเอาไม้จันทน์ ธูปเทียนที่จัดไว้ให้กราบเคารพศพ และจะมีการเปิดโลงให้ลูกลานญาติมิตรได้เห็นศพเป็นครั้งสุดท้ายก่อนเผา ตอนเผาจะมีการทิ้งเบี้ยที่เชิงตะกอนและการโปรยเงินเป็นการซื้อที่ให้ผี หลังจากนั้นจะเป็นหน้าที่ของสัปเหร่อที่จะจัดการดูแลให้ไฟเผาไหม้ศพจนหมด
หลังการเผาจะมีการเก็บอัฐิไว้บูชา ซึงมักจะทำตอนเช้าตรู่ของวันรุ่งขึ้น เพราะไฟที่เผาศพมอดแล้ว ก่อนจะเก็บอัฐิต้องนิมนต์พระมาแปรรูป โดยใช้ไม้เขี่ยกองกระดูกทำเป็นรูปคนศีรษะหันไปทางทิศตะวันตกพระชักผ้าบังสุกุลลบรูปเดิมทำเป็นรูปคนใหม่ให้ศีรษะหันไปทางทิศตะวันออกสมมุติว่าเกิด พระชักผ้าบังสุกุลเป็น เมื่อเสร็จพิธีก็ใช้น้ำมนต์ประพรมกองกระดูก แล้วเก็บส่วนที่สำคัญตามสมควรล้างให้สะอาด ประพรมน้ำหอมเก็บไว้บูชา ส่วนที่เหลือเก็บฝังจนหมด
การเก็บกระดูกไว้บูชาอาจจะใส่โกศเก็บไว้ที่บ้านหรือทำ บัว ใส่กระดูกไว้ที่วัดหรือในสวนก็ได้ ทั้งนี้เพื่อช่วยป้องกันคุ้มครองลูกหลานต่อไป ก็เป็นอันเสร็จพิธีงานศพ
ที่มา
โปรแกรมวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี. (2555).
ประเพณีงานศพ. ค้นจาก http://kno.sru.ac.th/e473/e1014/
|
|