เลือกบทความ

การศึกษาพิเศษ (Special Educational)

การศึกษาพิเศษหมายถึงอะไร
การศึกษาพิเศษ หมายถึง การจัดการศึกษาให้สำหรับบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ ได้แก่ เด็กปัญญาเลิศ เด็กที่มีความบกพร่องด้านสติปัญญา เด็กที่มีปัญหาด้านการเรียนรู้ เด็กพิการซ้ำซ้อน เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพ เด็กที่มีความบกพร่องด้านสายตา เด็กที่มีความบกพร่องด้านการได้ยิน เด็กที่มีปัญหาด้านอารมณ์ และสังคม หรือเด็กที่มีปัญหาด้านพฤติกรรม ซึ่งเด็กกลุ่มพิเศษเหล่านี้จะไม่สามารถได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากการจัดการศึกษาแบบเดียวกันกับเด็กปกติ
ดังนั้น การศึกษาพิเศษจึงมีความจำเป็นต่อการจัดการศึกษาแก่เด็กกลุ่มพิเศษดังกล่าว ซึ่งการจัดการศึกษาพิเศษได้รวมถึงด้านกระบวนการสอน วิธีการสอน เนื้อหาวิชา (หลักสูตร) เครื่องมือและอุปกรณ์ในการจัดการเรียนการสอนที่สนองตอบต่อความสามารถ และความต้องการของเด็กพิเศษเป็นรายบุคคล

กระบวนการและองค์ประกอบของการสอนเด็กพิเศษ
เริ่มจากสังเกตพฤติกรรมทั่วไป และทำการประเมินความสามารถพื้นฐานของเด็ก เพื่อจัดวางแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (IEP : Individual Education Program) โดยเน้นการใช้เทคนิคการสอนทางการศึกษาพิเศษที่เหมาะสมกับปัญหา และความต้องการของเด็กเป็นรายบุคคล
ในการจัดทำแผนการศึกษาเฉพาะบุคคล (IEP) ต้องมีการวางแผนการสอนด้วยความร่วมมือกันระหว่างผู้ปกครอง นักการศึกษาพิเศษ นักกิจกรรมบำบัด และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเด็กพิเศษ
เทคนิคการสอนเด็กพิเศษควรผสมผสานความเข้าใจด้านจิตวิทยาเด็กที่เหมาะสมต่อสภาพแวดล้อม ภาวะอาการ และความต้องการพิเศษของเด็ก ทั้งนี้เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเรียนการสอนเด็กพิเศษได้อย่างมี ประสิทธิผล
หลังจากผ่านการประเมินจากแผนการศึกษาเฉพาะบุคคล (IEP) แล้ว จำเป็นต้องคำนึงถึงหลักสูตร และวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ในแต่ละรายวิชา โดยนำข้อมูลที่ได้มาจัดทำเป็นแผนการสอนรายบุคคล (IIP : Individual Implementation Program) ซึ่งเน้นวิธีการสอน และกระบวนการสอนอย่างเป็นระบบ มีลำดับขั้นตอนการสอนในเนื้อหาสาระของแต่ละรายวิชา
การสร้างแรงจูงใจด้วยการให้รางวัลอย่างมีเงื่อนไข
ทำการประเมินผลการเรียนไปพร้อม ๆ กันกับการปรับเปลี่ยนแผนการสอนหากพบข้อบกพร่องในการเรียนการสอน นอกจากนี้ ควรสนับสนุนให้เด็กสามารถเรียนรู้ และแก้ปัญหาด้วยตนเอง รวมถึงการเปิดโอกาสให้เด็กได้ใช้ความรู้ และแสดงความสามารถอย่างเต็มศักยภาพ

ขอบข่าย และกระบวนการจัดการเรียนการสอนเด็กพิเศษ
ทำการคัดกรองและประเมินความสามารถพื้นฐานของเด็ก เพื่อให้ทราบถึงระดับความสามารถ และพัฒนาการของเด็กแต่ละคน
ให้การส่งเสริมพัฒนาการที่เหมาะสมแก่เด็กตามพัฒนาการที่พึงประสงค์ในแต่ละช่วงวัย
มีการจัดทำแผนการศึกษาเฉพาะบุคคลเพื่อการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมต่อพัฒนาการ และความต้องการพิเศษของเด็กแต่ละคน
ให้คำแนะนำและทำความเข้าใจแก่ผู้ปกครองหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเด็ก ว่าควรให้การส่งเสริมพัฒนาการแก่เด็กในด้านใดบ้าง เช่น ทักษะด้านการคิด ทักษะด้านวิชาการ ทักษะด้านการสื่อความหมาย และการใช้ภาษา เป็นต้น
ให้การฝึกฝนและเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความสามารถที่มีอยู่อย่างเต็มที่ และถูกต้องเหมาะสมต่อ สภาพแวดล้อมหรือสถานการณ์
มีการเสริมประสบการณ์พิเศษแก่เด็กเพื่อให้เด็กมี โลกทัศน์ที่กว้างขึ้นรวมถึงความสามารถในการช่วยเหลือตนเอง และสามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข

กรณีตัวอย่าง
การจัดการเรียนการสอน "เรื่องวงรี" มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้เด็กสามารถ ชี้ หยิบ บอก วัตถุต่าง ๆ ที่เป็นรูปวงรีได้ โดยนักการศึกษาพิเศษจะเริ่มสอนโดยการเตรียมความพร้อมให้กับเด็กก่อน เช่น ให้ร้องเพลงเกี่ยวกับไข่ จากนั้นให้เด็กได้สัมผัสกับวัตถุจริงเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ว่าลักษณะของไข่เป็นรูปวงรี เมื่อเด็กเห็นวัตถุต่างๆ รอบตัวที่มีลักษณะเหมือนไข่ เด็กจะสามารถสรุปได้ว่าเป็นรูปวงรี นอกจากนี้ ยังมีการใช้สื่อต่างๆ ประกอบในการสอน เช่น ให้เด็กตัดกระดาษ หรือให้เด็กใช้นิ้วระบายสีเป็นรูปวงรีร่วมด้วย
การจัดการเรียนการสอนเรื่องตัวเลข "0 - 9" มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เด็กสามารถ ชี้ หยิบ บอก ตัวเลข 0 - 9 ได้ โดยนักการศึกษาพิเศษจะเริ่มสอนโดยการเตรียมความพร้อมของเด็กก่อน เช่น ท่อง 1 - 10 พร้อมกัน ช่วยกันหาตัวเลขที่มีอยู่รอบๆ ห้องเรียน จากนั้นนำตัวเลขจำลองให้เด็กสัมผัสและใช้นิ้วมือลากตามตัวเลข พร้อมทั้งออกเสียงตามครูซ้ำ ๆ 5 - 7 ครั้ง ต่อ 1 ตัวเลข นอกจากนี้ ยังมีการใช้สื่อต่างๆ ในการสอน ตัวอย่างเช่น โรยทรายลงบนตัวเลขที่กำหนดให้ เป็นต้น
ในกรณีที่เด็กมีภาวะไม่อยู่นิ่ง บทบาทของนักการศึกษาพิเศษจะช่วยจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับภาวะอาการของเด็ก โดยจัดให้เด็กเรียนรู้ผ่าน กิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหว เช่น เมื่อเด็กเรียนเรื่องวงรี อาจจะจัดวางรูปวงรีตามมุมต่าง ๆ ของห้องเรียน หรือ จัดการแข่งขันหาตัวเลขต่าง ๆ ตามคำสั่งของครู เพื่อให้เด็กสามารถเรียนร่วมกับเพื่อน ๆ ในชั้นเรียนได้ และเมื่อเด็กทำได้สำเร็จจะก่อให้เกิดความภาคภูมิในใจตนเอง และมีความสนใจที่จะเรียนรู้ในเรื่องอื่น ๆ ต่อไป