รัฐบาลไทย
ไทย |
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ: |
|
ฝ่ายบริหาร
|
ปัญหาที่เกี่ยวข้อง
|
ประเทศอื่น · แผนที่ |
รัฐบาลไทย เป็นรัฐบาลของราชอาณาจักรไทยซึ่งเป็นรัฐบาลเดี่ยว รัฐบาลไทยมีบทบาทขึ้นอย่างชัดเจนในสมัยรัฐชาติอันสถานปนาขึ้นครั้งสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวภายหลังทรงผนวกดินแดนและอาณาจักรภายใต้ปกครองของอาณาจักรสยามขึ้นเป็นสยามประเทศ[1] รัฐบาลไทยผ่านการเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตย ปัจจุบันรัฐบาลไทยแบ่งแยกอำนาจออกเป็น 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ โดยฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน ส่วนฝ่ายตุลาการเป็นอิสระจากอีกสองฝ่ายที่เหลือ รูปแบบของรัฐบาลไทยมีรูปแบบตามระบบเวสต์มินสเตอร์ของสหราชอาณาจักร
เนื้อหา |
[แก้] ฝ่ายนิติบัญญัติ
-
ดูบทความหลักที่ รัฐสภาไทย
รัฐสภาเป็นสถาบันที่พระมหากษัตริย์ไทยพระราชทานอำนาจให้เป็นผู้ออกกฎหมายสำหรับการปกครองและการบริหารประเทศ เป็นองค์กรบริหารอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ รัฐสภาไทยเป็นแบบระบบสองสภา ประกอบด้วย วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร มีสมาชิกรัฐสภาทั้งสิ้น 650 คน ใช้อาคารรัฐสภาเป็นที่ประชุม
สภาผู้แทนราษฎรมีสมาชิกจำนวนทั้งสิ้น 500 คน ดำรงตำแหน่งวาระละ 4 ปี มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 400 คน และมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อจำนวน 100 คน สำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วน ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งเลือกพรรคการเมืองที่จัดทำบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองจัดทำขึ้น มีอำนาจที่สำคัญในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติ ตลอดจนการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน อาทิ การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี[2]
วุฒิสภามีสมาชิกจำนวนทั้งสิ้น 150 คน ดำรงตำแหน่งวาระละ 6 ปี มาจากการเลือกตั้ง 76 คน จากการเลือกตั้งใน 75 จังหวัดและกรุงเทพมหานครแห่งละ 1 คน และมาจากการสรรหา 74 คน มีอำนาจกลั่นกรองและยับยั้งกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน การให้ความเห็นชอบในเรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของแผ่นดิน[3] เป็นต้น
[แก้] ฝ่ายบริหาร
[แก้] นายกรัฐมนตรี
-
ดูบทความหลักที่ นายกรัฐมนตรีไทย
นายกรัฐมนตรี เป็นประมุขของรัฐบาล ประธานของคณะรัฐมนตรี และประมุขแห่งอำนาจฝ่ายบริหาร มาจากการลงมติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากนั้นจึงมีการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ไทย โดยนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 และคนปัจจุบันคือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้ซึ่งมาจากมติสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2554 และเริ่มดำรงตำแหน่ง เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม
นายกรัฐมนตรี มีหน้าที่รับผิดชอบ ในการบริหารราชการแผ่นดิน ตลอดจนมีอำนาจเสนอต่อพระมหากษัตริย์ ให้มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร[4] การกราบบังคมทูล เสนอชื่อหรือปลดรัฐมนตรี ตลอดจนมีบทบาทในการเป็นตัวแทนของประเทศ ในการเดินทางไปยังต่างประเทศ และเป็นผู้แถลงการณ์หลักของรัฐบาล นายกรัฐมนตรีสามารถพ้นจากตำแหน่งได้ จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยการเข้าชื่อขอเปิดอภิปราย จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด
[แก้] คณะรัฐมนตรี
-
ดูบทความหลักที่ คณะรัฐมนตรีไทย
คณะรัฐมนตรีประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี 1 คน และรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกิน 35 คน มีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดิน ว่าการกระทรวงในประเทศไทยทั้ง 20 กระทรวงและสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีฐานะเทียบเท่ากระทรวง ตลอดจนร่างและดำเนินการตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา มีสถานที่ทำงานอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล รัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกรัฐสภา
รัฐมนตรีอย่างน้อยหนึ่งคนต้องลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในบทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ คณะรัฐมนตรีสามารถนำกฎหมายขึ้นกราบทูลให้ตราเป็นพระราชกำหนดเช่นเดียวกับพระราชบัญญัติได้ เช่นเดียวกับกรณีกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรหรือเงินตราซึ่งต้องได้รับการพิจารณาโดยด่วนหรือโดยลับ
[แก้] ฝ่ายตุลาการ
-
ดูบทความหลักที่ ศาลไทย
ศาลไทยเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ผู้พิพากษาทุกระดับจำต้องได้รับการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ไทย ถือได้ว่าศาลปฏิบัติการในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ ศาลไทยมี 4 ประเภท ได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลทหาร
[แก้] การปกครองส่วนท้องถิ่น
-
ดูเพิ่มที่ การแบ่งเขตการปกครองของประเทศไทย
การปกครองส่วนภูมิภาคของไทยแบ่งออกเป็น 76 จังหวัด 896 อำเภอ 50 เขตในกรุงเทพมหานคร
ในการปกครองส่วนท้องถิ่น มีสองประเภท คือ ท้องที่เทศบาลและท้องที่ตำบล
- ท้องที่เทศบาล มักเป็นท้องถิ่นที่มีความเป็นเมือง คือ มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น อยู่ภายใต้การบริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเรียกว่า "เทศบาล" โดยมีองค์กรบริหารอำนาจนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ แบ่งออกเป็นเทศบาลนคร เทศบาลเมืองและเทศบาลตำบล
- ท้องที่ตำบล มักเป็นท้องที่ชนบท ประชากรอาศัยอยู่ไม่มากเมื่อเทียบกับท้องที่เทศบาล แต่อาจจะมีประชากรหนาแน่นกว่าจุดอื่นในพื้นที่เดียวกัน
[แก้] อ้างอิง
- ^ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พรรณงาม เง่าธรรมสาร, 2552, กระบวนการบูรณการรัฐชาติไทยกรณีจังหวัดชายแดนใต้: บทเรียนจากระบบเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 6, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์; สงขลา.
- ^ คณิน บุญสุวรรณ, ปทานุกรมศัพท์รัฐสภาและการเมืองไทยฉบับสมบูรณ์ (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ตถาตา พับลิเคชั่น, 2548), หน้า 921-92.
- ^ บทบาทและอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา.
- ^ กาญจนา เกิดโพธิ์ทอง, 2530. “การยุบสภาในประเทศไทย,” (วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) หน้า 38.