รัฐ
-
บทความนี้เกี่ยวกับหน่วยทางการเมืองที่มีอำนาจการปกครอง สำหรับรัฐในสหรัฐอเมริกาดูที่ รัฐ (สหรัฐอเมริกา) สำหรับความหมายอื่น ดูที่ รัฐ (แก้ความกำกวม)
รัฐ หรือ รัฐอธิปไตย คือ กลไกทางการเมืองโดยมีอำนาจอธิปไตยปกครองดินแดนทางภูมิศาสตร์ที่มีอาณาเขตและมีประชากรแน่นอน โดยอำนาจดังกล่าวเบ็ดเสร็จทั้งภายในและภายนอกรัฐ ไม่ขึ้นกับรัฐอื่นหรืออำนาจอื่นจากภายนอก และอาจกล่าวได้ว่า รัฐสามารถคงอยู่ได้แม้จะไม่ได้รับการรับรองจากรัฐอื่น เพียงแต่รัฐที่ไม่ได้รับการรับรองเหล่านี้ มักจะพบว่าตนประสบอุปสรรคในการเจรจาสนธิสัญญากับต่างประเทศและดำเนินกิจการทางการทูตกับรัฐอื่น
เนื้อหา |
[แก้] คำจำกัดความ
ถึงแม้ว่าคำว่า รัฐ มักจะรวมถึงสถาบันรัฐบาลหรือการปกครอง ทั้งสมัยโบราณและสมัยใหม่ ระบบรัฐสมัยใหม่มีลักษณะหลายประการ และคำดังกล่าวมักถูกใช้ในความหมายถึงระบบการเมืองสมัยใหม่เท่านั้น
คำว่า "ประเทศ" "ชาติ" และ "รัฐ" มักจะถูกใช้ในความหมายที่สามารถทดแทนกันได้ แต่การเลือกใช้คำจะมีความแตกต่างกันเล็กน้อย ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ดังนี้:
- ชาติ: กลุ่มคนซึ่งเชื่อว่าตนมีวัฒนธรรม จุดกำเนิด และประวัติศาสตร์อย่างเดียวกัน
- รัฐ: องค์ประกอบของสถาบันการปกครอง ซึ่งมีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนและประชากรที่แน่นอน
[แก้] แนวคิดของรัฐ
รัฐ เป็นแนวความคิดหรือมโนทัศน์ที่ย่อลงมาจากการเมือง (Politics) ในลักษณะที่รัฐเป็นสถาบันที่เกิดขึ้นจากการจัดระเบียบและการสร้างแบบแผนอย่างเป็นทางการของการเคลื่อนไหวหรือพลวัตของการเมือง โดยที่รัฐประกอบไปด้วยประชากรและ.สิทธิหน้าที่ต่าง ๆ สถาบัน และกระบวนการยุติธรรม หลักการและอำนาจ ซึ่งเป็นเครือข่ายความสัมพันธ์แบบโครงสร้าง ส่วนในมโนทัศน์อย่างแคบ รัฐหมายถึง รัฐบาลที่ทุกรัฐจะต้องมีเป็นของตนเอง รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่ในการปกครองในนามของรัฐ (Leslie Lipson 2002, 46)
ชัยอนันต์ สมุทวณิช ได้กล่าวถึงความหมายของรัฐตามทัศนะของ เบนจามินและดูวาล (Roger Benjamin and Raymond Duvall) ซึ่งได้เสนอว่า มีแนวคิดเกี่ยวกับรัฐอยู่ 4 แนวทาง คือ (1) รัฐในฐานะที่เป็นรัฐบาล (The state as government) ซึ่งหมายถึง กลุ่มบุคคลที่ดำรงตำแหน่งซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจในสังคมการเมือง และ (2) รัฐในฐานะที่เป็นระบบราชการ (The state as public bureaucracy) หรือเครื่องมือทางการบริหารที่เป็นปึกแผ่นและเป็นระเบียบทางกฎหมายที่มีความเป็นสถาบัน ทั้งสองความหมายนี้เป็นการมองรัฐตามแนวคิดของนักสังคมศาสตร์ที่มิใช่มาร์กซิสต์ (3) รัฐในฐานะที่เป็นชนชั้นปกครอง (The state as ruling class) เป็นความหมายในแนวคิดของมาร์กซิสต์ และ (4) รัฐในฐานะที่เป็นโครงสร้างทางอุดมการณ์ (The state as normative order) ซึ่งเป็นแนวคิดของนักมานุษยวิทยา
เนทเทิล (J.P.Nettle) ในบทความ “ State as Conceptual Variable” และ “World Politics (1968 อ้างถึงในชัยอนันต์ สมุทวณิช 2535, 25-27) เห็นว่า รัฐ หมายถึง
ก) องค์กรที่รวมศูนย์การทำหน้าที่และโครงสร้างไว้เพื่อที่จะปฏิบัติการได้อย่างทั่วด้าน แนวคิดนี้เป็นแนวคิดแบบดั้งเดิมที่เน้นเรื่องอำนาจอธิปไตยและรัฐอธิปไตย ว่า รัฐมีฐานะสูงกว่าองค์กรอื่น ๆ ในสังคม อำนาจของรัฐเป็นอำนาจตามกฎหมาย แนวคิดนี้จึงเชื่อมโยงรัฐกับกฎหมาย กับระบบราชการและกับรัฐบาล
(ข) รัฐในฐานะที่เป็นหน่วยงาน ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหมายถึง การที่รัฐมีอิสระในการดำเนินกิจการต่าง ๆ กับรัฐอื่น ๆ แนวคิดนี้ก็อาจเป็นแนวคิดเดิมเรื่องรัฐธรรมนูญอีกเช่นกัน หากรัฐมีอิสระในการดำเนินกิจการระหว่างประเทศ ก็จะมีความเป็นรัฐ (Stateness) สูง แนวคิดนี้ใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์ลักษณะสองด้านของรัฐคือ รัฐเป็นหน่วยอำนาจอธิปไตยในความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมภายในสังคม (intrasocial) ด้านหนึ่ง กับรัฐเป็นหน่วยหนึ่งในความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมภายนอกสังคม (extrasocial) อีกอย่างหนึ่ง
(ค) รัฐในฐานะที่เป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระ เป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่มีลักษณะเด่นเฉพาะตัว แนวคิดนี้ใช้ในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างส่วนที่เป็นเรื่องของรัฐกับส่วนที่เป็นเรื่องของเอกชน เช่น ระบบการศึกษาของรัฐ กับระบบการศึกษาภายใต้การดูแลของเอกชน รัฐวิสาหกิจและภาครัฐบาล กับอุตสาหกรรมของภาคเอกชน เป็นต้น
(ง) รัฐในฐานะที่เป็นปรากฏการณ์ทางสังคม-วัฒนธรรม อย่างหนึ่ง แนวคิดนี้ใช้ในการศึกษาวิวัฒนาการของรัฐ และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐว่าเป็นสิ่งเดียวกัน
รัฐ ดูจะเป็นคำที่มีคุณลักษณะทางนามธรรมหรือเป็นมโนทัศน์เชิงความคิด บนพื้นฐานความเชื่อความเข้าใจของมนุษย์มากกว่าที่จะเป็นตัวตนอันสามารถจับต้องได้ ความเชื่อความเข้าใจต่อนามธรรมนี้ นอกจากจะเป็นการสำเหนียกในอำนาจรัฐซึ่งกระทบต่อชีวิตของมนุษย์แล้ว ยังได้รับการตอกย้ำให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นโดยอาศัยสัญลักษณ์ที่หลากหลายซึ่งเกี่ยวข้อง แสดงหรือบ่งชี้ถึงความเป็นชาติ อาทิ ธงชาติ เพลงชาติ เครื่องแต่งกายประจำชาติ ตำนาน/ความเชื่อถึงความเป็นชาติ โดยเฉพาะคำเรียกขานและกระบวนการหรือแบบพิธีต่าง ๆ (discursive practices) ซึ่งกำหนดให้รัฐเป็นตัวแสดง (Actor) ในการเมืองระหว่างประเทศหรือการเมืองโลก (ธีระ นุชเปี่ยม 2541, 46-47) ด้วย นอกเหนือไปจากรัฐในฐานะที่เป็นหน่วยพื้นฐานทางการเมือง (fundamental unit of politics) ซึ่งมีความหมายและผูกพันกับบุคคลในรัฐ กระทั่งทำให้ปริมณฑลความรับรู้ของมนุษย์เข้าใกล้ตัวตนของรัฐมากขึ้น
ตามอนุสัญญามอนเตวิโอ ว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของรัฐ (The Montevio Convention on the Rights and Duties of State) ค.ศ. 1933 มาตรา 1 รัฐมีองค์ประกอบคือ (1) ประชากรที่อยู่รวมกันอย่างถาวร (2) ดินแดนที่ถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจน (3) รัฐบาลและ (4) ความสามารถที่จะสถาปนาความสัมพันธ์กับต่างรัฐได้ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่า หากขาดไปเสียซึ่งองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งดังที่กล่าวไปนี้ ย่อมไม่ถือว่าเป็นรัฐในระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือแม้แต่ในรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้เนื่องจากรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่บัญญัติกำหนดกฎเกณฑ์การปกครองของรัฐ รัฐจึงเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาก่อนมีรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุดังนี้ จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจว่าการที่ผู้ปกครองในดินแดนซึ่งออกกฎหมายในลักษณะที่เป็นรัฐธรรมนูญ แต่สภาพของดินแดนนั้นไม่ครบองค์ประกอบที่จะเรียกเป็นรัฐ เช่นอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลที่ตั้งขึ้นโดยรัฐต่างประเทศ เช่น อิรัก ในช่วงปี ค.ศ. 2004 ที่คณะผู้บริหารตั้งขึ้นโดยอำนาจของสหรัฐอเมริกา โดยนัยนี้ อิรักจึงมิอาจถือว่าเป็นดินแดนรัฐเอกราช เช่นนี้ กฎหมายที่ออกมาเพื่อกำหนดกฎเกณฑ์ในการปกครองนั้นจะเรียกว่าเป็นรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ ตัวอย่างคำถามนี้ เป็นประการหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนในการพิจารณาความเป็นรัฐหากเทียบกับบริบทอื่น
รัฐแม้จะมีฐานะเป็นบุคคล แต่ก็มีฐานะเป็นบุคคลในเชิงนามธรรม (abstract) หรือเป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตน มิได้มีชีวิตจิตใจเช่นบุคคลธรรมดา แต่มีสิทธิหน้าที่ตามที่กฎหมายหรือสนธิสัญญาระหว่างประเทศอันผูกพันรัฐไว้กับกรณีหนึ่งกรณีใด แต่ความเป็นนามธรรมของรัฐนี้ มิได้ไกลห่างจากความรู้สึกหรือความสามารถในการรับรู้ได้ของประชาชนแต่ประการใด นักวิชาการรัฐศาสตร์ไทยบางท่านกล่าวว่า การกล่อมเกลาทางการเมืองที่รัฐให้แก่บุคคล ได้มีส่วนทำให้ความคิดและการรับรู้เกี่ยวกับเรื่องรัฐของบุคคลมีมากขึ้นตามอายุ หรือกล่าวได้ว่ายิ่งบุคคลเติบโตขึ้นเพียงใด เขาจะยิ่งรับรู้หรือรูสึกถึงอำนาจของรัฐที่มีต่อตัวเขามากขึ้น โดยอำนาจของรัฐปรากฏอยู่ในหลายลักษณะ ขณะที่ตัวตนของรัฐมิได้เป็นสิ่งที่สัมผัสได้เลย ด้วยเหตุนี้ รัฐจึงต้องมีบุคคลคนหนึ่งหรือคณะหนึ่ง ซึ่งมีตัวตน เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตย ในการปกครองแทนรัฐหรือในนามของรัฐ บุคคลที่ใช้อำนาจแทนรัฐหรือในนามของรัฐนี้ ภาษาในกฎหมายมหาชนเรียกว่า องค์กรของรัฐ (Organ of State)
[แก้] วิวัฒนาการของรัฐและการปกครอง
ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน สามารถจัดแบ่งลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนได้ 3 รูปแบบ ประกอบด้วย (วิวัฒน์ เอี่ยมไพรวัน 2545, 10)
1.รูปแบบความสัมพันธ์แบบผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครอง (Ruler and Ruled)
โดยที่วิวัฒนาการของรัฐและการปกครองนับแต่สมัยกรีกโดยเฉพาะนครรัฐเอเธนส์ถือว่าชาวกรีกเป็นพลเมืองที่สามารถใช้สิทธิทางการเมืองโดยตรง แต่เมื่อประชาชนมีจำนวนมากขึ้น รูปแบบการปกครองได้เปลี่ยนโดยเป็นการให้อำนาจกับผู้ปกครองมีอำนาจเด็ดขาด ซึ่งเริ่มตั้งแต่สมัยจักรวรรดิ์โรมันแล้วเข้าสู่ยุคกลางที่ถูกครอบงำโดยศาสนจักร ต่อมาพวกปัญญาชนก็พาออกจากยุคกลางหรือยุคมืดสู่ยุคฟื้นฟูและยุคแห่งแสงสว่าง เมื่อเกิดรัฐ-ชาติ (nation-state) ขึ้นในยุโรปราวคริสต์ศตวรรษที่ 17 ทำให้อำนาจในการปกครองรัฐได้เปลี่ยนมือจากสันตะปาปา (pope) มาสู่กษัตริย์ (king) ซึ่งลักษณะการปกครองแบบนี้ฐานะของผู้ปกครองมีเหนือกว่าและสำคัญกว่าผู้ถูกปกครองเป็นอย่างมาก ผู้ปกครองเป็นผู้ชี้นำให้ประชาชนในฐานะผู้ถูกปกครองต้องปฏิบัติตามถ้าผู้ปกครองทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนเป็นที่ตั้งก็ได้ชื่อว่าเป็นการปกครองแบบราชาธิปไตย (absolute monarchy) ในทางตรงกันข้าม หากการปกครองเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง ก็ย่อมได้ชื่อว่าเป็นการปกครองแบบทรราชย์ (tyranny) ระบบการปกครองดังกล่าว ประชาชนแทบไม่มีส่วนร่วมทางการเมืองเลย
2. รูปแบบความสัมพันธ์แบบการปกครองโดยผู้แทน (Representative Government)
หลังจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญๆ ได้แก่ การปฏิวัติในอังกฤษเมื่อปี ค.ศ. 1688 การปฏิวัติในอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. 1776 และการปฏิวัติในฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ. 1789 มีผลทำให้กระแสของลัทธิประชาธิปไตยได้แพร่หลายไปยังรัฐต่างๆ ในทุกภูมิภาคของโลก ส่งผลต่อการทำลายศูนย์กลางการควบคุมและการผูกขาดอำนาจรัฐของบุคคลหรือคณะบุคคล ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนแบบ ผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครอง เปลี่ยนมาเป็นแบบการปกครองระบอบผู้แทน (Representative Government)
สาระสำคัญของความสัมพันธ์แบบการปกครองโดยผู้แทน คือ อำนาจรัฐที่เรียกกันว่า “อำนาจอธิปไตย” (sovereignty) นั้น เป็นของประชาชน (popular sovereignty) แต่ประชาชนไม่สามารถใช้สิทธิทางการเมืองได้โดยตรงดังเช่นสมัยนครรัฐเอเธนส์ เนื่องจากมีจำนวนประชากรมากขึ้น จึงต้องมีการมอบอำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของประชาชนให้กับตัวแทนเป็นผู้ใช้อำนาจแทนประชาชน จึงเรียกว่า “ผู้แทนราษฎร” ลักษณะสำคัญของการปกครองโดยผู้แทน ประกอบด้วย (1) ประชาชนมอบอำนาจอธิปไตยของตนให้ ตัวแทนไปใช้แทนตน (2) การมอบอำนาจอธิปไตยต้องผ่านกระบวนการ “เลือกตั้ง” (election) ภายใต้ระบบการแข่งขัน (competition) (3) ตัวแทนของประชาชนมีอำนาจจำกัดตามที่กฎหมาย (รัฐธรรมนูญ) กำหนดไว้เท่านั้น (4) เป็นการมอบอำนาจให้กับผู้แทนอย่างมีเงื่อนไข หากผู้แทนใช้อำนาจนอกขอบเขตของกฎหมาย ใช้อำนาจโดยพลการ หรือโดยบิดเบือนเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยย่อมเรียกอำนาจคืนได้
อย่างไรก็ดี การปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยโดยระบบผู้แทนที่เกิดขึ้นในสังคมต่างๆ มีข้อบกพร่องและจุดอ่อนอยู่หลายประการ มีการวิพากษ์ถึงความไร้ประสิทธิภาพและประสิทธิผล ขาดความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชน อาทิเช่น มีคำกล่าวว่าเป็นการปกครองของนายทุน คนกลุ่มน้อยสามารถผูกขาดอำนาจ เป็นต้น
3. รูปแบบความสัมพันธ์ของการเมืองแบบมีส่วนร่วม (Participative Politics)
ความล้มเหลวของระบบประชาธิปไตยโดยผู้แทนได้ส่งผลกระทบในทางลบต่อการพัฒนาการเมือง การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม นักวิชาการจึงได้เสนอทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาและจุดอ่อนของระบบประชาธิปไตยโดยผู้แทน โดยการเสนอระบบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมมาทดแทน หลักการสำคัญของระบบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมยึดหลักพื้นฐานที่ว่า ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ประชาชนสามารถใช้อำนาจได้เสมอแม้ว่าได้มอบอำนาจให้กับผู้แทนของประชาชนไปใช้ในฐานะที่เป็น “ตัวแทน” แล้วก็ตาม แต่ประชาชนก็สามารถเฝ้าดู ตรวจสอบควบคุมและแทรกแซงการทำหน้าที่ของตัวแทนของประชาชนได้เสมอ โดยสามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองได้ 4 ลักษณะ คือ
3.1 การเรียกคืนอำนาจโดยการถอดถอน/ปลดออกจากตำแหน่ง (recall) เป็นการควบคุมการใช้อำนาจของผู้แทนของประชาชนในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองแทนประชาชน หากปรากฏว่า ผู้แทนของประชาชนใช้อำนาจในฐานะ “ตัวแทน” มิใช่เป็นไปเพื่อหลักการที่ถูกต้อง หรือเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมที่แท้จริง ในทางตรงกันข้าม กลับเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ โดยทุจริต หรือเพื่อประโยชน์ส่วนตัวเป็นหลัก ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยสามารถเรียกร้องอำนาจที่ได้รับมอบไปนั้นกลับคืนมาโดย การถอดถอน/ปลดออกจากตำแหน่งได้
3.2 การริเริ่มเสนอแนะ (initiatives) เป็นการทดแทนการทำหน้าที่ของผู้แทนของประชาชน หรือเป็นการเสริมการทำหน้าที่ของตัวแทนประชาชน ประชาชนสามารถเสนอแนะนโยบาย ร่างกฎหมาย รวมทั้งมาตรการใหม่ๆ เองได้ หากว่าตัวแทนของประชาชนไม่เสนอหรือเสนอแล้วแต่ไม่ตรงกับความต้องการของประชาชน
3.3 การทำประชาพิจารณ์ (public hearings) เป็นการแสดงออกของประชาชนในการเฝ้าดูตรวจสอบและควบคุมการทำงานของตัวแทนของประชาชน ในกรณีที่ฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหารเตรียมออกกฎหมายหรือกำหนดนโยบายหรือมาตรการใดๆ ก็ตามอันมีผลกระทบต่อต่อชีวิตความเป็นอยู่หรือสิทธิ เสรีภาพของประชาชน ประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยสามารถที่จะเรียกร้องให้มีการชี้แจงข้อเท็จจริงและผลดีผลเสีย ก่อนการออกหรือบังคับใช้กฎหมาย นโยบาย หรือมาตรการนั้นๆได้
4. การแสดงประชามติ (Referendum หรือ Plebisite) ในส่วนที่เกี่ยวกับนโยบายสำคัญ หรือการออกกฎหมายที่มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างมาก เช่น การขึ้นภาษี การสร้างเขื่อนหรือโรงไฟฟ้า ฯลฯ ประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยสามารถเรียกร้องให้รัฐรับฟังมติของประชาชนเสียก่อนที่จะตรากฎหมาย หรือดำเนินการสำคัญๆ โดยการจัดให้มีการลงประชามติเพื่อถามความคิดเห็นของประชาชนส่วนใหญ่อันเป็นการตัดสินใจขั้นสุดท้าย
[แก้] อ้างอิง
- สิริพรรณ นกสวน และ เอก ตั้งทรัพย์วัฒนา (บรรณาธิการ) คำและความคิดในรัฐศาสตร์ร่วมสมัย สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. พ.ศ. 2546
- ชัยอนันต์ สมุทวณิช. 2535. รัฐ. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ; จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- เชาวนะ ไตรมาศ. 2547. นโยบายชาติที่ปลอดความเป็นฝักฝ่ายกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตาม รัฐธรรมนูญ ใน สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ. รวมบทความทางวิชาการของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญชุดที่ 3 เรื่อง ศาลรัฐธรรมนูญกับการพัฒนาประชาธิปไตยในระบบนิติรัฐ. หน้า 297-336
กรุงเทพฯ: สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ.
- ธีระ นุชเปี่ยม. 2541. การเมืองโลกหลังสมัยใหม่. กรุงเทพฯ: ศิลป์สยามบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์.
- Lipson, Leslie. 2002. The Great Issues of Politics: An Introduction to Political Science. Englewood Cliffs, New Jersey: Prentice-Hall