สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชนเมนู 33
เล่มที่ ๓๔
เรื่องที่ ๑ เทวสถานโบสถ์พราหมณ์
เรื่องที่ ๒ เพลงพื้นบ้าน
เรื่องที่ ๓ ปริศนาคำทายของไทย
เรื่องที่ ๔ เครื่องประดับ
เรื่องที่ ๕ หอยในทะเลไทย
เรื่องที่ ๖ บริการธนาคารผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
เรื่องที่ ๗ พายุและฝนในประเทศไทย
เรื่องที่ ๘ โรคพาร์กินสัน
เรื่องที่ ๙ โรคฉี่หนู

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๓๔ / เรื่องที่ ๓ ปริศนาคำทายของไทย / การจัดหมวดหมู่ปริศนาคำทาย

 

การจัดหมวดหมู่ปริศนาคำทาย
การจัดหมวดหมู่ปริศนาคำทาย

ปริศนาคำทายสามารถจัดหมวดหมู่ด้วยเกณฑ์ต่างๆ อาทิ การแบ่งโดยใช้พื้นที่ทางภูมิศาสตร์เป็นเกณฑ์ เช่น แบ่งปริศนาของไทยออกเป็น ปริศนาคำทายภาคกลาง ปริศนาคำทายภาคเหนือ ปริศนาคำทายภาคอีสาน และปริศนาคำทายภาคใต้ นอกจากนี้ ยังมีเกณฑ์ที่นิยมใช้ในการจัดหมวดหมู่ปริศนาคำทายอีก ๒ อย่าง คือ เนื้อหา และรูปแบบ

การจัดหมวดหมู่ตามเนื้อหา

เนื้อหาของปริศนาคำทายสามารถใช้เป็นเกณฑ์ในการจัดประเภทปริศนาคำทายได้ เนื้อหาของปริศนาคำทายก็คือ สิ่งที่ปริศนากล่าวถึง ดังที่ปรากฏอยู่ในคำเฉลย เนื้อหาปริศนาคำทายของไทยมีหลากหลาย อาทิ เนื้อหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมรอบตัว เช่น พืช สัตว์ และปรากฏการณ์ธรรมชาติ เนื้อหาเกี่ยวกับมนุษย์ เช่น ร่างกายมนุษย์ เครื่องมือเครื่องใช้ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
เนื้อหาเกี่ยวกับ พืช
  • อะไรเอ่ย  ต้นเท่าขา ใบวาเดียว (เฉลย : ต้นกล้วย)
  • อะไรเอ่ย  เรือนปั้นหยาสีเขียว  เด็กดำนอนกางมุ้งขาว 
    (เฉลย : น้อยหน่า)
เนื้อหาเกี่ยวกับ สัตว์
  • อะไรเอ่ย  สี่ตีนยันพื้นธรณี  สองมือขยี้หน้าผาก  มีลูกมากไม่เหมือนแม่
    (เฉลย : แมลงวัน)
  • อะไรเอ่ย  สองขาเดินมา  หลังคามุงจาก    (เฉลย : ไก่)
เนื้อหาเกี่ยวกับ ปรากฏการณ์ธรรมชาติ
  • อะไรเอ่ย  เช้าๆ เข้าถ้ำ ค่ำออกมาเรียงราย  (เฉลย : ดาว)
  • ไอ้ไหรหา  สูงเทียมเขาเขียว กินคนเดียว  เมาหมดทั้งเมือง  (เฉลย : ราหูอมจันทร์)
เนื้อหาเกี่ยวกับ ร่างกายมนุษย์
  • อะไรเอ่ย  กอไผ่เต็มกอ หาข้อไม่พบ  (เฉลย :  ผม)
  • อะไรเอ่ย  อยู่ในวัง  ท่านไม่สั่งไม่ออกมา   (เฉลย :  น้ำมูก)
เนื้อหาเกี่ยวกับ เครื่องมือเครื่องใช้
  • อะไรเอ่ย  นกกะปูดตาแดง  น้ำแห้งก็ตาย  (เฉลย : ตะเกียงน้ำมัน)
  • อะไรเอ่ย  ตัวยาวเกือบวา มีฟันซี่เดียว  กินดินเป็นอาจิณ    (เฉลย : จอบ)
การจัดหมวดหมู่ตามรูปแบบ

นอกเหนือจากการจัดหมวดหมู่ของปริศนาคำทายตามเนื้อหาแล้ว ปริศนาคำทายสามารถจัดกลุ่มได้โดยอาศัยรูปแบบเป็นเกณฑ์ หากพิจารณาตามรูปแบบจะพบว่า ปริศนาคำทายสามารถจัดแบ่งได้เป็นกลุ่มใหญ่ๆ ๒ กลุ่ม โดยพิจารณาจากลักษณะตัวปริศนา คือ ปริศนาที่สื่อด้วยถ้อยคำ และปริศนาที่ไม่ได้สื่อด้วยถ้อยคำ ปริศนาที่สื่อด้วยถ้อยคำสามารถแยกย่อยได้เป็น ปริศนาร้อยแก้ว หรือที่มักเรียกกันว่า "ปริศนาอะไรเอ่ย" และปริศนาร้อยกรอง เช่น โคลงทาย ผะหมี ส่วนปริศนาที่ไม่ได้สื่อด้วยถ้อยคำนั้น ได้แก่ ปริศนารูปภาพ 

ปริศนาที่สื่อด้วยถ้อยคำ

ปริศนาที่สื่อด้วยถ้อยคำนั้น สามารถแยกย่อยได้เป็น ๒ ประเภท ตามลักษณะของถ้อยคำที่ผูกเป็นปริศนา คือ ปริศนาร้อยแก้ว และปริศนาร้อยกรอง
๑) ปริศนาร้อยแก้ว

ปริศนาร้อยแก้ว หมายถึง ปริศนาที่ผูกขึ้นด้วยภาษาร้อยแก้วธรรมดา ในบางครั้ง อาจมีเสียงสัมผัสคล้องจองกันบ้าง แต่ก็ไม่ได้เป็นไปตามแบบแผนข้อบังคับ ของการแต่งคำประพันธ์อย่างปริศนาร้อยกรอง ปริศนาร้อยแก้วโดยทั่วไปมักมีคำขึ้นต้นว่า "อะไรเอ่ย" ต่อมา จึงมีผู้เรียกปริศนาร้อยแก้วที่มีคำขึ้นต้นนี้ว่า "ปริศนาอะไรเอ่ย" ตัวอย่างเช่น
  • อะไรเอ่ย  สี่ตีนเดินมา  หลังคามุงกระเบื้อง    (เฉลย : เต่า)
  • อะไรเอ่ย  ต้นเท่าลำเรือ  ใบห่อเกลือไม่มิด     (เฉลย : ต้นมะขาม)
จะเห็นว่า มีส่วนที่บรรยายปริศนานั้นเป็นภาษาร้อยแก้วธรรมดา เข้าใจง่าย แต่มีเสียงสัมผัสสระระหว่างคำว่า "มา" กับ "คา" และ "เรือ" กับ "เกลือ" ตามลำดับ

นอกจากปริศนาอะไรเอ่ยแล้ว ปริศนาอักษรไขว้ก็สามารถจัดอยู่ในกลุ่มปริศนาร้อยแก้วได้ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ เพราะคำบอกใบ้ในปริศนาอักษรไขว้ มักเป็นภาษาร้อยแก้ว

๒) ปริศนาร้อยกรอง

ปริศนาร้อยกรอง หมายถึง ปริศนาที่ตัวปริศนาเขียนด้วยคำประพันธ์ไทยรูปแบบต่างๆ ได้แก่ โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ปริศนาร้อยกรองที่จะกล่าวถึงในที่นี้มี ๓ กลุ่มด้วยกันคือ ผะหมี โคลงทาย และโจ๊ก

ผะหมี

"ผะหมี" เป็นคำศัพท์ที่ยืมมาจากภาษาจีน ซึ่งแสดงให้เห็นต้นกำเนิดของการละเล่นชนิดนี้ว่า มาจากวัฒนธรรมจีน คำว่า "ผะ" แปลว่า ตี ส่วนคำว่า "หมี" แปลว่า ปริศนา รวมความแล้ว ผะหมี หมายถึง การตีความปริศนา เพื่อไขไปสู่คำตอบที่ถูกต้อง ปริศนาผะหมีมีต้นกำเนิดมาจากปริศนา "เต็งหมี" หรือปริศนาโคมไฟ ในวัฒนธรรมไทยคำว่า "ผะหมี" ใช้หมายถึง ทั้งตัวบทปริศนา และวิธีการเล่นทายปริศนา ในขณะที่ในวัฒนธรรมจีนนั้น จะใช้คำศัพท์ที่แตกต่างกัน

การเล่นทายโจ๊กปริศนาที่ จ.ชลบุรี
การเล่นทายโจ๊กปริศนาที่ จ.ชลบุรี

อาจกล่าวได้ว่า ปริศนาผะหมีของไทยนั้น เป็นการประยุกต์รูปแบบการเล่นตอบปริศนาของจีน ให้เข้ากับวัฒนธรรมทางภาษาของไทย กล่าวคือ ยังคงใช้วิธีการปฏิบัติแบบจีน คือ มีการเขียนปริศนาคำทายลงบนแผ่นกระดาษ เพื่อติดให้ผู้ชมแข่งกันทาย และมีการให้รางวัลตอบแทน แก่ผู้ที่สามารถตอบได้ แต่แทนที่จะเขียนปริศนาเป็นภาษาจีน ด้วยคำประพันธ์แบบจีน คนไทยก็ปรับการละเล่นดังกล่าว ให้เข้ากับวัฒนธรรมไทย โดยแต่งบทปริศนา ด้วยคำประพันธ์ไทยในรูปแบบต่างๆ และนำลักษณะเด่นของคำในภาษาไทย มาเป็นกฎเกณฑ์ ในการสร้างตัวคำตอบของปริศนา

ปริศนาผะหมีของไทยแต่ละบทจะมีคำตอบเป็นชุด ส่วนใหญ่จำนวนคำตอบมักสอดคล้องกับจำนวนวรรคของคำประพันธ์ ที่นำมาใช้แต่งปริศนา กล่าวคือ หากปริศนาแต่งด้วยคำประพันธ์ ๑ บท ซึ่งมี ๔ วรรค ชุดคำเฉลยก็จะประกอบด้วยคำเฉลย ๔ คำเฉลย คำเฉลยเหล่านี้ มีลักษณะเด่นอย่างใดอย่างหนึ่งร่วมกัน เป็นต้นว่า ขึ้นต้นด้วยพยางค์หรือคำเดียวกัน ดังในตัวอย่าง ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ 

ปริศนาบทนี้แต่งด้วยกลอนสักวา และคำเฉลยทั้งหมดขึ้นต้นด้วยคำว่า "ชัก"

สักวาท่าละครชนิดหนึ่ง  (ชักแป้งผัดหน้า)
การเล่นดึงกันไปมาน่าสนุก  (ชักเย่อ)
เปิดน้ำขับล้างได้หลังถ่ายทุกข์  (ชักโครก)
อาการกระตุกตาตั้งทั้งดิ้นงอ  (ชักดิ้นชักงอ)
ประเพณีแบบลบองของภาคใต้  (ชักพระ)
เป็นหนี้ไว้แล้วไม่ยอมจ่ายคืนหนอ  (ชักดาบ)
ทำโอ้เอ้อืดอาดให้ญาติรอ  (ชักช้า)
สำนวนส่อบงการสั่งเบื้องหลังเอย   (ชักใย)
             (สามารถ  ศักดิ์เจริญ ๒๕๔๓ ข : ๘๐)

นอกจากนี้แล้ว ลักษณะเด่นอื่นๆ ของชุดคำเฉลย ได้แก่ คำเฉลยที่ลงท้ายด้วยพยางค์หรือคำเดียวกัน เช่น ราคี โยคี อัคคี สามัคคี คำเฉลยเป็นคำผัน เช่น ขา ข่า ข้า หรือเป็นคำผวนดังตัวอย่างต่อไปนี้

สาว หนึ่งบริสุทธิ์แล้  สะอาดตา
(สาว-ขี  ผวนได้เป็น  สีขาว)
สาว หนึ่งทั่วกายา  จุดแต้ม
(สาว-เดือ ผวนได้เป็น  เสือดาว)
สาว หนึ่งวากย์วาจา  กร้าวหยาบ
(สาว-หาม  ผวนได้เป็น  สามหาว)
สาว  หนึ่งยามยลแย้ม  เบิ่งได้ไกลตา
(สาว-ตา-ยาย  ผวนได้เป็น  สายตายาว)
         (สามารถ  ศักดิ์เจริญ ๒๕๔๓ ก : ๒)

ปริศนาบทนี้แต่งด้วยโคลงสี่สุภาพ มีลักษณะเด่นคือ คำเฉลยขึ้นต้นด้วยพยางค์เดียวกัน และต้อง "ผวนคำ" หรือสลับเสียงสระ และพยัญชนะท้ายของพยางค์ในคำ จึงจะได้คำเฉลยที่แท้จริงของปริศนา จากตัวอย่างปริศนาทั้งสองบทที่ยกมา มีข้อสังเกตว่า จำนวนพยางค์ของคำเฉลยนั้น อาจไม่เท่ากัน และบางส่วนของคำเฉลยอาจปรากฏอยู่ในตัวปริศนา เช่น มีคำว่า "ดิ้น" และ "งอ" ในปริศนาวรรคที่คำตอบคือ "ชักดิ้นชักงอ" และมีคำว่า "ตา" ในปริศนาวรรคที่คำเฉลยคือ "สาวตายาย" ซึ่งต้องผวนเป็น  "สายตายาว" ลักษณะทั้งสองประการนี้ไม่พบในปริศนาร้อยกรองที่เรียกว่า "โจ๊ก"

โคลงทาย

โคลงทาย คือ ปริศนาที่แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทโคลง โคลงที่เป็นคำถามเรียกว่า"โคลงทาย" และโคลงที่เป็นคำเฉลยเรียกว่า "โคลงแก้" สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ว่า ไม่ทราบแน่ชัดว่า การเล่นโคลงทายเริ่มมีขึ้นเมื่อใด แต่คงจะมีมาแล้วก่อนการก่อตั้งหอพระสมุดวชิรญาณ ในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ. ๒๔๒๙ คณะกรรมการหอพระสมุดฯ ได้นำโคลงทายมาลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์วชิรญาณสัปดาห์ ฉบับละ ๒ บท และเปิดโอกาสให้ผู้อ่านเขียนโคลงแก้ ส่งเข้ามาร่วมกิจกรรมด้วย ต่อไปนี้คือตัวอย่างหนึ่งของโคลงทายและโคลงแก้ 

(โคลงทาย) 
สามชายแนบสนิทด้วย     นารี
ใช่บุตรใช่สามี       ร่วมท้อง
เข็ญใจไพร่ผู้ดี               มีทั่ว กันนา
บุรุษใดแนบน้อง       ช่วยชี้เฉลยความ

(โคลงแก้)       
สามชายซึ่งแนบน้อง     นารี
อันออกบอกวาที    ที่ตั้ง
ใช่ชายชาติชาตรี           ตรงเหมาะ  แล้วพ่อ
ชายพกชายสะไบทั้ง    อีกไซร้ชายกระเบน   
     (วิภา สิริสวัสดิ์ ๒๕๒๖ : ๒๔)

ลักษณะคำเฉลยของโคลงทายบทนี้คล้ายคลึงกับผะหมีคือ ขึ้นต้นด้วยคำว่า "ชาย" เหมือนกัน ได้แก่ ชายพก ชายสไบ และชายกระเบน อย่างไรก็ตาม โครงสร้างของโคลงทายต่างจากผะหมี ในแง่ที่คำเฉลยแต่ละคำนั้น ไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับปริศนาวรรคใดวรรคหนึ่งโดยเฉพาะ เหมือนอย่างผะหมี นอกจากนี้ โคลงทายต้องแต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทโคลงเพียงอย่างเดียว และในการทายนั้นจะต้องทายโดยแต่งเป็นโคลงเช่นกัน โดยโคลงทายบางบท อาจจะมุ่งถามปัญหาที่เป็นความรู้ทั่วไป และต้องการคำเฉลยเพียงคำเฉลยเดียว

โจ๊ก

โจ๊ก เป็นศัพท์ที่ใช้กันในแถบจังหวัดชลบุรี และจังหวัดใกล้เคียงอื่นๆ เช่น จังหวัดสมุทรปราการ และฉะเชิงเทรา เพื่อเรียกปริศนาร้อยกรองชนิดหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะโดยรวมคล้ายปริศนาผะหมี ความเป็นมาของการเรียกปริศนาชนิดนี้ว่า "โจ๊ก" นั้น มีการสันนิษฐานกันไว้หลายแนวทาง แต่ที่มีน้ำหนักมากที่สุดคือ คำอธิบายของ อธึก  สวัสดีมงคล ผู้เชี่ยวชาญทางวัฒนธรรมของจังหวัดชลบุรี ซึ่งได้อธิบายไว้ว่า คำว่า "โจ๊ก" มาจากคำว่า"โจ๊กเกอร์" (joker) ซึ่งหมายถึงตัวตลก มูลเหตุมีอยู่ว่า ในสมัยของพระครูวุฒิกรโกศล ซึ่งเป็นนักคิดปริศนาอันดับหนึ่งของจังหวัดชลบุรี ได้มีการจัดทายปริศนาร้อยกรอง ซึ่งเดิมในสมัยนั้น เรียกว่า การทายปัญหากวี หรือการทายปริศนากวี ในการนี้ มีผู้ที่ช่วยทำหน้าที่ปลดแผ่นปริศนา และแจกของรางวัลคนหนึ่ง ซึ่งชอบแต่งตัวให้ดูตลก และชอบทำท่าทางหยอกล้อกับคนทาย คนทายจึงเรียกผู้ช่วยคนนี้ว่า "ตัวโจ๊ก" ต่อมาตัวโจ๊กนี้ ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของการเล่นทายปริศนาร้อยกรอง เมื่อชาวบ้านจะไปดู หรือไปร่วมเล่นทายปริศนาดังกล่าว ก็มักจะพูดสั้นๆ ว่า "ไปดูโจ๊ก" หรือ "ไปทายโจ๊ก"

การเล่นทายโจ๊กปริศนาในงานบุญกลางบ้าน อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี
การเล่นทายโจ๊กปริศนาในงานบุญกลางบ้าน อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี

กล่าวกันว่า โจ๊กมีพัฒนาการมาจากผะหมี และโคลงทาย ตามคำบอกเล่าของพระพิมลธรรม(ชอบ  อนุจารีเถระ) ราชบัณฑิต ซึ่งเป็นชาวชลบุรี ว่า การเล่นทายปริศนาดังกล่าวในจังหวัดชลบุรี มีมาอย่างน้อยตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๕๘ ในระยะแรกๆ การเล่นทายโจ๊กมีลักษณะคล้ายกับการเล่นทายปริศนาผะหมี อย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมากลุ่มนักคิดปริศนาหรือ "นายโจ๊ก" ในนาม "ชมรมโจ๊กพนัสนิคม" ได้ร่วมกันจัดระบบและวางรูปแบบของโจ๊กออกเป็น ๙ ประเภท ตามลักษณะเด่นของชุดคำตอบ ที่เรียกกันว่า "ธง" หรือ "ธงคำตอบ" นอกจากนี้ยังมีปริศนาอีกประเภทคือ "โจ๊กภาพ" ซึ่งมีลักษณะสำคัญคือ ตัวปริศนาจะเป็นรูปภาพ ต่อไปนี้เป็นการจัดประเภทโจ๊กปริศนาตามลักษณะเด่นของชุดคำเฉลย   

๑) โจ๊กพ้องคำเดี่ยว คือ ปริศนาที่คำเฉลยเป็นคำพยางค์เดียวและมีการพ้องเสียง ซึ่งอาจจะเป็นเสียงพยัญชนะต้น เสียงสระ และ/หรือเสียงพยัญชนะท้าย เช่น จน จีน จาน เจียน 

๒) โจ๊กพ้องคำหน้า คือ ปริศนาที่คำเฉลยจะขึ้นต้นด้วยพยางค์หรือคำเดียวกัน เช่น น้ำหมึก น้ำหมาก น้ำมัน น้ำมนต์

๓) โจ๊กพ้องคำหลัง คือ ปริศนาที่คำเฉลยจะลงท้ายด้วยพยางค์หรือคำเดียวกัน เช่น หลังคา คงคา หญ้าคา ขื่อคา

๔) โจ๊กพ้องคำกลาง มีลักษณะเด่นคือ คำเฉลยจะมีพยางค์กลางหรือคำกลางพ้องกัน เช่น หญิงสามผัว ชายสามโบสถ์ งูสามเหลี่ยม เขาสามมุข

๕) โจ๊กคำผัน ส่วนใหญ่มักจะมีคำเฉลย ๓ คำเฉลย คำเฉลยทั้งสามเป็นการผันคำตามรูปเขียน ได้แก่ รูปสามัญ เอก และโท เช่น เสือ เสื่อ เสื้อ

๖)โจ๊กคำผวน มีลักษณะสำคัญคือ คำเฉลยจะขึ้นต้นด้วยพยางค์เดียวกัน และจะต้องมีการผวนคำ หรือการสลับเสียงสระ และพยัญชนะท้ายของพยางค์ ในคำเฉลย ที่ได้ในชั้นแรก เพื่อนำไปสู่คำตอบที่แท้จริง ตัวอย่างเช่น ปายัน-ปัญญา ปานู-ปูนา ปากาก-ปากกา ปากีก-ปีกกา

๗) โจ๊กสุภาษิตคำพังเพย เป็นปริศนาที่เมื่อนำคำเฉลยทั้งหมดมารวมกันแล้ว จะได้เป็นสุภาษิตคำพังเพยหรือคำกล่าวที่ติดปาก ตัวอย่างเช่น น้ำ-นิ่ง-ไหล-ลึก และ ขี่- ช้าง-จับ-ตั๊กแตน

๘) โจ๊กคำพันหลักแบบลูกโซ่ มีลักษณะเด่นคือ พยางค์ท้ายของคำเฉลยที่นำหน้าจะเป็นคำเดียวกับพยางค์หน้าของคำเฉลยที่ตามมา ทำให้ชุดคำเฉลยมีความเกี่ยวเนื่องกันคล้ายกับลูกโซ่ ตัวอย่างเช่น เงินเดือน - เดือนยี่ - ยี่ห้อ - ห้อเลือด และ พ่อขุน - ขุนแผน - แผนที่ - ที่รัก

๙) โจ๊กคำตัดคำต่อ เป็นปริศนาที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มและลดรูปพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ของคำเฉลยในชุดคำเฉลย ซึ่งนำไปสู่คำที่มีความหมายใหม่ เช่น ขนม-ขน-นม-ขม

ในการตั้งปริศนาที่เรียกว่า "โจ๊ก" นี้จะต้องไม่มีคำหรือพยางค์ของคำเฉลยปรากฏอยู่ในตัวปริศนา ซึ่งศัพท์ท้องถิ่นเรียกว่า จะไม่มีการ "ทับบาท" และได้เพิ่มกฎเกณฑ์ในเรื่องความประณีตในการสร้าง "ธงคำตอบ" โดยเพิ่มข้อบังคับให้ธงคำตอบ ต้องมีจำนวนพยางค์เท่ากัน และในกรณีที่คำเฉลย มีมากกว่า ๑ พยางค์ มักเพิ่มลักษณะการสัมผัสอักษรเข้าไปด้วย ดังในตัวอย่างนี้

ขงเบ้งเพ่งชอบดู            (ดวงดาว)
ยักษ์ราหูจู่ชอบอม         (ดวงเดือน)
รวยล้นคนชอบชม           (ดวงดี)
สมมือคนดลชอบคิด        (ดวงแด)
(ประสิทธิ์   ประสิว)

โจ๊กปริศนาบทนี้แต่งด้วยคำประพันธ์กาพย์ยานี ๑๑ คำเฉลยขึ้นต้นด้วยคำเดียวกัน หรือเรียกว่า โจ๊กพ้องคำหน้า ลักษณะพิเศษที่เพิ่มเติมเข้าไปคือ นอกจากคำเฉลยจะขึ้นต้นด้วยคำว่า "ดวง" เหมือนกันทั้งหมดเหมือนอย่างในปริศนาผะหมีแล้ว คำเฉลยในชุดนี้ มีจำนวนพยางค์เท่ากันทั้งหมดคือ ๒ พยางค์ และพยางค์ที่ ๒ ของคำตอบ ยังขึ้นต้นด้วยเสียงพยัญชนะต้นเดียวกัน คือ เสียง /ด/ ดังนั้น คำเฉลยที่ ๒ จึงเป็น "ดวงเดือน" แทนที่จะเป็น "ดวงจันทร์" และคำเฉลยสุดท้ายจึงเป็น "ดวงแด" แทนที่จะเป็น "ดวงใจ" ลักษณะข้อบังคับต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้ทำให้ "โจ๊ก" มีลักษณะเฉพาะที่ต่างจาก "ผะหมี"

ปริศนาที่ไม่ได้สื่อด้วยถ้อยคำ

ปริศนาบางอย่างนั้น ตัวปริศนาไม่ได้สื่อด้วยถ้อยคำ ผู้สร้างปริศนาอาจสื่อปริศนาด้วยสิ่งอื่น ได้แก่ วัตถุสิ่งของ ท่าทาง และรูปภาพ ปริศนาที่สื่อด้วยรูปภาพถือว่า เป็นกลุ่มที่พบเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ข้อมูลเกี่ยวกับปริศนาท่าทาง และปริศนาสิ่งของนั้น มีอยู่จำกัดมาก ในที่นี้จึงขอยกตัวอย่างเฉพาะปริศนารูปภาพ

โจ๊กภาพ "กุมภกรรณ" ของเสนีย์ ผดุงมาตรวรกุล
โจ๊กภาพ "กุมภกรรณ" ของเสนีย์  ผดุงมาตรวรกุล

ภาพปริศนานี้เป็นภาพหม้อน้ำและในหม้อน้ำมีปืน ปริศนานี้ถามว่า ภาพดังกล่าวนี้หมายถึงใคร คำเฉลยคือ "กุมภกรรณ" ตัวละครในวรรณคดีไทยเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งเป็นน้องชายของทศกัณฐ์ ภาพหม้อน้ำนั้นสื่อคำว่า "กุมภะ"  ซึ่งแปลว่า "หม้อน้ำ" ส่วนภาพปืนนั้น ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า "gun" ซึ่งอ่านออกเสียงว่า "กัน" เมื่อออกเสียงรวมกันจึงได้เป็นคำว่า "กุมภะ-กัน" เสียงอ่านนี้พ้องกับชื่อของ "กุมภกรรณ"

บางครั้งปริศนารูปภาพอาจไม่ได้สื่อปมอย่างตรงไปตรงมา ต้องมีการตีความ และมีการผวนคำจึงจะนำไปสู่คำเฉลยที่ถูกต้อง ดังในตัวอย่างนี้

โจ๊กภาพ "คู่สร้างคู่สม" ของเสนีย์ ผดุงมาตรวรกุล
โจ๊กภาพ "คู่สร้างคู่สม" ของเสนีย์  ผดุงมาตรวรกุล

ในปริศนานี้ นอกจากจะต้องตีความรูปผลส้ม ๒ ผล และหวี ๒ อันแล้ว ยังต้องอาศัยการผวนคำจึงจะนำไปสู่คำเฉลย ส้ม ๒ ผล คือ "คู่ส้ม" หวี ๒ อัน สื่อถึง "คู่สาง" ("สาง" เป็นภาษาถิ่นเหนือหมายถึง "หวี") เมื่อรวมแล้วจะได้ "คู่ส้มคู่สาง" ซึ่งยังไม่มีความหมายอะไร ต้องอาศัยการผวนคำ จึงจะทำให้ได้ทราบคำเฉลย กล่าวคือ "คู่ส้มคู่สาง" ผวนคำแล้วได้คำว่า "คู่สร้างคู่สม"

นอกจากชมรมโจ๊กพนัสนิคมแล้ว ยังมีนักคิดปริศนา หรือ "นายโจ๊ก" ที่รวมตัวกันจัดตั้งชมรมอนุรักษ์ และเผยแพร่การละเล่นทายโจ๊กปริศนา ได้แก่ ชมรมอนุรักษ์และเผยแพร่การละเล่นทายโจ๊กชลบุรี ชมรมโจ๊กวัดกำแพง ชมรมโจ๊กพัทยา อีกทั้งยังมีนักออกปริศนาที่มิได้สังกัดชมรมอีกด้วย
หัวข้อก่อนหน้า หัวข้อถัดไป
โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
โครงการสารานุกรมไทยฯ สนามเสือป่า ถนนศรีอยุธยา เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300
โทรศัพท์0-2280-6502, 0-2280-6507, 0-2280-6515, 0-2280-6538, 0-2280-6541, 0-2280-6580 โทรสาร 0-2280-6589