ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์
โครงการห้องสมุดโรงเรียนในฝัน

***ร่วมสร้างองค์ความรู้ สู่การศึกษาตลอดชีวิต วิทยพัฒนาเด็กไทยในท้องถิ่น***


000 หมวดเบ็ดเตล็ด
(Generalities)

100 หมวดปรัชญา
(Philosophy)

200 หมวดศาสนา
(Religion)

300 หมวดสังคมศาสตร์
(Social Sciences)

400 หมวดภาษาศาสตร์
(Language)

500 หมวดวิทยาศาสตร์
(Pure Sciences)

600 หมวดเทคโนโลยี
(Technology)

700 หมวดศิลปะ
(The Arts)

800 หมวดวรรณคดี
(Literature)

900 หมวดประวัติศาสตร์
(Geography & History)


Home

   

370.28 รวมบทความทางการศึกษา

นโยบายหนังสือเรียน
ดร.พนม พงษ์ไพบูลย์

รัฐบาลลงทุนสนับสนุนนโยบายการศึกษาฟรี 15 ปี สำหรับปี 2552 เป็นเงินถึง หนึ่งหมื่นเก้าพันล้านบาทเศษ เป็นเงินก้อนโตเป็นที่ชื่นใจสำหรับชาวการศึกษา แสดงว่ารัฐบาลเอาจริงกับนโยบายนี้ เมื่อดูในรายละเอียดก็พบว่า เงินทั้งหมดจัดเพื่อสนับสนุนรายการใหม่ 5 รายการคือ ค่าเล่าเรียน ค่าหนังสือเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเครื่องแบบนักเรียน และค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพ เป็นเงินที่จัดให้เด็กมากกว่าจัดให้ครู ผู้ที่จะได้ประโยชน์จากนโยบายนี้มากที่สุดน่าจะเป็นผู้มีรายได้น้อย คงจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายบุตรหลายไปได้มาก แต่คงไม่ทั้งหมด เพราะถ้ารายการใดไม่เข้าหมวด 5 รายการที่กล่าวถึงก็ยังคงต้องจ่ายเอง หรือแม้เข้าหมวด 5 รายการ แต่ไม่เข้าชนิดประเภทที่ระบุก็คงต้องจ่ายเองอยู่ดี สำหรับครอบครัวที่ไม่ถึงกับยากจน คงไม่เป็นปัญหาแต่ประการใด ถึงอย่างไรก็รับภาระได้อยู่แล้ว ใครจะวิจารณ์นโยบายนี้อย่างไรก็ตามทีเถิด แต่สำหรับผู้เขียน เห็นว่าจะเป็นผลดี ขอเชียร์นโยบายนี้ แต่ต้องมีเงื่อนไขว่า นโยบายนี้จะได้ผลดีกับการสร้างโอกาสทางการศึกษา แต่ว่าคงยังไม่เพียงพอกับการสร้างคุณภาพ ต้องมีนโยบายเพื่อคุณภาพการศึกษาด้วย และอย่าให้การเรียนฟรีเป็นการสกัดโอกาสพัฒนาคุณภาพการศึกษา

เรื่องการศึกษาฟรีไปเกี่ยวพันกับเรื่องหนังสือเรียนเพราะในรายการนี้มีการจัดเงินค่าหนังสือเรียน แล้วบอกว่าจะจัดสรรให้ยืมเรียน คิดว่าซื้อแล้วจะใช้ได้สัก 3 ปี ก็เกิดประเด็นว่าจะซื้อจากใคร ใครเป็นผู้ซื้อ เลยเกิดปัญหาเรื่องกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เกรงว่าจะมีผู้ได้ประโยชน์ เกรงจะเกิดปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ประกอบกับมีข่าวว่ากระทรวงศึกษาธิการจะใช้หลักสูตรใหม่ในปีการศึกษา 2553 หนังสือที่พิมพ์แจกจะล้าสมัยแจกไปก็ใช้ได้ปีเดียว และที่แจกก็กำลังจะเป็นหนังสือเลิกใช้จะทำให้เสียเงินเสียทอง ควรรอหนังสือใหม่ที่เขียนตามหลักสูตรใหม่ ฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ และฟังคำชี้แจงแล้วทำให้เกิดความอึดอัดใจเป็นอย่างยิ่ง ถามตัวเองว่า หลักสูตรคืออะไร หนังสือคืออะไร ทำไมหนังสือกับหลักสูตรจึงผูกพันกัน ทำไมปรับแก้หลักสูตรใหม่ แล้วต้องปรับแก้หนังสือใหม่

หลักสูตรเป็นการกำหนดเป้าหมายปลายทางและผลที่ต้องการให้เกิดขึ้นในการจัดการเรียนรู้ รวมถึงรูปแบบและวิธีการจัดให้เกิดผลดี บรรลุตามจุดหมายที่กำหนดไว้ ในกระบวนการจัดการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการและนักการศึกษาทั้งหลายก็กล่าวตรงกันว่าสาระความรู้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาผู้เรียน คนเราไม่จำเป็นต้องเรียนรู้จากสาระความรู้เหมือนๆ กัน เพราะเป้าหมายไม่ใช่การจดจำเนื้อหาความรู้ แต่ต้องการให้ความรู้นำไปสู่กระบวนการคิดวิเคราะห์ เราต้องการให้สาระความรู้เป็นสิ่งท้าทายทำให้เกิดการแสวงหาความรู้ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สำคัญอีกประการหนึ่งของการจัดการศึกษา การจัดการศึกษาคือกระบวนการพัฒนาผู้เรียน การพัฒนาผู้เรียนต้องพัฒนาทั้งความคิดจิตใจ และร่างกายถ้าอยากให้เด็กรู้กว้างรู้ไกล รู้ลึก รู้อย่างเข้าใจ ก็ต้องให้เด็กแสวงหาความรู้เอง การมีหนังสือเรียน และกำหนดหนังสือเรียนจึงไม่สนับสนุนการเรียนรู้ตามความคิด ความเชื่อ ตามปรัชญาการศึกษาตามที่กล่าวถึงมานี้เลย แต่การกำหนดหนังสือเรียนจะทำให้เด็กเรียนสาระความรู้เหมือนๆ กัน คิดเหมือนๆ กัน

จุดอ่อนด้อยของการศึกษาไทยประการหนึ่งคือ เรื่องการเอาหนังสือเรียนไปผูกกับหลักสูตร เมื่อกระทรวงตรวจรับรองว่าเป็นหนังสือเรียนตามหลักสูตร ครูก็มักยึดหนังสือเป็นหลักสูตรโดยไม่ได้ดูหลักสูตร การสอนจึงมักไม่เป็นไปตามหลักสูตร แต่เป็นไปตามหนังสือเรียน เช่นมักมีการทักว่าโรงเรียนสอนผิด แต่โรงเรียนก็อ้างว่าสอนถูกตามหนังสือที่กระทรวงฯ ให้การรับรอง อยากจะกล่าวว่าไม่มีหนังสือเรียนเล่มไหน หรือไม่มีหนังสือเล่มใดในโลกที่คงความถูกต้องตลอดไป ผู้เขียนเคยเกี่ยวข้องกับระบบตรวจหนังสือเข้าใจดีว่ามีหนังสือที่ตรวจรับรองแล้วยังมีผิดพลาดอยู่อีก และเกิดได้เสมอๆ คนทำหนังสือรู้ดีว่า ณ วันที่พิมพ์หนังสือออกมา ก็พบแล้วว่ายังมีความบกพร่องที่จะต้องแก้ไข จึงไม่มีหนังสือใดที่สมบูรณ์อย่างแท้จริง ที่จริงหนังสือเรียนควรเป็นเพียงสาระความรู้กลาง การนำไปใช้ครูต้องนำไปปรับใหม่ให้เหมาะสมอีกทีหนึ่ง ตามหลักสูตรของแต่ละโรงเรียนซึ่งไม่เหมือนกัน

เจตนาของหนังสือเรียนมีไว้เพื่อให้นักเรียนได้ศึกษาค้นคว้าอ้างอิง การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ต้องมีหนังสือให้ค้นคว้าหลายๆ เล่มเพื่อเปรียบเทียบกัน การเรียนจากหนังสือที่ได้รับการรับรอง 1 เล่ม จะสู้การอ่านหลายๆ เล่มไม่ได้ เพราะไม่เกิดความหลากหลายทางความคิด การมีเพียงหนังสือเรียนวิชาละหนึ่งเล่มจึงยังไม่เพียงพอกับการจัดการเรียนรู้

ถ้าจะให้สอดคล้องกับหลักการจัดการเรียนรู้ที่แท้จริง แทนที่จะจัดหาหนังสือเรียน ควรเน้นการพัฒนาห้องสมุดโรงเรียน จัดหาสื่อเพื่อการเรียนรู้ให้มากๆ เพื่อให้เด็กได้สนุกและสะดวกกับการแสวงหาความรู้ จะจัดซื้อหนังสือเรียนก็ได้ แต่ควรซื้อเข้าห้องสมุดเพื่อให้เด็กยืมเรียน ไม่จำเป็นให้ทุกคนมีเหมือนๆกัน ความไม่เหมือนกันจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกิดขึ้น โรงเรียน ควรมีหนังสือที่หลากหลาย จากหลายสำนักพิมพ์ ไว้ให้เด็กค้นคว้า โรงเรียนต้องสอนให้เด็กอ่านหนังสือหลายๆเล่ม ต้องเปลี่ยนการเรียนจากรูปแบบครูบอกความรู้ ตามหนังสือมาเป็นเป็นให้เด็กแสวงหาความรู้แทน

ถ้ายังจัดหนังสือเรียนอย่างเดิม รูปแบบการเรียนรู้ใหม่ก็ไม่เกิด จะปฏิรูปการศึกษากันอีกกี่ครั้งก็คงไม่ไปไหน เหมือนพายเรืออยู่ในอ่าง ต้องกล้าหาญทะยานออกให้พ้นอ่าง ด้วยการจัดระบบหนังสือเรียนแบบใหม่แทน

ดร.พนม พงษ์ไพบูลย์

20 กุมภาพันธ์ 2552

แหล่งที่มา

พนม พงษ์ไพบูลย์. (2553).

นโยบายหนังสือเรียน.ค้นเมื่อ พฤศจิกายน 24, 2553, จาก
http://gotoknow.org/blog/panom/273731

 


Copyright
All copyright rights in the Dewey Decimal Classification system are owned by OCLC. Dewey, Dewey Decimal Classification, DDC and WebDewey are registered trademarks of OCLC
Revised:March 2009


Send comments to Chumpot@hotmail.com