ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์
โครงการห้องสมุดโรงเรียนในฝัน

***ร่วมสร้างองค์ความรู้ สู่การศึกษาตลอดชีวิต วิทยพัฒนาเด็กไทยในท้องถิ่น***


000 หมวดเบ็ดเตล็ด
(Generalities)

100 หมวดปรัชญา
(Philosophy)

200 หมวดศาสนา
(Religion)

300 หมวดสังคมศาสตร์
(Social Sciences)

400 หมวดภาษาศาสตร์
(Language)

500 หมวดวิทยาศาสตร์
(Pure Sciences)

600 หมวดเทคโนโลยี
(Technology)

700 หมวดศิลปะ
(The Arts)

800 หมวดวรรณคดี
(Literature)

900 หมวดประวัติศาสตร์
(Geography & History)


Home

   

370.28 รวมบทความทางการศึกษา

รินน้ำใจสู่ชาวใต้
ดร.พนม พงษ์ไพบูลย์

ชมรมข้าราชการและครูอาวุโสของกระทรวงศึกษาธิการได้รับการประสานงาน จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้ไปเยี่ยมโครงการรินน้ำใจสู่น้องชาวใต้ที่จังหวัดสงขลาและจังหวัดนราธิวาส ในระหว่างวันที่ 19 - 20 มกราคม 2553 นี้

โครงการรินน้ำใจสู่น้องชาวใต้ เป็นโครงการที่จัดต่อเนื่องกันมาถึง 7 ปีแล้ว ทุกปีโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมทั้งจากส่วนกลางและจากจังหวัดใหญ่ๆ จะร่วมมือกันจัดหาครูไปสอนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่กำลังเตรียมเรียนต่อระดับอุดมศึกษา ให้มีความพร้อมและมีความเชื่อมั่น ในตัวเองให้มากยิ่งขึ้น การสอนพิเศษนี้ไม่ใช่การกวดวิชา แต่เป็นการทบทวนหลักการและสาระสำคัญของวิชาต่าง ๆ ให้กับนักเรียน

วิชาที่สอนล้วนเป็นวิชาในกลุ่มสาระหลักได้แก่ วิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เคมี ชีวะวิทยา ภาษาอังกฤษและสังคม และยังมีกิจกรรมแนะแนวประกอบด้วย สพฐ.เปิดศูนย์การสอนพิเศษนี้ใน 5 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี 2 ศูนย์ ยะลา 3 ศูนย์ นราธิวาส 5 ศูนย์ สงขลา 2 ศูนย์ และสตูล 5 ศูนย์

คณะของ ชอศ.ที่ไปประกอบด้วย อาจารย์วิรัช บุญนำ อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ และอดีตรองอธิบดีกรมสามัญศึกษา อาจารย์ธำรง อมโร อดีตรองอธิบดีกรมการศาสนา ดร.สุรชาติ สังข์รุ่ง อดีตที่ปรึกษากระทรวงศึกษาธิการ อาจารย์นิพนธ์ แก้วสุทธา อดีตผู้อำนวยการเขตการศึกษา และตัวผู้เขียนเอง นอกจากนี้ก็มีเจ้าหน้าที่ของ สพฐ.อีก 3 คน มี อาจารย์อำนาจ วิชยานุวัติ อาจารย์จันทิมา บุญสมบัติ และอาจารย์ฉัตรชัย แก้วจันทา เป็นผู้คอยดูแลอำนวยความสะดวก

เป้าหมายของการไปเยี่ยมคือ ศูนย์ทั้งหมดในจังหวัดนราธิวาส และสงขลา รวม 7 ศูนย์ คณะออกเดินทางเช้าตรู่ของวันที่ 19 ไปถึงสนามบินหาดใหญ่ เวลา 7 นาฬิกาเศษ แล้วขึ้นรถไปนราธิวาสทันที ระหว่างทางได้แวะพักรับประทานอาหารเช้าที่ปัตตานี โดยเป็นแขกของผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาปัตตานีเขต 1 ได้มีโอกาสพูดคุยกับคณะของจังหวัดปัตตานีพอสมควร แล้วก็เลยไปนราธิวาส เพราะตามกำหนดการต้องเยี่ยมศูนย์ 3 ศูนย์ในภาคเช้า แล้วภาคบ่ายต้องเดินทางไปสุไหงโกลก ไปเยี่ยมอีก 2 ศูนย์

เมื่อถึงนราธิวาสก็ตรงไปที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานราธิวาส เขต 1 เพราะได้ใช้ห้องประชุมของเขตเป็นศูนย์การเรียนด้วย คณะได้พบกับท่านผู้อำนวยการอุดม พรมพันธ์ใจ ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ซึ่งได้ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบศูนย์การเรียนในนราธิวาสทั้งหมด ท่าน ผอ.อุดม พรมพันธ์ใจ นอกจากรับผิดชอบศูนย์แล้วยังต้องเป็นผู้ประสานหาวิทยากรจากโรงเรียนต่างๆ มาช่วยสอนและยังช่วยหาเงินและวัสดุสื่อการสอนเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่ สพฐ. จัดให้ ศูนย์ที่นราธิวาสอีก 2 ศูนย์ จัดที่โรงเรียนอัตตัรกียะห์อิสลามียะห์และที่โรงแรมอิมพีเรียล แต่ละศูนย์มีนักเรียนประมาณศูนย์ละ 500 - 600 คน

คณะได้เข้าเยี่ยมพบปะกับผู้สอนและนักเรียนในทุกศูนย์ ได้แยกย้ายกันทักทายพูดคุยกับครูและนักเรียนกันโดยทั่วหน้า และยังได้มีโอกาสพบกับครูทั้งหมดที่โรงแรมอิมพีเรียล เพราะมาร่วมรับประทานอาหารกลางวันพร้อมกัน

ตอนบ่ายเดินทางไปสุไหงโกลกไปเยี่ยมอีก 2 ศูนย์ ซึ่งจัดที่โรงแรมเก็นติ้ง และโรงแรมมารีน่า แต่ละแห่งมีนักเรียนแห่งละ 400 คนเศษ หลังจากพบปะนักเรียนและครูเช่นเคยแล้ว ก็มาพักนั่งดื่มกาแฟคุยกันไปได้สักครู่ ดื่มกาแฟยังไม่ถึงครึ่งถ้วย ก็มีคนมาบอกว่ากลับได้แล้ว ถามว่าทำไมยังดื่มกาแฟได้นิดเดียว เขาบอกว่าได้เวลากลับแล้ว หากอยู่นานเกินไปเกรงว่าเส้นทางกลับจะไม่ค่อยปลอดภัย ก็เลยต้องเลิกดื่มกาแฟ ขึ้นรถกลับมาพักค้างคืนที่หาดใหญ่ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมงเศษ

ที่หาดใหญ่ ได้พบกับผู้อำนวยการโรงเรียน ภปร.ราชวิทยาลัย อาจารย์สุวัฒน์ อ้นใจกว้าง ซึ่งมาเป็นหัวหน้าชุดจัดที่สงขลา อาจารย์สุวัฒน์นี้เคยทำงานด้วยกันแต่ครั้งอยู่กรมสามัญศึกษา คณะเลยได้ข้อมูลและการดูแลอย่างดี ที่สงขลานี้จัด ที่โรงเรียนนาทวีวิทยาคมและที่โรงเรียนสะเดา “ขรรค์ชัยกัมพลานนท์อนุสรณ์” อำเภอสะเดา ก็ได้ไปเยี่ยมเยียนทั้ง 2 ศูนย์ ในวันรุ่งขึ้น

จากการไปเยี่ยมเยียนพบปะนักเรียนทั้ง 7 ศูนย์การเรียน เป็นนักเรียน 3,000 คนเศษ พบกับครูจากส่วนกลางที่เสียสละไปช่วยสอนพิเศษเกือบ 50 ชีวิต พอจะประมวลความรู้สึกได้ว่าสำหรับนักเรียนแล้ว เป็นที่ชัดเจนว่าสนใจ กระตือรือร้นที่จะมาเรียน และทุกคนตอบตรงกันว่าเป็นประโยชน์ ได้ความรู้มาก ตื่นเต้นที่ได้พบครูที่มีชื่อเสียงจากส่วนกลาง ถามว่าที่สอนใหม่กับที่เรียนจากโรงเรียนเดิมต่างกันหรือไม่ คำตอบคือไม่ต่างกันแต่ทำให้เข้าใจหลักการดียิ่งขึ้น ซึ่งก็เป็นเรื่องถูกต้องแล้วเพราะวิทยากรเล่าให้ฟังว่าไม่ได้สอนแบบติวหรือกวดวิชาแต่เป็นการสรุปหลักและสาระสำคัญของวิชา

บรรยากาศในห้องเรียนค่อนข้างเรียบร้อยเพราะส่วนใหญ่เรียนในห้องโถงใหญ่ปรับอากาศ นักเรียนไม่พูดคุย พลุกพล่าน แต่มีเสียงฮาเป็นครั้งคราวตามจังหวะที่ผู้บรรยายจะออกมุขเพื่อเรียกความสนใจจากผู้เรียน สรุปได้ว่าทุกศูนย์เป็นไปด้วยความเรียบร้อยด้วยดีทุกประการ เมื่อถามนักเรียนว่าอยากได้อะไรเพิ่มเติมบ้าง นักเรียนตอบว่าอยากให้จัดสักปีละ 2 ครั้ง คือภาคเรียนละครั้ง และอยากจัดเร็วกว่านี้ เพราะที่จัดดูจะช้าไปสำหรับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยเพราะการสอบ GAT และ PAT ทำไปเรียบร้อยแล้ว

กับคณะครูได้พูดคุยกับหลายท่านตามโอกาสและจากข้อมูลของคณะที่ไปด้วยกัน แยกกันเยี่ยมเยียนคำตอบที่ได้ตรงกันคือ ทุกคนเต็มใจ ตั้งใจ และเสียสละเพื่อการมีส่วนร่วมเป็นผู้ให้ความรู้กับน้องชาวใต้ มีผู้ถามว่ากลัวหรือไม่ ครูตอบว่าก่อนมาก็กลัวเหมือนกัน แต่เมื่อมาถึงมาอยู่แล้วก็ไม่รู้สึกกลัว ตำรวจ ทหารเขาเสียสละมากกว่าเราเสียอีก ทำไมเราจะเสียสละไม่ได้ ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเข้าใจที่ดีร่วมกันเพื่อพี่น้องชาวใต้ ทุกคนตอบเหมือนกันว่าปีหน้าถ้าจัดอีกก็จะอาสามาอีก

คณะผู้มาเยี่ยมต่างรู้สึกชื่นชมคณะครูและผู้บริหารที่มาช่วยกันจัดด้วยความเสียสละ และได้ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับเยาวชนในภาคใต้ เราตกลงกันไว้ว่าปีหน้าฟ้าใหม่ ถ้าโครงการรินน้ำใจสู่น้องชาวใต้ยังมีอยู่ เราก็จะอาสามาเยี่ยมอีก

แหล่งที่มา

พนม พงษ์ไพบูลย์. (2553).

รินน้ำใจสู่ชาวใต้.ค้นเมื่อ พฤศจิกายน 24, 2553, จาก
http://gotoknow.org/blog/panom/333369

 


Copyright
All copyright rights in the Dewey Decimal Classification system are owned by OCLC. Dewey, Dewey Decimal Classification, DDC and WebDewey are registered trademarks of OCLC
Revised:March 2009


Send comments to Chumpot@hotmail.com