ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์
โครงการห้องสมุดโรงเรียนในฝัน

***ร่วมสร้างองค์ความรู้ สู่การศึกษาตลอดชีวิต วิทยพัฒนาเด็กไทยในท้องถิ่น***


000 หมวดเบ็ดเตล็ด
(Generalities)

100 หมวดปรัชญา
(Philosophy)

200 หมวดศาสนา
(Religion)

300 หมวดสังคมศาสตร์
(Social Sciences)

400 หมวดภาษาศาสตร์
(Language)

500 หมวดวิทยาศาสตร์
(Pure Sciences)

600 หมวดเทคโนโลยี
(Technology)

700 หมวดศิลปะ
(The Arts)

800 หมวดวรรณคดี
(Literature)

900 หมวดประวัติศาสตร์
(Geography & History)


Home

   

370.28 รวมบทความทางการศึกษา

หนึ่งตำบลหนึ่งโรงเรียน
ดร.พนม พงษ์ไพบูลย์

เมื่อประเทศไทยเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปการศึกษา เสียงแซ่ซ้องสรรเสริญดังไปทั่ว ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย ต่างประเทศก็ชื่นชมความกล้าหาญ นักการเมือง นักการศึกษา นักพัฒนาต่างตั้งความหวังว่าการศึกษาไทยจะดีขึ้น จะช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยให้สูงขึ้น ระบบการศึกษาไทยจะไม่ด้อยกว่าต่างประเทศ เด็กไทยจะเก่งทั้งภูมิปัญญาไทยและภูมิปัญญาสากล การปฏิรูปการศึกษาไทยได้รื้อเกือบทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความหวังจะสร้างภาพใหม่ มีบางคนกล่าวว่าสิ่งที่ไม่ถูกรื้อไปก็คงเป็นเพียงตึกรามเท่านั้น กระทรวงศึกษาธิการใหม่ ภายใต้โครงสร้างใหม่ ระบบบริหารใหม่ หลักสูตรใหม่ กับความสับสนวุ่นวายต่างๆ ดำเนินไปได้หนึ่งทศวรรษ ผลการประเมินปรากฏว่ายังไม่บรรลุเป้าหมาย และหลายอย่างถอยหลังไปจากเดิม ที่ดีขึ้นคือมีตำแหน่งต่างๆ เกิดมากขึ้น ที่ถอยลงชัดเจนคือคุณภาพการศึกษา

รายงานของสำนักงานสภาการศึกษาชื่อ “สรุปผลการดำเนินงาน 9 ปี ของการปฏิรูปการศึกษา” ปรากฏชัดเจนว่า คุณภาพของการศึกษาขั้นพื้นฐานในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมานี้ลดลง คะแนนผลการทดสอบต่างๆ ลดลง และต่ำกว่าค่าเฉลี่ย แสดงว่าเด็กไทยมีความรู้น้อยลง ถ้าเป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษาคือการยกระดับคุณภาพ ดังที่กล่าวย้ำกันอยู่เสมอๆ การปฏิรูปการศึกษาก็ล้มเหลว กล่าวอย่างนี้ดูจะรุนแรงเกินไป แต่ก็มีหลายคนกล่าวไว้เช่นนี้

มีกระบวนการศึกษาวิเคราะห์กันมากว่าเหตุใดการศึกษาไทยจึงไปไม่ถึงเป้า ทั้งที่ทุกฝ่ายได้ทุ่มเทลงทุนอย่างมหาศาล บทสรุปก็มักจะเป็นกำปั้นทุบดิน หลายคนโทษหลักสูตรไม่ดี สื่อการสอนไม่ดี ผู้บริหารไม่สนใจ ครูไม่มีจิตวิญญาณ ครูไม่ทำตามเจตนารมณ์ของการปฏิรูปการศึกษา ครูยังสอนแบบใหม่ไม่เป็น ครูไม่สอนให้คิด ครูไม่มีความรู้ จึงมีผู้คิดว่าจะยกระดับคุณภาพการศึกษาได้ต้องสร้างครูพันธุ์ใหม่ ครูที่เก่ง ครูที่ดี ครูที่มีจิตวิญญาณ ต้องผลิตครู 5 ปี โดยคิดว่าถ้าให้ครูเรียนเพิ่มอีก 1 ปี จะได้ครูที่ดีขึ้น เคยตั้งข้อสงสัยว่าจริงหรือ ถ้าจริงในโลกนี้เขาคงผลิตครู 5 ปี กันไปหมดแล้ว

เห็นด้วยว่าคุณภาพการศึกษาไทยยังไม่เป็นที่น่าพอใจ แต่ไม่เห็นด้วยกับข้อสรุปทั้งหมด ถ้าวิเคราะห์คะแนนการวัดและประเมินให้ดี จะพบว่ามีเด็กจำนวนมากที่ทำคะแนนได้น้อย แต่มีไม่น้อยที่ทำคะแนนได้สูง ถ้าเอาผลการสอบแข่งขันโอลิมปิกทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นตัวชี้วัด ก็จะเห็นว่าเด็กไทยเก่ง และเก่งไม่แพ้ประเทศใดในโลก แต่ถ้าเอาค่าคะแนน NT เป็นตัวชี้วัด เด็กไทยไม่เก่ง ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น เหตุผลคือ การแข่งขันโอลิมปิกเราคัดคนเก่งๆ ไปแข่ง มีการฝึกอย่างเข้ม แต่คะแนน NT สอบทั้งประเทศ ทั้งคนเก่งและไม่เก่ง แต่ถ้าคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่า 50 แสดงว่า เด็กส่วนใหญ่ไม่เก่ง เด็กไม่เก่งฉุดคะแนนเด็กเก่งให้ลดลง

ถ้าดูคะแนนให้ใกล้เข้าไปอีกจะพบว่า ความห่างระหว่างเด็กเก่งกับไม่เก่ง คือคะแนนสูงกับคะแนนต่ำห่างกันมาก และห่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาเปลี่ยนไป แปลว่าเด็กเก่งก็เก่งเพิ่มขึ้น เด็กอ่อนก็อ่อนมากขึ้น ถ้าเป็นอย่างนี้ความผิดจะโทษว่าครูสอนไม่ดีไม่ได้ละกระมัง น่าจะมาจากสาเหตุอื่น หรืออย่างนี้ก็ต้องมีตัวแปรอื่น นอกจากครูเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ตัวแปรอื่นก็คือขนาดของโรงเรียนนั่นเอง เด็กโรงเรียนเล็กทำคะแนนได้น้อย

ผู้เขียน เคยไปเยี่ยมโรงเรียนในชนบทมาแล้วทุกภูมิภาคของประเทศ แม้จะพ้นจากหน้าที่ราชการแล้วก็ยังไปอยู่เป็นประจำ ไปแล้วก็พบเสมอว่า โรงเรียนในชนบทมีขนาดเล็กลงมาก โรงเรียนชานเมืองก็มีขนาดเล็กลง หลายคนคิดว่าเป็นเพราะประชากรรุ่นใหม่ลดลง นั่นอาจเป็นสาเหตุหนึ่ง แต่ไม่ใช่สาเหตุใหญ่ จะว่าคนชนบททิ้งถิ่นเข้าไปทำกินในเมืองใหญ่ก็ไม่ใช่ เพราะหลายคนไปแต่ตัวทิ้งลูกไว้ให้ปู่ย่าตายายเลี้ยง เหตุที่โรงเรียนรอบนอกเล็กลงเพราะการคมนาคมดีขึ้น คนมีความรู้มากขึ้น รู้จักเลือกโรงเรียนให้ลูกหลาน ที่เคยหาโรงเรียนใกล้บ้าน เดี๋ยวนี้โรงเรียนใกล้บ้านไม่สำคัญ เขามีรถรับส่ง เขาหาโรงเรียนที่ดีให้ลูกซึ่งก็มักเห็นว่าโรงเรียนที่ดีคือโรงเรียนในเมืองเดี๋ยวนี้โรงเรียนในเมืองทั้งของรัฐและเอกชนมีคนนิยมมากขึ้น ขณะที่โรงเรียนรอบนอกเล็กลงๆ บางโรงเรียนเหลือเด็กไม่ถึง 20 คน เมื่อก่อนเราสร้างโรงเรียนใกล้บ้าน บางตำบลมีถึง 5-6 โรงเรียน เดี๋ยวนี้โรงเรียนในตำบลกลายเป็นปัญหาไม่มีเด็กเรียน

โรงเรียนมีเด็ก 20 คน ชั้นหนึ่งก็มีเด็กไม่ถึง 10 คน ที่เคยเห็นมีชั้นละ 4-5 คน จะจัดครูให้ชั้นละ 1 คนก็คงไม่ได้ จึงพบเป็นประจำว่าครูคนหนึ่งสอน 2-3 ชั้น หลายคนบอกว่าทำได้ แต่จะให้ดีคงยาก คุยกับครูพบว่า การสอนแบบนี้ทำให้มีคุณภาพยากมาก สอนแค่อ่านออกเขียนได้ทำเลขเป็นก็หนักหนาสาหัสแล้ว

อีกประการหนึ่งเด็กโรงเรียนเล็กๆ ล้วนเป็นเด็กที่มาจากครอบครัวฐานะยากจน คนที่มีฐานะในชุมชน ในหมู่บ้านต่างอุ้มลูกขึ้นรถส่งเข้าเรียนในเมืองหมด ผู้คนที่มีฐานะในชุมชน เมื่อลูกไม่ได้เรียนโรงเรียนใกล้บ้านก็ให้ความสนใจโรงเรียนน้อยลง ที่หวังให้โรงเรียนเป็นของชุมชนก็เลยเป็นได้ส่วนเดียวคือเป็นของคนชุมชนที่ยากจนที่ไม่มีปัญญาจะช่วยโรงเรียน เมื่อเป็นเช่นนี้ครูก็ไม่ค่อยมีกำลังใจสอน ผู้ปกครองก็ไม่ค่อยสนใจโรงเรียน ผลการเรียนเด็กก็เลยลดลง ลดลง

ถ้าต้นตอใหญ่ของปัญหาอยู่ที่โรงเรียนมีขนาดเล็กเกินไป วิธีแก้ก็ต้องแก้ที่ต้นเหตุ ผู้เขียนเคยไปเยี่ยมที่ตำบลวังน้ำคู้ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ที่นี่มีโรงเรียนประถมศึกษาถึง 5 โรง ทุกโรงเป็นโรงเรียนขนาดเล็กทั้งหมด นายก อบต. กับโรงเรียนปรึกษากันแล้วเห็นชอบให้นำเด็กมาเรียนรวมกัน โดยใช้ที่ใหม่ซึ่งเป็นโรงเรียนมัยธยมประจำตำบลแต่มีเด็กเรียนน้อยจึงมีที่ว่างอยู่ อบต. จัดพาหนะรับส่งนักเรียนจากบ้านมาเรียนรวมกัน ระยะทางที่ไกลสุดก็เพียง 3-4 กม. ครูก็มาสอนรวมกัน ปัญหาจากเดิมที่ครูไม่พอ คุณภาพการศึกษาไม่ดีก็เปลี่ยนไป เป็นครูพอชั้น นักเรียนเรียนได้สนุกสนานมากขึ้น โรงเรียนกับประชาชนใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น ผู้เขียนชื่นชมความตั้งใจของนาย อบต. และเสนอแนะว่าทำไมไม่ยุบรวมให้เป็นโรงเรียนเดียวเสียเลย คำตอบคือแค่นี้ก็ลำบากพอแล้ว ทำนานๆ เข้าผู้บริหารก็ชักนึกเสียดาย อยากเอากลับไปโรงเรียนเดิม ถ้าแยกกันก็กลายเป็นโรงเรียนเล็กอีก เคยไปเยี่ยมมาสองครั้ง คาดหวังว่าจะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น กลับเห็นทีท่าจะท้อถอย แสดงว่าแรงหนุนอาจยังน้อยไปไม่เพียงพอ

คิดว่าทางแก้เรื่องคุณภาพการศึกษาที่สำคัญที่อยากเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการให้ความสนใจคือ การแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก ใครๆ ก็ชื่นชม น่าจะลองเอาความคิด OTOP คือหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์มาใช้ เราควรคิดเรื่องหนึ่งตำบลหนึ่งโรงเรียน ยุคนี้หนึ่งตำบลมีหนึ่งโรงเรียนน่าจะเพียงพอแล้ว แต่ต้องทำโรงเรียนให้ดี สร้างโรงเรียนใหม่ ทำให้พร้อมที่ศูนย์กลางของชุมชนตำบล แล้วให้โรงเรียนมีรถรับส่งนักเรียน เป็น School Bus ของตำบล เอาไว้รับเด็กชายขอบตำบลที่อยู่ห่างโรงเรียน เด็กส่วนใหญ่คงเดินมาเรียนได้ตามปกติอยู่แล้ว เมื่อสร้างโรงเรียนใหม่แล้วก็ยุบโรงเรียนเล็กๆ เสีย เท่านี้อาจจะแก้ปัญหาได้หมด

อาจมีปัญหาการต่อต้านเรื่องการยุบตำแหน่งผู้บริหาร ซึ่งก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่เท่าไรถ้าชี้แจงกันให้เข้าใจ อาจมีปัญหาเรื่องประชาชน แต่ส่วนใหญ่เชื่อว่าประชาชนจะให้ความร่วมมือด้วยดี เพื่อการศึกษาที่ดีของลูกหลานเขา

เขียนถึงตรงนี้ คิดว่าเรื่องกระจายอำนาจให้ชุมชนมีส่วนร่วมจัดการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ถ้ากระทรวงศึกษาธิการ ร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อย่าคิดว่าโรงเรียนเป็นของใครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นของส่วนรวมที่จะต้องช่วยกัน เหมือนที่เห็นที่วังน้ำคู้เป็นตัวอย่าง ทุกอย่างก็จะไปได้สวย ไม่ต้องเสียเวลาสร้างครูพันธุ์ใหม่กันต่อไปอีก

อยากจะประกาศว่า มาคิดทำให้เหลือหนึ่งตำบลหนึ่งโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษากันเถิด

แหล่งที่มา

พนม พงษ์ไพบูลย์. (2553).

หนึ่งตำบลหนึ่งโรงเรียน.ค้นเมื่อ พฤศจิกายน 24, 2553, จาก
http://gotoknow.org/blog/panom/333371

 


Copyright
All copyright rights in the Dewey Decimal Classification system are owned by OCLC. Dewey, Dewey Decimal Classification, DDC and WebDewey are registered trademarks of OCLC
Revised:March 2009


Send comments to Chumpot@hotmail.com