ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์
โครงการห้องสมุดโรงเรียนในฝัน

***ร่วมสร้างองค์ความรู้ สู่การศึกษาตลอดชีวิต วิทยพัฒนาเด็กไทยในท้องถิ่น***


000 หมวดเบ็ดเตล็ด
(Generalities)

100 หมวดปรัชญา
(Philosophy)

200 หมวดศาสนา
(Religion)

300 หมวดสังคมศาสตร์
(Social Sciences)

400 หมวดภาษาศาสตร์
(Language)

500 หมวดวิทยาศาสตร์
(Pure Sciences)

600 หมวดเทคโนโลยี
(Technology)

700 หมวดศิลปะ
(The Arts)

800 หมวดวรรณคดี
(Literature)

900 หมวดประวัติศาสตร์
(Geography & History)


Home

   

370.28 รวมบทความทางการศึกษา

พนม กับพนมเปญ
ดร.พนม พงษ์ไพบูลย์

เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อ แต่ก็ต้องเชื่อ ผมไม่เคยไปพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชามาก่อนเลย ที่จริงเมื่อตอนยังมีตำแหน่งในกระทรวงศึกษาธิการ เป็นเรื่องง่ายมากที่จะไปเยี่ยมเมืองหลวงของประเทศใดๆ ในกลุ่มอาเซียน เพราะเรามีเครือข่ายอาเซียนทางการศึกษาที่เรียกว่า SEAMEO (South East Asia Ministry of Education Organization) เป็นหน้าที่ด้วยซ้ำไปที่จะต้องไปเยี่ยมเยือนซึ่งกันและกัน แต่ผมกับพนมเปญมีอันต้องแคล้วคลาดกันเสมอ คงเป็นด้วยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไม่ค่อยราบรื่นนัก กับโอกาสไม่ค่อยอำนวย แต่อยู่ดีๆ ดร.ธงชัย ชิวปรีชา อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ก็บอกว่าอยากจะชวนไปเที่ยวเขมร ไปกับ Mr.Akio ชาวญี่ปุ่น คนนี้เคยพาผมไปญี่ปุ่นไปดูงานเรื่องลูกคิดมาแล้วหนึ่งครั้ง

Mr.Akio เป็นคนสนใจเรื่องการศึกษาเป็นประธานมูลนิธิการศึกษาเพื่อการพัฒนา (Education for Development Foundation) ในระดับนานาชาติ ตั้งมูลนิธิแม่อยู่ญี่ปุ่นมีมูลนิธิสาขาอยู่ที่ไทย เขมร และลาว เคยทำโครงการสอนเด็กไทยใช้ลูกคิดและจัดหาทุนเพื่อการศึกษาในชนบทไทยปีหนึ่งนับร้อยทุน เมื่อคิดจะไปช่วยเขมร เขาจึงขยายมูลนิธิไปตั้งที่นั่น

Mr.Akio ชวนผมไปเล่นกอล์ฟระหว่างตีกอล์ฟก็เล่าโครงการให้ฟังว่าอยากไปช่วยเขมรพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา โดยเฉพาะด้านการบริหาร วิธีการก็คือจะจัดโปรแกรมปริญญาโททางการบริหารการศึกษาโดยพัฒนาหลักสูตรกับมหาวิทยาลัยไทยทำเพื่อเขมรโดยเฉพาะใช้คนไทยสอน แต่ไปสอนที่เขมรเขาเห็นว่าผมและช.อ.ศ. น่าจะช่วยเขาได้ เพราะเรามีเครือข่ายและสมาชิกมากโดยเฉพาะเขาคิดว่าผมคงติดต่อผู้ใหญ่ที่มีความรู้ความสามารถแต่เกษียณแล้วไปช่วยสอนได้ ผมฟังแล้วก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจและท้าทายมากเลยตกลงใจไปกับเขา

เช้า 15 มิถุนายน 2552 ได้ฤกษ์เดินทางตามนัดหมายของการบินไทยเวลา 07.50 น. ใช้เวลา 1 ชั่วโมง 10 นาทีถึงพนมเปญ การเดินทางเที่ยวนี้สะดวกสบายเพราะเขาให้นั่งชั้นธุรกิจ ผมตื่นเต้นตอนเครื่องใกล้ลง ท้องฟ้าแจ่มใส เห็นมหานทีแม่โขงแยกเป็นสายใหญ่ๆ 4 สาย บ้านเรือนตั้งอยู่สองฝั่งแม่น้ำ แม่น้ำกว้างใหญ่กว่าเจ้าพระยาหลายเท่า เห็นพื้นดินเป็นสีแดง ที่สนามบินต้องทำวีซ่าก่อนเข้าเมืองเสียเงินไปราวๆ 50 เหรียญ แต่ไม่เป็นไรเพราะไม่ได้จ่ายเอง ที่จริงไปเที่ยวนี้ผมไม่ได้ใช้เงินตัวเองแม้แต่บาทเดียว ยกเว้นจ่ายค่าแท็กซี่ขากลับเข้าบ้านเท่านั้น จากสนามบินไปโรงแรมเขาให้พักโรงแรมห้าดาวอย่างดีชื่อ Raffle hotel เข้าโรงแรม 10 นาทีก็ออกไปที่กรมอุดมศึกษา (Higher Education) ที่นี่เป็นภารกิจแรกที่ไปพบเจ้าหน้าที่เจรจาเรื่องโครงการ หน้าที่ผมคือให้การรับรองว่าถ้าเกิดโครงการนี้จริง ผมจะให้ความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรและจัดหาผู้สอนให้ เนื่องจากเป็นการเจรจากับเจ้าหน้าที่จึงยังไม่มีข้อตกลง ดูเจ้าหน้าที่ก็สนใจดี

ตอนบ่ายไปพบ Secretary of State เขาบอกว่าเทียบได้กับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นตำแหน่งการเมือง ถ้าเทียบของไทยคล้ายๆ Permanent Secretary เขาบอกว่าปลัดกระทรวง แต่ของเราเป็นข้าราชการประจำ ห้องทำงานเขาเป็นห้องไม่ใหญ่มีโต๊ะประชุมด้วย เทียบกับห้องปลัดกระทรวงเราไม่ได้ คนที่ไปพบชื่อ ดร.นาท บุญเรือน ชื่ออย่างนี้จริงๆ เมื่อแนะนำตัวว่าผมเคยเป็นปลัดกระทรวงศึกษาธิการของไทย ดูเขาจะให้ความเกรงใจ โอภาปราศรัยดี การเจรจาเป็นเรื่องของญี่ปุ่นกับเขมรมากกว่า เสร็จแล้วไปเยี่ยมมหาวิทยาลัย Royal University of Phnom Penh เจรจาความกันจนมืดค่ำจึงล่ำลากลับ

วันรุ่งขึ้น (ที่ 16 มิ.ย.) ไปเยี่ยมสถานทูตไทยพบท่านทูตพูดคุยกันอย่างดี ท่านทูตบอกจำผมได้แต่ผมจำท่านไม่ได้ กลางวันร่วมรับประทานอาหารกลางวันอย่างเป็นทางการกับทูตญี่ปุ่นและทูตไทยประจำเขมรพร้อมๆ กัน จิบไวน์คนละ 2 แก้ว พอแก้มแดง บ่าย 4 โมงเย็นไปเจรจาความที่ Department of Higher Education ต่อ เป็นอันว่าจบการเจรจาธุรกิจ แต่ยังไม่มีคำตอบว่าข้อเสนอของเราเป็นที่ยอมรับได้หรือไม่ เจ้าหน้าที่แสดงความสนใจ แต่ผู้ใหญ่ขอให้ทำโครงการเสนอไปอีกครั้ง Mr.Akio ก็เลยพูดเหมือนยื่นคำขาดว่า ถ้าไม่สนใจก็ไม่เป็นไร เราจะไปทำที่อื่นต่อ เป้าหมายเราอีกที่หนึ่งคือลาว ประเทศเพื่อนบ้านอีกประเทศหนึ่ง

ไปพนมเปญครั้งนี้ไม่ได้ไปเที่ยวที่ไหนเลย ได้แต่นั่งรถเข้าห้องประชุม เข้าร้านอาหาร แล้วก็เข้าโรงแรมอาบน้ำเข้านอน ถึงกระนั้นก็คิดว่าได้เห็นบ้านเมืองพอสมควร สิ่งแรกที่เห็นคือพนมเปญเจริญกว่าที่เคยเห็นในภาพยนตร์หรือในข่าวสารคดีมาก คนเขมรใช้รถราคาแพง ผมเห็น LEXUS วิ่งอยู่ดาษดื่น ไม่เห็นรถเก๋งคนเล็กๆ แบบบ้านเรา ปิกอัพก็มีไม่มาก ถนนหนทางกว้างขวางแต่ไม่ค่อยตีเส้น เลยหาแถวไม่ค่อยเจอ รถวิ่งไม่เร็ว ทำให้มีเวลาชมบ้านชมเมือง ผมพยายามแกะตัวหนังสือเขมร ก็แกะได้พอสมควร สังเกตให้ดีจะมีความเหมือนกับอักษรไทยโบราณและอักษรลาว บางตัวก็เหมือนกันเช่น ก.ไก่ เป็นต้น ผมเห็นทะเบียนรถเขียนอย่างนี้ เกาะกง ผมถามคนเขมรว่าอ่านว่าเกาะกงใช่ไหมเขาตอบว่าใช่ แถมชมว่าผมเก่งที่จริงไม่เก่งเลยเขียนเหมือนกันทุกประการ บ้านเรือนเป็นระเบียบเรียบร้อยพอสมควร มีกิจการของไทยและประเทศอื่นๆ อยู่มาก เช่น ผมเห็นมีปั๊ม ปตท.อยู่ทั่วไป เห็นธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นต้น ถนนหลักๆ เขาไม่มีเสาไฟฟ้าให้เกะกะคงเอาลงดิน

เสร็จภารกิจแล้วมื้อเย็นราว 2 ทุ่มไปรับประทานอาหารชื่อร้าน Mali คิดว่าเป็นร้านอาหารไทย แต่ไม่ใช่เจ้าของเป็นเยอรมันถามเขาว่าแปลว่าดอกไม้ใช่ไหม เขาตอบว่าเป็นชื่อดอกไม้ ผมคิดว่าเป็นมาลี แต่ที่จริงคือ มะลิ ดอกมะลินั่นเอง มื้อนี้เขาสั่งเนื้อควายอบมากินกัน ผมกินไม่ลง คิดถึงอดีตวัยเยาว์เคยเป็นเด็กเลี้ยงควายทำให้นึกสงสาร

เสียดายมีเวลาจำกัดอยู่ได้ 2 วัน 2 คืนเต็มวันที่ 3 ก็เดินทางกลับ ต้องหาทางไปใหม่ให้ได้ ไปอีกทีอาจไปสอนครูเขมรเลยก็ได้ไม่แน่เหมือนกัน

แหล่งที่มา

พนม พงษ์ไพบูลย์. (2553).

พนม กับพนมเปญ.ค้นเมื่อ พฤศจิกายน 24, 2553, จาก
http://gotoknow.org/blog/panom/278438

 


Copyright
All copyright rights in the Dewey Decimal Classification system are owned by OCLC. Dewey, Dewey Decimal Classification, DDC and WebDewey are registered trademarks of OCLC
Revised:March 2009


Send comments to Chumpot@hotmail.com