|
370.28 รวมบทความทางการศึกษา
ส่วยการศึกษา
ดร.พนม พงษ์ไพบูลย์
ระยะนี้มีข่าวเรื่องส่วยการศึกษาบ่อยๆ สถาบันการศึกษาอย่างสถาบันราชภัฏสวนดุสิต
ก็มีการสำรวจว่าผู้ปกครองต้องเสียส่วยการศึกษาอย่างไรบ้าง ออกรายการเป็นที่ฮือฮาทั่วไปว่า
การศึกษาหลายระดับที่นับว่าเป็นการศึกษาให้เปล่ายังต้องมีการเสียส่วย คือ เสียเงินเพื่อการเรียน
ทั้งทางตรงและทางอ้อมเป็นจำนวนมากมาย ทำไมจึงเกิดเหตุการณ์เช่นนั้น กระทรวงศึกษาธิการ
ปล่อยไว้ได้อย่างไร ทำไมไม่หาทางแก้ไข ทำไมไม่กำจัดเหลือบทางการศึกษาที่ทำให้นักเรียนและ
ผู้ปกครองเดือดร้อน นักสิทธิมนุษยชนก็กล่าวว่าเป็นการสร้างความ ไม่เท่าเทียมกันทางการศึกษา
ทำให้คนจนเสียเปรียบและเสียโอกาส ต้องรีบจัดการให้หมดสิ้นไป
ส่วยการศึกษาคืออะไร เป็นเรื่องเลวร้ายจริงหรือและจะแก้ปัญหาอย่างไร เป็นเรื่องที่
สมควรได้รับการพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง ก่อนที่จะเป็นเรื่องลุกลามใหญ่โตไปกว่านี้
เพราะคนต้องการประโยชน์ส่วนตน หรือเพื่อบุตรหลานตนให้ได้รับสิทธิพิเศษเหนือคนอื่น
จึงยอมจ่ายเงินจ่ายทอง หรือให้ของขวัญของรางวัลเป็นสินน้ำใจเพื่อได้สิทธิพิเศษที่ต้องการ การจ่าย
เช่นนี้ร้อยทั้งร้อยเป็นเรื่องที่ไม่สมควร ไม่ถูกต้อง แต่จำเป็นต้องทำหรือคิดว่าจำเป็นต้องทำ
เช่น จ่ายเงินก้อนโตๆ เป็นเรือนหมื่นเรือนแสนให้กับใครก็ตามที่จะทำให้เข้าโรงเรียนดังๆ ได้ ตอนจ่าย
ก็ยัดเยียดจ่ายยัดเยียดให้รับเมื่อได้ประโยชน์แล้วบางทีก็มาบ่น เสียดายภายหลัง บางคนก็หาของ
แปลกๆ ใหม่ๆ ไปให้เขาเป็นสินน้ำใจเพื่อให้เขาช่วยเหลือบางคน ก็เอาของมีค่าราคาแพงๆ ไปให้
ก็เพื่อให้ได้ประโยชน์กับตนเอง
การจ่ายส่วยมีทั้งจ่ายทางตรงและทางอ้อม จ่ายทางตรง ก็คือการจ่ายตรงๆ กับ ผู้มีสิทธิ
มีอำนาจจะอำนวยประโยชน์ให้ได้ เช่น จ่ายกับผู้บริหารโรงเรียนเพื่อขอร้องให้รับเข้าเรียน ส่วนผู้
บริหารจะเอาเข้าโรงเรียนหรือเอาเข้ากระเป๋าตัวเองก็ต้องจัดเป็นประเภทรับส่วยเหมือนกัน
ผู้บริหารส่วนใหญ่คงรับไปเข้าโรงเรียนเพราะโรงเรียนมีความจำเป็นต้องมี ค่าใช้จ่ายมากมาย
ก็เพื่อนักเรียนทั้งนั้น การรับไว้น่าจะเป็นความดีมากกว่าความเสียหายที่จ่ายทางอ้อมก็คือจ่ายให้
กับคนอื่นที่อาสาเป็นธุระจัดการให้ ประเภทนี้จ่ายแล้วสำเร็จก็มีไม่สำเร็จก็มาก และมีหลายรายที่
เป็นกระบวนการต้มตุ๋นแอบอ้างที่เรียกว่ากินตามน้ำ คือ ไม่ได้ช่วยอะไร เลย แต่เด็กเก่งเองหรือ
เด็กมีคุณสมบัติที่จะเข้าได้อยู่แล้ว ประเภทนี้ก็เรียกว่าเสียไปฟรีๆ เข้า กระเป๋าคนอื่น โรงเรียน
ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย
การบริจาคเงินเพื่อการศึกษา จริงๆแล้วเป็นเรื่องที่ดี ที่ควรสนับสนุนเป็นอย่างยิ่งเพราะ
สถานศึกษาจะดำรงอยู่และพัฒนาให้ดีได้มีค่าใช้จ่ายเป็นอันมาก ลำพังอาศัยเงินงบประมาณ
แผ่นดินเท่านั้นคงไม่เพียงพอ ในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศที่ได้ชื่อว่าจัดการศึกษา ได้ดี
เขามีวิธีการรณรงค์เพื่อเชิญชวนให้คนบริจาคเงินเพื่อการศึกษาเพื่อโรงเรียนกันอย่างกว้างขวาง
หลายๆ แห่งจะมีผู้ช่วยผู้บริหารฝ่ายกิจการหาทุนหรือชุมชนสัมพันธ์ แล้วแต่จะเรียกมีหน้าที่หลัก
คือ เชิญชวนผู้ปกครอง ศิษย์เก่า ประชาชนผู้มีจิตศรัทธามาช่วยกันบริจาคเงิน ให้โรงเรียน ใคร
บริจาคมากก็ให้เกียรติยกย่องชมเชยเป็นพิเศษ ใครบริจาคน้อยเขาก็ไม่ว่าอะไรมากน้อยเขาก็
รับ รับแล้วก็ไปเข้ามูลนิธิต่างๆ ตามเจตนารมณ์ของผู้บริจาค จึงไม่น่าแปลกอะไร ที่โรงเรียนดัง ๆ
จะมีเงินและทรัพย์สินจากการบริจาคสะสมเป็นร้อยล้านพันล้านหมื่นล้านมากเพียงพอที่จะจัด
การเรียนการสอนได้อย่างดี และมีเหลือเผื่อแผ่นักเรียนที่ยากจนด้วยการบริจาคเงินลักษณะนั้น
จึงไม่น่าจะเรียกว่าส่วยการศึกษา และน่าจะถือว่าเป็นเรื่องที่ควรยกย่องสรรเสริญ
บางเรื่องก็เป็นความจำเป็นของโรงเรียนที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายพิเศษสำหรับการจัด
กิจกรรมพิเศษให้กับนักเรียน เช่น การจัดหาคอมพิวเตอร์มาเพื่อการเรียนการสอนเพราะไม่มี
งบประมาณจากทางราชการจัดให้ แต่อยากให้เด็กได้เรียนรู้เร็วๆจึงเรียกรับบริจาค บางโรงเรียน
ก็อยากมีเครื่องดนตรีดีๆ อยากมีห้องเรียนติดเครื่องปรับอากาศ อยากมีสระว่ายน้ำและอยากมี
อื่นๆที่โรงเรียนอื่นเขามีแต่ที่โรงเรียนไม่มี เหล่านี้ก็มีการเชิญชวนบริจาคบ่อยๆ คนที่พอมีจ่าย
ก็ไม่สู้กระไร คนไม่มีหรือมีน้อยไปขอให้ช่วยจ่ายเขาก็เดือดร้อนถ้าให้เขาช่วยโดยไม่กะเกณฑ์
ได้ก็จะเป็นการดี
ความต้องการของโรงเรียน (หรือบางทีเป็นเพราะผู้ปกครองไปสนับสนุน) บาง เรื่อง
ก็มีความจำเป็นไม่มากนัก แต่อยากให้เด่นให้ดังกว่าโรงเรียนอื่นเลยทำให้เด็กและผู้ปกครอง
เดือดร้อน เช่น อยากได้เงินไปทำป้ายโรงเรียนหรูๆ ประดับด้วยหินแกรนิตสูงท่วมหัวอยากได้
รั้วคอนกรีตงามๆ ทั้งที่นโยบายอยากให้ทำรั้วกินได้ หรือปลูกไม้ดอกไม้ประดับ อยากได้รถเก๋ง
คันโก้ไว้ให้ผู้บริหารใช้อยากให้นักเรียนได้เดินทางไปต่างประเทศ ฯลฯ เหล่านี้ ไม่ได้สนับสนุน
การเรียนการสอนให้มีคุณภาพ แต่สนับสนุนให้ฟุ้งเฟ้อเสียมากกว่าเป็นสิ่งที่ไม่น่าสนับสนุน ถึงแม้
คิดว่าไม่น่าจะจัดเข้าเป็นส่วยการศึกษานัก แต่เพราะไม่ค่อยน่าจะทำก็อาจจะจัดเป็นประเภทส่วย
การศึกษาได้
มีอย่างหนึ่งที่คิดว่าคงเข้าลักษณะส่วยการศึกษาอยู่เหมือนกัน แต่เป็นเรื่องดีสมควร
ให้การสนับสนุน แต่คนทั่วไปไม่ค่อยสนใจนัก คือ การรณรงค์ให้ช่วยกันเสียสละบริจาค เพื่อช่วย
เหลือนักเรียนที่ยากไร้ให้ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพทัดเทียมกับคนอื่น ในโรงเรียนเดียวกัน
ในห้องเรียนเดียวกัน มีเด็กอีกหลายคนไม่มีอาหารกลางวันจะกิน มีเสื้อผ้าเก่า ๆ ขาดแคลน
หนังสือเรียน ขาดแคลนสื่อการเรียนการสอน ขาดแคลนเงินร่วมกิจกรรมกับเพื่อน ๆ บางคนก็
ถึงกับมาเรียนไม่ได้ต้องออกโรงเรียนไปอย่างน่าเสียดาย เขาเหล่านั้นคืออนาคตของชาติทั้งสิ้น
ถ้าทุกคนช่วยกันเสียสละนอกจากช่วยเหลือเด็กที่กำลังจะไม่มีอนาคตให้มีอนาคตแล้วยังช่วย
สร้างความรัก ความสามัคคี ความมีน้ำใจให้เกิดขึ้นในสังคมไทยด้วย
กล่าวมาถึงตรงนี้อยากจะเล่านิทานสักเรื่องหนึ่งอ่านแล้วอย่าไปคิดอะไรมากนัก
กาลครั้งหนึ่งไม่ช้าไม่นาน ณ ประเทศสารขันธ์ มีผู้บริหารระดับกลางผู้หนึ่ง
มีความทะเยอทะยานอยากเป็นใหญ่ในแผ่นดินกับเขาบ้าง จึงพยายามหาทางวิ่งเต้นฝากเนื้อ
ฝากตัวกับผู้ใหญ่ให้เป็นที่รู้จัก และหาทางเอาอกเอาใจเพื่อให้เห็นใจสนับสนุนให้ได้เป็นใหญ่
เป็นโต ด้วยความสามารถและประสบการณ์ที่มีอยู่พอสมควรก็ได้มีโอกาสได้รู้จักเสนอหน้า
ใกล้ชิด แล้วก็เฝ้าหาจังหวะจะโคนสนองความต้องการ เพื่อเป็นเงื่อนไขผูกพัน การขอตำแหน่ง
ใหญ่ๆ ให้กับตน แล้ววันนั้นก็มาถึง ผู้ใหญ่ปลูกบ้านใหม่ มีการเลี้ยงฉลองขึ้นบ้านใหม่อึกทึก
ครึกโครม ผู้บริหารคนนี้ก็ไปร่วมงานด้วย และเข้าไปช่วยสาละวนในบ้านอย่างสนิทสนม พองาน
บางตาได้จังหวะอยู่ใกล้ชิดสองต่อสอง ผู้ใหญ่ก็กล่าวขอบคุณตามประสาผู้ใหญ่ ผู้นี้ก็ถือโอกาส
ยกย่องชมเชยว่าบ้านใหม่ท่านสวยงามมีสง่ามาก บารมีท่านจะยิ่งใหญ่ขึ้นไปอีก บ้านใหม่
ของท่านก็มีทุกอย่างพร้อม แต่ว่าขาดไปอย่างหนึ่ง ถ้ามีจะช่วยเสริมบารมีท่านให้ สูงเด่น
อย่างรวดเร็ว ท่านถามว่าอะไรหรือ ผู้นี้ตอบว่าลานข้างหน้าบ้านท่านยังว่างอยู่ ท่านน่าจะเลี้ยง
นกยูงสักเจ็ดตัวเท่ากับวันทั้งเจ็ดในสัปดาห์ นกยูงเป็นของสูงผู้ใดเลี้ยงไว้ย่อม มีสง่าราศรี
บุคลิกท่านก็มีดีอยู่แล้ว ถ้ามียิ่งทำให้เด่นยิ่งขึ้นอีก ผู้ใหญ่เห็นคล้อยตาม ถามว่าแล้วจะหานกยูง
ได้ที่ไหนตั้งเจ็ดตัว ผู้นี้ก็รับอาสาว่าจะหาให้เอง ขอให้ท่านทำกรงเตรียมไว้ ภายในเจ็ดวัน
จะนำมาให้ จะครบเจ็ดวันอยู่แล้วยังหานกยูงไม่ได้ ชักร้อนใจ นึกขึ้นได้ว่าโรงเรียนแห่งหนึ่ง
เลี้ยงนกยูงไว้ในกรงมีเจ็ดตัวพอดี จึงไปบังคับขู่เข็ญจนผู้บริหารต้อง ยอมยกให้แล้วก็ไปจับ
ในเวลากลางคืน (ไม่กล้าจับเวลากลางวันเกรงนักเรียนจะเห็น) เอาใส่รถบรรทุกไปด้วยความ
รีบร้อน จับผูกไว้ไม่ดี หลุดหายไประหว่างทางเสียหนึ่งตัว เอาไปให้ เพียงหกตัว เจ้านายเห็นก็
ต่อว่า ไหนว่าจะให้เจ็ดตัวนี่มีเพียงหกตัวจะเสริมบารมีได้พอหรือ ฝ่ายที่โรงเรียนเช้าขึ้นมา
เด็กเล็กที่ชื่นชมนกยูงเคยเฝ้าดูนกยูงรำแพนเห็นกรงนกว่างเปล่า ก็ ถามกันว่านกยูงหาย
ไปไหน ผู้บริหารก็ตอบไม่ได้ เด็กเล็กก็เริ่มร้องไห้คิดถึงนกยูง เด็กอื่นๆ ก็ร้องตามเลยร้อง
ระงมกันทั้งโรงเรียน
ผมไม่แน่ใจว่านกยูงจะเป็นส่วยการศึกษาหรือไม่ ไม่เคยเห็นมี
ในตำรามาก่อน แต่คนที่ทำเช่นนี้ถ้าตายไปชาติหน้าคงจะเกิดเป็นนกยูงแน่ๆ
เป็นนกยูงตัวผู้อยู่ในกรงมีหน้าที่ คอยรำแพนให้เด็กดู
แหล่งที่มา
พนม พงษ์ไพบูลย์. (2553). ส่วยการศึกษา .
ค้นเมื่อ พฤศจิกายน 23, 2553, จาก
http://www.moe.go.th/web-panom/article-panom/article20.htm
|
|