ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์
โครงการห้องสมุดโรงเรียนในฝัน

***ร่วมสร้างองค์ความรู้ สู่การศึกษาตลอดชีวิต วิทยพัฒนาเด็กไทยในท้องถิ่น***


000 หมวดเบ็ดเตล็ด
(Generalities)

100 หมวดปรัชญา
(Philosophy)

200 หมวดศาสนา
(Religion)

300 หมวดสังคมศาสตร์
(Social Sciences)

400 หมวดภาษาศาสตร์
(Language)

500 หมวดวิทยาศาสตร์
(Pure Sciences)

600 หมวดเทคโนโลยี
(Technology)

700 หมวดศิลปะ
(The Arts)

800 หมวดวรรณคดี
(Literature)

900 หมวดประวัติศาสตร์
(Geography & History)


Home

   

370.28 รวมบทความทางการศึกษา

อะไรคือการศึกษาพื้นฐาน 12 ปี
ดร.พนม พงษ์ไพบูลย์

ในฐานะที่เป็นนักการศึกษามีความชื่นชมยินดีที่ได้เห็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ถึงกับ กำหนดไว้ในมาตรา 43 ว่า "บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐ จะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย" มาตรานี้มีความหมายมาก เพราะแสดงให้เห็นเจตนารมณ์ที่จะให้คนไทย ทุกคนมีการศึกษาพื้นฐานมากถึงสิบสองปี นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังกำหนดไว้อีกว่า จะต้อง ดำเนินการให้บรรลุผลภายในเวลาห้าปี นั่นคือปี พ.ศ. 2545 เป็นปีเป้าหมาย ถ้านับจากบัดนี้ก็เหลือเวลาอีกสี่ปี ไม่ใช่ห้าปี

เมื่อได้การศึกษาพื้นฐานสิบสองปีสำหรับทุกคน ก็เริ่มมีคำถามและคำวิพากษ์วิจารณ์ตามมา คำถามที่สำคัญคือ การศึกษาพื้นฐานสิบสองปีหมายถึง การศึกษาตั้งแต่ชั้นใดถึงชั้นใด และคำว่าไม่ เก็บค่าใช้จ่ายหมายความว่าอย่างไร จึงอยากใช้โอกาสนี้แสดงความเห็นเรื่องการศึกษาสิบสองปี ทั้งนี้มิได้มีเจตนาจะโต้แย้งกับผู้ใด แต่อยากมีส่วนช่วยให้ประชาชนชาวไทยได้รับประโยชน์สูงสุด ตามเจตนาของรัฐธรรมนูญ

การศึกษาขั้นพื้นฐาน คือ การศึกษาที่จำเป็น ที่เป็นประโยชน์ เพื่อให้ผู้เรียนมีพื้นและ ฐานที่แข็งแรงมั่นคง เพียงพอ กับการ

(1) ดำรงชีวิตที่ดีในวันข้างหน้า

(2) อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างดี มีชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข

(3) สามารถประกอบการงานอาชีพเพื่อเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ และ

(4) สามารถพัฒนาตนเองให้เจริญก้าวหน้า ตลอดจนมีส่วนร่วมกับผู้อื่นในการพัฒนา ชุมชน สังคม และประเทศชาติ และมีสิ่งใดบ้างที่จะสร้างพื้นฐานให้ครบถ้วนทั้งสี่ด้านนี้ได้ คือ เป้าหมายที่ต้องการให้คนได้รับและเกิดขึ้นก็คือ การวางพื้นฐานชีวิตด้วยการศึกษาภายในเวลา สิบสองปีนั่นเอง

ถ้าพิจารณาพื้นฐานชีวิตทั้งสี่ประการโดยส่วนรวมแล้ว พื้นฐานที่สำคัญและจำเป็นมาก ที่สุด คือความเป็นคนดี คำนี้พูดง่าย แต่มีความหมายกว้างไกล เป็นพื้นฐานชีวิตที่สำคัญมากทั้งชีวิต ที่เป็นตัวของตัวเองและชีวิตที่จะต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่น สังคมจะสงบมีสันติสุขก็ด้วยพื้นฐานของ ประชากรที่เป็นคนดี คือเป็นคนมีศีล มีจริยธรรม และมี คุณธรรมสิบสองปีของการศึกษาพื้นฐาน ถ้าสามารถทำให้ทุกคนที่ได้รับการศึกษาเป็นคนดีได้ ย่อมช่วยให้ประเทศเจริญก้าวหน้าอย่าง แน่นอน

นอกจากพื้นฐานความเป็นคนดี ต้องมีพื้นฐานทางความรู้และทักษะที่เป็น ประโยชน์กับ ตนและประเทศชาติให้เพียงพอ คือ เพียงพอเพื่อการดำรงชีวิตและพัฒนาชีวิตให้ดีต่อไปในภายหน้า ในสภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่นปัจจุบันพื้นฐานความรู้ความสามารถดูจะเป็นเรื่อง สำคัญและเรื่องใหม่สำหรับทุกคน ไม่ใช่สำหรับคนบางคนอีกต่อไป ทักษะพื้นฐานที่สำคัญคือ พื้นฐาน ด้านการติดต่อ สื่อสาร ได้แก่ การพูด การฟัง การอ่าน การเขียน ทั้งภาษาแม่คือภาษาไทยและภาษา ต่างประเทศ ในสมัยต้นอดีต 20-30 ปี ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีปัญหาคนไม่รู้หนังสือมาก สมัยปัจจุบัน จำนวนผู้ไม่รู้หนังสือมีน้อย แต่ปัญหาการใช้ภาษาที่ถูกต้อง เหมาะสมกลับมีมากขึ้น การสร้างทักษะ ทางภาษาและการติดต่อสื่อสารที่เพียงพอ จะช่วยให้คนมีความเข้าใจกันง่ายและดีขึ้นทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศ

มีความรู้และทักษะอีกหลายอย่างที่จำเป็นต้องปลูกฝัง และสามารถทำได้ด้วยการศึกษา เช่น การคิดคำนวณ ความเข้าใจในสังคมวัฒนธรรมของตนเอง การทำมาหากินและเรื่องวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เป็นต้น ตลอดเวลาสิบสองปีของการศึกษาขั้นพื้นฐานจะต้องมุ่งปลูกฝังให้เกิดกับ ทุกคนได้อย่างทั่วถึง และมี คุณภาพคือ สามารถนำไปใช้ได้เพื่อความก้าวหน้าของตนเองและสังคม ประเทศชาติ

เรื่องพื้นฐานความรู้ความสามารถที่จำเป็นคงมีรายละเอียดอีกมากหลาย ถ้ากล่าวต่อไป เกรงจะยาวความ เพราะเจตนาของเรื่องนี้ต้องการกล่าวถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานว่า ควรเริ่มที่ใด และจบสิ้นที่ใดเป็นสำคัญ จึงขอนำมาพิจารณาความสำคัญของการศึกษาแต่ละระดับในส่วนที่จะเป็น การศึกษาขั้นพื้นฐาน

ดูจะเข้าใจตรงกันว่าประถมศึกษาเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างไม่มีข้อสงสัย เพราะ ประถมศึกษาเป็นการศึกษาขั้นต้นที่มุ่งปูรากฐานของชีวิตในทุก ๆ ด้านตามที่กล่าวมาในตอนต้น ชื่อของประถมศึกษาก็บอกความหมายอยู่ในตัวอยู่แล้ว ประเทศไทยกำหนด การศึกษาขั้นประถม ศึกษามี 6 ปี การให้ทุกคนได้เรียนชั้นประถมศึกษาแบบการศึกษาภาคบังคับ ก็เท่ากับว่าทุกคน ได้รับการศึกษาพื้นฐานหกปีแล้วเป็นอย่างน้อย ข้อพิจารณาที่เหลือจึงอยู่ที่ว่าอีกหกปีคือการศึกษา ชั้นใดระดับใด

มีการศึกษาอีกระดับหนึ่งที่ยอมรับกันทั่วไปว่าเป็นการศึกษาพื้นฐานเพื่อปวงชน คือ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งมีอยู่สามปี เมื่อพุทธศักราช 2533 มีการประชุมระดับ โลกใน ประเทศไทย ในหัวข้อว่า "การศึกษาพื้นฐานสำหรับปวงชน" ภาษาอังกฤษว่า Education For All ในการประชุมครั้งนี้ ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพได้ประกาศเจตนารมณ์ว่าจะจัดการศึกษา ขั้นพื้นฐานสำหรับชนชาวไทย ให้ถึงขั้นมัธยมศึกษาตอนต้น เป็นอย่างน้อย นักการศึกษาใน ประเทศไทยจึงพยายามทำให้มัธยมศึกษาตอนต้นเป็นการศึกษาสำหรับปวงชนตั้งแต่นั้นมา มัธยมศึกษาตอนต้นมีสามปี รวมกับประถมศึกษาหกปีเป็นเก้าปีและเป็นเก้าปีของการศึกษา พื้นฐานที่ยอมรับกันทั่วไป

ปัญหาเหลืออยู่ว่า อีกสามปีที่เหลือหมายถึงการศึกษาชั้นใด จากการสำรวจของ หลายฝ่าย ผลก็ออกมาตรงกันว่าคนส่วนใหญ่อยากเห็นมัธยมศึกษาตอนปลายเป็น การศึกษา ขั้นพื้นฐาน คือเป็นการศึกษาที่จำเป็นที่ทุกคนจักต้องได้เรียน รัฐจักต้องจัดให้ และจัดให้โดย ไม่เก็บค่าใช้จ่าย แต่มีคนจำนวนหนึ่งทักว่า ถ้ารัฐถือว่ามัธยมศึกษาตอนปลายเป็นการศึกษา พื้นฐานเพื่อปวงชน รัฐจะต้องลงทุนจัดการศึกษาอีกมหาศาล จะต้องใช้งบประมาณและทรัพยากร เป็นจำนวนมาก เกรงว่าจะทำไม่ได้ จึงชักชวนให้ไปพิจารณากำหนดว่าอนุบาลศึกษาสามปี เป็นการศึกษาพื้นฐานเพื่อปวงชนแทน และกล่าวว่าที่ชักชวนให้พิจารณาอนุบาลศึกษา เพราะอนุบาลเป็นการศึกษาพื้นฐานที่สำคัญ เด็ก พัฒนาหลาย ๆ ด้าน เริ่มต้นในระดับนี้ เริ่มนับการศึกษาพื้นฐานที่ประถมศึกษาจะเป็นการ ช้าเกินไป และไม่สอดคล้องกับพัฒนาการ ของเด็ก

อนุบาลศึกษาเป็นการศึกษาที่ต่างจากการศึกษาระดับอื่น ในแผนการศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่เคยใช้มาก่อนแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับปัจจุบัน ไม่กำหนดให้ชั้นอนุบาลเป็นส่วนหนึ่ง ของระบบการศึกษา การศึกษาชั้นอนุบาลเป็นการศึกษาที่เน้นการพัฒนา ทางด้านร่างกายและ อารมณ์ของเด็กเป็นสำคัญ ดังนั้นระดับอนุบาลจึงยังไม่ให้ความ สำคัญกับการเรียนรู้ในทักษะ พื้นฐานอื่น ๆ โดยเฉพาะการสร้างทักษะทางปัญญาจะทำน้อยที่สุด การส่งเสริมความงอกงาม ทางร่างกายและอารมณ์ที่ดีนั้น ควรเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ ผู้ปกครองที่อยู่ใกล้ชิดเด็กอนุบาลศึกษา จึงไม่มีความเหมาะสมที่จะเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานที่รัฐจะต้องจัดให้ทุกคนได้เรียน แต่ควรเป็น เรื่องที่รัฐจะสนับสนุนให้พ่อแม่ ผู้ปกครองและหรือชุมชนได้ช่วยกันเลี้ยงดูเด็กให้เจริญงอกงาม จึงจะเหมาะสมกว่า

การพิจารณาการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือการศึกษาที่จำเป็นตามที่กำหนดใน กฏหมาย รัฐธรรมนูญ จริงๆ แล้วไม่ควรนำประเด็นค่าใช้จ่ายมาเป็นตัวกำหนด ตัวกำหนด ที่จำเป็นจริง ๆ คือ อะไรเป็นพื้นฐานที่จำเป็นและควรให้มากน้อยถึงระดับใด ถ้าพิจารณา โลกในสภาพปัจจุบัน ความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และภาษาต่างประเทศ เป็น พื้นฐานที่จำเป็นยิ่ง ความรู้และ ทักษะเหล่านี้ ต้องการพื้นฐานระดับต้นพอสมควร ถ้าไม่กำหนดให้มัธยมศึกษาตอนปลายเป็น การศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อปวงชนแล้ว ก็เป็นการยากที่คนไทยจะมีพื้นฐานเพียงพอที่จะเผชิญโลก เผชิญชีวิตทัดเทียมกับนานาประเทศ ถึงแม้ ว่าค่าใช้จ่ายจะสูงก็ยังเป็นความจำเป็นที่จะต้องลงทุน เพื่อคุณภาพของประชากรในชาติ

สรุปว่าการศึกษาพื้นฐานสิบสองปี ถ้าจะแปลความให้เกิดประโยชน์กับทุกคนในชาติ ควรหมายถึง การศึกษาที่เริ่มจากชั้นประถมศึกษาจนถึงชั้นมัธยมศึกษาบริบูรณ์ อีกทั้งยังสอดคล้อง กับพระบรมราชโองการที่ประกาศเป็นแผนการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2535 ที่ว่า "ให้มัธยม ศึกษาเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานของปวงชน" 13 กรกฎาคม 2541

แหล่งที่มา

พนม พงษ์ไพบูลย์. (2553).

อะไรคือการศึกษาพื้นฐาน 12 ปี . ค้นเมื่อ พฤศจิกายน 23, 2553, จาก
http://www.moe.go.th/web-panom/article-panom/article18.htm

 


Copyright
All copyright rights in the Dewey Decimal Classification system are owned by OCLC. Dewey, Dewey Decimal Classification, DDC and WebDewey are registered trademarks of OCLC
Revised:March 2009


Send comments to Chumpot@hotmail.com