ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์
โครงการห้องสมุดโรงเรียนในฝัน

***ร่วมสร้างองค์ความรู้ สู่การศึกษาตลอดชีวิต วิทยพัฒนาเด็กไทยในท้องถิ่น***


000 หมวดเบ็ดเตล็ด
(Generalities)

100 หมวดปรัชญา
(Philosophy)

200 หมวดศาสนา
(Religion)

300 หมวดสังคมศาสตร์
(Social Sciences)

400 หมวดภาษาศาสตร์
(Language)

500 หมวดวิทยาศาสตร์
(Pure Sciences)

600 หมวดเทคโนโลยี
(Technology)

700 หมวดศิลปะ
(The Arts)

800 หมวดวรรณคดี
(Literature)

900 หมวดประวัติศาสตร์
(Geography & History)


Home

   

370.28 รวมบทความทางการศึกษา

การจัดการเรียนการสอนแบบสหวิทยาเขต
ดร.พนม พงษ์ไพบูลย์

การที่กล่าวถึงการจัดการศึกษาแบบ สหวิทยาเขต ก็เพราะทุกฝ่ายมี เจตจำนงตรงกัน ที่จะหาทางให้คนทุกคนได้รับการศึกษาพื้นฐานสิบสองปีอย่างทั่วถึง และอย่างมีคุณภาพ โดยไม่ เก็บค่าใช้จ่าย ภายใต้ภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจที่กำลัง เผชิญอยู่ ดูเหมือนจะเป็นไปได้ยากยิ่งที่ จะดำเนินการให้บรรลุผลสำเร็จได้ ในขณะที่ทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัดทางที่จะเป็นได้คือการ แสวงหารูปแบบวิธีใหม่ เพื่อ ประหยัดทรัพยากรและให้จัดได้อย่างกว้างขวาง นี่คือที่มาของความ คิดเรื่อง สหวิทยาเขต ซึ่งก็คือ การปรับรูปแบบการจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ นั่นเอง

ในตอนก่อน ๆ ได้พยายามเสนอแนวความคิดและรูปแบบของสหวิทยาเขตไว้แล้วใน ตอนนี้จะขอกล่าวถึงวิธี การจัดการเรียนการสอน

นักเรียนที่เรียนอยู่ในสหวิทยาเขตเดียวกัน คือผู้ที่มีที่อยู่อาศัยในเขต บริการเดียวกัน เป็นคนที่อยู่ในชุมชนเดียวกัน แม้เขาจะมีชื่อเรียนในโรงเรียนที่ต่างกัน เขาก็ควรได้รับการศึกษา ที่มีคุณภาพใกล้เคียงกัน ถ้าโรงเรียนร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด แลกเปลี่ยนการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรหรือสื่อการเรียนการสอน ก็ย่อมเป็นไปได้ที่คุณภาพการศึกษาที่เกิดจะมี คุณภาพใกล้เคียงกัน คุณภาพการศึกษา จะเกิดขึ้นใกล้เคียงกัน

กระบวนการเรียนรู้คือมวลประสบการณ์ต่าง ๆ ที่เด็กจะได้รับจะต้องใกล้เคียงกันที่จะ ต่างกันก็ให้เป็นเพราะบุคคล คือผู้เรียนที่มีความถนัด ความพร้อม และความสนใจต่างกันเท่านั้น กระบวนการเรียนรู้ที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก อาศัยผู้นำ คือครู อาศัยเครื่องมือ คือสื่อการศึกษาและอาศัย วิธีการคือหลักสูตรและวิธีการสอน ดังนั้น โรงเรียนในเครือข่ายสหวิทยาเขตจึงต้องร่วมมือกันใน สามเรื่องดังกล่าวตามความเหมาะสม

ประการแรก คือครู อาจารย์ หรือผู้สอน ปัญหาที่มีอยู่คือการกระจายของครูไม่เหมาะสม บางแห่งมีครูมาก บางแห่งมีครูน้อยไปบ้าง ที่ถึงขนาดขาด ครู มีครูไม่เพียงพอก็มีปัญหาครูขาด มักพบในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร ส่วนครูมาก ครูเกิน พบในเมืองใหญ่ ๆ เพราะมีผู้มาช่วยราชการ ด้วยเหตุต่าง ๆ อยู่มาก ปัญหาอีกประการหนึ่งของครูคือ ครูที่มีความชำนาญเฉพาะทางกระจายตัว ไม่เหมาะสม เช่น บางโรงเรียนขาดครูคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือภาษาต่างประเทศ เป็นต้น การจัดการเรียนการสอนแบบสหวิทยาเขต จึงต้องนำกำลังครูทั้งหมดที่มีอยู่ของทุกโรงเรียนมารวม กันแล้วแบ่งสรรหน้าที่ความรับผิดชอบในการจัดการเรียนการสอนเสียใหม่ การจัดทำได้สามวิธี คือแบบแรกให้แต่ละคนรับผิดชอบวิชาที่ตนถนัดสอนทุกโรงเรียนในสหวิทยาเขต วิธีนี้ดีที่เด็กต่าง โรงเรียนกันก็ได้เรียนจากครูคนเดียวกัน แต่ครูคงต้องเหน็ดเหนื่อยเดินทางมากฝ่ายบริหารกำกับ ดูแลได้ยาก ซึ่งถ้าทุกคนรู้จักหน้าที่ ความรับผิดชอบก็ไม่มีปัญหาแต่ประการใด อีกวิธีหนึ่งคือจัดแบ่ง ครูเสียใหม่ให้แต่ละ โรงเรียนมีครูตามจำนวนและตามความถนัดที่สอดคล้องกับจำนวนห้องเรียน แล้วแยก กันสอน วิธีนี้มีข้อเสียที่เด็กไม่ได้เรียนร่วมกับครูคนเดียวกัน ไม่สามารถตอบได้ว่าผล จะใกล้เคียงกัน แต่ดีที่บริหารได้สะดวก วิธีที่เหมาะสมน่าจะเป็นวิธีที่สาม คือจัดครูที่เชี่ยวชาญ เฉพาะทางในวิชาหลักจำนวนหนึ่งและวิชาที่ขาดครู หมุนเวียนสอนในทุก โรงเรียน ส่วนวิชาทั่วไป ก็ใช้ครูประจำโรงเรียน เป็นวิธีประสมประสานของสองวิธีแรก วิธีนี้จะจัดได้ค่อนข้างสะดวก และได้ ผลดี

ประการที่สอง เรื่องสื่อการศึกษา สื่อเป็นเครื่องมือช่วยให้เด็กได้ เรียนรู้ได้รวดเร็ว ลึกซึ้ง และกว้างขวาง สื่อช่วยทำของยากให้เป็นของง่าย ช่วยนำสิ่ง ที่ไม่อาจเห็นได้ สัมผัสได้ หรือ อยู่ห่างไกลเกินไปมาสู่ห้องเรียนได้ สื่อช่วยให้เด็กได้ ทดลอง ได้ปฏิบัติ ได้ดู ได้สัมผัสด้วยตนเอง สื่อจึงมีความสำคัญยิ่งต่อคุณภาพการ เรียนรู้ที่จะเกิดกับเด็ก โรงเรียนที่มีสื่อพร้อมกว่าย่อมจัด การเรียนการสอนได้ดีกว่า โรงเรียนที่ขาดสื่อ สื่อบางชนิดมีราคาแพง จัดหาได้ยาก ผู้มีมากย่อม ได้เปรียบ โดยเฉพาะสื่อเทคโนโลยีทันสมัย การจะทำให้โรงเรียนมีสื่อทัดเทียมกันเป็นเรื่องทำได้ ยาก เพราะงบประมาณจำกัด โรงเรียนส่วนใหญ่จัดหาสื่อจากเงินรายได้จากการบริจาค ซึ่งก็มีไม่ เท่าเทียมกัน การเกลี่ยสื่อระหว่างโรงเรียนก็คงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก วิธีการ ที่อาจทำได้คือ จัดหาสื่อจำเป็นที่มีราคาแพงไว้เป็นส่วนกลาง สำหรับให้โรงเรียนต่าง ๆ ยืมไปใช้ประกอบการเรียน การสอน แต่สื่อบางประเภทก็เคลื่อนที่ได้ยาก เช่น ห้องทดลองวิทยาศาสตร์ ห้องปฏิบัติการทางภาษา เครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนการสอนเหล่านี้อาจต้องใช้วิธีหมุนเวียนนักเรียนมาเรียนเป็น ครั้งคราว สื่อบางอย่าง ราคาไม่แพงนัก จัดหาร่วมกันได้ เช่น การผลิตสื่อวิดีทัศน์ สื่อโปรแกรม คอมพิวเตอร์ เพื่อการสอน เทปเสียงต่าง ๆ อาจช่วยกันผลิตแล้วแจกจ่ายแลกเปลี่ยนกันไป โดยมี ศูนย์สื่อของสหวิทยาเขต เป็นศูนย์ประสานงาน สื่อที่สำคัญอีกประเภทหนึ่งคือ หนังสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ โรงเรียนมักมีข้อจำกัด มีหนังสือน้อย ถ้ามีการแลกเปลี่ยนหมุนเวียน หนังสือที่ไม่ซ้ำกัน ก็จะช่วยให้ เด็กเรียนรู้ได้กว้างขวางหลากหลายขึ้น

ประการที่สาม คือ หลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอน มักเข้าใจกันผิดว่าหลักสูตร คือข้อกำหนดที่เป็นสาระย่อยที่กำหนดให้นักเรียนได้เรียน จริงๆแล้วหลักสูตรมีความหมายกว้างขวาง กว่านั้น หลักสูตรถือมวลประสบการณ์ที่ ต้องการให้เกิดขึ้นกับเด็ก โดยมีเป้าหมายให้เกิดการเรียนรู้ ให้ได้ผลตามจุดประสงค์ ที่ตั้งไว้ สหวิทยาเขตควรวางแผนการจัดการเรียนการสอนร่วมกันในบางด้าน โรงเรียนอาจยังไม่พร้อมที่จะจัดการเรียนการสอน แต่มีผู้สนใจจะเรียน ก็ควรจัดให้ไปเรียนที่ โรงเรียน ที่พร้อมและจัดได้ดีกว่า เวลาสำหรับการจัดการเรียนการสอนในสหวิทยาเขต ควรยืดหยุ่น เพราะเด็ก อาจต้องเรียนต่างโรงเรียนในบางครั้ง จึงต้องวางแผนให้เกิด ความสะดวกกับนักเรียน ช่วงเวลาเปิด การเรียนการสอนควรกว้างกว่าปกติ เช่น ระหว่าง 7.00 น. ถึง 18.00 น. เป็นต้น หรือจะจัดแบบสอง ผลัดก็ได้ เด็กที่เลิกเรียน ก่อนควรอนุญาตให้กลับก่อน หรือทำกิจกรรมอื่นได้ ไม่จำเป็นต้องกักเด็ก ให้มาเรียนพร้อมกันเลิกเรียนพร้อมกัน

การจัดการเรียนการสอนร่วมกันอาจทำร่วมได้ในบางภาคเรียน หรือในบางวัน บางสัปดาห์ หรือจัดผสมผสานแบบลงทะเบียนเรียน ถ้าวิธีลงทะเบียนเรียนก็คือว่า นักเรียนทุกคนเป็นนักเรียน สหวิทยาเขตเดียวกัน ใครจะเลือกเรียนโรงเรียนใด ใน ภาคเรียนใดก็ได้ วิธีนี้นอกจากจะลดความ สำคัญของโรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่งแล้ว ยังสร้างความผูกพันในสหวิทยาเขตเดียวกันให้แน่นแฟ้น ยิ่งขึ้นด้วย

การจัดการเรียนการสอนมักนึกถึงรูปแบบห้องเรียน แต่การจัดกิจกรรมที่เรียกว่า กิจกรรม นอกหลักสูตร ก็ถือว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญอย่างหนึ่ง โรงเรียนสหวิทยาเขตเดียวกัน ควรหา โอกาสให้นักเรียนต่างโรงเรียนทำกิจกรรมนอกหลักสูตรร่วมกันเป็นระยะ ๆ จะได้เกิดประสบการณ์ ร่วมที่กว้างขวางหลากหลายยิ่งขึ้น

สิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการเรียนรู้ของโรงเรียนในเครือข่ายสหวิทยาเขตควรเปิดโอกาส ให้ใช้ร่วมกันได้เสมือนเป็นหน่วยเดียวกัน เช่น สระว่ายน้ำ สนามกีฬา โรงพลศึกษา ห้องสมุด สวน เป็นต้น

มาตรการการตรวจสอบคุณภาพการศึกษา คือการวัดผลประเมินผลต่าง ๆ และการแนะแนว ก็เป็นส่วนสำคัญที่จะต้องวางแผนร่วมกัน ถ้ามีระบบสารสนเทศร่วมกัน ได้ก็จะดียิ่ง โดยเฉพาะ สารสนเทศเกี่ยวกับผู้เรียน จะต้องมีการแลกเปลี่ยนกันตลอดเวลา การจัดการเรียนการสอนเพื่อ คุณภาพการศึกษา ในรูปแบบของสหวิทยาเขต จะเกิดขึ้นและได้ผลดี จะต้องอาศัยความร่วมมือ เสียสละ และการมีแผนงานโครงการ ร่วมกันของทุกฝ่าย ถ้ามุ่งมั่นตั้งใจ เด็กไทยย่อมได้รับ การศึกษาที่มีคุณภาพทัดเทียมกัน ได้แน่นอน

แหล่งที่มา

พนม พงษ์ไพบูลย์. (กรกฎาคม 2541, 11).

การจัดการเรียนการสอนแบบสหวิทยาเขต .
มติชน, หน้า 14.

 


Copyright
All copyright rights in the Dewey Decimal Classification system are owned by OCLC. Dewey, Dewey Decimal Classification, DDC and WebDewey are registered trademarks of OCLC
Revised:March 2009


Send comments to Chumpot@hotmail.com