|
370.28 รวมบทความทางการศึกษา
การศึกษาพื้นฐานเพื่อปวงชนแบบสหวิทยาเขต: การรับนักเรียน
ดร.พนม พงษ์ไพบูลย์
ปัญหาสำคัญของการรับนักเรียนเข้าเรียน โดยเฉพาะในระดับมัธยมศึกษา คือไม่สามารถ
จัดให้ทุกคนได้เรียนในโรงเรียนที่ตนต้องการได้ ผู้เรียนจำนวนหนึ่ง (หรือ จะเป็นผู้ปกครองก็ได้)
ประสงค์จะเข้าเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักกันดีทั่วไป ในขณะที่โรงเรียนอีกจำนวนหนึ่ง
มีคนเลือกเข้าเรียนน้อยมาก เมื่อที่ที่ต้องการเรียนมีจำกัด แต่มีความต้องการมาก ทำให้เกิดปัญหา
อื่นๆ ตามมาอีกมากมาย เช่น การใช้ระบบอิทธิพล วิ่งเต้นเพื่อให้ได้เข้าเรียน การเสนอและการเรียก
รับบริจาคเงินเพื่อให้เข้าเรียนได้ เป็นต้น ล้วนเป็นการทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมทางสังคม ทำให้
คนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและ สังคมที่ด้อยกว่าเสียเปรียบ และทำให้ระบบการศึกษาที่รัฐจัด ขาด
ความเท่าเทียมทั่วถึงและเป็นธรรม
เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 43 และ
นโยบายของรัฐบาลทุกรัฐบาลในศตวรรษนี้ ล้วนต้องการให้ผู้จบประถมศึกษา ทุกคนได้เรียนต่อชั้น
มัธยมศึกษาอย่างทั่วถึงแต่ทำไม่สำเร็จ เพราะขัดด้วยค่านิยมการเลือก เข้าเรียน การแก้ปัญหาใน
เรื่องนี้ จึงต้องสร้างค่านิยมใหม่ ทัศนคติใหม่เกี่ยวกับการ ศึกษาชั้นมัธยมศึกษาคงต้องเริ่มต้นกันด้วย
ปรัชญาความเชื่อที่ว่า มัธยมศึกษา เป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานของปวงชน ดังที่ปรากฏในนโยบาย
การศึกษาตามแผนการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2535 ถ้าเชื่อเช่นนี้ก็ต้องเชื่อว่า คนทุกคนควร
ได้รับการศึกษาถึงชั้นมัธยม ศึกษา และก็ต้องเชื่อว่า รัฐต้องพยายามทุกวิถีทางให้ทุกคนได้เรียน
ซึ่งจะเป็นได้ ถ้าระบบการรับนักเรียนจะต้องทำให้ทุกคนเข้าเรียนได้สะดวก เสมอภาค เป็นธรรม
มีความโปร่งใส ไม่ยุ่งยาก ซับซ้อน และจะต้องใส่ใจช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากไร้ และผู้พิการ
เป็นพิเศษ
การคิดรูปแบบการศึกษาแบบสหวิทยาเขต ในเหตุผลหนึ่งก็เพื่อแก้ปัญหาการรับนักเรียน
เพื่อลดค่านิยมการเลือกเรียนโรงเรียนมีชื่อเสียง และการสร้างความสะดวกและความเป็นธรรม
เพื่อให้ทุกคนได้เข้าเรียนต่ออย่างทั่วถึง และเพื่อให้การจัดการศึกษาทั้ง ระบบมีคุณภาพใกล้เคียงกัน
เป้าหมายการจัดการศึกษาระบบสหวิทยาเขต คือ การให้บริการ การศึกษากับชุมชนในพื้นที่บริการ
ให้ดีที่สุด โดยร่วมมือกับประชาชนในพื้นที่อย่างใกล้ชิดใน อุดมการณ์ ซึ่งต้องการให้สหวิทยาเขต
รับนักเรียนในพื้นที่บริการทุกคนเข้าเรียน
ในหลักการแล้ว แต่ละสหวิทยาเขต มีระบบการศึกษาย่อยที่เชื่อมโยงกันอยู่ภายใน
สหวิทยาเขตอยู่แล้ว คือมีตั้งแต่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หรือโรงเรียนอนุบาล โรงเรียน ประถมศึกษา
และโรงเรียนมัธยมศึกษา เด็กเล็กในพื้นที่ทุกคนควรได้รับการพัฒนาในศูนย์ เด็กเล็กในเครือข่าย
สหวิทยาเขต เมื่อเด็กจบชั้นเด็กเล็กหรืออนุบาลแล้ว ก็ควรจะได้รับการ ส่งต่อเข้าโรงเรียนประถม
ศึกษาภายในเครือข่ายสหวิทยาเขต ครบถ้วนทุกคนโดยไม่มีการ คัดเลือก การจะให้เรียนใน
โรงเรียนประถมศึกษาโรงเรียนใด ก็ให้พิจารณาความสะดวก ของนักเรียนเป็นเกณฑ์ เด็กได้เรียน
ในโรงเรียนประถมศึกษาที่ต่างกันก็ไม่เป็นปัญหา เพราะ เป็นโรงเรียนที่อยู่ในเครือข่ายเดียวกัน
การจัดการเรียนการสอนก็จะต้องร่วมมือช่วยเหลือ ซึ่งกันและกัน ไม่ว่าโรงเรียนนั้นๆ จะสังกัดใด
ก็ตามก็ควรร่วมมือกันได้ นักเรียนที่จบชั้น ประถมศึกษาในสหวิทยาเขต ก็จะถูกส่งต่อไปเข้าโรงเรียน
มัธยมศึกษาในสหวิทยาเขตโดย อัตโนมัติเช่นกัน โดยไม่ต้องคัดเลือก
ในสภาพความเป็นจริงแต่ละสหวิทยาเขตมีความพร้อมแตกต่างกัน และมีข้อ จำกัดที่
โรงเรียนต่าง ๆ ตั้งอยู่กระจัดกระจายไม่ทั่วถึง ในบางพื้นที่มีโรงเรียนมากเกิน ความต้องการ
ในบางพื้นที่ก็มีโรงเรียนไม่เพียงพอกับความต้องการ ดังนั้น การรับ นักเรียน จึงไม่สามารถจัด
ให้ลงตัวได้พอดีตามหลักการ จึงต้องมีการร่วมมือระหว่าง สหวิทยาเขตด้วยดังภาพ
ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ระบบที่เป็นอยู่ปัจจุบันไม่ได้คำนึงถึงการ รับนักเรียน
ในขอบเขตพื้นที่บริการมากนัก โดยเฉพาะในระดับต้น การรับนักเรียนโดย วิธีส่งทอดจากโรงเรียน
หนึ่งไปอีกโรงเรียนหนึ่งจึงอาจไม่ได้ผลสมบูรณ ์ โดยเฉพาะการ ส่งทอดนักเรียนประถมศึกษาไป
ต่อชั้นมัธยมศึกษา จะมีข้อบังคับจำกัดอยู่มาก ระบบ ส่งทอดจึงอาจทำได้เป็นบางส่วน และคงต้อง
ค่อยๆทำโดยหวังผลสมบูรณ์ ในระยะยาว
การรับนักเรียนในระยะแรกๆ เพื่อให้โรงเรียนในสหวิทยาเขต รับนักเรียนใน พื้นที่บริการ
ได้อย่างแท้จริง น่าจะทำโดยตัดตอนรับนักเรียนในแต่ละระดับโดยเลือกรับ เฉพาะเด็กในพื้นที่บริการ
ให้ได้ก่อน ถ้าแต่ละระดับปฏิบัติได้ผลแล้ว จึงค่อยใช้วิธีส่งต่อ
จากการศึกษาการกระจายตัวของประชากรวัยเรียนกลุ่มอายุต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร
พบว่ามีจำนวนสอดคล้องกับจำนวนนักเรียน ในแต่ละชั้น จึงเชื่อว่าสามารถเอาจำนวนประชากรนี้
มาใช้คาดคะเนจำนวนนักเรียนที่จะเข้าใหม่ในแต่ละปีได้ โดยเฉพาะในชั้นมัธยมศึกษา ในกรุงเทพ
มหานครเมื่อคำนวณจำนวนนักเรียนและทำแผนจัดชั้นเรียน ในแต่ละโรงเรียนได้แล้ว ก็นำมาเป็น
แนวทางกำหนดเขตบริการรับนักเรียน โดยไม่ต้อง คำนึงถึงโรงเรียนประถมศึกษาที่เรียนอยู่ก่อน
ในชั้นแรก แต่ต้องคำนึงว่าเป็นเด็กที่อยู่ ในพื้นที่บริการอย่างแท้จริง
ถ้าการรับนักเรียนทำได้ไม่ครบถ้วนเพราะข้อจำกัดต่าง ๆ ก็ส่งต่อเข้าเรียนในโรงเรียน
มัธยมศึกษาอื่นที่อยู่ในสหวิทยาเขตเดียวกัน ถ้ามีความจำเป็น โรงเรียนใน สหวิทยาเขตเดียวกัน
รับได้ไม่หมด ก็ส่งต่อไปยังสหวิทยาเขตใกล้เคียง แล้วจัดการเรียนการสอนร่วมกัน
ที่กล่าวมาทั้งหมดตั้งแต่ต้น จะเห็นว่าไม่ได้กล่าวถึงระบบการสอบแข่งขันคัดเลือกเพื่อ
เข้าเรียนเลย ทั้งนี้ด้วยเจตนา ถ้ามีระบบสอบคัดเลือกก็จะเป็นการสกัดโอกาส เด็กที่สอบเข้าไม่ได้
ไปในตัวด้วย ซึ่งไม่ถูกต้อง ถ้าต้องการให้ทุกคนได้เรียนอย่างสะดวก และเป็นธรรม ก็ต้องไม่มี
การสอบคัดเลือกเข้าเรียน
จงมาช่วยกันสร้างโอกาสให้ทุกคนได้เรียนอย่างทั่วถึงและสะดวกกันเถิด
แหล่งที่มา
พนม พงษ์ไพบูลย์. (กรกฎาคม 2541, 4).
การศึกษาพื้นฐานเพื่อปวงชนแบบสหวิทยาเขต: การรับนักเรียน .
มติชน, หน้า 14.
|
|