|
370.28 รวมบทความทางการศึกษา
การศึกษาพื้นฐานเพื่อปวงชนแบบสหวิทยาเขต
ดร.พนม พงษ์ไพบูลย์
คงเป็นที่เข้าใจกันดีแล้วว่า "การศึกษาพื้นฐาน" คืออะไร แต่เพื่อให้เกิด ความเข้าใจตรงกัน
จึงขอกล่าวย้ำไว้อีกสักครั้งหนึ่งว่า "การศึกษาพื้นฐาน" ก็คือการ ศึกษาที่จำเป็นสำหรับปวงชน เพื่อให้
เขามีความรู้ ความสามารถพอที่จะพัฒนาตนเอง ได้ต่อไปในวันข้างหน้า สามารถที่จะประกอบการงาน
อาชีพเลี้ยงตัวได้ และเป็นสมาชิก ที่ดีของสังคม การศึกษาขั้นพื้นฐานจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนทุกคน
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 กล่าวถึงการศึกษาพื้นฐานไว้ในมาตรา
43 วรรคแรกว่า "บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาขั้น พื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐ
จะต้องจัดให้อย่างทั่วถึง และมีคุณภาพ โดยไม่เก็บ ค่าใช้จ่าย " แปลความตามนัยแห่งรัฐธรรมนูญได้ว่า
(1) การศึกษาขั้นพื้นฐานต้องมี อย่างน้อยสิบสองปี
(2) เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องจัดให้กับทุกคน
(3) การศึกษาขั้น พื้นฐานที่รัฐจัดต้องมีคุณภาพ และ
(4) รัฐต้องไม่เก็บค่าใช้จ่ายทางการศึกษาจาก
ผู้เรียน
โดยนโยบายการศึกษาตามแผนการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2535 ระบุว่ามัธยมศึกษา
เป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานของปวงชน ดังนั้น การศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงย่อมหมายถึงการศึกษาชั้นประถม
ศึกษา และมัธยมศึกษา ซึ่งรวมกันเป็น 12 ปี เป็นอย่างน้อย หรือกล่าวได้ว่า ประถมศึกษา และมัธยม
ศึกษา เป็นการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่รัฐจะต้องรับผิดชอบให้ทุกคนได้เรียนอย่างทั่วถึง ต้องจัดให้มีคุณภาพ
และต้องจัด แบบไม่เก็บค่าใช้จ่าย นั่นเอง ตามบทเฉพาะกาลแห่งรัฐธรรมนูญฯ รัฐจะต้องดำเนินการ
ให้บรรลุผลภายในเวลา 5 ปี จากนี้เอง คือความคิดที่มาของการศึกษาพื้นฐานเพื่อปวงชนในรูปแบบ
สหวิทยาเขตซึ่งคือการพยายามเพื่อจัดรูปแบบการศึกษาใหม่เพื่อสนองเจตนารมณ์ ตามรัฐธรรมนูญ
แห่งราชอาณาจักรไทย ในเรื่องของการศึกษาพื้นฐาน คือ
1. ให้ทุกคนได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
2. ให้ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพใกล้เคียง หรือทัดเทียมกัน
3. เป็นบริการการศึกษาที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้เรียน
4. เนื่องจากรัฐมีทรัพยากรจำกัด รัฐจึงต้องคำนึงประสิทธิผล และประสิทธิภาพในการจัดด้วย
ในสภาวะปัจจุบันระบบการศึกษาพื้นฐานของไทย ยังมีปัญหาอยู่หลายประการซึ่งถ้าไม่หาทาง
ปรับปรุงแก้ไขก็ยากที่จะบรรลุเป้าหมายตามรัฐธรรมนูญในอีก 5 ปี ข้างหน้า คือ พ.ศ. 2545 ได้ ปัญหา
ที่สำคัญ คือ
1. การศึกษาแต่ละระดับมีผู้รับผิดชอบหลายฝ่าย เช่น ระดับประถมศึกษา มีสำนักงานคณะ
กรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ เทศบาล (ในเขตเทศบาล) กรุงเทพมหานคร ตำรวจตระเวนชายแดน
โรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เอกชนองค์กรการกุศล ฯลฯ แม้ระดับมัธยมศึกษาก็มีหน่วยงาน
รับผิดชอบที่ หลากหลายเช่นกัน หน่วยงานเหล่านี้บางครั้งก็รับผิดชอบในพื้นที่เดียวกัน เช่น ใน เมืองใหญ่
มีความซับซ้อนเป็นอันมากทำให้ระบบการศึกษาขาดประสิทธิภาพ และมี ปัญหาการจัดบริการที่ไม่ทั่วถึง
พอ ๆ กับการบริการที่ซ้ำซ้อน
2. ขาดการเชื่อมโยงในการศึกษาแต่ละระดับ เช่น ระดับประถมศึกษากับระดับมัธยมศึกษา
ตอนต้น มัธยมศึกษาตอนต้นกับมัธยมศึกษาตอนปลาย และ มัธยมศึกษาตอนปลายกับอุดมศึกษา แม้ว่า
ประถมศึกษากับมัธยมศึกษา เป็นการศึกษา ขั้นพื้นฐานสำหรับทุกคนแต่ก็ยังมีการคัดสรรคน ทำให้บางคน
ขาดโอกาสได้รับการศึกษา ขาดระบบส่งทอดนักเรียนระหว่างระดับ ขาดการร่วมมือระหว่างระดับ แม้จะอยู่
ใน หน่วยงานสังกัดเดียวกันก็ตาม
3. ขาดระบบวางแผนเพื่อจัดบริการให้ทุกคนได้เรียนอย่างมีประสิทธิภาพและขาดระบบการ
ร่วมมือแลกเปลี่ยนทรัพยากร ที่มีประสิทธิภาพ เช่น มีปัญหาการ เลือกที่เรียนเป็นประจำทุกปี มีปัญหา
ครูขาด และปัญหาครูเกินไปพร้อม ๆ กัน มี ปัญหาคุณภาพของโรงเรียนที่แตกต่างกันมาก แม้อยู่ใกล้ชิด
กันก็ตาม
4. ขาดการมีส่วนร่วมของปวงชน โดยเฉพาะประชาชนและชุมชนรอบ ๆ โรงเรียน ทำให้เกิด
ความรู้สึกว่าโรงเรียนเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ในเวลาเดียวกันก็มีบาง กลุ่มคนแสวงประโยชน์ แสดงความ
เป็นเจ้าของ ทำให้เกิดกลุ่มอิทธิพลในรูปแบบต่าง ๆ ทำให้คนบางคนได้รับสิทธิพิเศษในโรงเรียน เกิด
ปัญหาอามิส สินจ้าง รางวัลตามมามาก มาย เป็นผลให้เกิดความไม่เป็นธรรมทางการศึกษา
สหวิทยาเขต คือรูปแบบใหม่ของการจัดการศึกษา เพื่อมุ่งนำมาแก้ปัญหา ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
โดยมุ่งหวังที่จะให้เกิดความเชื่อมโยงของการศึกษาในระดับและประเภทต่างๆ ทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐาน
และการศึกษาอื่น ๆ เพื่อให้บริการการศึกษาสนองตอบ ต่อความต้องการได้อย่างกว้างขวางทั่งถึง และ
เป็นธรรม และที่สำคัญเพื่อยกระดับให้การ ศึกษาทั้งระบบที่มีคุณภาพใกล้เคียงกัน
การศึกษาระดับเดียวกัน แม้จะต่างสังกัดก็ตาม จำเป็นต้องมีระบบบริหาร เพื่อประสานการใช้
ทรัพยากรร่วมกันระหว่างโรงเรียน เช่น การใช้อาคาร สถานที่ ครู บุคลากร สื่อการสอน และการจัดการ
เรียนการสอนร่วมกัน ทั้งนี้เพื่อประกันโอกาสทางการศึกษาที่ทัดเทียมกัน และแก้ปัญหาการมีทรัพยากร
ไม่พอเพียง
เชื่อว่าถ้าจัดระบบให้ดี ประเทศไทยจะมีระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพ
เพียงพอที่จะบริการให้ทุกคนได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ดีอย่างแน่นอน แต่ระบบที่กล่าวถึงจะมีหน้าตา
รายละเอียดอย่างไร คงจะต้องให้หลาย ๆ คนมาช่วย กันคิดถ้าได้คำแนะนำที่กว้างขวางหลากหลายก็คง
จะทำให้ได้รูปแบบที่ดียิ่งขึ้น
ความคิดหลัก เรื่อง รูปแบบเป็นอย่างไรจะขอกล่าวในโอกาสต่อไป
แหล่งที่มา
พนม พงษ์ไพบูลย์. (มิถุนายน 2541, 13). การศึกษาพื้นฐานเพื่อปวงชนแบบสหวิทยาเขต.
มติชน, หน้า 14.
|
|