|
370.28 รวมบทความทางการศึกษา
การศึกษากับการเสริมสร้างความซื่อสัตย์สุจริต
ดร.พนม พงษ์ไพบูลย์
คณะกรรมการ ปปป. ที่มีชื่อเต็มว่า "คณะกรรมการป้องกันและปราบปราม การประพฤติมิชอบ
ในวงราชการ" ได้แต่งตั้งให้ผมเป็นประธานคณะอนุกรรมการชุดหนึ่ง ชื่อว่า " คณะอนุกรรมการการ
เสริมสร้างทัศนคติ ค่านิยม ในความซื่อสัตย์สุจริต" เมื่อ ตอนได้รับทาบทามผมตั้งท่าจะปฏิเสธเรียน
ท่านเลขาธิการฯ ประสิทธิ์ ซึ่งเป็นคนคุ้นเคย กันอยู่ว่าให้หาคนอื่นดีกว่าเพราะผมอยู่ในวงการศึกษา
คนวงการนี้ไม่น่าจะมีปัญหาเรื่อง ความซื่อสัตย์สุจริตเท่าไร ท่านเลขาธิการประสิทธิ์ก็บอกว่าที่อยากให้ทำ
หน้าที่นี้มิใช่เป็น เพราะมีปัญหานี้มากในวงการศึกษาอย่างที่ผมเข้าใจน่ะถูกแล้ว แต่การจะปลูกฝังค่านิยม
เรื่องความซื่อสัตย์สุจริตต้องอาศัยการศึกษาเป็นสำคัญคือ จะให้ข้าราชการและประชาชน ทั่วไปยึดมั่น
ค่านิยมเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต เขาเหล่านั้นก็พึงได้รับการศึกษาอบรมเรื่อง ความซื่อสัตย์สุจริตแต่เยาว์วัย
และต้องปลูกและฝังให้ลึกเข้าไปในจิตใจ ไม่ใช่สักแต่ว่า สอนกันเพียงผิวเผินรู้ว่าความซื่อสัตย์สุจริตคืออะไร
แต่ไม่ได้ยึดถือปฏิบัติอย่างจริงจัง ในการดำรงชีวิต ก็จะไม่เกิดประโยชน์ และเป็นอันตรายแก่บ้านเมืองด้วย
ผมยอมรับใน เหตุผลที่กล่าวมา จึงรับทำหน้าที่ดังกล่าว แล้วก็มานั่งพิจารณาว่า การศึกษาจะมีบทบาท
นการเสริมสร้างค่านิยมและทัศนคติเกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริตได้อย่างไรบ้าง
1. ทำไมต้องมาพูดกันเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต
ผมถามคำถามนี้แก่ตัวเองจริง ๆ ในภาพลักษณ์หนึ่งพบว่าประเทศไทยของเรา เจริญก้าวหน้า
อย่างรวดเร็วจนเป็นที่อิจฉาของหลายประเทศในโลกนี้ด้วยซ้ำไป ในรอบ 35 ปี ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทย
ขยายตัวไปถึง 32 เท่า คนไทยโดยเฉลี่ยมีรายได้สูงถึงปีละ ประมาณ 70,000 บาทต่อคน คนไทยมีการ
อยู่ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านมากมาย บ้านเมือง เจริญอย่างรวดเร็ว เรามีตึกระฟ้าตึกสูงๆ ผู้คนมีรถยนต์
ใช้มากจนมีปัญหารถติดเป็นอันดับ แรก ๆ ของโลก มีผู้พยากรณ์ว่า อีกราว ๆ 40 ปีข้างหน้า ประเทศไทย
จะมีความมั่นคงเป็น อันดับที่ 18 ของโลก แต่ในอีกภาพลักษณ์หนึ่งพบว่าประเทศไทยมีปัญหาอาชญากรรม
เป็น อันดับต้น ๆ ของโลก งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งบ่งบอกว่ามีธุรกิจนอกกฎหมายที่ ใหญ่โต
มูลค่านับหมื่นนับแสนล้านอยู่หลายอย่าง เช่น การพนัน โสเภณี ยาเสพติด สินค้าเถื่อน น้ำมันเถื่อน เป็นต้น
ถ้าประเทศไทยไม่มีธุรกิจนอกกฎหมายใหญ่โตเช่นนี้ ประเทศไทยจะเจริญก้าวหน้ารวดเร็ว และก้าวไกล
กว่านี้อีกมาก การมีธุรกิจนอกกฎหมาย มากนำมาสู่อาชญากรรมที่เกิดขึ้นมากตามมาด้วย และเหตุที่มี
ธุรกิจนอกกฎหมายมาก เป็นเพราะความไม่ซื่อสัตย์สุจริตของข้าราชการ นักการเมือง พ่อค้า และประชาชน
ที่เห็นแก่ได้นั่นเอง กล่าวได้ว่า ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นต้นตอ และรากเหง้าของปัญหาหลาย ๆ อย่างถ้าคน
ของเราเป็นคนดี มีความซื่อสัตย์สุจริต ปัญหาหลายอย่างจะไม่เกิด หรือเกิดก็ ไม่มาก ถ้าข้าราชการซื่อสัตย์
ไม่ทุจริตคอรัปชั่น ก็จะไม่มีช่องทางให้คนอื่นอาศัยประโยชน์ ถ้านักการเมืองซื่อสัตย์ เห็นแก่ประโยชน์
ส่วนรวม การกำหนดนโยบายและการตัดสินใจก็จะ เกิดผลดีกับประเทศชาติและประชาชน ถ้า พ่อค้า
นักธุรกิจ ซื่อสัตย์ไม่ติดสินบาทคาดสินบน ไม่เอารัดเอาเปรียบคนอื่น ก็ไม่ทำให้คนอื่นพะวักพะวงเรื่อง
ความซื่อสัตย์สุจริต ก็จะช่วยเฝ้า ระวังไม่ให้เกิดคนกระทำผิดขึ้น
ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องคิดปลูกฝังค่านิยมเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตให้กับคนไทย ทุกคน คนไทย
ทั้งชาติ ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ ผู้หญิงหรือผู้ชาย คนรวยหรือคนคน ไม่ว่า เป็นประชาชนหรือข้าราชการ
เพื่อให้เป็นพื้นฐานความเจริญรุ่งเรืองของชาติ ไม่ใช่เพียง ข้าราชการเท่านั้นที่ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต
คนไทยทุกคนต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตด้วย
2. เราจะเริ่มปลูกฝังความซื่อสัตย์สุจริตเมื่อไร
โบราณกล่าวว่าไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก เปรียบดังคนก็เช่นเดียวกันการจะ ปลูกฝังทัศนคติ
ความเชื่อ ค่านิยม หรือลักษณะนิสัยใด ๆ ก็ตาม ต้องเริ่มปลูกฝังแต่ยัง เยาว์วัย ปลูกฝังทีละน้อยให้สะสม
ไปเรื่อย ๆ เมื่อโตขึ้นก็ต้องปลูกฝังต่อไป แม้เป็นผู้ใหญ่ก็ ต้องมีการปลูกฝังไปจนตลอดชีวิต แต่ลักษณะ
และวิธีการปลูกฝัง จะต้องแตกต่างกันไป ตามวัยและวุฒิภาวะของแต่ละคน ที่แตกต่างกัน
คงไม่เป็นการกล่าวไกลเกินความจริงไปว่า การปลูกฝังทัศนคติและค่านิยมเรื่อง ความซื่อสัตย์
สุจริตต้องสร้างตั้งแต่แรกเกิด ลักษณะนิสัยความซื่อสัตย์สุจริตจะเริ่มต่อตัวขึ้น จากความรักความอบอุ่น
ที่พ่อแม่ ญาติพี่น้องใกล้ชิดได้แสดงออกและให้แก่เด็ก เด็กก็จะ แสดงความรัก ความเชื่อถือไว้วางใจ
ตอบสนองเช่นเดียวกัน และเด็กจะเชื่อ และเอาอย่าง ทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งคนที่ตัวเองรักและไว้ใจทำให้ดู
หรือแสดงให้เห็น พ่อแม่จึงเป็นต้นแบบที่ สำคัญในวัยเด็ก
เมื่อถึงวัยเข้าโรงเรียนเด็กถือครูเหมือนพ่อแม่ที่สอง เด็กเคารพและไว้ใจเชื่อในสิ่งที่ครูสอน
และสิ่งที่ครูทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ไม่ว่าจะตั้งใจทำหรือไม่ก็ตาม เด็กได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ จากครูและจาก
การสั่งสอน อบรมบ่มนิสัยของครู ครูจึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งในการสร้าง ลักษณะนิสัยเรื่องความ
ซื่อสัตย์สุจริต ไม่น้อยกว่าพ่อแม่ผู้ปกครอง
เด็กอยู่ในโรงเรียนมิได้ศึกษาเอาอย่างเฉพาะจากครูประจำชั้นของตนเท่านั้น เด็กได้รู้
ได้เห็นได้เรียนรู้จากครูอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเด็กทั้งทางตรงและทางอ้อมเช่นเดียวกัน เด็กไม่ได้
เรียนรู้จากครูเฉพาะในห้องเรียนในเวลาที่ครูเข้าสอนแต่เด็กเรียนรู้จากครูในพฤติกรรมของครู
ที่แสดงออกในโอกาสต่าง ๆ ด้วยการปลูกฝังค่านิยมและทัศนคติเรื่องความ ซื่อสัตย์สุจริต จึงเป็น
บทบาทของครูทุกคนในโรงเรียน และทุกคนมีบทบาทหน้าที่ในเรื่องนี้ ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันเลย
ผู้บริหารเป็นทั้งครูและเป็นต้นแบบที่เด็กจะดูแบบอย่างเป็นพิเศษ และยังเป็นต้นแบบให้กับครู
เป็นผู้ดูแลครูอื่น ๆ ให้เป็นต้นแบบที่เหมาะสมด้วย
ผู้บริหารจึงเป็นต้นแบบและมีบทบาทที่สำคัญมากที่สุดในโรงเรียนในการปลูกฝังทัศนคติ
และค่านิยมเรื่องความซื่อสัตย์ สุจริต
เพื่อนนักเรียนก็เป็นตัวอย่างที่สำคัญ เด็กมักเอาอย่างเพื่อน ทำแบบเพื่อนเพื่อเอาใจเพื่อน
ถ้าเด็กมีเพื่อนดีก็มักทำดีตามด้วยการแก้เด็กไม่ดีจึงทำได้โดยการให้คบเพื่อนที่ดี เรื่อง นี้แม่ผมสอน
เสมอ ๆ ว่าให้เลือกคบแต่เพื่อนดี เพื่อนเกเรให้หลีกให้ห่าง บางทีก็ทำไม่ได้ แต่การคบเพื่อนเกเร
ในขณะที่รู้ตัวก็จะช่วยฉุดรั้งไม่ให้เพื่อนทำชั่วได้ เป็นสิ่งที่ดีเสียอีก การสร้าง ทัศนคติและค่านิยมที่ดี
จึงไม่สามารถแยกสร้างเป็นรายบุคคลได้ ต้องสร้างให้เกิดขึ้นกับทุก ๆ คนพร้อมกันเด็กจะได้ดูแล
ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
เด็กเรียนรู้และสร้างลักษณะนิสัยหลายอย่างจากสังคมรอบตัวเด็ก คือจากผู้ใหญ่ในชุมชน
จากสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัว จากข้อมูลข่าวสารที่เด็กได้รับ ไม่ว่าจากวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ หรือ
จากคำเล่าลือต่าง ๆ ผู้ใหญ่ในสังคมที่มีคนยกย่องนับถือมาก ๆ เด็กจะให้ ความสำคัญเป็นพิเศษ
บางทีเขาอาจจะเชื่อว่าทุกอย่างที่ผู้นั้นประพฤติปฏิบัติเป็นของดีหมด ดังนั้น ถ้าเด็กยกย่องนับถือ
ถูกคนก็เป็นการดี แต่ถ้าไปยกย่องนับถือคนที่ขาดความซื่อสัตย์ สุจริตก็จะเป็นอันตรายมาก
เมื่อออกสู่โลกของการงานอาชีพ คนก็เรียนรู้และปรับลักษณะนิสัยตามสภาวะ แวดล้อม
ถ้าเข้าสู่สังคมอาชีพที่ดีก็จะเป็นศรีกับตัวเขา ถ้าเขาเข้าสู่อาชีพที่มีคนไม่ซื่อสัตย์สุจริต ปนอยู่มาก
ก็จะเป็นอันตรายต่อตัวเขา จริงอยู่เขาได้เรียนรู้ และน่าจะมีลักษณะนิสัยที่ดีติดตัว เป็นเกราะกำบัง
ได้บ้าง แต่ถ้าสิ่งแวดล้อมไม่ดีก็อาจดึงดูดให้เสียได้ และถ้าทำมาหากินกับคนที่ มีธุรกิจผิดกฎหมาย
ก็ยิ่งเป็นอันตรายร้ายแรงยิ่งขึ้น การสร้าง ปลูกฝังทัศนคติค่านิยมเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตจึงเป็นเรื่อง
ที่จำเป็นต้องทำในสถานประกอบการ ในสถานที่ทำงานด้วย เช่นเดียวกัน
3. การปลูกฝังความซื่อสัตย์สุจริตเป็นหน้าที่ของใคร
คนทุกคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ จำเป็นต้องมีค่านิยมและทัศนคติเรื่องความ ซื่อสัตย์สุจริต
และต้องดำเนินชีวิตโดยมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นพื้นฐาน ดังนั้น การปลูกฝังเรื่อง ความซื่อสัตย์สุจริต
จึงต้องเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายในสังคมที่จะต้องช่วยกัน จะยกภาระให้ฝ่าย หนึ่งฝ่ายใดไม่ได้ ทุกคนต้องมี
สำนึกและปฏิบัติหน้าที่ความรับผิดชอบด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และมีหน้าที่ดูแลช่วยเหลือสร้างจิตสำนึก
ให้คนอื่นปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตด้วย
องค์กรหลักที่มีหน้าที่รับผิดชอบที่สำคัญคือ
1) ครอบครัว พ่อแม่ ผู้ปกครอง ญาติพี่น้อง ต้องช่วยกันดูแลสร้างและปลูกฝัง จิตสำนึกนี้ด้วยการ
แนะนำ สั่งสอน ทำตัวอย่างที่ดีให้กับคนในครอบครัวของตน ตัวอย่างนิทาน เรื่อง "สอนลูกให้เป็นโจร" เป็น
อุทาหรณ์เตือนใจที่ดี เรื่องนี้เล่าว่า มีพ่อแม่คู่หนึ่งเลี้ยงลูกด้วย ความรักจึงตามใจลูกทุกอย่าง ลูกอยากได้
อะไรหาให้ลูก ถ้าผิดก็ไม่ตักเตือน ลูกไปหยิบฉวยของ ผู้อื่นก็ไม่ว่าไม่กล่าวจนเด็กเกิดเป็นนิสัยชอบ
ลักขโมยของผู้อื่น จากของเล็กน้อย ก็เป็นของมีค่า มากขึ้นจนกระทั่งเมื่อโตขึ้นก็เป็นโจรลักของคนอื่น
วันหนึ่งไปปล้นทรัพย์ฆ่าเจ้าทรัพย์ตายถูก เจ้าหน้าที่จับได้ จะต้องถูกลงโทษถึงประหารชีวิต พ่อแม่ได้ข่าว
ก็เสียใจ ขอพบลูก เมื่อลูกได้พบ พ่อแม่ก็ต่อว่าว่าเป็นเพราะพ่อแม่เลี้ยงดูเขาไม่ดี ไม่เคยแนะนำสั่งสอน
ห้ามปรามเมื่อเขาทำผิด เขาจึงกลายเป็นนักโทษประหาร เช่นนี้
2) โรงเรียนและสถานศึกษา เป็นสถาบันสำคัญที่ทำหน้าที่ให้การศึกษาอบรมบ่มนิสัย คือให้
ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง การสร้างนิสัย การประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้อง หัวใจสำคัญของการศึกษา คือ
การทำให้คนเป็นคนดีเป็นคนที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นทั้งต่อสังคมที่ตนอยู่อาศัย และต่อประเทศชาติจนถึง
มนุษยชาติในที่สุด การสร้างลักษณะนิสัยความซื่อสัตย์สุจริต จึงเป็นเรื่องสำคัญที่โรงเรียนและสถานศึกษา
จะต้องให้การเอาใจใส่ดูแลไม่น้อยกว่าการทำให้ผู้เรียนมี ความรู้ และมีลักษณะอื่น ๆ ที่พึงประสงค์
การปลูกฝังจิตสำนึกเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตก็เหมือน กับการปลูกฝังคุณลักษณะอื่น ๆ คือต้องทำให้
ผู้เรียนเกิดศรัทธา เชื่อว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดีที่ทุกคน พึงประพฤติปฏิบัติและต้องให้ผู้เรียนปฏิบัติเป็นกิจนิสัย
ควบคู่กับการให้ความรู้ความเข้าใจที่ ถูกต้อง และได้เห็นตัวอย่างของจริงที่ถูกต้องด้วย การสร้างนิสัย
ความซื่อสัตย์สุจริตให้กับเด็ก เป็นเรื่องที่ต้องทำต่อเนื่องเป็นเวลานาน ตลอดเวลาที่เด็กได้ศึกษาเล่าเรียน
อยู่ในโรงเรียน เพื่อ ให้กระบวนการศึกษาเล่าเรียนเป็นไปอย่างเหมาะสม ทุกฝ่ายในโรงเรียนจะช่วยกัน
รับผิดชอบ ตั้งแต่ผู้บริหารซึ่งต้องถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ คอยกำกับ ดูแลติดตามอย่างใกล้ชิดกระบวน
การเรียนก็ต้องถูกต้องเหมาะสมกับวัยและพื้นฐานของเด็ก ครูที่สอนทุกคนทุกวิชาก็ต้องถือเป็น หน้าที่
คอยดูแลเอาใจใส่ กิจกรรมทุกอย่างที่จัดก็ต้องอยู่บนพื้นฐานที่ถูกต้องเหมาะสมและส่งเสริมให้เกิดความ
ซื่อสัตย์สุจริตไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมเพื่อความรู้ ความบันเทิง หรือการกีฬา ก็ตาม
3) สถาบันสังคมต่าง ๆ ก็ต้องมีบทบาทส่งเสริมสนับสนุนการสร้างลักษณะนิสัย ความซื่อสัตย์สุจริต
วัดและองค์กรทางศาสนาต่าง ๆ จะมีส่วนช่วยได้มากในการอบรม สร้าง ความเชื่อ ความศรัทธาให้เกิดขึ้น
สื่อมวลชนต่าง ๆ ก็มีส่วนให้ความรู้ ความตระหนักความสำนึกในความสำคัญของความซื่อสัตย์สุจริตได้มาก
ถ้ามีการยกตัวอย่างคนทำความดีให้ปรากฏเสมอ ๆ ก็จะทำให้สังคมเชื่อมั่นในความดีงานนั้น ๆ ได้มากขึ้น
ที่สำคัญคือ จะต้องไม่เผลอยกย่องคนไม่ ซื่อสัตย์สุจริตให้คนทั่วไปเห็น เพราะจะทำให้คนทั่วไปรู้สึกว่าเป็น
ปกติวิสัยที่คนทั่วไปพึงประพฤติ ปฏิบัติได้ ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เรามักจะได้ยินได้ฟังอยู่เสมอที่บางครั้งสังคม
ยกย่องเชิดชูคนที่มี ฐานะดี บริจาคเพื่อสังคมมาก ๆ แต่เคยมีประวัติชื่อเสียงในทางไม่ดีมาก่อนการทำ
เช่นนี้เป็น อันตรายต่อสังคมรวมมาก ทำให้เยาวชนเห็นว่า ความร่ำรวยมีความสำคัญมากกว่าการเป็นคนดี
ของสังคม
4. การเรียนการสอนเพื่อปลูกฝังความซื่อสัตย์สุจริต
แม้ว่าการปลูกฝังความซื่อสัตย์สุจริตจะเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายก็ตาม ผู้ที่มีบทบาทสำคัญ
ยิ่งคงเป็นของโรงเรียนและสถานศึกษา ซึ่งมีหน้าที่หลักคือ การพัฒนาผู้เรียนให้เกิดความเจริญ
งอกงามในทุก ๆ ด้านอย่างมีดุลยภาพ คือ ต้องให้เด็กได้พัฒนาทั้งทางด้านจิตใจ ปัญญา ร่างกาย
และทางสังคม ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นคุณลักษณะทางจิตใจ ประการหนึ่งที่พึงปลูกฝัง พัฒนาให้
เกิดกับเด็กทุกคน แต่การพัฒนาคุณลักษณะด้านความซื่อสัตย์สุจริตก็ต้องพัฒนาไป พร้อม ๆ กับ
การพัฒนาทางด้านปัญญา คือ ความรู้ความเข้าใจและการพัฒนาทางร่างกายและ สังคมด้วย
เช่นเดียวกัน
การเรียนการสอนก็คือ กระบวนการกระตุ้นเพื่อให้เกิดการพัฒนานั่นเองเป็นกระบวน
การที่ทำให้เด็กเกิดความอยากรู้อยากเห็น และได้เรียนรู้ ได้ปฏิบัติจนเกิดความเข้าใจ เกิดความ
เชื่อ ความศรัทธา และยึดถือสิ่งนี้เป็นแนวดำเนินชีวิตตลอดจนมีการศึกษาและพัฒนาความรู้ ความ
เข้าใจ ความเชื่อ ความศรัทธานั้นชัดเจนยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีกในอนาคต เพื่อให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการ
พัฒนา นิสัยเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ตามนัยที่กล่าวมานี้ กระบวนการจัดการเรียนการสอนจึงน่า
จะมี ลักษณะดังนี้
1) การกระตุ้นให้นักเรียนเกิดความสนใจเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตโรงเรียนสามารถทำได้
ด้วยวิธีง่าย ๆ เช่น นำข่าวเหตุการณ์ประจำวันที่เกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริต หรือเอาเรื่องของคนใน
ชุมชนที่คนยกย่องนับถือในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต มาเล่าให้นักเรียนฟัง ในเด็กเล็ก ๆ อาจต้องเล่า
เป็นนิทาน ในเด็กโตขึ้นก็เล่าเรื่องจริง และมีรายละเอียดได้มากขึ้น
2) การยกย่องสรรเสริญผู้ที่ทำความดีต่าง ๆ โดยเฉพาะผู้ที่แสดงออกซึ่งความซื่อสัตย์ สุจริต
ควรยกย่องนักเรียนของตนเอง คนในสังคมรอบ ๆ โรงเรียนหรือคนอื่นๆ ตามข่าว เหตุการณ์ ที่ปรากฏ
3) การให้นักเรียนศึกษา ค้นคว้า หาบุคคลตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าผู้นั้นเป็นคนซื่อสัตย์ สุจริต
และมีคุณสมบัติที่ดีงามอื่นๆ นักเรียนควรจะได้ศึกษาโดยการไปพูดคุยกับคนในชุมชน เพื่อหาคนที่ชุมชน
ยกย่องนับถือ และศึกษาจากหนังสือ เอกสารต่างๆ ควรให้นักเรียนได้ให้เหตุผลในการที่เขาเลือกบุคคล
นั้นมาเป็นตัวอย่างด้วย
4) การให้นักเรียนช่วยกันจัดนิทรรศการแสดงประวัติชีวิต และพฤติกรรมของผู้ที่นักเรียน หรือ
สังคม หรือองค์กรต่างๆ ยกย่องว่าเป็นคนซื่อสัตย์สุจริต เป็นระยะ ๆ
5) โรงเรียนประกาศยกย่องนักเรียนหรือครู หรือบุคคลในสังคมที่มีพฤติกรรม ความซื่อสัตย์
สุจริตให้ปรากฏแก่นักเรียนโดยทั่วไปทุกครั้งที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น
6) โรงเรียนอาจจัดกิจกรรมประจำภาคเรียนหรือประจำปี ให้นักเรียนช่วยกันเลือกเพื่อนของเขา
เองที่เป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตสมควรได้รับการยกย่องชมเชย
7) ในกิจกรรมการเรียนรู้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดวิชาใดก็ตาม ครูทุกคนควรให้ความสำคัญกับการ
สร้างนิสัย ความมีวินัย ความรู้จักหน้าที่รับผิดชอบและความซื่อสัตย์สุจริตต่อตนเองและ ผู้อื่นๆ เสมอ ๆ
ไม่ควรแยกการสอนเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตจากการสอนอื่น ๆ เราสามารถสอน เรื่องความซื่อสัตย์สุจริต
ควบคู่สอดแทรกผสมกลมกลืนไปกับการสอนภาษา สังคมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิชาการงาน วิชาศิลป
วิชาพลานามัย ฯลฯ ได้เสมอ
8) ให้นักเรียนได้ศึกษาจากบุคคลในท้องถิ่น เช่น พระสงฆ์ ผู้นำชุมชน ถึงความดีงามของการ
เป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริต และโทษของการไม่เป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริต พร้อมทั้งหาตัวอย่างที่เป็นจริง
มาประกอบ
9) โรงเรียนอาจให้นักเรียนเขียนนิทาน เรื่องจริง เกี่ยวกับเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต
10) ให้นักเรียนสังเกต วิเคราะห์ และวิจารณ์ตนเองในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต คือ การ ให้นักเรียน
เป็นผู้ประเมินตนเอง ซึ่งอาจให้ทำไว้เป็นความลับเฉพาะตัวของแต่ละคน
11) โรงเรียนอาจจัดให้มีการปาฐกถา โต้วาที เกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริต โดยให้นักเรียน จัดและ
ดำเนินการกันเอง
12) ให้นักเรียนตั้งปณิธานของตนเกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริต
13) โรงเรียนเชิญผู้มีชื่อเสียง หรือผู้ได้รับยกย่องเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตมาพูดคุยกับ นักเรียน
14) โรงเรียนจัดงานวันแห่งความซื่อสัตย์สุจริต และจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ การปลูกฝังมซื่อสัตย์สุจริต
15) ครูในโรงเรียนประพฤติตนให้เป็นตัวอย่างแก่นักเรียน ยังมีรูปแบบและวิธีการอื่น ๆ อีกมากมาย
ที่สามารถนำมาใช้เพื่อส่งเสริมการปลูกฝัง สร้างนิสัยให้นักเรียนยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต กิจกรรมใด ๆ
ก็ตามที่ให้นักเรียนได้รู้ ได้เห็น จากของจริง เหตุการณ์จริง และได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเองจริง จะทำให้เด็ก
ได้เรียนรู้สิ่งที่แท้จริงมากขึ้นกระบวนการและกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ต้องทำสม่ำเสมอเป็นประจำและต่อเนื่อง
เพื่อ กระตุ้นและหล่อหลอม ลักษณะนิสัยนี้ให้เกิดขึ้น คงอยู่อย่างแน่นแฟ้นมั่นคง การได้รู้ได้เห็นของจริง
จะทำให้เด็กเกิดศรัทธาและความเชื่อมั่น ยิ่งถ้าผู้นั้นเป็นผู้ที่เด็กรู้จักใกล้ชิด เคารพนับถือ ก็จะยิ่งสร้างศรัทธา
ให้เกิดได้ง่ายและมากยิ่งขึ้น เป้าหมายสำคัญของกิจกรรมการเรียนรู้เรื่อง ความซื่อสัตย์สุจริต คือ ความสำนึก
ในความซื่อสัตย์สุจริต นิสัยความเป็นคนซื่อสัตย์สุจริต และ ประพฤติตนอยู่บนฐานความซื่อสัตย์สุจริต
5. กิจกรรมเพื่อปลูกฝังจิตสำนึกความซื่อสัตย์สุจริต
ที่กล่าวมาพอสรุปกิจกรรมหลักการปลูกฝังจิตสำนึกและค่านิยมความซื่อสัตย์สุจริต ได้ดังนี้
1) การให้พบเห็นตัวอย่างที่ดีอย่างสม่ำเสมอจนเกิดความเคยชิน หรือเกิดความสงสัย ใคร่รู้ว่า
ทำไมจึงต้องเป็นเช่นนั้น อาจนำตัวอย่างที่ไม่ดีให้พบเห็นได้เป็นครั้งคราว แต่ต้องให้เห็น ผลของการ
ประพฤติปฏิบัติไม่ถูกต้องด้วย
2) การยกย่องสรรเสริญให้ขวัญและกำลังใจกับผู้ประกอบความดีประพฤติปฏิบัติด้วย ความ
ซื่อสัตย์สุจริต
3) แนะนำตักเตือนเมื่อเขาประพฤติไม่ถูกต้องเพื่อจะได้ปรับตน
4) ให้เด็กได้เรียนรู้จากตัวอย่างของจริง เช่น ได้พูดคุยกับคนที่สมควรเป็นตัวอย่างให้ไปศึกษา
นิทาน เรื่องราว สารคดี ชีวิตจริงของคนที่ประพฤติตนด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ให้นักเรียน ได้วิเคราะห์
และสรุปเหตุและผลด้วยตนเอง ให้ทำบ่อย ๆ เสมอ ๆ ในสถานการณ์ที่แตกต่างกันทั้ง ที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว
5) ให้ได้วิเคราะห็วิจารณ์ เหตุการณ์จริงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งจากการร่วมกันเป็นหมู่คณะ และ
วิเคราะห์ด้วยตนเอง เพื่อนำสู่ความเข้าใจเชิงเหตุและผลทั้งที่ดีหรือไม่ดี หรือยังไม่อาจหาข้อยุติได้
6) ให้ได้แสดงเจตนารมณ์เป็นรายบุคคลหรือหมู่คณะที่จะประพฤติปฏิบัติตนในกรอบของ
คุณธรรม จริยธรรม เช่น การมีคติพจน์ประจำใจ เป็นต้น
6. บทส่งท้าย
ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นความอยู่รอดและความสงบสุขของสังคม บ้านเมือง ประเทศชาติ และ
โลกทั้งมวล จึงเป็นค่านิยม ทัศนคติ และเป็นวิถีการดำเนินชีวิตที่มีความหมายและสำคัญยิ่งของมนุษยชาติ
เป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องช่วยกันปลูกฝังให้กับลูกหลาน ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน และทุกคนใน สังคมและทุกคน
ต้องประพฤติตนอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริตด้วย ให้สมดังโคลงโลกนิติที่ว่า
เสียสินสงวนศักดิ์ไว้ วงศ์หงส์
เสียศักดิ์สู้ประสงค์ สิ่งรู้
เสียรู้เร่งดำรง ความสัตย์ ไว้นา
เสียสัตย์อย่าเสียสู้ ชีพม้วยมรณา
แหล่งที่มา
พนม พงษ์ไพบูลย์. (2553). การศึกษากับการเสริมสร้างความซื่อสัตย์สุจริต.
ค้นเมื่อ ตุลาคม 23, 2553, จาก
http://www.moe.go.th/web-panom/article-panom/article11.htm
|
|