ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์
โครงการห้องสมุดโรงเรียนในฝัน

***ร่วมสร้างองค์ความรู้ สู่การศึกษาตลอดชีวิต วิทยพัฒนาเด็กไทยในท้องถิ่น***


000 หมวดเบ็ดเตล็ด
(Generalities)

100 หมวดปรัชญา
(Philosophy)

200 หมวดศาสนา
(Religion)

300 หมวดสังคมศาสตร์
(Social Sciences)

400 หมวดภาษาศาสตร์
(Language)

500 หมวดวิทยาศาสตร์
(Pure Sciences)

600 หมวดเทคโนโลยี
(Technology)

700 หมวดศิลปะ
(The Arts)

800 หมวดวรรณคดี
(Literature)

900 หมวดประวัติศาสตร์
(Geography & History)


Home

   

370.28 รวมบทความทางการศึกษา

มองการศึกษาขั้นพื้นฐานไทยก่อนปี 2000
ดร.พนม พงษ์ไพบูลย์

ปีพุทธศักราช 2543 ดูจะไม่มีความสำคัญอะไรมากนักสำหรับคนไทย แต่สำหรับชาวโลก ปี พ.ศ. 2543 ปีคริสต์ศักราชที่ 2000 เป็นปีที่หลายคนหลายประเทศตั้งเป้าหมายที่จะเห็น ความ เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีในหลาย ๆ เรื่องในทางการศึกษา เมื่อปี 2533 ตรงกับปี ค.ศ. 1990 ชาวโลกกว่า 150 ประเทศได้มาประชุมพร้อมกันที่จอมเทียน ประเทศไทย เพื่อประกาศปฏิญญา ร่วมกันเรียกว่า "การศึกษาพื้นฐานเพื่อปวงชน (Basic Education for All)" ในปี 2000 นี้ ก็จะมี การติดตามผลความก้าวหน้าของการศึกษาในประเทศต่างๆ ว่าเป็นไปตามข้อตกลงที่ จอมเทียน มากน้อยเพียงใด

ข้อตกลง หรือปฏิญญา หรือประกาศของโลก (World Declaration) ที่ว่า มีสาระ สำคัญที่ควร กล่าวถึง คือ

1. ขยายการอบรมเลี้ยงดูเด็กเล็กให้กว้างขวาง โดยเฉพาะเด็กยากจน เด็กด้อยโอกาส และเด็กพิการ

2. จัดให้ทุกคนได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างน้อยจบชั้นประถมศึกษา หรือสูงกว่าภายใน ปี 2000* (การศึกษาพื้นฐานเพื่อปวงชนของประเทศไทย จะไม่น้อยกว่า 9 ปี)

3. ปรับปรุงสัมฤทธิผลทางการเรียน เพื่อให้ผู้เรียนผ่านมาตรฐานขั้นต่ำที่สูงขึ้น

4. ลดอัตราการไม่รู้หนังสือของผู้ใหญ่ ให้เหลือประมาณครึ่งหนึ่งของที่มีอยู่ ให้ได้ในปี 2000 โดยเฉพาะกลุ่มสตรีที่ไม่รู้หนังสือ

5. ขยายและจัดการศึกษาพื้นฐานและการฝึกอบรมขั้นพื้นฐานให้กับเยาวชน และผู้ใหญ่ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพอนามัย และการงานอาชีพที่ดีขึ้น

6. เพิ่มโอกาสทางการได้รับความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยการศึกษาในรูปแบบและวิธีการต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง

มองย้อนหลังการศึกษาไทยภายหลังจากการประชุมที่จอมเทียน 9 ปีที่ผ่านมา ก็พอเห็นได้ว่า ได้ดำเนินการตามปฎิญญาโลกไปมากพอสมควร ที่เห็นได้ชัดเจน คือ ความพยายาม ขยายโอกาส การศึกษาขั้นพื้นฐานจากการศึกษาภาคบังคับ 6 ปี เป็นถึงชั้นมัธยมศึกษา มีอัตราการเรียนต่อชั้น มัธยมศึกษาตอนต้นจากประมาณ 60 % เมื่อปี 2533 มาเป็นประมาณ 90 % เศษ ใน ปี 2541 เป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังปี 2533 เป็นต้นมา รัฐบาลทุกรัฐบาล ในช่วงเวลานี้ต่างให้ ความสำคัญกับการศึกษา ถือว่าการขยายการศึกษาพื้นฐานให้ทุกคนได้เรียนถึงชั้น มัธยมศึกษา เป็นนโยบายสำคัญ ในบางรัฐบาลถึงกับมีความทะเยอทะยานจะขยายการศึกษา ภาคบังคับจาก 6 ปี เป็น 12 ปีก็มี พอนับได้ว่าการดำเนินการเพื่อ "การศึกษาเพื่อปวงชน" ของประเทศไทยใน เชิงปริมาณประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย แต่ภายใต้อัตราการเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาที่สูง ขึ้นนั้น อัตราอื่น ๆ ยังไม่ได้เปลี่ยน แปลงมากนัก ปัญหาหลักของไทย คือ ปัญหาการได้รับการ ศึกษาชั้นประถมศึกษาเมื่อ 9 ปีที่แล้ว อัตราผู้จบชั้นประถมศึกษา 6 ปี ต่อประชากรวัยเรียนแต่ละ รุ่นอยู่ที่ประมาณ 90 % ในปีปัจจุบัน อัตรานี้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง นั่นคือ ยังมีการออกกลางคัน ระหว่างในชั้นประถมศึกษาค่อนข้างคงที่ตลอดมา คือ ปีละประมาณ 1% ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด ตลอดเวลา 6 ปี ของการเรียนชั้นประถมศึกษา มีนักเรียนหายไปจากระบบถึงราว 6 % เศษ ประกอบ กับการเข้าเรียนที่ไม่ครบถ้วน จึงทำให้เหลือผู้จบชั้นประถมปีที่ 6 เพียง 90 % 10% ที่หายไปมี ความหมายยิ่งสำหรับการ ปรับปรุงคุณภาพประชากรโดยส่วนรวม โดยเฉพาะกลุ่มผู้เสียเปรียบ และด้อยโอกาส รัฐจำเป็น ต้องดูแลให้กลุ่มผู้ด้อยโอกาสต่าง ๆ ไม่ว่าผู้อยู่ห่างไกลผู้ยากจน ผู้ไร้ หลักแหล่งที่อยู่ที่ชัดเจน และผู้พิการ ได้รับการศึกษาและคงอยู่ในระบบการศึกษาให้มากขึ้น

เรื่องการอบรมเลี้ยงดูเด็กก่อนวัยเรียน เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทำได้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น อัตรา การได้รับการอบรมเลี้ยงดูเด็กวัย 3 - 5 ขวบ สูงถึง 80 % เป็นอัตราที่จัด ได้ว่าสูงมาก การอบรม เลี้ยงดูทำในรูปแบบที่หลากหลายสอดคล้องกับแนวความคิดระดับสากล คือ มีศูนย์อบรมเลี้ยงดู เด็กของชุมชนของสถาบันทางศาสนา ของเอกชน องค์กร การกุศลต่าง ๆ และของรัฐที่จัดใน รูปชั้นอนุบาล แต่ส่วนใหญ่จัดในรูปชั้นอนุบาล ซึ่งจัดเป็นโรงเรียนอนุบาลอย่างเดียว (ส่วนมาก เป็นของเอกชน) หรือเป็นชั้นอนุบาลในโรงเรียนประถมศึกษา (ส่วนมากเป็นของรัฐ) ปัญหาของ การอบรมเลี้ยงดูเด็กก่อนวัยเรียน คือ พิจารณาว่า เป็นการจัดการเรียนการสอนให้กับเด็กเล็ก ก่อนชั้นประถมศึกษา จึงมีการนำวิชาความรู้และวิธี การสอนแบบชั้นประถมศึกษามาใช้กับชั้น อนุบาล ทำให้เด็กต้องเรียนรู้เร็วเกินความจำเป็น เจตนาของการอบรมเลี้ยงดูเด็กก่อนวัยเรียน คือ การส่งเสริมพัฒนาเด็กในทุกด้าน การพัฒนา ทางร่างกาย การอยู่ร่วมกับผู้อื่น การดูแลตนเอง มากกว่าการเรียนหนังสือ ซึ่งการปฏิบัติใน ด้านนี้ยังต้องมีการปรับปรุงแก้ไขอีกมาก ปัญหาอีก ประการหนึ่งของการอบรมเลี้ยงดูเด็กก่อนวัยเรียน คือ โรงเรียนของรัฐเข้าไปเป็นผู้จัดการมาก เกินไปจนเกือบกล่าวได้ว่า ทุกโรงเรียน ประถมศึกษาของรัฐ มีชั้นอนุบาลศึกษา แต่จริง ๆ แล้ว เด็กวัยนี้ต้องการการอยู่ใกล้ชิดกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง ญาติพี่น้องมากกว่าจากคนแปลกหน้า การอบรมเลี้ยงดูที่ดีที่สุดจึงน่าจะเป็นของคนในชุมชนเอง ช่วยกันจัดดูแลในรูปของศูนย์พัฒนา เด็กของชุมชน องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ก็น่าจะถือเป็นหน้าที่ ผู้ที่ควรรับผิดชอบน้อยที่สุด ควรเป็นองค์กรของรัฐ ซึ่งตรงข้ามกับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ปัญหาใหญ่ของ "การศึกษาพื้นฐานปวงชน " อยู่ที่คุณภาพและบริการการศึกษา ในเรื่อง คุณภาพการศึกษาอยู่ที่ระบบการศึกษาไทย ทั้งหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้แทบไม่มีอะไร เปลี่ยนแปลงเลย หลังจากการประชุมที่จอมเทียนประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ประกาศอย่างเปิดเผยว่าจะดำเนินการตามปฏิญญาว่าด้วยการศึกษาพื้นฐานเพื่อปวงชน โดยเฉพาะข้อ 3 และข้อ 5 ในเรื่องสัมฤทธิผลทางการศึกษา เรายังให้ความสำคัญกับการ วัดผลแบบ เลือกตอบ และใช้การสอบเป็นการตัดสินผลการเรียนเสียเป็นส่วนใหญ่ ครูและผู้เรียน ยังให้ความสำคัญกับการจำเนื้อหาความรู้ มากกว่าการสร้างทักษะกระบวนการคิดและกระบวน การแสวงหา ความรู้ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการศึกษาสำหรับอนาคต กระบวนการคัดสรรคนเพื่อ เรียนต่อก็ยัง ยึดถือความรู้จากผลการสอบ โดยเกือบจะไม่สนใจพฤติกรรมการเรียนรู้ที่ผ่านมา กระบวนการสอบแข่งขันคัดเลือก กลายเป็นตัวกำกับกระบวนการเรียนรู้ของสถานศึกษาระดับล่าง ลงมา ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายถึงกับมีปัญหา ผู้มุ่งต่อมหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับการ กวดวิชาเพื่อสอบคัดเลือก และทุ่มเทเพื่อสอบเทียบลัดเพื่อให้เข้ามหาวิทยาลัยได้เร็วขึ้นพ่อแม่ ผู้ปกครองก็ดูจะ สนใจการเรียนรู้วิธีนี้ไม่น้อยกว่าการเรียนรู้จากระบบโรงเรียน คุณภาพของ การเรียนรู้ทุกระดับ จึงยังมีปัญหาถูกวิพากย์วิจารณ์ว่า เด็กไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ตามจุดประสงค์ของ หลักสูตรอย่างแท้จริงมีการเรียกร้องให้ระบบการศึกษาในโรงเรียนให้ ความสำคัญกับการเป็นคนดี การรู้จักคิด รู้จักแก้ปัญหาการสร้างนิสัยการเรียนรู้ การรู้จักนำ ความรู้ไปสู่การงานอาชีพ ลดการเรียนแบบท่องจำเหล่านี้คือ ดัชนีชี้วัดความไม่สำเร็จต่อการ จัดการศึกษาพื้นฐานเพื่อปวงชนใน ด้านสัมฤทธิผลการศึกษา

บริการการศึกษาก็ยังมีข้อจำกัดไม่สามารถจัดได้อย่างกว้างขวาง หลากหลาย เท่าที่ควร จะเป็นแนวคิดของนักการศึกษาและสังคมปัจจุบันอยากเห็นบริการการศึกษาที่มีหลายรูปแบบ คือ ทั้งในระบบโรงเรียน นอกระบบโรงเรียน และการศึกษาตามแนววิถีชีวิตที่หลากหลาย แต่บริการการศึกษาในระบบ เรายังมีรูปแบบและมาตรฐานเกือบเหมือนกันทั่วประเทศ หลักสูตรที่ ควรจะยืดหยุ่นก็ยังไม่ยืดหยุ่นเพียงพอ สังคมเกือบไม่มีโอกาสกำหนดหลักสูตร ของตนเองเลย การศึกษาในระบบดูจะจัดได้กว้างขวางแต่การศึกษานอกระบบในระดับ มัธยมศึกษา กลับเป็นกลุ่ม ที่ซ้ำซ้อนกับผู้ที่เรียนในระบบเสียเป็นส่วนใหญ่ คือ เป็นกลุ่ม ที่เรียนในโรงเรียนแล้วมาสมัครสอบ เพื่อเทียบความรู้ การศึกษาตามแนววิถีชีวิตยังเกิด ขึ้นไม่กว้างขวางหลากหลายเพียงพอ เช่น ยังมีห้องสมุดประชาชนไม่เพียงพอ ปัจจุบัน มีห้องสมุดกึ่งระดับอำเภอ แต่ก็ยังไม่ทั่วถึง ผู้อยู่ห่างไกล ขาดโอกาสแสวงหาความรู้มาก สื่อเพื่อความรู้อื่นก็ยังมีไม่กว้างขวางเพียงพอ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ ก็ยังเน้นเพื่อการศึกษา เสียเป็นส่วนใหญ่ ขาดการส่งเสริมกิจกรรมชุมชนเพื่อการเพิ่มพูนและแลกเปลี่ยนความรู้

การถ่ายโอนความรู้จากระบบหนึ่งไปสู่ระบบหนึ่งยังทำได้จำกัด แม้ในระบบเดียวกัน เช่น ในระบบโรงเรียน การถ่ายโอนความรู้ระหว่างโรงเรียนก็ยังทำได้น้อยหรือเกือบไม่ได้เลย เช่น การถ่ายโอนความรู้ระหว่างสายสามัญกับสายอาชีพ การจัดการศึกษาแต่ละระบบก็ยัง แยกกัน จัดโดยสิ้นเชิง จึงเป็นเหตุให้ระบบการถ่ายโอนความรู้เกิดขึ้นได้ยาก หากกำหนด ให้สถานศึกษา สามารถจัดการศึกษาได้ทั้งในระบบโรงเรียน นอกระบบโรงเรียน และตาม วิถีชีวิต ได้อย่างอิสระแล้ว ปัญหาการถ่ายโอนความรู้ระหว่างระบบน่าจะลดลงได้ ปัญหา ความเสมอภาคในโอกาสทางการศึกษายังมีอยู่ และยังยากที่จะแก้ไข ประเทศไทยเป็นเมือง พุทธศาสนา ผู้คนมีความเมตตากรุณา ฝังอยู่ในจิตใจ รู้สึกสงสารเมื่อเห็นผู้อื่นได้ยาก ยินดี ช่วยเหลือผู้ลำบากกว่า แต่ขาดระบบการช่วยเหลือการศึกษา สำหรับผู้เสียเปรียบและด้อย โอกาสก็เช่นกัน มีผู้เห็นใจช่วยเหลือเป็นอันมาก แต่ยังไม่เป็นระบบกว้างขวางเพียงพอ ยังก้าวไป ไม่ถึงผู้ด้อยโอกาสทั้งมวลอย่างแท้จริง เช่น การศึกษาสำหรับคนพิการยังจัดได้ เพียง 20% ของประชากรผู้พิการ การศึกษาสำหรับคนยากไร้ก็ยังไม่ได้เพิ่มมากนัก การศึกษาสองประเภทนี้ เนื่องจากทำเป็นรูปแบบพิเศษจึงทำให้ผู้พลาดโอกาส ไม่มี โอกาสได้รับการศึกษาโดยสิ้นเชิง

ระบบการคัดเลือกขึ้นเรียนต่อการศึกษาขั้นพื้นฐานที่สูงขึ้น เช่น จากประถมศึกษา สู่มัธยมศึกษา ซึ่งยังมีระบบสอบแข่งขันคัดเลือกอยู่เป็นเหตุสำคัญทำให้ไม่สามารถสร้าง ความเสมอภาคในโอกาส การเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาได้คนจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะผู้ ได้เปรียบทางสังคมเห็นว่า การแข่งขันคือ ความเป็นธรรม โดยไม่ได้คิดถึงว่าเรามี เจตนารมย์ให้ทุกคนได้เรียนชั้นมัธยมศึกษา เมื่อมีการแข่งขันก็ย่อมมีผู้พลาดจากการ แข่งขันและคนเหล่านี้ก็มักเป็นผู้ยากจน ผู้เสียเปรียบทางสังคม เมื่อแข่งขันสู้ผู้อื่นไม่ได้ ก็ขาดโอกาสการศึกษาเขาถูกคัดออกจากระบบการศึกษา ทั้ง ๆ ที่ระบบการศึกษาต้องการ ให้ทุกคนได้เรียน ดูจะเป็นความขัดแย้งในเชิงความคิดและเชิงปฏิบัติอยู่ในตัวเองอยู่มาก ถ้าประเทศไทยยังเลิกการสอบแข่งขันคัดเลือกในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่ได้ ก็ยาก ที่จะทำให้ทุกคนได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างทั่วถึง ตามปฏิญญาของ "การศึกษาพื้นฐาน เพื่อปวงชน"

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้เป็นการประมวลความสำเร็จและปัญหาของการศึกษาขั้นพื้นฐาน ของไทย ก่อนไปถึงปี คศ.2000 ส่วนที่เป็นความสำเร็จก็เป็นส่วนที่น่าภาคภูมิใจ ส่วนที่ เป็นปัญหาก็คือ ส่วนที่ต้องหาทางแก้ไขต่อไป เป็นความโชคดีของคนไทย และประเทศไทย ที่ปัญหาเหล่านี้คนส่วนใหญ่เข้าใจและหาทางแก้ไขกันอยู่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เป็นหัวหอกสำคัญที่จะช่วยกำหนดยุทธศาสตร์และมาตรการการแก้ปัญหา เหล่านี้ ดังเห็นได้จากการกำหนดให้มีกฎหมายการศึกษา ตามมาตรา 81 และการกำหนดสิทธิ ของบุคคลในการได้รับการศึกษาพื้นฐานอย่างทั่วถึงโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายเป็นต้น เหล่านี้ หลายฝ่ายกำลังดำเนินการกันอยู่ โดยเฉพาะการตราพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ จะเป็นต้นแบบความคิดในการพัฒนาการบริหารและการจัดการศึกษาของประเทศได้เป็น อย่างดี

ขอเอาใจให้ได้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ในปีพ.ศ. 2542 เราจะได้พร้อม ดำเนินการ ปรับปรุงการศึกษา หรือจะเรียกว่าปฏิรูปหรือปฏิวัติก็ได้ ให้การศึกษาไทยได้ทันสมัย สดสวย พอจะอวดนา ๆ ประเทศเขาได้ ในปีพ.ศ. 2543 คือ ปีคริสต์ศักราช 2000 เป็นต้นไป

แหล่งที่มา

Gotoknow.org. (2553). มองการศึกษาขั้นพื้นฐานไทยก่อนปี 2000.

ค้นเมื่อ ตุลาคม 23, 2553, จาก
http://www.moe.go.th/web-panom/article-panom/article25.htm

 


Copyright
All copyright rights in the Dewey Decimal Classification system are owned by OCLC. Dewey, Dewey Decimal Classification, DDC and WebDewey are registered trademarks of OCLC
Revised:March 2009


Send comments to Chumpot@hotmail.com