|
370.28 รวมบทความทางการศึกษา
หัวใจการปฏิรูปการศึกษา
ดร.พนม พงษ์ไพบูลย์
ถ้าท่านศึกษาหลักการของการปฏิรูปการศึกษาหรือพระราชบัญญัติ การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ท่านจะมองเห็นว่าหัวใจของพระราชบัญญัติการศึกษาหรือหัวใจของการปฏิรูปการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาตินั้น อยู่ที่การยกระดับคุณภาพประชากรของประเทศให้สูงขึ้น ทำไมเราต้องยกระดับประชากรของประเทศให้สูงขึ้น ก็เพราะว่าเรามีความเห็นสอดคล้องตรงกันว่า ถ้าคุณภาพของประชากรของประเทศไม่ได้รับการยกระดับ ไม่ได้รับการพัฒนาให้สูงขึ้นแล้ว ประเทศไทยของเราจะไม่สามารถพัฒนาเท่าเทียมหรือแม้แต่วิ่งตามประเทศอื่น ๆ จะทำได้ยากถ้าเราไม่ยกระดับประชากรของประเทศให้สูงขึ้น ประเทศไทยจะเสียเปรียบมากในประชาคมโลก นอกจากจะเสียเปรียบทางด้านเศรษฐกิจขณะนี้เราก็มองเห็นชัดเจนว่า เรามีปัญหาทางเศรษฐกิจเพราะว่าคนของเรายังไม่สามารถจะคิด สามารถที่จะทำงานได้เหมือนคนต่างประเทศ เราต้องไปพึ่งพาอาศัยเขาตลอดเวลา คนอื่นเขาคิดอย่างไรเราก็ตามไม่ทัน นอกจากนั้นถ้าเราไม่เร่งรีบพัฒนาคนในชาติ ทางด้านสังคมเราก็จะขาดทุน สังคมภายนอกก็จะเข้ามา มีอิทธิพลต่อสังคมไทย ต่อวัฒนธรรมไทย โลกยุคปัจจุบันเป็นโลกที่ระบบสื่อสาร ไร้พรมแดน สื่อมวลชนต่าง ๆ วิทยุ โทรทัศน์ แม้แต่ Internet สารพัดอย่างเข้ามาหาตัวเรา ดีบ้าง เลวบ้าง ถ้าคนของเราไม่มีการศึกษาที่ดีพอเราก็จะได้รับข้อมูลข่าวสาร ที่ไม่ดี แล้วก็ชักจูงเราไปในทางที่เสีย หลงไปในทางที่ผิด อิทธิพลสื่อสมัยใหม่นี้ ร้ายแรงมาก
เพราะฉะนั้น เราต้องคิดพัฒนาประเทศ ยกระดับคุณภาพการศึกษาของคนในประเทศให้สูงขึ้น เราจะยกให้สูงขึ้นในเรื่องอะไร ขณะนี้ความคิดที่เรามองเห็นสอดคล้องตรงกันก็คือ คนในประเทศต่อไปนี้จะต้องมีคุณสมบัติหลาย ๆ ด้านจึงจะพาประเทศให้อยู่รอดปลอดภัยไปได้ ด้านแรกก็คือ คนของเราจะต้องเป็นคนเก่ง คนเก่งคือคนมีความรู้ ความรู้ก็ต้องเป็นความรู้หลาย ๆ ด้าน เป็นความรู้ที่ทันสมัย ทันเหตุการณ์ ขณะนี้โลกยุควิทยาศาสตร์ ก็ต้องมีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เข้าโลกยุคเทคโนโลยี ก็ต้องมีความรู้เรื่องเทคโนโลยี เขารู้เรื่องคอมพิวเตอร์ เราก็ต้องรู้เรื่องคอมพิวเตอร์ ต้องใช้คอมพิวเตอร์เป็น ต้องมีความรู้ ความสามารถในการใช้คอมพิวเตอร์ อีกด้านหนึ่งเราต้องการคนดีของประเทศ เพื่อแก้ปัญหาสังคมที่สับสนวุ่นวายอยู่ในขณะนี้ ปัญหาของคนดีอยู่ที่ว่าเรามีคนดีมากหรือน้อยในสังคม ถ้าคนมีคุณธรรม มีจริยธรรม รู้จักหน้าที่ รู้จักรับผิดชอบ มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความขยัน มีความอดทน ประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในศีลอยู่ในธรรม ตามลัทธิ ตามความเชื่อทางศาสนาที่ตนเองเคารพนับถือ คนนั้นจะเป็นคนดี คนที่ดีก็จะไม่ไปคดโกงคนอื่นไม่ว่าต่อหน้าหรือลับหลัง ไม่คิดเอาเปรียบหรือคิดร้ายคนอื่น ถ้าคนของเรา มีคุณธรรม มีจริยธรรม สังคมก็เป็นสุข สังคมก็สงบ นอกจากสังคมเป็นสุขมีความสงบแล้ว คนก็จะมาช่วยเหลือกันร่วมมือกัน คนร่วมมือกันสังคมก็เจริญก้าวหน้า ยิ่งถ้ามีคนเก่งมาช่วยเหลือก็ยิ่งทำให้สังคมมีความเจริญงอกงาม ประเทศไทยของเราก็จะเจริญ งอกงาม ไปด้วย
ดังนั้นสิ่งที่เรามุ่งหวัง เราอยากได้คนเก่ง เราอยากได้คนดี เราอยากได้คนที่รักสังคม รักสิ่งแวดล้อม อยากได้คนที่ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น อยากได้คนที่ขยันขันแข็ง ทำมาหากินประกอบการงานอาชีพ นี่คือสิ่งที่เราปรารถนาอยากจะเห็นว่าการศึกษาช่วยประเทศชาติ โดยการสร้างคนที่มีคุณสมบัติดังกล่าว ถ้าเราสร้างมากเท่าไหร่ประเทศชาติเราก็จะเจริญเร็วเท่านั้น ถ้าเรามีน้อยประเทศของเราก็จะพัฒนาไปได้ช้า เราคิดกันต่อไปว่าถ้าเราอยากจะได้คนอย่างนี้จะทำอย่างไรคนเก่งต้องเก่งตลอดไป ไม่ใช่เก่งวันที่เข้าโรงเรียน ออกจากโรงเรียนแล้วไม่เก่ง ต้องเก่งไปเรื่อย ๆ คนที่จะเก่งได้และเก่งไปได้นาน ๆ เป็นคนดีได้นาน ๆ จะต้องเป็นคนที่พัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา คนที่จะพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลาต้องเป็นคนที่แสวงหาความรู้อยู่ตลอดเวลา
เราต้องการให้ประชากรของประเทศสนใจศึกษาแสวงหาความรู้ ถ้าเรียนรู้ตลอดชีวิตได้ยิ่งดี เป็นปรัชญาของการเรียนรู้ตลอดชีวิต ให้คนได้ศึกษาพัฒนาตนเองตลอดชีวิต การทำให้คนพัฒนาตนเองได้ตลอดชีวิต เขาต้องรักการเรียน เราต้องสร้างนิสัยรักการเรียนให้เกิดขึ้นนอกจากสร้างนิสัยให้เขารักการเรียนแล้ว เขาจะต้องรู้วิธีค้นคว้า หาความรู้ รู้จักแหล่งความรู้แหล่งต่าง ๆ เมื่อรู้จักการเรียนรู้แล้วเขาก็เรียนรู้ตลอดชีวิตและก็เป็นคนพัฒนาตนเองไปตลอดชีวิต สิ่งเหล่านี้คือเป้าหมายการศึกษาที่เราต้องการสร้างคน ยกระดับคนให้สูงขึ้น เมื่อเราคิดสร้างคนในลักษณะนี้แล้ว เราจะสร้างคนออกมาเป็นอย่างไร เป็นพิมพ์เดียวกันทุกคน ๆ หรือเปล่า มนุษย์จะไปทำเหมือนเครื่องจักรไม่ได้ เพราะมนุษย์มีชีวิต มีจิตใจแต่ละคนไม่เหมือนกัน กระบวนการสร้างคนจะต้องสร้างบนพื้นฐานความเชื่อที่ว่าคนทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ เพราะถ้าเราไม่เชื่อว่าคนสามารถเรียนรู้ได้ ก็แปลว่าเราคิดว่าบางคนโง่เกินไปไม่ต้องเรียนหนังสือ บางคนฉลาดเกินไปไม่ต้องเรียนหนังสือ เอาเฉพาะคนที่ปานกลางมาเรียน แต่จริง ๆ แล้วคนทุกคนจำเป็นต้องเรียนรู้ ไม่มีคนที่ฉลาดเกินไปที่ไม่ต้องเรียนรู้ ไม่มีคนพิการเกินไปจนกระทั่งเรียนรู้ไม่ได้ แม้แต่คน ตาบอดก็เรียนรู้ได้ คนหูหนวกก็เรียนรู้ได้ บางคนเป็นง่อยก็เรียนรู้ได้ เขาจะมีวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน อันนี้จะต้องวางความเชื่อพื้นฐานให้เกิดขึ้น ให้เข้าใจว่าคนทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ แล้วการที่จะพัฒนาประเทศยกระดับประเทศให้สูงขึ้น ต้องยกระดับคนทุกคนของประเทศให้สูงขึ้น ไม่ใช่เลือกยกบางคนให้คนบางคนได้เรียน เมื่อเราคิดว่าจำเป็นต้องยกระดับคนทุกคนให้สูงขึ้น จึงเป็นที่มาของความคิดที่ว่าต่อไปนี้เราจะต้องจัดการศึกษาพื้นฐาน 12 ปี ให้กับคนทุกคน เราต้องยอมรับธรรมชาติความจริงอย่างหนึ่งว่าคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน เมื่อแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราจะให้เรียนเป็นบล๊อก ๆ เหมือนกันคงเป็นไปไม่ได้ หลักปรัชญาการศึกษา ความเชื่อการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ จึงให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้ที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ นั่นคือเราจะต้องส่งเสริมให้แต่ละคนได้พัฒนา ได้เรียนรู้ ตามพื้นฐานตามความถนัด ตามความสามารถของแต่ละคนที่แตกต่างกัน บางคนเรียนได้เร็วก็ไปเร็ว บางคนเรียนช้าก็ไปช้า บางคนถนัดคิดคำนวณ ก็เรียนไปทางคิดคำนวณ บางคนถนัดไปทางด้านศิลปะขับร้องดนตรีก็เน้นไปทางด้านนั้น บางคนถนัดทางด้านการกีฬาก็เน้นไปทางด้านการกีฬา แต่จริง ๆ แล้วทุกคนสามารถเรียนรู้ได้หมดทุก ๆ ด้าน และต้องเรียนรู้ผสมผสานบูรณาการ เรียนรู้หลาย ๆ อย่างกว้าง ๆ แต่สามารถจะเน้นความถนัด ความชำนาญ ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางได้ตามความสนใจของแต่ละคนที่แตกต่างกัน ระบบการเรียนรู้ต่อไปในอนาคต จะต้องเป็นระบบที่ส่งเสริมให้เด็กได้พัฒนาไปตามความถนัด ตามความสามารถของแต่ละคนแต่ละคน ทั้งหมดนี้เป็นหลักการใหญ่ ๆ ของการปฏิรูปการศึกษาที่ว่าเราจะทำอะไร ทำเพื่อใคร ทำอย่างไรเราจะทำให้เกิดผลอย่างนี้ได้
การปฏิรูปทำให้คนได้เรียนรู้ได้พัฒนาตามความถนัด ตามศักยภาพหมดทุกคนทั่วประเทศ ให้ทุกคนได้รับการศึกษาพื้นฐาน 12 ปี และมีการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี แล้วก็จัดกระบวนการเรียนรู้ให้เขาสร้างนิสัยในการเรียนรู้ ให้เขาเรียนรู้ด้วยการแสวงหาความรู้ รู้จักคิด รู้จักวิเคราะห์ รู้จักค้นพบคำตอบต่าง ๆ ด้วยตนเอง การทำอย่างนี้จะสำเร็จได้หรือไม่ หัวใจก็อยู่ที่ครู เพราะว่าครูคือผู้มีหน้าที่จัดกระบวนการเรียนรู้ จัดการเรียนการสอน จัดให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ ส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ขึ้นมา บทบาทของครูในอนาคตคือ การส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน ผู้เรียนที่จะต้องเกิดการเรียนรู้กันอย่างกว้างขวางและหลากหลาย หรือทันสมัย ทั้งหมดจะทันสมัยกว้างขวาง หลากหลายจะต้องคำนึงถึงการรักษาวัฒนธรรมรักษาความเป็นไทยเอาไว้ให้ได้ด้วย ความหวังนี้จึงฝากไว้ที่ครู ครูจะต้องทำบทบาท ทำหน้าที่อย่างนี้ได้ ครูที่จะทำหน้าที่อย่างนี้ได้ จะต้องเป็นคนไม่เหมือนคนธรรมดา เพราะถ้าเป็นคนเหมือนคนธรรมดาก็ทำโดยวิธีธรรมดา ผู้เรียนก็ไม่เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่แท้จริง เมื่อกล่าวถึงตรงนี้ก็มีคำวิพากษ์วิจารณ์ถึงว่าครูอาชีพ อาชีพครู และเขาบอกว่าขณะนี้ เรามีคนที่ประกอบอาชีพครูมาก แต่เรามีครูอาชีพน้อย แสดงว่ากำลังมองดูว่าครูของเราทำงานไม่ได้ผลตามที่คนอื่นเขาคิดหวัง ถ้าเราทำได้ตามที่คนอื่นคาดหวังเขาเรียกว่า ครูอาชีพ หนักไปกว่านั้นบางคนวิพากษ์วิจารณ์บอกว่าต่อไปนี้เราต้องสร้างครูพันธุ์ใหม่ พันธุ์ปัจจุบันมันเป็นอย่างไร เป็นการมองเห็นว่า ระบบครูในปัจจุบันเขามี ความสงสัยว่าจะสามารถทำหน้าที่อย่างที่ทุกคนคาดหวังได้หรือไม่ เพียงใด ผมมีความเชื่อว่าพวกเราซึ่งอยู่ในระบบขณะนี้สามารถ ทำหน้าที่ได้ เหตุที่เราทำหน้าที่ไม่ได้เพราะเราขาดปัจจัยเกื้อหนุนและสนับสนุน แต่ก็ยอมรับว่ามีครูบางคน บางกลุ่ม อาจทำหน้าที่นั้นไม่ได้ ซึ่งถ้าหากว่าบางคนบางกลุ่มเราเอาปัจจัยเกื้อหนุนปัจจัยสนับสนุนใส่เข้าไปแล้วก็ยังไม่สามารถปรับตัวทำหน้าที่นี้ได้ เราก็เชิญเขามาดูการทำหน้าที่ของพวกเราที่ทำหน้าที่ได้ต่อไป จึงมีความคิดที่ต้องพัฒนาครูในระบบให้มีคุณภาพสูงขึ้น จะต้องมีใบประกอบวิชาชีพครู มีมาตรฐานวิชาชีพครู เพื่อประกันว่าคนที่เป็นครูนั้นต้องเป็น ผู้มีความรู้ ความสามารถ มีความประพฤติที่ดี มีเจตคติที่ดี เหมาะสมที่จะเป็นครูอย่างแท้จริง ตรงนี้คือมีองค์กรวิชาชีพครู และมีการกำหนดมาตรฐานวิชาชีพครู คนที่จะเป็นครูต่อไปในอนาคตต้องได้รับการรับรองมาตรฐานวิชาชีพ และเมื่อปฏิบัติในวิชาแล้วก็จะต้องมีการกำหนดให้พัฒนาตนเอง เพื่อเลื่อนมาตรฐานวิชาชีพให้สูงขึ้น ได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น เป็นครูใหม่ ๆ เขาก็อาจจะเรียกว่าครูปฏิบัติการ พอทำ ๆ ไป พิสูจน์ให้เขาเห็นว่ามีความเก่งกล้าสามารถมากขึ้น ก็อาจจะเลื่อนเป็นครูชำนาญการ พอเป็นครูชำนาญการก็มีค่าตอบแทนให้ แล้วก็ให้ท่านพัฒนาตนเองสูงขึ้น ในทางตรงกันข้าม ถ้าไม่พัฒนาตนเองอาจจะมีเงื่อนไขว่าอยู่ตรงนี้ไม่พัฒนาตนเอง 8 ปี 10 ปี ก็เชิญไปทำหน้าที่อื่น เพื่อให้คนที่เหมาะจะเป็นครูให้มาทำหน้าที่แทน ดังนั้น คนที่เป็นครูในอนาคตต้องตื่นตัวจะไปทำตัวแบบยึดอาชีพเป็นครูก็ไม่ได้ จะต้องทำตัวเป็นครูอาชีพคือการพัฒนาตนเอง ผู้บริหารก็เช่นเดียวกัน การปฏิรูปการศึกษา การยกระดับคุณภาพการศึกษาในอนาคตเราฝากความหวังไว้ที่ ผู้บริหารมาก เพราะว่าผู้บริหารจะเป็นผู้นำ งานวิจัยทั้งหลายชี้ชัดเจนว่า ความสำเร็จในการพัฒนาการศึกษาในสถานศึกษา แต่ละแห่งกว่าร้อยละ 50 เป็นผลเนื่องจาก ผู้บริหาร แปลว่าถ้าให้ผู้บริหารที่เป็นผู้นำที่ดี โรงเรียนก็พัฒนาไปได้ดี แต่ถ้าผู้บริหารไม่เอาไหนชักนำโรงเรียนไปในทางที่ไม่ดี โรงเรียนก็ไม่ได้รับการพัฒนาครูอีก 10 คน 20 คน ช่วยดึงได้ประมาณร้อยละ 50 แต่ผู้บริหารดึงไปประมาณร้อยละ 50 เราตั้งความหวังไว้ที่ผู้บริหาร ผู้บริหารต่อไปต้องเป็นผู้บริหารมืออาชีพเช่นเดียวกัน จะต้องมีการรับรองมาตรฐานวิชาชีพ ผู้บริหาร มีใบประกอบวิชาชีพ ผู้บริหาร จะต้องมีการคัดเลือกผู้บริหาร และมีระบบการตอบแทนผู้บริหารในทิศทางเดียวกัน ทั้งหมดนี้คือแนวทางของการปฏิรูปการศึกษา การปฏิรูปการศึกษา เราคิดว่าจะสำเร็จนำไปสู่การจัดการศึกษาให้มีคุณภาพมีมาตรฐานให้สูงขึ้น นอกจากเรื่องครูแล้ว เรายังเชื่อมั่นว่าการศึกษาจะต้องเป็นของประชาชน ประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วม มาช่วยกันทำ มาช่วยกันดูแล มาช่วยกันสนับสนุน เรียกว่าการศึกษาเป็นของประชาชน แล้วก็ให้ประชาชนทุกคนมาช่วยกัน และให้ประชาชนทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษา เพราะฉะนั้นหลักการจัดการศึกษา ในอนาคตเขาจึงใช้หลักกระจายอำนาจ ส่งเสริมสนับสนุนให้ท้องถิ่น ให้ประชาชนได้มาช่วยกันดูแล การศึกษาเป็นหลักกระจายอำนาจ เพราะฉะนั้นโครงสร้างระบบการบริหารการศึกษาก็จะเป็นโครงสร้างแบบกระจายอำนาจ ท่านคงทราบแล้วถึงปี พ.ศ. 2545 เราจะไม่มีกระทรวงศึกษาธิการ แต่เราจะมีกระทรวงการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม แล้วก็ตัวกระทรวงนั้นจะทำหน้าที่เพียง 4 อย่างเท่านั้นที่สำคัญคือ จะไม่ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการศึกษา แต่ทำหน้าที่เป็น ผู้กำหนดนโยบายและแผน ทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนทำหน้าที่เป็นผู้กำหนดมาตรฐาน และทำหน้าที่ตรวจสอบติดตามประเมินผล ไม่จัดเอง การศึกษาจะกระจายออกไป ถ้าเป็นอุดมศึกษาก็จะเป็นอิสระออกไป โดยสรุปการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ทำเพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างแท้จริง เราจะทำสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับพวกเราทุกคนจะต้องร่วมมือ ช่วยกันอย่างแข็งขัน การปฏิรูปการศึกษา ในครั้งนี้มีแต่ได้ประโยชน์และคนที่จะได้ประโยชน์มากคือประเทศชาติ เด็กและเยาวชนที่จะทำให้ระบบการศึกษาของเราเจริญก้าวหน้าขึ้น ขณะนี้เราเป็นผู้นำของโลกในเรื่องที่จะเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา ทั่วโลกเขากำลังจับตามองว่าเราจะทำได้สำเร็จมากน้อยแค่ไหน สำเร็จหรือไม่สำเร็จก็อยู่ในมือของพวกเราทุกคน ก็ขอตั้งความหวังและเชื่อว่าทุกคนจะช่วยพัฒนา การศึกษาของเราได้อย่างเต็มที่ต่อไป
แหล่งที่มา
พนม พงษ์ไพบูลย์. (2553). หัวใจการปฏิรูปการศึกษา.
ค้นเมื่อ พฤศจิกายน 23, 2553, จาก
http://www.moe.go.th/web-panom/article-panom/article_panom01.htm
|
|