ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์
โครงการห้องสมุดโรงเรียนในฝัน

***ร่วมสร้างองค์ความรู้ สู่การศึกษาตลอดชีวิต วิทยพัฒนาเด็กไทยในท้องถิ่น***


000 หมวดเบ็ดเตล็ด
(Generalities)

100 หมวดปรัชญา
(Philosophy)

200 หมวดศาสนา
(Religion)

300 หมวดสังคมศาสตร์
(Social Sciences)

400 หมวดภาษาศาสตร์
(Language)

500 หมวดวิทยาศาสตร์
(Pure Sciences)

600 หมวดเทคโนโลยี
(Technology)

700 หมวดศิลปะ
(The Arts)

800 หมวดวรรณคดี
(Literature)

900 หมวดประวัติศาสตร์
(Geography & History)


Home

   

370.28 รวมบทความทางการศึกษา

ปัญหาการปฏิรูปการศึกษา.
ดร.พนม พงษ์ไพบูลย์

การปฏิรูปการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของแทบทุกคนในวงการศึกษา ไม่เคยได้อ่านหรือได้ยินใครพูดว่าไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูปการศึกษา เมื่อครั้งร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ก็ได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่ายโดยพร้อมเพรียงกัน เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็ประกาศว่าจะเดินหน้าเรื่องปฏิรูปการศึกษา ไม่กี่วันมานี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้านกว่าร้อยคนยื่นหนังสือขอให้ถอดถอนคนที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการออกจากตำแหน่ง ด้วยข้อหาว่าเป็นผู้ประวิงเวลาและหน่วงเหนี่ยวการปฏิรูปการศึกษา ไม่รับผิดชอบผลักดันให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ผู้เขียนไม่อยู่ในฐานะที่จะสนับสนุนหรือคัดค้านฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แต่สิ่งที่ปรากฏแสดงให้เห็นว่าการปฏิรูปการศึกษากำลังมีปัญหา

ที่จริงการปฏิรูปการศึกษามีปัญหามาตั้งนานแล้ว มีตั้งแต่การคิดแผนดำเนินการปฏิรูปการศึกษา ขอย้ำว่าหลักการใหญ่ของการปฏิรูปการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 นั้น ไม่มีปัญหาทุกฝ่ายเห็นด้วย ที่เห็นต่างกันคือ การแปลกฎหมายไปสู่การปฏิบัติ

ในขณะที่หัวใจของการปฏิรูปการศึกษา คือ การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ แต่มีใครบ้างที่ให้ความสนใจกับการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ สิ่งที่ทุกคนลุกขึ้นมาแสดงความคิดเห็นวิพากย์วิจารณ์ แสดงความห่วงใยว่าจะดำเนินการไม่ทัน กลับเป็นเรื่องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างระบบบริหารของกระทรวงศึกษาธิการ ที่จะเปลี่ยนเป็นกระทรวงการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม และดูเสมือนว่า ถ้าไม่เปลี่ยนโครงสร้างระบบบริหาร การปฏิรูปการศึกษาจะไม่เกิด แค่นี้ก็แสดงให้เห็นว่าเป้าหมายการปฏิรูปการศึกษาเริ่มผิดเพี้ยนแล้ว

ถ้ากล่าวถึงเฉพาะโครงสร้างระบบบริหาร กฎหมายกำหนดให้มีคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่กำหนดรูปแบบโครงสร้างที่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติฯ เหตุผล การตั้งกรรมการก็เพราะหากให้หน่วยปฏิบัติทำกันเองจะชักช้าเสียเวลา และอาจมีปัญหาเรื่องการ ตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานของตนเอง เมื่อเริ่มดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการ ทัศนคติที่แสดงให้ปรากฏ ก็คือ ไม่อยากให้ผู้บริหารในหน่วยปฏิบัติ ก็คือ ผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการเข้าไปเป็นกรรมการถึงกับมีผู้หนึ่งกล่าวว่า “หากไม่อยากเห็นความสำเร็จของการปฏิรูปการศึกษา ก็ให้คนกระทรวงศึกษาธิการทำ หากต้องการเห็นความสำเร็จก็ให้คนนอกทำ” ด้วยทัศนคติเช่นนี้ คนในกระทรวงศึกษาธิการ จึงได้รับการพิจารณาแต่งตั้งให้เป็นกรรมการปฏิรูปการศึกษาน้อยมาก ที่ได้รับการแต่งตั้งก็มีเงื่อนไขว่าต้องพ้นจากตำแหน่งบริหาร ผู้แทนองค์กรครูซึ่งพยายามเสนอตนเองเข้ามาก็ไม่ได้รับการพิจารณา แม้ผู้เขียนเองสมัครเข้ารับการคัดเลือก เป็นกรรมการก็ยังถูกอภิปรายจนในที่สุดต้องถอนตัวออกไป

ต้องยอมรับว่ากรรมการปฏิรูปการศึกษาทุกคนเป็นคนเก่ง และคนดีมีความตั้งใจทำงานเพื่อยกร่างโครงสร้างระบบบริหารการศึกษา หลายคนเป็นนักวิชาการที่มีความสามารถสูง แต่หลายคนอาจไม่เคยทราบว่าโรงเรียนประถม โรงเรียนมัธยมของไทยหน้าตาเป็นอย่างไร ก็ไม่ถึงขนาดนั้น หลายคนเคยเห็นแต่โรงเรียนในกรุงเทพมหานครก็เลยทึกทักว่าต่างจังหวัดก็เป็นเช่นนั้น รูปแบบโครงสร้างจึงออกมาค่อนข้างเป็นทฤษฎีมากกว่าที่จะสะท้อนสภาพความเป็นจริงที่มีอยู่

ผู้บริหารในกระทรวงศึกษาธิการหลายคนได้พยายามสะท้อนความเห็นผ่านสื่อมวลชน ในเรื่องโครงสร้างระบบบริหารการศึกษาใหม่ ผลที่ได้รับ ก็คือ การถูกวิพากษ์วิจารณ์ย้อนกลับว่า เป็นผู้ “หวงอำนาจ” ผู้เขียนจำได้ขึ้นใจว่าถูกกรรมการปฏิรูปการศึกษาคนหนึ่งกล่าวหาว่า เป็นผู้หวงอำนาจขัดขวางการปฏิรูปการศึกษา และเสนอให้ปลดออกจากตำแหน่งปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เหตุเพราะไปแสดงความคิดเห็นที่ขัดแย้งกับข้อเสนอฯ เข้า

การเสนอปลดปลัดกระทรวงคนเดียวนั้น ไม่ยุติธรรมเลย เพราะความคิดเห็นที่ ปลัดกระทรวงนำออกมาแสดง เป็นสิ่งที่ประมวลได้จากความรู้สึกของผู้บริหารในกระทรวงอีกหลายคน ที่มีความรู้สึกอึดอัด ไม่มีโอกาสได้แสดงออก พูดไปแล้วก็ไม่มีใครฟัง ส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสได้พูด จึงมาพูดกับปลัดกระทรวง (ในขณะนั้น) และขอให้ปลัดกระทรวงพูดแทนพวกเขา หากปลัดกระทรวงถูกปลด พวกเขาเหล่านี้สมควรถูกปลดด้วย

ความอึดอัดของผู้บริหารการศึกษาทราบถึงรองนายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น คือ นายสุวิทย์ คุณกิตติ) จึงขอให้ประมวลความคิดเห็นของฝ่ายต่าง ๆ ที่มีต่อรูปแบบโครงสร้างระบบบริหารการศึกษาเสนอ และต่อมาก็ได้มีการศึกษา ยกร่างรูปแบบที่น่าจะเป็นกันขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ก็ยังคล้ายของคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาที่ปรับปรุงก็คือ ส่วนที่เห็นต่างกัน และพยายามนำเสนอ แต่คณะกรรมการปฏิรูป การศึกษาก็ยังยืนยันรูปแบบเดิมของตน จึงทำให้มีระบบบริหารการศึกษาสองรูปแบบที่แตกต่างกัน ถามว่าจะหลอมรวมสองรูปแบบเข้าด้วยกันได้หรือไม่ นี่คือปัญหาที่รัฐบาลจะต้องตัดสินใจ คือ จะยืนยันตามรูปแบบของฝ่ายใด หรือจะมีรูปแบบที่สามขึ้นมาใหม่

ประเด็นความเห็นที่ต่างกันมีอะไรบ้าง จะยังไม่ขอกล่าวถึง ในความเห็นของผู้เขียน คิดว่าที่ยังมีปัญหาเป็นเพราะความไม่พยายามเข้าใจซึ่งกันและกัน ปัญหาทิฐิมานะของแต่ละฝ่าย ในขณะที่หลักการปฏิรูปการศึกษา คือ การให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม แต่การปฏิรูปโครงสร้างนั้น เจ้าของบ้านผู้อยู่อาศัยแทบไม่มีส่วนร่วมเลย ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การไม่ให้ความสำคัญกับฝ่ายปฏิบัติให้เข้าไปมีส่วนร่วม จึงเกิดรูปแบบ “หอคอยงาช้าง” ที่ยังรับกันไม่ได้

มีผู้วิจารณ์ว่า การปฏิรูปครั้งนี้ “ผู้ปฏิบัติไม่ได้เขียน ผู้เขียนไม่เคยปฏิบัติ” เป็นคำอธิบายสาเหตุแห่งปัญหาทั้งมวลได้ชัดเจนที่สุด

ขณะนี้มาถึงจุดที่ว่าเราจะต้องเอาเวลาที่กำหนดไว้เป็นใหญ่ หรือว่าจะให้เวลากับ การทำรูปแบบให้เหมาะสมที่สุด ที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

แหล่งที่มา

พนม พงษ์ไพบูลย์. (2553). ปัญหาการปฏิรูปการศึกษา.

ค้นเมื่อ พฤศจิกายน 23, 2553, จาก
http://www.moe.go.th/main2/article/article_panom/problem_reform.htm

 


Copyright
All copyright rights in the Dewey Decimal Classification system are owned by OCLC. Dewey, Dewey Decimal Classification, DDC and WebDewey are registered trademarks of OCLC
Revised:March 2009


Send comments to Chumpot@hotmail.com