|
370.28 รวมบทความทางการศึกษา
คิดดูให้ดีก่อนที่จะแยกงานวัฒนธรรมไปจากการศึกษา.
ดร.พนม พงษ์ไพบูลย์
ประเทศไทยเคยมีกระทรวงวัฒนธรรมควบคู่กับกระทรวงศึกษาธิการ ที่รู้จักกันดีก็คือสมัยที่ จอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี และมีท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ต่อมาภายหลังก็ถูกยุบรวมมาอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ และเป็นเช่นนั้นเรื่อยมาเป็นเวลายาวนานจนถึงปัจจุบัน
งานวัฒนธรรมนั้นจริง ๆ แล้ว หมายรวมถึงงานหลักที่สำคัญสามด้านด้วยกัน คือ ด้านศาสนา ด้านศิลป และด้านวัฒนธรรม งานสามด้านนี้มีหน่วยงานระดับกรมดูแลรับผิดชอบสามหน่วยงานด้วยกัน คือกรมการศาสนา กรมศิลปากร และสำนักงาน
คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ชื่อของทั้งสามหน่วยงานก็บ่งบอกความรับผิดชอบไว้ชัดเจนอยู่แล้ว
ด้านศาสนานั้น ส่วนใหญ่เป็นงานส่งเสริมทำนุบำรุงด้านพระพุทธศาสนาและสนองงานของกิจการคณะสงฆ์ อันได้แก่การเป็นสำนักงานเลขาธิการของมหาเถร-สมาคม การดูแลศาสนสมบัติ เป็นต้น งานที่เกี่ยวกับศาสนาอื่นที่เป็นหลักคือการรับรองศาสนาต่าง ๆ ที่คนไทยนับถือ และงานทำนุบำรุงศาสนาอื่นโดยทั่วไป กรมการศาสนารับนโยบายหลักโดยเฉพาะด้านพุทธศาสนาจากมหาเถรสมาคมโดยตรงมากกว่าจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ด้านศิลป คืองานรักษา สืบสาน สืบทอด ศิลปของไทยทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นศิลปกรรม นาฏกรรม ดุริยางคศิลป์ มัณฑนศิลป์ โบราณสถาน โบราณวัตถุต่าง ๆ และยังมีงานด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์และวรรณคดีของไทย กรมศิลปากรทำหน้าที่เป็นทั้งหน่วยกำหนดนโยบายและแผนด้านศิลป และยังเป็นหน่วยปฏิบัติการด้วย
ส่วนด้านวัฒนธรรมนั้นส่วนใหญ่เป็นการกำหนดแผนทางวัฒนธรรมส่งเสริม
สนับสนุนให้บุคคล หน่วยงานและองค์กรต่างๆ มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ สืบสาน สืบทอด
และพัฒนาวัฒนธรรมของไทย ที่ปฏิบัติเองก็มีบ้าง ส่วนใหญ่เน้นเพื่อเป็นตัวอย่าง และให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมที่เป็นวิถีชีวิตความเป็นไทย
ทั้งศาสนา ศิลป และวัฒนธรรม มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันจนยากที่จะแยกออกจากกันได้ ที่จริงทั้งหมดก็คือวัฒนธรรมในความหมายที่กว้างนั่นเอง โบราณ-สถาน โบราณวัตถุ หรือแม้แต่งานประณีตศิลปที่ล้ำค่าของไทยจำนวนมากอยู่ในวัด ในพิพิธภัณฑ์ โบราณวัตถุสำคัญส่วนใหญ่ก็เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา และวัฒนธรรม ในวิถีชีวิตส่วนใหญ่ก็เกี่ยวข้องกับวัดและศาสนสถานต่าง ๆ ศาสนา ศิลป และวัฒนธรรม จึงเกือบเรียกได้ว่าเป็นเรื่องเดียวกัน ที่แยกกันปฏิบัติก็เพื่อให้กว้างขวาง ครอบคลุม และลึกซึ้งเพียงพอ แม้จะมีหน่วยงานระดับกรมถึงสามหน่วยงาน การปฏิบัติก็มักจะซ้ำซ้อนเกี่ยวข้องกันตลอดเวลาเป็นปกติธรรมชาติ
ที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นความเด่น ความเป็นเอกลักษณ์ของงานด้านศาสนา ศิลป วัฒนธรรม หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วเกี่ยวข้องกับงานการศึกษาอย่างไร จึงมารวมอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ
การศึกษา คือกระบวนการพัฒนาคน เป็นกระบวนการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และพัฒนาตนเอง เป้าหมายปลายทางก็คือให้มีความรู้ดี มีความประพฤติดี สามารถทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อตัวเองและผู้อื่น มักกล่าวกันสั้น ๆ ว่า เพื่อให้คนมีความรู้คู่คุณ-ธรรม คุณธรรมก็คือความดีงามนั่นเอง ความดีงามก็คือวัฒนธรรมตามวิถีชีวิตที่สืบทอด
กันมาจากบรรพบุรุษและสัมพันธ์หรือเป็นอันเดียวกันกับหลักศาสนาที่คนไทยยึดถือ จึงกล่าวได้ว่า การศึกษาก็คือกระบวนการสืบทอดทางวัฒนธรรมนั่นเอง วัฒนธรรมจึงเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้
งานสำคัญของการศาสนา ศิลป และวัฒนธรรม คือการสืบสาน สืบทอด ให้คนรุ่นหลังได้มีศรัทธา เลื่อมใส ยึดถือและปฏิบัติ จนเป็นความเคยชิน เป็นวิถีชิวิตของเขา เพราะศาสนา ศิลป และวัฒนธรรมของไทยคือสัญลักษณ์ เอกลักษณ์ ความเป็นไทย ความเป็นไทยไม่ได้ปรากฏชัดเจนที่รูปร่างหน้าตาเท่านั้น แต่ยังปรากฏในภาษาพูด เขียน
กริยามารยาท วิธีปฏิบัติตนต่าง ๆ ศิลป ดนตรี การร้องรำทำเพลง ฯลฯ ถ้าเราพบเห็นคนปฏิบัติตน เราสามารถบอกได้ทันทีว่าเขาเป็นไทยหรือไม่ การสืบสาน สืบทอด ศิลป วัฒนธรรม ก็คือการรักษาความเป็นชาติไทย และการสืบสาน สืบทอดที่ดีที่สุดก็คือ การกระทำผ่านกระบวนการศึกษา
การที่บรรพบุรุษไทย รวมงานศาสนา ศิลปและวัฒนธรรมไว้ในกระทรวงศึกษาธิการ จึงเป็นความชาญฉลาดของบรรพบุรุษไทย เพื่อให้การศึกษาเป็นกระบวนการสืบทอดทางวัฒนธรรม และทำให้การสืบสานวัฒนธรรมสามารถทำผ่านกระบวนการศึกษาได้อย่างสะดวกคล่องตัว เมื่อคราวที่มีการยกร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ทุกคนก็ได้คำนึงถึงประเด็นนี้ และเพื่อให้งานวัฒนธรรมมีความเด่นชัดมากขึ้น จึงมีความคิดตั้งหน่วยงานระดับทบวงเรียกว่า สำนักงานคณะกรรมการการศาสนา ศิลป และวัฒนธรรมขึ้น บังเอิญงานตามพระราชบัญญัติส่วนใหญ่เป็นงานการศึกษา หลักการสำคัญที่คิดจึงเน้นเพื่อการศึกษา เช่น หลักการกระจายอำนาจ การให้หน่วยงานกลางเป็นหน่วยนโยบายและแผน หน่วยงานย่อยในพื้นที่เป็นหน่วยปฏิบัติ เป็นต้น ไม่มีใครได้เฉลียวใจว่างานศาสนา ศิลป และวัฒนธรรม แม้จะสัมพันธ์กัน แต่ก็แตกต่างกันในวิธีปฏิบัติ
การรักษามรดกทางศิลป วัฒนธรรมของชาตินั้น หลาย ๆ เรื่องส่วนกลางต้องปฏิบัติ ไม่สามารถกระจายอำนาจได้ เช่น การดูแลโบราณสถาน โบราณวัตถุสำคัญของชาติ งานสนองงานคณะสงฆ์ก็เป็นงานปฏิบัติเป็นส่วนใหญ่ เมื่อมีพระราชบัญญัติออกมา จึงเกิดปัญหาว่าจะปฏิบัติได้อย่างไร ยิ่งจะมีการตั้งคณะกรรมการโดยกำหนดให้มีผู้แทนกลุ่มศาสนาต่าง ๆ ขึ้นมาเป็นผู้แทน ขณะที่งานร้อยละเก้าสิบห้า เป็นงานพุทธศาสนา จึงทำให้เกิดความขัดแย้งเรื่องศาสนาขึ้น นำมาสู่การขอแยกและตั้งสำนักงานพุทธศาสนาขึ้นมาใหม่
ที่จริงปัญหาที่เกิดขึ้นแก้ไขได้ไม่ยากนัก หากยอมรับว่างานทางด้านศาสนา ศิลปและวัฒนธรรม ต้องทำทั้งในรูปแบบของการส่งเสริม สนับสนุน ในรูปของการกำหนดนโยบายและแผน แล้วยังต้องปฏิบัติด้วยเพราะเป็นงานสำคัญที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติ ก็กำหนดให้เขาปฏิบัติได้เสีย โดยไม่เอาหลักการที่ใช้กับด้านการศึกษามาบังคับใช้กับศาสนา ศิลปและวัฒนธรรมด้วย เรื่องก็คงจะยุติด้วยดี เมื่อหลักการไม่เปลี่ยนแปลง จึงเกิดความคิดแยกงานด้านศาสนา ศิลป วัฒนธรรม เป็นกระทรวงใหม่ และความคิดนี้ก็ไปไกลจนจะรั้งไม่อยู่แล้ว มีการเสนอตัดงานศาสนา ศิลป วัฒนธรรม ออกจากกระทรวงการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม จนถึงขั้นออกพระราชบัญญัติ และกำลังอยู่ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ถ้าทุกอย่างสำเร็จ ต่อไปกระทรวงการศึกษาศาสนา และวัฒนธรรม จะเหลืองานการศึกษาเพียงอย่างเดียว
ถ้าเป็นเช่นนี้ อนาคตที่มองเห็นก็คือ งานสืบสาน เผยแพร่ ศิลป วัฒนธรรมที่เคยทำผ่านกระบวนการศึกษาก็จะไม่คล่องตัวเหมือนก่อน และถ้าไม่ทำผ่านกระบวนการศึกษาหรือรูปแบบการศึกษาในสถานศึกษาแล้ว จะทำได้กว้างขวางได้อย่างไร ในเวลาเดียวกันความคิดเรื่องการศึกษาที่เป็นกระบวนการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมก็จะถูกลดความสำคัญลง ผลที่จะเกิดขึ้นก็คือสัญลักษณ์ เอกลักษณ์ วิถีชีวิต ความเป็นไทยจะจางลง บทบาทวัฒน-ธรรมต่างแดนจะเด่นขึ้น หลายคนที่ชอบความเป็นสากลอาจบอกว่าดีแล้ว ไทยจะเป็นสากลมากขึ้น ความเป็นสากลนั้นเป็นสิ่งจำเป็น แต่ต้องรักษาความเป็นไทยไว้ให้ได้ด้วย
วิธีแก้ปัญหาที่ดีในเรื่องนี้ทำได้ง่ายมาก แต่ไม่เคยมีใครคิดถึง เพื่อให้งานการศึกษาและงานศาสนา ศิลปและวัฒนธรรม ได้ส่งเสริมเกื้อกูลกันเหมือนเช่นเคย และเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ ก็เลิกการกำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรมการการศาสนา ศิลปและวัฒนธรรมเสีย แล้วให้คงหน่วยงานเดิมไว้ คือมีกรมการศาสนา กรมศิลปากร และสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เท่านี้ ข้อขัดข้องต่าง ๆ ก็จะหมดไป ปัญหาก็จะไม่เกิดขึ้น
จึงอยากจะขอให้พิจารณาทบทวนดู ให้ดีกันอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะตัดสินใจเป็นอย่างอื่น
แหล่งที่มา
พนม พงษ์ไพบูลย์. (2553). คิดดูให้ดีก่อนที่จะแยกงานวัฒนธรรมไปจากการศึกษา.
ค้นเมื่อ พฤศจิกายน 23, 2553, จาก
http://www.moe.go.th/main2/article/article_panom/think_culture.htm
|
|