|
370.28 รวมบทความทางการศึกษา
บันทึกปลัดกระทรวงศึกษาธิการ: ฉบับที่สิบเอ็ด ข้อโต้แย้งเรื่องเขตพื้นที่การศึกษา
ดร.พนม พงษ์ไพบูลย์
จากการติดตามความเคลื่อนไหวของคณะกรรมการบริหารสำนักงานปฏิรูปการศึกษา ซึ่งมีหน้าที่จัด
โครงสร้างระบบบริหารการศึกษาใหม่ ของกระทรวงศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมเพื่อเสนอต่อรัฐบาล
เรื่องหนึ่งที่คนในกระทรวงศึกษาธิการสนใจและติดตามอย่างใกล้ชิดคือเรื่อง เขตพื้นที่การศึกษา คงเป็น
ที่ทราบกันแล้วว่าตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพ.ศ. 2542 กำหนดให้มีสำนักงานการศึกษา
ศาสนา และวัฒนธรรม เขตพื้นที่การศึกษาเพื่อให้รองรับการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษา
และกำหนดให้เขตพื้นที่การศึกษากำกับ ดูแลสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา ระดับต่ำกว่าปริญญา และรวมทั้ง
การกำกับดูแลหน่วยงานด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมในเขตพื้นที่การศึกษาด้วย ไม่ใช่เฉพาะการกำกับ
ดูแลสถานศึกษาขั้นพื้นฐานเท่านั้น คณะกรรมการบริหารสำนักงานปฏิรูปการศึกษาเสนอให้แบ่งพื้นที่
ประเทศไทยเป็น 289 เขต กับพื้นที่กรุงเทพมหานครอีกหนึ่งเขต รวมเป็น 290 เขต และให้เขตพื้นที่
การศึกษาเป็นหน่วยงานขึ้นตรงกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานทำให้เกิด ข้อโต้แย้งและมี
ความเห็นที่ต่างกันอยู่ขณะนี้สองประการคือ
1. คนในกระทรวงศึกษาธิการเห็นว่าการแบ่งพื้นที่เป็น 290 เขต มากเกินไป อาจก่อให้เกิดปัญหาอื่น ๆ
ตามมาอีกหลายประการ หากต้องการแบ่งเป็น 290 เขตจริง ๆ ควรค่อย ๆ แบ่ง โดยใช้เวลา 5-10 ปี แทนที่
จะแบ่งทันทีทันใด ประเด็นนี้คณะกรรมการการปฏิรูปการศึกษายืนยันว่าการแบ่งเขตพื้นที่การศึกษาให้แบ่ง
เป็น 290 เขตทันที
2. คนในกระทรวงศึกษาธิการเห็นว่า เขตพื้นที่การศึกษาคือหน่วยงาน ของกระทรวงการศึกษา ศาสนา
และวัฒนธรรม ในระดับพื้นที่ หน่วยงานนี้กำกับดูแลงานการศึกษา ศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมทั้งหมด
ยกเว้นการศึกษาระดับปริญญา ดังนั้นหน่วยงานนี้จึงควรอยู่ในกำกับดูแลของสำนักงานปลัดกระทรวงฯ แต่
คณะกรรมการบริหารสำนักงานปฏิรูปการศึกษายืนยันให้อยู่ใต้กำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการศึกษา
ขั้นพื้นฐาน
อยากขอใช้โอกาสนี้ชี้แจงเหตุผลของคนกระทรวงศึกษาธิการที่มองเห็นต่างจากคณะกรรมการบริหาร
สำนักงานปฏิรูปการศึกษาในสองเรื่องดังกล่าว คือ
จากการศึกษาวิจัยของกระทรวงศึกษาธิการ พบว่าวิธีแบ่งเขตย่อยจำนวนมาก ทำให้เกิดเขตที่มีลักษณะ
แตกต่างกันสามประเภท ประเภทที่หนึ่ง เป็นเขตที่ตั้งของชุมชนหนาแน่น เป็นเขตเมืองใหญ่ จะมีสิ่งอำนวย
ความสะดวกด้านการศึกษาครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นชั้นอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา หรืออุดมศึกษาระดับ
ต่ำกว่าปริญญา เขตพื้นที่ที่สมบูรณ์เช่นนี้จะไม่มีปัญหา ไม่ว่าจะแบ่งโดยวิธีใด ๆ เพราะแม้แต่เรื่อง ครูอาจารย์
บุคลากรทางการศึกษาอื่น อาคารสถานที่และอุปกรณ์การเรียนการสอนก็พร้อมทั้งนั้น ต่างกับเขตพื้นที่
ประเภทที่สอง คือเขตที่มีประชากรกระจัดกระจาย มักเป็นอำเภอรอบนอก อยู่ห่างไกลขาดความพร้อมทาง
เศรษฐกิจ พื้นที่เหล่านี้จะขาดครู อาคารสถานที่โดยเฉพาะสำหรับการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
และอาชีวศึกษาจะขาดแคลนมาก ผู้อยู่ในพื้นที่เหล่านี้จะเสียเปรียบในการได้รับบริการทางการศึกษาส่วนเขต
ประเภทที่สาม คือพื้นที่ที่เจริญพอสมควรหรือเป็นจังหวัดขนาดเล็กที่ถือแบ่งเป็นหนึ่งเขต จะมีความพร้อม
ระดับปานกลางไม่มีปัญหามากนัก ข้อเป็นห่วงคือการแบ่งเขตพื้นที่จำนวนมากทันที จะทำให้มีเขตที่ขาด
ความพร้อมเป็นจำนวนมาก จะเป็นปัญหาในการดูแลจัดการศึกษาในเขตพื้นที่
การแบ่งเขตย่อยๆ ที่มีความพร้อมแตกต่างกันจะทำให้เกิดปัญหาเชิงนโยบายตามรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับ
เรื่องความเสมอภาคในโอกาสการได้รับการศึกษา ที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ เขตพื้นที่ที่พร้อม
จะได้เปรียบเขตพื้นที่ที่ยังไม่พร้อม ประชาชนจะได้รับโอกาสไม่เท่าเทียมกัน ไม่ต้องถึงเท่ากันจริง ๆ เพียง
ใกล้เคียงกันก็เป็นไปไม่ได้ อาจมีการโต้แย้งว่าก็อนุญาตให้เรียนข้ามเขตได้แต่ผู้ที่ไปเรียนข้ามเขตคงได้รับ
สิทธิไม่เท่าเทียมคนที่อยู่ในเขตพื้นที่ เพราะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาเป็นคนในเขตพื้นที่อยู่แล้วการศึกษา
ระดับอุดมศึกษา ระดับต่ำกว่าปริญญาก็มีอยู่เฉพาะในพื้นที่เจริญเป็นส่วนมาก คนพื้นที่อื่น จะไม่มีสถานศึกษา
ประเภทนี้ของตนเลย สิทธิในการได้รับโอกาสทางการศึกษาจึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงเป็นอย่างยิ่ง
เมื่อทรัพยากรทางการศึกษาของเขตเจริญมีความพร้อมมากและแตกต่างจากเขตอื่น โอกาสการจัดการ
ศึกษาให้มีคุณภาพก็จะแตกต่างกัน คนที่อยู่เขตที่มีความพร้อมจะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพดีกว่า ขณะที่คน
อยู่เขตอื่นจะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพด้อยกว่า อีกทั้งเขตพื้นที่อยู่ห่างไกลก็เสียเปรียบอยู่แล้ว เมื่อคุณภาพ
การศึกษาแตกต่างกันมาก ก็ย่อมเป็นการยากที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของคนให้มีความใกล้เคียงกันความ
เสมอภาคในการได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพก็จะไม่เกิด
ประสิทธิภาพในการจัดการศึกษาจะเกิดปัญหาเช่นกัน เพราะเขตที่พร้อมจะมีทรัพยากรที่สมบูรณ์
เหลือเฟือ ในขณะที่เขตขาดแคลนจะขาดแคลนแทบทุกอย่าง จริงอยู่ทรัพยากรอาจเกลี่ยกันได้ แต่จะไม่ใช่
เรื่องง่ายนัก การเกลี่ยทรัพยากรบุคคลทำได้ แต่ต้องใช้เวลา การเกลี่ยอาคารสถานที่เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
เลย การแบ่งเขตพื้นที่เช่นนี้ หากจะทำให้ใกล้เคียงกันรัฐจะต้องลงทุนเพิ่มเติมอีกเป็นอันมากจะเป็นไปได้
หรือไม่
ปัญหาการลงทุนของรัฐก็เป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่ง การแบ่งเขตพื้นที่ 290 เขต รัฐจะต้องลงทุน
สร้างสำนักงานใหม่อีกไม่น้อยกว่า 200 แห่ง หากคิดว่าแห่งหนึ่งจะใช้เงินประมาณ 20 ล้านบาท (เป็น
ประมาณการขั้นต่ำ) จะต้องใช้เงินไม่น้อยกว่า 4,000 ล้านบาท เพียงเพื่อสร้างสำนักงานเท่านั้น เหตุใด
ไม่คิดเอาเงินจำนวนนี้ไปสร้างคุณภาพการศึกษาโดยตรง ซึ่งจะได้ประโยชน์มากกว่า อยากเห็นว่า 290
เขตนั้นกำหนดให้เป็นเป้าหมายในอนาคต แล้วค่อย ๆ ทะยอยแบ่งออกไปตามสภาพความพร้อมทางการ
ศึกษาและทางเศรษฐกิจของประเทศ ทุกฝ่ายก็จะไม่เดือดร้อน
กระทรวงใหม่จะมีหน่วยงานหลัก ห้าหน่วยงานคือ สภาการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรมแห่งชาติ
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สำนักงานคณะ
กรรมการศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม และสำนักงานปลัดกระทรวง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเป็นแหล่ง
รองรับการกระจายอำนาจของกระทรวง มีหน้าที่กำกับดูแลงานและหน่วยงานของกระทรวงทุกระดับ และ
ทุกประเภท งานการศึกษาไม่ว่าระดับพื้นฐานหรืออุดมศึกษาหรืองานศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม ย่อมมี
ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน และเขตพื้นที่การศึกษาดูแลแทนกระทรวงทั้งสามงานหลักนอกจากนั้นยังมี
งานการศึกษาและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่อีกมากมายที่เขตพื้นที่ต้องเป็นผู้แทนของกระทรวง
ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลใด ๆ ที่ว่าเขตพื้นที่การศึกษาไม่ควรอยู่ในกำกับดูแลของสำนักงานปลัดกระทรวง
คือปลัดกระทรวง ซึ่งเป็นศูนย์รวมของงานการศึกษา ศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมทั้งหมด การให้เขตพื้นที่
การศึกษาขึ้นกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ก็จะแปลได้ว่าเขตพื้นที่การศึกษารองรับการ
กระจายอำนาจจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเท่านั้น หากจะให้กำกับดูแลงานอุดมศึกษา
ระดับต่ำกว่าปริญญา และงานศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม ก็เป็นเพียงงานฝากเท่านั้นเอง ความสำคัญของ
อุดมศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญา เช่น อาชีวศึกษา และงานศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมจะมีน้อยลงหรือหาย
ไป หากกระทรวงการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ไม่ให้ความสำคัญกับงาน ศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม
แล้ว เอกลักษณ์ความเป็นชาติ และการอุปถัมภ์ค้ำชูพระศาสนา จะขาดหายไปแล้วใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ
มีการกล่าวกันเสมอว่าเหตุที่เขตพื้นที่การศึกษาอยู่ภายใต้การกำกับของสำนักงานคณะกรรมการ
การศึกษาขั้นพื้นฐาน เพราะหน่วยงานนี้มีองค์คณะบุคคลกำกับดูแล และเหตุที่ไม่ให้ขึ้นกับสำนักงานปลัด
กระทรวง เพราะสำนักงานปลัดกระทรวงไม่มีองค์คณะบุคคลหรือกรรมการกำกับดูแล การแก้ปัญหานี้
ทำได้ง่ายมาก เช่น ทบวงมหาวิทยาลัยในปัจจุบันก็มีคณะกรรมการทบวงมหาวิทยาลัย ดังนั้นกระทรวงฯ
อาจตั้งกรรมการกำกับดูแล ประสานเขตพื้นที่การศึกษาเป็นการเฉพาะขึ้นในสำนักงานปลัดกระทรวง ก็ไม่น่า
จะมีผลเสียแต่ประการใด จะเป็นผลดีเสียอีกที่เขตพื้นที่การศึกษาจะได้เป็นตัวแทนของกระทรวงฯ ในพื้นที่
อย่างแท้จริง
อยากจะขอให้ฝ่ายต่างๆ ทบทวนความคิดเรื่องเขตพื้นที่การศึกษาในสองประเด็นที่กล่าวมานี้อย่าง
รอบคอบ ปราศจากอัตตาคติ คิดถึงประโยชน์ประชาชนเป็นสำคัญ คิดถึงการศึกษา ศาสนา ศิลปะ และ
วัฒนธรรมของชาติโดยส่วนรวม และโปรดอย่าเห็นว่าผู้ทักท้วงในเรื่องนี้หวงอำนาจ เป็นห่วงประโยชน์
ส่วนตน โปรดเข้าใจให้ตรงกันว่า การศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน และทุกคนต้องช่วยกันพัฒนาการศึกษา
ของชาติ
แหล่งที่มา
พนม พงษ์ไพบูลย์. (2553). บันทึกปลัดกระทรวงศึกษาธิการ: ฉบับที่สิบเอ็ด
ข้อโต้แย้งเรื่องเขตพื้นที่การศึกษา.
ค้นเมื่อ พฤศจิกายน 23, 2553, จาก
http://www.moe.go.th/web-panom/article-panom/book-panom11.htm
|
|