|
370.28 รวมบทความทางการศึกษา
บันทึกปลัดกระทรวงศึกษาธิการ: ฉบับที่เก้า เขตพื้นที่การศึกษา
ดร.พนม พงษ์ไพบูลย์
กระทรวงการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ที่จะเกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ
พ.ศ.2542 จะแตกต่างไปจากกระทรวงศึกษาธิการในรูปแบบปัจจุบันค่อนข้างมาก เพราะกระทรวงฯ
หรือส่วนกลางจะจำกัดบทบาทหน้าที่เพียง "กำกับดูแลการศึกษาทุกระดับและทุกประเภท การศึกษา
ศิลปะและวัฒนธรรม กำหนดนโยบาย แผน และมาตรฐานการศึกษา สนับสนุนทรัพยากรเพื่อการศึกษา
ศิลปะและวัฒนธรรม รวมทั้งการติดตามตรวจสอบและประเมินผลการจัดการศึกษา ศาสนา ศิลปะและ
วัฒนธรรม" ส่วนการดำเนินการจัดการศึกษาจะเป็นการกระจายอำนาจ และมีการกำหนดให้ "มีการ
กระจายอำนาจไปสู่เขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น"
กฎหมายกำหนดคำใหม่ ทีไม่เคยใช้กันมาก่อน คือคำว่า "เขตพื้นที่การศึกษา" เขตพื้นที่การ
ศึกษาจะเป็นจุดรองรับการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาจากส่วนกลางก่อนไปถึงสถานศึกษา เป็นความ
เปลี่ยนแปลงใหม่จากรูปแบบเดิมที่เคยเป็นกระทรวงฯ เป็นจังหวัด เป็นอำเภอ และจึงเป็นสถานศึกษา
มาเป็นรูปแบบที่มีกระทรวง เขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษา เป็นการลดขั้นตอนการทำงานไปได้
ส่วนหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มมากขึ้น และจะทำให้การศึกษาสนองตอบ
ต่อความต้องการของชุมชนมากขึ้น
เขตพื้นที่การศึกษาที่เกิดใหม่นี้จะมี "อำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และ
สถานศึกษาระดับอุดมศึกษา ระดับต่ำกว่าปริญญา รวมทั้งการพิจารณา การจัดตั้ง ยุบรวม หรือเลิก
สถานศึกษา ประสาน ส่งเสริมและสนับสนุนสถานศึกษาเอกชนในเขตพื้นที่การศึกษา ประสาน และ
ส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้สามารถจัดการศึกษาสอดคล้องกับนโยบายและมาตรฐานการ
ศึกษา ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาของบุคคล ครอบครัว องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน
องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่นที่จัดการศึกษาในรูปแบบที่
หลากหลาย รวมทั้งการกำกับดูแลหน่วยงานด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมในเขตพื้นที่การศึกษา"
สรุปได้ว่าเขตพื้นที่การศึกษาทำหน้าที่ กำกับดูแล และหน้าที่อื่น ๆ ทางการศึกษาแทบทุกอย่างในเขต
พื้นที่ สำหรับการศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาตรีทั้งหมด และกำกับดูแลหน่วยงานด้านศาสนา ศิลปะ
และวัฒนธรรมด้วย เขตพื้นที่การศึกษา จึงมีความสำคัญเป็นผู้แทนกระทรวงในแต่ละพื้นที่ ในด้าน
การศึกษา ศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม ยกเว้นเรื่องการศึกษาระดับอุดมศึกษาเท่านั้น ดูแล้วน่าจะ
เรียกว่า "เขตพื้นที่การศึกษา ศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม" มากกว่าเรียก "เขตพื้นที่การศึกษา"
เฉย ๆ
ความคิดเรื่องเขตพื้นที่การศึกษา ( ซึ่งทำหน้าที่รวมถึงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมด้วย )
เป็นความคิดที่ทุกฝ่ายยอมรับว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับระบบบริหารการศึกษาของไทย แปลว่า
ต่อไปนี้การศึกษาไทยจะไม่มีระบบบริหารราชการส่วนภูมิภาค เป็นระบบกระจายอำนาจ ไม่ผ่าน
ระบบจังหวัด และอำเภอ จากกระทรวงไปยังเขตพื้นที่และสถานศึกษา รูปแบบเขตพื้นที่การศึกษา
จะเป็นเช่นไร เชื่อว่าขณะนี้คณะกรรมการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งตั้งตามพระราชบัญญัติการศึกษา
แห่งชาติ กำลังศึกษาและพิจารณาอยู่ ตามข่าวคราวก็คิดว่าทำงานได้ก้าวหน้าพอสมควร จากคำแถลง
ในโอกาสต่าง ๆ จับความได้ว่า กรรมการได้พิจารณาปริมาณสถานศึกษา จำนวนประชากรเป็นหลัก
และความเหมาะสมด้านอื่นด้วย คณะกรรมการยึดเกณฑ์ประชากรประมาณ 200,000 คนต่อ
เขตพื้นที่ ประเทศไทยมีประชากรประมาณ 60 ล้านคน ก็คงแบ่งได้ใกล้เคียง 300 เขตพื้นที่
ตัวเลขที่มักปรากฏเป็นข่าวลือ 289 เขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ก็แปลว่าจังหวัดต่าง ๆ คง
จะซอยย่อยเอา 2, 3, หรือ 4 อำเภอ มารวมกันเป็นหนึ่งเขตพื้นที่การศึกษา ขึ้นอยู่กับว่าพื้นที่ใดมี
ประชากรหนาแน่นมากหรือน้อย พื้นที่หนาแน่นเขตพื้นที่คงจะแคบ พื้นที่ที่คนอยู่น้อยเขตพื้นที่
ก็จะคลุมกว้าง นักวิชาการหลายคนได้ไปศึกษาวิจัย และคิดคำนวณการแบ่งเขตพื้นที่การศึกษากัน
อย่างสนุกสนาน ข้อมูลนี้แพร่สะพัดไปจนหลายคนหวังจะได้เป็นผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา
เขตใดเขตหนึ่งจาก 289 เขต และหวังว่าผู้อำนวยการคงจะได้เป็นข้าราชการระดับ 9 ซึ่งสูง
ไม่น้อยเลย
ภาพที่ออกมาเรื่องเขตพื้นที่การศึกษาดูดีและสมบูรณ์ทุกอย่าง เป็นภาพในอุดมการณ์ที่ทุกคน
ใฝ่ฝันอยากจะเห็นเกิดขึ้นในระบบบริหารการศึกษาไทยเป็นความใหม่ ซึ่งที่จริงก็คงคล้ายระบบที่
ฝรั่งเรียกว่า School District นั่นเอง เป็นระบบเก่าข้างนอกแต่ใหม่สำหรับไทย ผู้เขียนก็สนับสนุน
ความคิดนี้มาตั้งแต่ต้นว่า น่าจะเป็นระบบที่เหมาะสมที่สุด จนมาระยะหลังนี้ได้มีผู้ทักท้วงกับปัญหา
ที่อาจจะเกิดตามมาหลายประการ จึงได้หวลฉุกคิด ก็มองเห็นประเด็นปัญหาเหล่านั้นพอสมควร
ข้อทักท้วงที่เห็นว่าสำคัญคือ
1. การจัดการศึกษาในรูปแบบปัจจุบันยึดจังหวัดเป็นหลัก จังหวัดเป็นศูนย์กลางของบริการ
ทางการศึกษา โดยเฉพาะการศึกษาที่สูงกว่าประถมศึกษา มักเริ่มที่จุดที่เป็นที่ตั้งจังหวัด หรือ
อำเภอเมืองก่อนเป็นส่วนใหญ่ แล้วจึงค่อยขยายบริการออกไประดับอำเภอ และตำบลทีหลัง
เช่น มัธยมศึกษาเป็นตัวอย่าง แต่บริการทางการศึกษาบางอย่างต้องลงทุนสูงยังไม่สามารถ
ขยายออกสู่ระดับอำเภอ ตำบลได้ เช่น อาชีวศึกษา เป็นต้น การศึกษาประเภทนี้จึงรวมอยู่
ในเมืองเป็นส่วนใหญ่ หากแบ่งเขตพื้นที่การศึกษาไม่คำนึงถึงประชากร จะมีพื้นที่เป็นจำนวน
มากที่มีบริการทางการศึกษาไม่ครบถ้วน และที่มีอยู่ก็จะมีคุณภาพและความพร้อมที่แตกต่าง
กันมาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับในจุดที่เป็นอำเภอเมือง การแบ่งเขตพื้นที่เช่นนี้ จะทำให้เกิด
ความไม่เท่าเทียมกันในการได้รับโอกาสทางการศึกษา
2. เขตพื้นที่การศึกษามิได้มีหน้าที่ดูแลงานด้านการศึกษาเท่านั้น ยังมีหน้าที่ส่งเสริมและ
ดูแลงานด้านการศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรมด้วย การแบ่งเขตพื้นที่การศึกษาดูจะให้ความ
สำคัญกับหน้าที่ด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรมน้อยไป ควรให้ความสำคัญมากขึ้น งาน
ส่งเสริมด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรมเป็นงานที่กว้าง และมักจะอิงกับระบบบริหาร
ราชการส่วนภูมิภาค การแบ่งเขตพื้นที่การศึกษา โดยไม่คำนึงถึงโครงสร้างของการบริหาร
ของจังหวัด จะทำให้งานส่งเสริมด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรมดูอ่อนไป
3. การมีเขตพื้นที่การศึกษาถึงเกือบ 300 เขต คงจะต้องลงทุนอีกเป็นจำนวนมาก
โดยเฉพาะเพื่อสร้างสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อให้สามารถรองรับข้าราชการประมาณ
50 - 60 คน ทำงานได้ จริงอยู่ อาจมีการดัดแปลงหน่วยงานการศึกษาระดับอำเภอ มาเป็น
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้ แต่ก็คงได้ไม่มากนัก เพราะหน่วยงานการศึกษาระดับอำเภอ
ที่มีอยู่เป็นหน่วยงานขนาดเล็ก ไม่เพียงพอกับงานที่กว้างขวางครอบคลุมหน้าที่เกือบทุกอย่าง
ของกระทรวงได้ ปัญหาก็จะมีว่า รัฐจะมีความสามารถมาลงทุนการจัดตั้งสำนักงานเขตพื้นที่
การศึกษาได้มากน้อยเพียงใด แม้ว่ามีพอก็จะเป็นปัญหาว่าสมควรนำไปใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพ
การศึกษาโดยตรง หรือว่าควรจะนำมาใช้ทำสำนักงานดี
4. ผู้สนับสนุนการแบ่งเขตพื้นที่การศึกษามาก ๆ มักจะอธิบายว่าเขตพื้นที่การศึกษากับ
เขตบริการทางการศึกษาไม่จำเป็นต้องเป็นเขตเดียวกัน เขตบริการทางการศึกษาอาจกว้างกว่า
เขตพื้นที่การศึกษาได้ เช่น อาชีวศึกษาอาจมีเขตบริการการศึกษาครอบคลุมทั้งจังหวัด แต่
วิทยาลัยอาชีวศึกษา ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ใด ก็ขึ้นอยู่กับระบบบริหารของเขตพื้นที่การศึกษานั้น ก็ดู
จะเป็นที่เข้าใจได้ แต่จริง ๆ แล้ว แต่ละเขตพื้นที่การศึกษาจะมีคณะกรรมการ ซึ่งจะมาจาก
ผู้แทนประชาชน และผู้แทนองค์กรต่าง ๆ ในพื้นที่ตั้งเป็นส่วนใหญ่ ผู้อยู่นอกเขตพื้นที่การศึกษา
จะหวังว่าจะได้รับบริการการศึกษาเท่าเทียมกับคนที่อยู่ในเขตพื้นที่การศึกษาคงเป็นไปได้ยาก
จากปัญหาต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว จึงเห็นได้ว่ามีความจำเป็นต้องคิดทบทวนการแบ่งเขต
พื้นที่การศึกษาเสียใหม่ให้รอบคอบยิ่งขึ้น โดยเฉพาะปัญหาสี่ประการหลักที่ยกมาให้เห็น ถ้า
หากว่าแก้ได้ก็คงจะไม่มีปัญหาแต่ประการใด เพราะหลักการมีเขตพื้นที่การศึกษานั้นทุกคน
เห็นสอดคล้องกันอยู่แล้ว
หลายคนเสนอความเห็นว่าควรให้จังหวัดเป็นเขตพื้นที่การศึกษา ปัญหาที่กล่าวมาจะไม่
เกิด คือแทนที่จะมี 289 เขต ก็แบ่งเป็น 76 เขตพื้นที่การศึกษา ให้หนึ่งจังหวัดมีหนึ่งเขตพื้นที่
การศึกษา ก็ดูจะมีเหตุผลน่าฟังพอสมควร แต่จะมีข้อโต้แย้งว่าบางจังหวัดกว้างขวางใหญ่โต มี
ประชากรมากเกินไป ถ้ากำหนดให้มีเขตพื้นที่การศึกษาเดียวจะบริหารงานได้ไม่มีประสิทธิภาพ
ดังนั้นจึงควรให้จังหวัดใหญ่ ๆ มีมากกว่าหนึ่งเขตพื้นที่การศึกษาได้ ส่วนจังหวัดขนาดกลาง
และขนาดเล็กก็ให้มีเขตพื้นที่การศึกษาเพียงเขตเดียวก็พอ
ที่จริงทุกฝ่ายที่กล่าวมาก็มีเหตุผลสมควรรับฟังทั้งสิ้น ที่สำคัญจะจัดระบบอย่างไรจึงจะเกิด
ประโยชน์ต่อประเทศชาติมากที่สุด เกิดปัญหายุ่งยากน้อยที่สุด และอยู่ในวิสัยที่จะทำได้ใน
สภาพเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน จึงอยากเสนอรูปแบบวิธีจัดแบ่งเขตพื้นที่ใหม่ เพื่อให้
เกิดประโยชน์สูงสุด โดย
ในเบื้องต้น แบ่งเขตพื้นที่การศึกษาโดยยึดจังหวัดเป็นเกณฑ์ไปก่อน ยกเว้นจังหวัดขนาด
ใหญ่ที่สามารถแบ่งเขตย่อยได้ โดยไม่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในบริการทางการศึกษามากนัก
ก็ให้แบ่งได้มากกว่าหนึ่งเขตต่อไปก็พยายามเร่งสร้างความพร้อมและขยายบริการทางการศึกษา
ศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม ให้กว้างขวางไปสู่พื้นที่เป้าหมายที่สมควรแบ่งเป็นเขตได้ เมื่อ
พื้นที่ใหม่พร้อมพอสมควรก็ทะยอยแบ่งเขตใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นั่นคือแทนที่จะแบ่งพื้นที่ออกเป็น
289 เขตพื้นที่การศึกษา ระยะแรกเลย ก็ตั้งเป้าหมายการแบ่งเขตที่สมบูรณ์ในระยะ 10 - 15 ปี
ข้างหน้าแทน
ก็อยากจะเสนอให้ทุกฝ่ายได้ช่วยพิจารณาในข้อเสนอนี้ อาจเป็นทางออกที่ดีก็ได้ ใครจะรู้
แหล่งที่มา
พนม พงษ์ไพบูลย์. (2553). บันทึกปลัดกระทรวงศึกษาธิการ: ฉบับที่เก้า เขตพื้นที่การศึกษา.
ค้นเมื่อ พฤศจิกายน 23, 2553, จาก
http://www.moe.go.th/web-panom/article-panom/book-panom09.htm
|
|