|
370.28 รวมบทความทางการศึกษา
บันทึกปลัดกระทรวงศึกษาธิการ: ฉบับที่หก อรุณรุ่งกับสิ่งแวดล้อม
ดร.พนม พงษ์ไพบูลย์
เมื่อตอนเด็ก ๆ ผมมีชีวิตอยู่ในชนบท เป็นชีวิตที่เรียบง่ายท่ามกลางธรรมชาติ
ชาวบ้านเก็บผักหาปลาตามริมรั้ว ตามหนองน้ำ ไม่มีใครอดอยาก ในป่ามีอึ่งอ่าง มีแย้
มีกระต่ายป่าให้จับกินเป็นอาหารอย่างอุดมสมบูรณ์ จำได้ว่าครั้งหนึ่งมีชาวบ้านถูกเสือกัด
สามสิบปีผ่านไปสิ่งที่กล่าวมาไม่เหลือให้เห็นอีกแล้ว สภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ
เปลี่ยนแปลงไปคล้ายสังคมเมือง ที่ดินที่เป็นป่าถูกเปลี่ยนเป็นนาไร่ สัตว์ป่าทั้งหลาย
สูญสิ้นไปพร้อมกับป่าธรรมชาติ เมื่อไม่กี่วันมานี้ได้ผ่านไปทางบางพลี สมุทรปราการ
คนดั้งเดิมที่อยู่แถบนั้นเล่าว่า เมื่อสามสิบปีที่แล้ว บางพลี ยังมีเสืออยู่ ลำคลองอุดม
สมบูรณ์ด้วยกุ้งปลา น้ำคลองใสสะอาด ใช้อาบใช้บริโภคได้ ทุกวันนี้บางพลีกลายเป็นเขต
อุตสาหกรรม อย่าว่าแต่เสือเลย สัตว์เล็ก ๆ ก็ไม่มีให้เห็น มีแต่ผู้คน น้ำในคลองเป็นสีดำ
อากาศก็ไม่สดชื่นเหมือนเมื่อก่อน
ธรรมชาติเป็นของคู่กับมนุษย์ หากมนุษย์ใช้สิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติอย่างไม่ระมัด
ระวัง ใช้ให้สิ้นเปลืองหมดไปโดยไม่รู้จักสงวนรักษาไว้ มนุษย์ก็ยากที่จะอยู่ได้ ถ้าใครที่อยู่
ในเมือง เช่นกรุงเทพมหานคร ที่เรียกว่าเป็นศูนย์กลางความเจริญของประเทศ เมื่อขึ้นไป
อยู่ในที่สูงจะรู้สึกว่ากรุงเทพฯ เป็นแดนที่ไม่น่าอยู่เอาเสียเลย เพราะเต็มไปด้วยหมอกควัน
แผ่กระจายไปทั่ว หมอกควันเหล่านี้มาจากท่อไอเสียรถยนต์ ปล่องโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ
บนพื้นดินตามซอกซอยหลายแห่งมีขยะ ที่บางครั้งก็ส่งกลิ่นเน่าเหม็น ลำคลองที่เคยเป็น
ส่วนหนึ่งของชีวิตกลายเป็นที่ระบายน้ำโสโครก
ปัญหาต่าง ๆ เกิดขึ้นเพราะสังคมเปลี่ยนแปลงรับเอาวิถีชีวิตแบบใหม่ สังคมใหม่
ขึ้น ผู้คนแย่งกันกินแย่งกันอยู่มากขึ้น ผู้คนแข่งกันพัฒนาตัวเอง แต่ผลักของเสียออกสู่ภายนอก
ทำลายสภาพแวดล้อมทั้งในน้ำ บนดิน และในอากาศแล้ว สิ่งนั้นก็ย้อนกลับมาเป็นพิษภัยกับผู้คน
ที่อยู่อาศัยนั้นเอง จึงเป็นความจำเป็นที่มนุษย์ทุกคนจะต้องตระหนัก รักษาดูแลสภาพแวดล้อม
ของตน เพื่อให้ตนได้อยู่อาศัยอย่างมีความสุขไม่เกิดสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ ต้องถือว่าการดูแล
สิ่งแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของทุกคน
การศึกษาเป็นกระบวนการสำคัญที่จะช่วยให้คนได้มีความรู้ความสามารถที่จะปรับ
ตัวเอง เพื่อให้เขาดำรงชีวิตอยู่ได้ในสังคมอย่างมีความสุข และมีส่วนร่วมในการปรับปรุงพัฒนา
สังคมให้เป็นสังคมที่น่าอยู่อาศัย การศึกษาในยุคใหม่จึงไม่ใช่เป็นเพียงการเรียนหนังสือ แต่ต้อง
เรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วย การเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมและการเรียนรู้เพื่อมีส่วนร่วมในการ
รักษาสิ่งแวดล้อม จึงเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของกระบวนการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาใน
ระบบ นอกระบบหรือการศึกษาตามอัธยาศัยก็ตาม
เหตุที่สังคมเกิดสิ่งแวดล้อมเป็นพิษมากขึ้น และนับวันปัญหาจะทวีความรุนแรง
มากขึ้น ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่ใดที่หนึ่ง แต่เมื่อเกิดแล้วก็ส่งผลกระทบไปยังสังคม
อื่น รวมถึงประเทศชาติ และประชาคมโลกด้วย เช่น การปล่อยสารที่มีส่วนผสมคลอรีนออกสู่
อากาศ ทำให้ชั้นของโอโซนถูกทำลาย ชั้นโอโซนช่วยป้องกันแสงอุลตราไวโอเล็ต เมื่อถูก
ทำลายไปส่งผลให้คนมีโอกาสเป็นมะเร็งมากขึ้น อย่างนี้ เป็นต้น หรือโลหะหนัก กากจาก
โรงงานอุตสาหกรรม เมื่อละลายน้ำไปสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ก็จะทำให้คนและสัตว์ที่บริโภคน้ำ
มีสารโลหะหนักเข้าสู่ร่างกาย และจะเป็นผลให้พิการและเสียชีวิตในที่สุด จึงเป็นความจำเป็น
เร่งด่วนที่ระบบการศึกษาจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วม เพื่อลดมลพิษของสิ่งแวดล้อม เพื่อไม่ให้
สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ และเพื่อให้สิ่งแวดล้อมน่าอยู่อาศัยตลอดไป
การแก้ปัญหา การป้องกัน และการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดี ทุกคนและทุกส่วนของ
สังคมจะต้องมีส่วนร่วม คือร่วมมือช่วยกัน หากมีฝ่ายหนึ่งคอยทำลาย โดยจะรู้เท่าหรือไม่รู้
เท่าทันก็ตาม และมีอีกฝ่ายคอยแก้ไข การแก้ปัญหาและการรักษาสิ่งแวดล้อมคงทำได้ไม่
สำเร็จ การที่จะให้ทุกฝ่ายทุกคนในสังคมมีส่วนร่วมได้ ความเข้าใจและความตระหนักใน
ความสำคัญของสิ่งแวดล้อม จะต้องเกิดขึ้นในจิตใจของทุกคนก่อน ทุกคนต้องรู้สึกเป็น
เจ้าของ ต้องหวงแหน ต้องรักษาและต้องคอยช่วยกันดูแลแก้ไข และถือว่าเป็นหน้าที่ของ
ทุกคนร่วมกัน
การให้การศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อมจึงจำเป็นต้องเป็นกระบวนการศึกษาที่ไม่ใช้
ให้กับเด็กในโรงเรียนเท่านั้น แต่จำเป็นต้องให้ทุกคนได้เข้ามามีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็น
พ่อแม่ ผู้ปกครอง ประชาชน ผู้นำสังคม เจ้าของสถานประกอบการต่าง ๆ ธุรกิจ ห้างร้าน
และทำให้กระบวนการเรียนรู้ เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตในสังคมนั้นๆ สถานศึกษาในระบบ
เป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญ เพราะเป็นแหล่งให้การเรียนรู้กับเด็กและเยาวชนเป็นจำนวนมาก
เป็นโอกาสอันดีที่จะต้องช่วยกันปลูกฝังจิตสำนึก และความตระหนักในความสำคัญของ
สิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นแต่เยาว์วัย เมื่อเติบโตจะได้เป็นผู้ใหญ่ที่มีส่วนร่วมในการป้องกัน
รักษาสิ่งแวดล้อม ที่จริงเรื่องการศึกษาสิ่งแวดล้อมก็มิใช่เรื่องใหม่แต่ประการใด มีการเรียน
การสอนตามหลักสูตรอยู่ในทุกระดับชั้น แต่มีความจำเป็นต้องจัดรูปแบบการเรียนรู้ใหม่
เพื่อให้เกิดการเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง การเรียนรู้อย่างแท้จริงก็ไม่จำเป็น
ต้องเป็นวิชาใหม่ในหลักสูตร แต่เป็นการปรับหลักสูตร โดยเฉพาะรูปแบบวิธีการเรียนรู้
ให้เหมาะสมเท่านั้นเอง รูปแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมอยู่บนหลักการง่าย ๆ ที่ทุกคน
เข้าใจดีอยู่แล้ว แต่ไม่ค่อยได้นำมาปฏิบัติ คือหลักการเรื่องให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยการ
กระทำจริงและหลักการเรียนรู้ ที่จะต้องประสมประสานในเรื่องต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เรียนรู้
เรื่องสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการเรียนรู้เรื่องอื่น ๆ ที่เรียกว่าเรียนรู้แบบบูรณาการนั่นเอง
กระทรวงศึกษาธิการ โดยความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงาน
แห่งชาติ และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยมีโครงการเพื่อรณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อมอยู่
โครงการหนึ่งชื่อ โครงการรุ่งอรุณ เป็นชื่อที่เพราะและมีความหมายไม่น้อยทีเดียว
หลักการของโครงการรุ่งอรุณก็เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ไม่ได้ให้เรียนรู้
เป็นวิชาสิ่งแวดล้อมเป็นการให้ทุกคนได้เรียนรู้ร่วมกันทั้งโรงเรียน คือนักเรียน ครู
ผู้บริหาร รวมทั้งคนในชุมชน ให้เรียนรู้โดยเป็นการลงมือปฏิบัติจริง เพื่อแก้ปัญหา
และพัฒนาสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนและในชุมชนให้ดีขึ้น
การเรียนรู้เริ่มต้นจากการที่โรงเรียนร่วมกับชุมชนมาช่วยกันวิเคราะห์ว่ามี
ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมในเรื่องใดบ้าง ปัญหาเหล่านั้นเกิดขึ้นจากสาเหตุใดและจะมีวิธี
การแก้ปัญหา ตลอดจนพัฒนาให้ดีขึ้นได้อย่างไร ฝ่ายใดผู้ใดจะต้องมีส่วนช่วยกันรับ
ผิดชอบ แก้ปัญหาในเรื่องใดอย่างไร ถือเป็นโครงการศึกษาร่วมกัน วางแผนร่วมกัน
เมื่อเข้าใจปัญหาและวางแผนได้ดีพอสมควรแล้วก็ถึงเวลาที่ทุกคนจะต้องลงมือช่วยกัน
ปฏิบัติ ในกระบวนการศึกษาปัญหาและวางแผนอาจจำเป็นต้องแสวงหาความรู้ด้านอื่นๆ
เอามาประกอบเพื่อให้เข้าใจปัญหา สาเหตุของปัญหา และวิธีแก้ปัญหาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ทุกฝ่ายก็ต้องช่วยกันแสวงหาความรู้เอามาแลกเปลี่ยนกัน เช่น อาจต้องศึกษาเรื่อง
ประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหา ทำให้ทุกคน
ได้เรียนรู้ในเรื่องต่างๆ อีกมากมาย ในกระบวนการเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม
และทุกคนต้องช่วยกันบูรณาการความรู้หลายๆ ด้าน เพื่อให้เข้าใจถึงเงื่อนไขปัจจัยต่างๆ
ได้อย่างชัดเจน
วิธีการเช่นนี้ ทั้งผู้บริหาร ครู ประชาชน ก็ได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ไปพร้อม ๆ
กับนักเรียนด้วยอย่างไม่รู้ตัว เรียกได้ว่าเป็นการเรียนรู้ร่วมกันทั้งสังคม การลงมือแก้
ปัญหา ทุกคนก็จะเข้ามามีส่วนร่วม และคอยติดตามว่าแก้ปัญหาได้ถูกต้องเหมาะสม
หรือไม่ แก้ได้หรือไม่ หรือจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการอย่างไร เป็นการช่วยกันคิด ช่วยกัน
ทำ ทำอย่างสนุก และทำอย่างมีความรู้สึกว่าตนเองเป็นเจ้าของ การเรียนรู้ที่ให้ทุกคน
มีส่วนร่วมเรียนรู้ด้วยวิธีกระทำจริง และเรียนรู้แบบบูรณาการ จะทำให้เกิดการเรียนรู้
อย่างแท้จริง ไม่ใช่เฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่รวมถึงเรื่องการอยู่ร่วมกัน การทำงาน
ร่วมกัน การรู้จักหน้าที่ความรับผิดชอบ การรู้จักเสียสละ อดทน รู้จักเป็นผู้ให้ และเป็น
กระบวนการเรียนรู้ประชาธิปไตยไปในตัว การเรียนรู้วิธีนี้จะช่วยสร้างความตระหนัก
ความสำนึก การเห็นความสำคัญ และความจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในสังคมด้วยเช่นกัน
ผลที่ได้รับก็ไม่ใช่เพียงการเรียนรู้ แต่จะทำให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่ดีของโรงเรียนและ
สังคม
หากสังคมทุกสังคมเอาแบบอย่างวิธีการนี้ไปใช้ เพื่อให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม
ในการแก้ปัญหาและพัฒนาสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เฉพาะในสถานศึกษา แต่ในสังคมโดย
ส่วนรวม ก็จะช่วยให้สังคมได้เรียนรู้อย่างกว้างขวาง สังคมมีสิ่งแวดล้อมที่ดีชีวิตของ
ทุกคนในสังคมก็มีความสุข ผู้คนก็จะมีสุขภาพพลานามัยที่ดี และมีชีวิตที่มีคุณภาพ
เราไม่สามารถกลับไปมีชีวิตแบบเก่าได้ แต่เราสามารถช่วยกันให้มีชีวิตที่ดีได้ด้วยการ
ดูแลและสร้างสรรใหม่ คงไม่ไกลเกินฝันที่จะเห็นอรุณรุ่งวันใหม่ท่ามกลางสภาพแวดล้อม
ที่สดชื่นรื่นรมย์อีกครั้ง
แหล่งที่มา
พนม พงษ์ไพบูลย์. (2553). บันทึกปลัดกระทรวงศึกษาธิการ: ฉบับที่หก อรุณรุ่งกับสิ่งแวดล้อม.
ค้นเมื่อ พฤศจิกายน 23, 2553, จาก
http://www.moe.go.th/web-panom/article-panom/book-panom06.htm
|
|