ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์
โครงการห้องสมุดโรงเรียนในฝัน

***ร่วมสร้างองค์ความรู้ สู่การศึกษาตลอดชีวิต วิทยพัฒนาเด็กไทยในท้องถิ่น***


000 หมวดเบ็ดเตล็ด
(Generalities)

100 หมวดปรัชญา
(Philosophy)

200 หมวดศาสนา
(Religion)

300 หมวดสังคมศาสตร์
(Social Sciences)

400 หมวดภาษาศาสตร์
(Language)

500 หมวดวิทยาศาสตร์
(Pure Sciences)

600 หมวดเทคโนโลยี
(Technology)

700 หมวดศิลปะ
(The Arts)

800 หมวดวรรณคดี
(Literature)

900 หมวดประวัติศาสตร์
(Geography & History)


Home

   

370.28 รวมบทความทางการศึกษา

บันทึกปลัดกระทรวงศึกษาธิการ: ฉบับที่ห้า ท้องกับสมอง
ดร.พนม พงษ์ไพบูลย์

ขอชี้แจงให้ทราบแต่เบื้องต้นว่า ที่ตั้งชื่อบันทึกฉบับนี้ว่า “ท้องกับสมอง” นั้นมิได้ มีเจตนาจะโอ้อวดภูมิความรู้เชิงกายวิภาควิทยาแต่ประการใด แต่เป็นเพราะเคยได้ฟัง ศาสตราจารย์นายแพทย์อารีย์ วัลยะเสวี ท่านพูดถึงเรื่องนี้ไว้อย่างน่าฟังก็เลยอดที่จะเอา มาขยายต่อไปไม่ได้ ในที่นี้จะขอเอาเฉพาะสาระมาเล่าเพื่อจะได้ให้ผู้อ่านได้ช่วยกันคิด สานต่อต่อไป

ท้องก็คือส่วนของร่างกาย ทำหน้าที่สำคัญคือรับอาหาร ย่อยอาหาร เพื่อนำอาหาร ไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย สุขภาพร่างกายคนเราจะดีหรือไม่ดีอาหารมีส่วนสำคัญยิ่ง ถ้าท้องไม่สามารถทำหน้าที่รับอาหารย่อยอาหารได้ดี ร่างกายก็ขาดสารอาหารไปหล่อเลี้ยง ก็จะเจริญเติบโตไม่เต็มที่ และอาจพาลให้เจ็บไข้ได้ป่วย ขาดภูมิคุ้มกันโรคต่าง ๆ ได้ง่าย ถ้าท้องดีแต่อาหารไม่ดี ร่างกายก็จะขาดอาหารที่ต้องการไปหล่อเลี้ยงได้เช่นกัน หรือแม้ อาหารจะดีแต่ถ้าอาหารไม่เพียงพอก็จะมีผลต่อความเจริญเติบโตได้อีกเหมือนกัน ท้องที่ กล่าวถึงในที่นี้หมายถึงอาหารที่จำเป็นต่อความเจริญเติบโตของร่างกายซึ่งรวมถึงสมองด้วย

สมอง เป็นศูนย์รวมของระบบประสาทที่ควบคุมร่างกาย ความคิด ความรู้สึกต่าง ๆ ถ้าสมองดี คือสมองมีการพัฒนาอย่างเต็มที่ ระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ก็จะดีรวมทั้งการรับรู้ การรับข้อมูลข่าวสาร การแปลข้อมูลข่าวสาร การนำข้อมูลข่าวสารมาถ่ายโยงสำพันธ์กัน นำไปสู่การแปลความ สรุปความต่าง ๆ ก็จะทำได้รวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ กระบวนการคิด การตัดสินใจต่าง ๆ ก็จะดี รวมความว่าสมองดีก็จะทำให้การเรียนรู้ต่าง ๆ เกิดขึ้นได้ดี ตามไปด้วย

ท้องสัมพันธ์กับสมองก็ตรงนี้ คือถ้าสมองขาดสารอาหารได้รับอาหารไม่เพียงพอ หรือได้รับอาหารที่ไม่มีคุณค่า สมองก็พัฒนาช้าหรืออาจไม่สมบูรณ์ก็ได้ คนที่สมองพัฒนาช้า หรือไม่สมบูรณ์เต็มที่ก็จะทำให้การเรียนรู้ไม่เกิดได้สมบูรณ์เต็มที่ตามศักยภาพที่ควรจะเป็น อาหารจึงมีความสำคัญต่อการพัฒนาสมองคือการพัฒนาด้านปัญญา ความคิด จิตใจ เป็น อย่างยิ่ง

ทางการแพทย์ยืนยันว่าสมองพัฒนาอย่างรวดเร็วในวัยเด็ก โดยเฉพาะเด็กวัย แรกเกิด และวัยเด็กเล็ก และวัยเด็ก ถ้าเด็กวัยนี้ขาดสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสมอง จะทำให้การพัฒนาของสมองชะงักงัน และอาจเป็นผลเสียไปตลอดชีวิต แพทย์จึงเป็นห่วง ต่อการพัฒนาทางร่างกายของเด็กในวัยนี้มาก

วงการศึกษาก็เริ่มตื่นตัวเป็นห่วงต่อการพัฒนาทางร่างกาย และทางสมองของเด็ก เช่นเดียวกัน เพราะได้มีการศึกษาค้นคว้าติดตามระดับการพัฒนาทางปัญญากับความเจริญ เติบโต และพบว่ามีความสัมพันธ์กันเป็นอย่างยิ่ง มิใช่เกี่ยวแต่มีปัญหากับการพัฒนาสมอง เท่านั้น แม้แต่การขาดอาหารเป็นครั้งคราวโดยเฉพาะในระหว่างเรียนก็มีผลต่อการเรียนรู้ ต่อเด็ก เด็กที่ท้องหิวรับประทานอาหารไม่เต็มที่ หรือไม่ได้รับประทานอาหารเช้าหรือกลางวัน จะง่วงเหงาเซื่องซึม ขาดความสนใจความตั้งใจที่จะเรียน

แต่ก่อนเราเคยมีความเชื่อกันว่าประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว มีพืชผักที่จะเก็บเกี่ยวเป็นอาหารไม่มีวันหมดสิ้น บางคนถึงกับกล่าวว่าไม่มีคนไทย ตายเพราะอดอาหาร เรามีอาหารมากมายจนเหลือขายไปต่างประเทศ ประเทศไทยได้ชื่อว่า เป็นแหล่งผลิตอาหารของโลก ส่งข้าวออกเป็นอันดับต้น ๆ ในโลก มีชื่อเสียงส่งสินค้า เช่น ไก่ อาหารทะเล ผัก ผลไม้ ไปขายต่างประเทศ ประเทศไทยจึงไม่ควรมีปัญหาเรื่องขาด อาหาร โดยเฉพาะกับเด็ก

ความจริงที่พบตรงข้ามกับความอุดมสมบูรณ์ที่คนเชื่อถือ เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่ร่างกายเจริญเติบโตไม่สมกับวัยและเป็นโรคขาดสารอาหารมีถึง1.3 ล้านคน (ข้อมูลปี 2540) คิดเป็นร้อยละ 24.5 ของประชากรวัยเรียน (5.3 ล้านคน) เด็กเหล่านี้มักพบใน ครอบครัวที่มีฐานะยากจน ขาดความรู้ อยู่ห่างไกลและมีปัญหาในเกือบทุก ๆ ด้าน ที่เรียกว่า “จน เจ็บ และ โง่” ถือตนจนร่างกายไม่เจริญเติบโต และสติปัญญาไม่ดี จึงไม่เป็นการแปลก ที่พบว่าเด็กที่มาจากครอบครัวยากจน มีผลการเรียนไม่ดี (และสุขภาพก็ไม่ดีด้วย)

ความจริงแล้วคนจน ไม่ใช่ตัวบ่งชี้สุขภาพและปัญญาโดยตรง ถ้าจนแต่มีอาหาร การกินที่เพียงพอต่อร่างกาย อาหารนั้นมีความสะอาด มีคุณภาพ มีสารอาหารที่ร่างกาย ต้องการ ไม่จำเป็นต้องเป็นอาหารแพง เขาก็จะไม่จน เจ็บ โง่ มีคนจน จำนวนไม่น้อยที่ไม่ เข้าลักษณะดังที่กล่าวมา ถ้าเขารู้จักวิธีเลี้ยงดูบุตรหลานที่ดี เราจึงได้มีช้างเผือกจากป่ามา ช่วยพัฒนาประเทศชาติ เป็นจำนวนมากมายดังที่เห็น ๆ กันอยู่

ความเชื่อทางวิชาการที่สำคัญคือ ความสามารถทางสมองของคนไม่มีความสัมพันธ์ กับเชื้อชาติ ศาสนา ผิวพรรณ ถิ่นที่อยู่อาศัย หรือฐานะทางเศรษฐกิจสังคม แต่ละคนอาจ แตกต่างกันตามธรรมชาติ แต่สิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการอบรมเลี้ยงดูจะมีผลต่อความสามารถ ทางสมองได้ ถ้าอยากให้เด็กไทยวันนี้เป็นอนาคตที่ดีของชาติในวันหน้า เราจำเป็นต้องให้ความ สนใจต่อการเลี้ยงดูโดยเฉพาะเรื่องอาหารให้มาก เพื่อไม่ให้มีปัญหาอุปสรรคต่อความเจริญ เติบโตของสมอง

ภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจทำให้คนจนมีมากขึ้น ปัญหาความเติบโตของเด็กก็จะมี มากขึ้นตามมาด้วย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องช่วยกัน ทั้งแก้ปัญหา ป้องกัน และส่งเสริม พัฒนาการของเด็กให้มากขึ้น เพื่อให้เด็กไทยมีสุขภาพสมบูรณ์มีสมองปราชญ์เปรื่อง สามารถแข่งขันกับประเทศต่าง ๆ ในโลกได้อย่างมั่นใจ ทั้งหมดนี้คือที่มาของความคิดที่ อยากจะเห็นเด็กไทย โดยเฉพาะวัยเด็กเล็กและวัยเรียนได้รับประทานอาหารทุกคน อิ่ม ทุกวัน โดยเฉพาะมื้อกลางวันที่มาเรียน กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการโครงการอาหาร กลางวันต่อเนื่องมานานแล้ว รัฐบาลก็ให้ความสำคัญจัดให้มีกองทุนอาหารกลางวัน จัดสรร ให้เป็นกองทุนปีละ 500 ล้านบาท มีเงินอุดหนุนอาหารกลางวันปีหนึ่งเป็นเงินถึงประมาณ 2,000 - 2,500 ล้านบาท มีดอกผลของกองทุน ปีละประมาณ 600 บาท (ปี 2543 ได้ 470 ล้านบาท) แต่ยังไม่สามารถช่วยให้เด็กทุกคนได้รับประทานอาหารกลางวันอิ่มทุกวันได้ จัดได้เพียงประมาณร้อยละ 30 เท่านั้น จำเป็นต้องมีวิธีการพิเศษเพื่อช่วยให้เด็กอิ่มท้อง ทุกวันโดยเฉพาะเด็กที่ยากจน ถ้าเราใช้เงินที่มีอยู่มาซื้ออาหารให้ เด็กรับประทาน คงไม่ เพียงพอให้กับเด็กทุกคนได้ ถ้าจะเพิ่มงบประมาณขึ้นอีกก็คงเป็นการยาก จึงจำเป็นต้องหา วิธีการเพื่อให้เด็กได้รับประทานอาหารทุกคนทุกวัน

จริง ๆ แล้วการให้เด็กได้รับประทานโดยจัดอาหารให้เด็กก็คงได้รับประทาน แต่จะไม่ได้เรียนรู้อะไรมากนัก การให้เด็กได้อิ่มท้องจึงควรบูรณาการกับการเรียนรู้ของ เด็กด้วย เด็กจำเป็นต้องเรียนรู้ถึงการได้มาซึ่งอาหาร การปรุงอาหาร การถนอมอาหาร สำหรับไว้รับประทานวันหน้า การรับประทานอาหาร ประโยชน์ของอาหาร นอกจากนี้เด็ก จำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องการอยู่ร่วมกัน การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การรู้จักหน้าที่ ความ รับผิดชอบ ความเสียสละ ความอดทน ฯลฯ ถ้าจัดกระบวนการให้ดี เรื่องอาหารก็จะเป็น กระบวนการเรียนรู้ที่ดี ที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตของเด็กด้วย และยังมีผลพลอยได้คือ เด็กได้ รับประทานอาหารอิ่มท้อง และทำให้สมองดี

ถ้าเราเชื่อเรื่องการศึกษาเป็นหน้าที่ของทุกคน และทุกคนต้องช่วยกันเพื่อการ ศึกษา การให้เด็กได้รับประทานอาหารก็ควรเป็นงานที่ทุกคนต้องช่วยกันรวมทั้งตัวเด็กเอง ผู้ปกครอง ประชาชน องค์กรต่าง ๆ ในสังคม และหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย ผมได้เคยเดินทาง ไปดูกิจการอาหารกลางวันของโรงเรียน โดยเฉพาะที่จังหวัดเลยและจังหวัดลำปาง ได้เห็น ว่าโครงการที่ทำสำเร็จได้ดี ล้วนเป็นโครงการที่ทุกฝ่ายในสังคม ได้มาร่วมมือกับโรงเรียน ในการช่วยให้ได้มาซึ่งอาหารสำหรับเด็กทุกคนทั้งสิ้น ทั้ง ๆ ที่มีเงินอยู่จำกัดเหมือนโรงเรียน อื่นๆ โดยทั่วไป ความสำเร็จเหล่านี้น่าจะเป็นตัวอย่างสำหรับที่อื่นจะได้เรียนรู้เพื่อเป็น ประโยชน์ด้วย

ตัวอย่างที่เห็นคือ โรงเรียนมักมีแปลงพืชผัก มีไม้ยืนต้นที่กินใบกินยอดกินดอก หรือกินผลได้ บางแห่งมีการทำนา มีบ่อปลา มีโรงเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ ทั้งไก่เนื้อ และไก่ไข่ มีโรงเพาะเห็ด มีบ่อเลี้ยงกบ และมีอื่นๆ อีกหลายอย่างตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ สิ่งเหล่านี้ ประชาชน โรงเรียน และองค์กรต่างมาช่วยกัน เช่น ช่วยขุดบ่อ ช่วยหาพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ มีคนรู้เรื่องการเกษตรมาช่วยแนะนำวิธีปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ วิธีบำรุงพันธุ์ ป้องกัน และรักษา วิธีถนอมอาหาร วิธีปรุงให้เป็นอาหาร มีครู นักเรียน ผู้ปกครอง ช่วยกันดูแล ช่วยกันปรุงอาหาร บางโรงเรียนเหลือกินเหลือใช้ แบ่งให้ผู้ปกครอง หรือนำไปขายทำรายได้ เข้ากองทุนอาหารกลางวันได้ด้วย การทำเช่นนี้เด็กก็จะได้เรียนรู้ทุกอย่างด้วยการทำเอง จากของจริงได้ใช้ประโยชน์จริง และได้รับประทานอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกายและสมอง

พบว่าโรงเรียนที่มีโครงการอาหารกลางวันที่ดี ให้เด็กได้อิ่มทุกวันโดยทุกคน ในโรงเรียนและในสังคมมีส่วนร่วม เด็กจะมีความร่าเริง มีความสุข มีร่างกายที่เจริญเติบโต สมวัย และมีผลการเรียนรู้ที่ดี เด็กรักโรงเรียน ผู้ปกครองรักโรงเรียน โรงเรียนกับชุมชนมี ความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด และผู้ปกครองก็ได้เรียนรู้เหมือนที่เด็กได้เรียนรู้ เขียนบันทึก นี้ไว้เพราะอยากให้โรงเรียนได้เข้าใจ เห็นความสำคัญและได้ร่วมมือกันกับชุมชน เพื่อให้ เด็กทุกคนได้อิ่มท้องทุกวัน ให้สมองมีอาหารที่สมบูรณ์เพียงพอ เพื่อเด็กไทยจะได้ฉลาด ไม่ให้ใครเขาปรามาสและไม่มีคำว่า จน เจ็บ โง่ อีกต่อไป

แหล่งที่มา

พนม พงษ์ไพบูลย์. (2553). บันทึกปลัดกระทรวงศึกษาธิการ: ฉบับที่ห้า ท้องกับสมอง.

ค้นเมื่อ พฤศจิกายน 23, 2553, จาก
http://www.moe.go.th/web-panom/article-panom/book-panom05.htm

 


Copyright
All copyright rights in the Dewey Decimal Classification system are owned by OCLC. Dewey, Dewey Decimal Classification, DDC and WebDewey are registered trademarks of OCLC
Revised:March 2009


Send comments to Chumpot@hotmail.com