|
370.28 รวมบทความทางการศึกษา
บันทึกปลัดกระทรวงศึกษาธิการ: ฉบับที่สอง ครูอาชีพ
ดร.พนม พงษ์ไพบูลย์
เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่จะมีคนมาหามาขอพบปลัดกระทรวงอยู่เป็นประจำ เรื่องที่
มาพบมีอยู่มากมายหลายอย่าง เป็นต้นว่ามาขอให้ช่วยย้ายญาติ มิตร ลูก หลาน จากท้องถิ่น
ที่อยู่ห่างไกลให้มาอยู่ที่สะดวกสบายหน่อย ร้อยละเก้าสิบ อ้างเหตุว่าสุขภาพไม่ดี พ่อแม่แก่ชรา
ห่างไกลครอบครัว ถ้าเป็นฤดูรับนักเรียนก็เป็นเรื่องขอให้ฝากเข้าเรียนในโรงเรียนดังๆ ถ้าเป็น
ข้าราชการบางคนก็มาขอให้ช่วยเลื่อนขั้น แเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้น แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่มา
ระบายความรู้สึกอัดอั้นตันใจเรื่องการศึกษาของชาติ เช่นเรื่องหลักสูตรว่าทำไมไม่สอนเรื่องโน้น
เรื่องนี้ให้มาก ๆ ทำไมไม่เข้มงวดเรื่องระเบียบวินัย ทำไมไม่สอนให้เหมือน ๆ กันทั้งประเทศ
ครูสอนไม่ด ี ผู้บริหารไม่รับผิดชอบ บางคนก็มาขอให้ไปสร้างโรงเรียนใหม่ อาคารใหม่ใน
ท้องถิ่นของตน
มีเรื่องหนึ่งที่สะดุดใจเพราะเห็นว่ามีหลายคนพูดถึงแม้ในการประชุมสัมมนาหลายๆ
ครั้ง คนก็เป็นห่วง อยากให้มีการปรับปรุงแก้ไขโดยด่วนคือ เรื่องของครู ปัญหาของครูมีตั้งแต่
ปัญหาส่วนตัวของครู คือครูมีหนี้สินมาก ปัญหาเรื่องความประพฤติ เพราะมีข่าวเรื่องครูกระทำ
อนาจารศิษย์ ครูไปเกี่ยวข้องกับยาเสพย์ติด ครูขาดความรู้ความสามารถที่จะจัดการเรียน
การสอนให้ได้ผลดีตามความคาดหวังของหลักสูตร ครูสอนไม่เป็น วัดผลไม่เป็น และครูไม่
พัฒนาตัวเองให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของโลก นอกจากนี้ยังมีปัญหาขาดครูในบาง
สาขาวิชา ครูเกินในบางสาขาวิชา ครูล้นในบางพื้นที่ และขาดครูในบางพื้นที่หลายคนสรุปให้ฟัง
ว่าถ้าครูของเรายังมีปัญหา แล้วเราจะคาดหวังคุณภาพการศึกษาของชาติได้อย่างไร
ปัญหาของครูที่สำคัญที่สุด คงจะเป็นเรื่องของจัดการเรียนการสอนของครูหรือถ้าจะ
ใช้ภาษาให้ทันสมัยขึ้น ก็คือเรื่องการส่งเสริมการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน เพราะเรื่องนี้
มีผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพการศึกษา ส่วนปัญหาเรื่องอื่นเป็นปัญหาส่วนตัว ก็ไม่ใช่ไม่มี
ผลกระทบ แต่มีผลกระทบโดยอ้อมเป็นเรื่องที่น่า 2 ประหลาดที่คนวิพากษ์วิจารณ์ว่าครูสอน
ไม่เป็นครูขาดความรู้ความสามารถ ถ่ายทอดความรู้ไม่เป็น ทั้งๆ ที่ครูมีอยู่ในระบบปัจจุบัน
กว่าร้อยละแปดสิบจบการศึกษาระดับปริญญาตรี และส่วนใหญ่จบจากสถาบันฝึกหัดครู
ซึ่งเป็นของรัฐ รัฐเป็นผู้ควบคุมดูแลหรือว่าครูที่สถาบันเหล่านี้ผลิตออกมายังไม่ได้คุณภาพ
มาตรฐานดีพอ หรือเป็นเพราะครูเหล่านี้มีมาตรฐานดีแล้ว แต่ขาดการพัฒนาตนเองจนทำให้
ล้าสมัย ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างดีและมีคุณภาพ
ที่จริงในระบบปัจจุบันปีหนึ่ง ๆ มีผู้จบทางครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์จำนวนมาก
ถึงประมาณ 40,000 คน ในขณะที่ครูใหม่ที่รับเข้าไปปีหนึ่งเพียงประมาณ 3,000 - 4,000
คน คิดเป็นเพียงร้อยละ 10 ของผู้จบการศึกษาเท่านั้นเอง การคัดสรรคนจำนวนน้อยจากคน
กลุ่มใหญ่ ๆ เช่นนี้ น่าจะได้หัวกะทิชั้นดีมาเป็นครู และไม่ควรจะมีปัญหาใด ๆ แต่คำอธิบาย
จากหลาย ๆ คนก็คือ แม้ว่าจะเป็นการเลือกคนจำนวนน้อยจากกลุ่มคนจำนวนมากก็ตาม
ในปัจจุบันคนที่มาเรียนครูมักเป็นผู้ไม่รู้จะไปเรียนอะไรดีหรือเข้าเรียนอย่างอื่นไม่ได้ต่างจาก
สมัยก่อนที่คนเรียนครูจำนวนมากเป็นคนเก่ง เห็นว่าอาชีพครูเป็นอาชีพที่มีเกียรติ จึงมา
เรียนครู จึงได้คนเก่งมาเป็นครู
ในฐานะที่ผมเองเคยเป็นนายกสภาประจำสถาบันราชภัฏแห่งหนึ่ง เป็นกรรมการ
สภาสถาบันราชภัฏ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตครูใหม่ก็ได้เห็นข้อมูลพอสมควรว่าในปัจจุบันยังมีคน
เก่งไม่น้อยเลยที่มาเรียนครู โดยเฉพาะคนที่มาจากชนบทมีฐานะไม่ค่อยดีนัก เพราะการ
เรียนที่สถาบันราชภัฏมีค่าใช้จ่ายน้อย อยู่ใกล้บ้านเหมาะสำหรับคนเบี้ยน้อยหอยน้อยส่งลูก
หลานไปเข้าเรียน
แล้วอะไรคือสาเหตุใหญ่ ที่ครูมีปัญหาในเรื่องคุณภาพการจัดการเรียนการสอน
ของครู
ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งสรุปให้ผมฟังว่าต้นตอของปัญหาทั้งหลายไม่ใช่อยู่ที่ความรู้ความ
สามารถ ไม่ใช่อยู่ที่ฐานะทางเศรษฐกิจหรือฐานะทางสังคม แต่อยู่ที่จิตวิญญาณของความ
เป็นครู ครูสมัยก่อนเป็นครูทั้งชีวิต คือนอกจากทำหน้าที่ให้การ 3 ศึกษาอบรมแก่ลูกศิษย์แล้ว
ยังมีความเอื้ออาทรห่วงใย รักใคร่ผูกพัน ปรารถนาอยากให้ลูกศิษย์เติบโตก้าวหน้าเป็นคนดี
มีความสุข มีความสำเร็จ ครูสมัยก่อนมีเงินเดือนไม่มาก แต่ทำหน้าที่ด้วยความรัก จึงทุ่มเท
ชีวิตจิตใจให้กับศิษย์ แต่ครูสมัยนี้ขาดความรู้สึกผูกพันเช่นนี้ ทั้งที่มีเงินเดือนสูงกว่าเมื่อ
ก่อนมาก
ผมเคยเขียนเรื่องที่เคยสนทนากับ พล.อ.เปรม ไว้ครั้งหนึ่งในเรื่องความสุขในชีวิต
อยากขออนุญาตเอ่ยอ้างชื่อท่านไว้อีกสักครั้งหนึ่ง ในครั้งนั้น ฯพณฯ พล.อ.เปรม ถามผมว่า
ปลัดรู้ไหม อาชีพครูกับครูอาชีพเหมือนกัน หรือต่างกันอย่างไร ในงานนิทรรศการ
มหกรรมการศึกษาปี 2000 มีซุ้มแสดงเรื่อง ครูมืออาชีพ ท่านทักว่าไม่น่าจะถูกต้อง
ผมถามว่าถ้าอย่างนั้น เรียกว่า ครูวิชาชีพ จะได้หรือไม่ ท่านก็ตอบว่าไม่ใช่ คือไม่ใช่
ทั้ง ครูมืออาชีพ และ ครูวิชาชีพ ที่ถูกควรเป็น ครูอาชีพ
ท่านอธิบายต่อไปว่า ครูอาชีพ คือ ครูที่มีความพร้อมในทุก ๆ ด้านที่จะเป็น
ครู คือ มีความรู้ ความสามารถ มีทักษะในการให้การศึกษาอบรมศิษย์ในทุกๆ ด้าน มีความ
ประพฤติดี วางตัวดี เอาใจใส่ดูแลศิษย์ดี มีวิญญาณของความเป็นครูและปฏิบัติหน้าที่ครูด้วย
จิตวิญญาณของความเป็นครู ส่วนอาชีพครูคือคนที่มายึดอาชีพครู เพื่อให้ได้ค่าตอบแทน
มาดำรงชีพ ขาดจิตวิญญาณของความเป็นครู จึงปฏิบัติหน้าที่ครูเพราะมีหน้าที่ที่จะต้องทำ
ไม่ใช่เพราะมีใจรักที่จะทำประเทศไทยต้องการ ครูอาชีพ ไม่ใช่ อาชีพครู ขณะนี้
เรามีคนที่มีอาชีพครูมาก แต่มี ครูอาชีพ น้อย เราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร ท่านหันมา
ถามผมอีกครั้งหนึ่ง
ครับคำพูดของ พล.อ.เปรม ทำให้ผมต้องคิดหนัก ภาพลักษณ์ของครูที่ถูกมองว่า
เป็นอาชีพครู ไม่ใช่ครูอาชีพ ย่อมเป็นปัญหาใหญ่ทางการศึกษาอย่างแน่นอนและเป็นความ
จริงที่หลาย ๆ คนมองเห็นอยู่ และอยากเห็นว่ามีการปฏิรูป ผมเห็นว่าจิตวิญญาณของความ
เป็นครูน่าจะมีความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด เพราะจะ 4 เป็นตัวกำหนดให้คนรู้จักหน้าที่ ความ
รับผิดชอบ ทุ่มเทเสียสละ เพื่อคุณภาพการศึกษาของศิษย์ คนที่มีจิตวิญญาณความเป็นครู
คงไม่ประพฤติตนออกนอกลู่นอกทางจนเป็นที่ครหานินทาของผู้อื่น เพราะการทำเช่นนั้น
จะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้แก่ศิษย์ คนที่มีจิตวิญญาณความเป็นครูคงต้องรู้จักพัฒนาตน
แสวงหาความรู้ใส่ตน เพื่อว่าตนจะได้ถ่ายทอดความรู้ ความคิดและมีเทคนิคในการ
ส่งเสริมสนับสนุนให้ศิษย์ได้เรียนรู้อย่างกว้างขวางและหลากหลาย คนที่มีจิตวิญญาณความ
เป็นครูย่อมรักใคร่ห่วงใย และมีความปรารถนาดีต่อศิษย์ กล่าวได้ว่าต้นตอของการได้ครูดี
ครูที่พึงประสงค์ ครูอาชีพ จึงน่าจะอยู่ที่จิตวิญญาณนี้ จากนั้นก็ต้องพัฒนาครูให้มีความ
พร้อมในด้านอื่น ๆ ควบคู่กันไปด้วย
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 กำหนดให้มีมาตรฐานวิชาชีพ
ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และมีมาตรฐานและจรรยาบรรณของวิชาชีพ ซึ่งถ้าเป็นไป
ตามนี้ก็จะช่วยให้เกิด ครูอาชีพ ขึ้นได้ไม่น้อยทีเดียว แต่สิ่งที่หลายคนยังเป็นห่วงคือ
เกรงว่ามาตรฐานวิชาชีพจะให้ความสำคัญกับคุณวุฒิทางการศึกษา มากกว่ามาตรฐาน
จิตวิญญาณความเป็นครู ซึ่งเป็นเรื่องที่กำหนดยาก และวัดยาก แต่ก็เป็นเรื่องที่จำเป็น
ผมชอบใจความคิดเรื่อง ครูอาชีพ ของ ฯพณฯ ท่านพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
จึงขอจดบันทึกเรื่องนี้ไว้ เพื่อผู้มีหน้าที่รับผิดชอบจะได้นำไปพิจารณาหาทางให้บังเกิด
เป็นผลสำเร็จต่อไปในวันข้างหน้า
แหล่งที่มา
พนม พงษ์ไพบูลย์. (2553). บันทึกปลัดกระทรวงศึกษาธิการ: ฉบับที่สอง ครูอาชีพ.
ค้นเมื่อ พฤศจิกายน 23, 2553, จาก
http://www.moe.go.th/web-panom/article-panom/book-panom02.htm
|
|