ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์
โครงการห้องสมุดโรงเรียนในฝัน

***ร่วมสร้างองค์ความรู้ สู่การศึกษาตลอดชีวิต วิทยพัฒนาเด็กไทยในท้องถิ่น***


000 หมวดเบ็ดเตล็ด
(Generalities)

100 หมวดปรัชญา
(Philosophy)

200 หมวดศาสนา
(Religion)

300 หมวดสังคมศาสตร์
(Social Sciences)

400 หมวดภาษาศาสตร์
(Language)

500 หมวดวิทยาศาสตร์
(Pure Sciences)

600 หมวดเทคโนโลยี
(Technology)

700 หมวดศิลปะ
(The Arts)

800 หมวดวรรณคดี
(Literature)

900 หมวดประวัติศาสตร์
(Geography & History)


Home

   

370.28 รวมบทความทางการศึกษา

บันทึกปลัดกระทรวงศึกษาธิการ: ฉบับที่หนึ่ง ความสุขของชีวิต
ดร.พนม พงษ์ไพบูลย์

พบหน้าคนรู้จักคุ้นเคย มักได้รับคำถามซ้ำๆ กันอยู่เสมอว่าเป็นอย่างไรบ้าง? เหนื่อยไหม? ได้พักผ่อนบ้างไหม? ดูแลตัวเองบ้างนะ อย่าทำงานหนักเกินไป มีคนรบกวน บ่อยไหม? ฯลฯ ล้วนเป็นคำถามที่แสดงความห่วงใย ต้องขอบคุณทุกคนที่เป็นห่วง คำถาม เหล่านี้ช่วยเตือนสติให้ต้องคิดว่าตัวเรามีอะไรเป็นอย่างที่คนเขาถามไถ่หรือเปล่า สรุปได้ว่า คนจำนวนไม่น้อยเห็นว่าการทำงานใหญ่อย่างเช่นเป็นปลัดกระทรวงฯ เป็นงานที่เหน็ดเหนื่อย ยากลำบากหาเวลาพักผ่อนให้ตัวเองไม่ได้ ไม่มีความสุข แล้วทำไมคนเขาอยากเป็นกันละ ผมถามตัวเอง

ชีวิตของมนุษย์เราต้องการอะไรกันบ้าง ผู้หลักผู้ใหญ่เคยให้พรว่าขอให้ร่ำรวยเป็น เศรษฐี มหาเศรษฐี ขอให้ถูกลอตเตอรี่รางวัลที่หนึ่ง ขอให้ได้เงินเดือนขึ้นปีละ 2 ขั้น 3 ขั้น ขอให้มีตำแหน่งใหญ่โต เหล่านี้เป็นพรที่ได้รับกันเป็นประจำถ้าพรทั้งหลายที่ให้กันมีความ ศักดิ์สิทธิ์ ป่านนี้คงมีคนร่ำคนรวยเป็นใหญ่เป็นโตเต็มบ้านเต็มเมือง ตรงกันข้ามเวลาลำบาก ขัดสนเงินทองกลับยิ่งได้พรให้ร่ำรวยมากขึ้น เวลาไม่ได้เลื่อนยศเลื่อนตำแหน่งก็แสวงหาพร ให้ได้มากยิ่งขึ้น คนที่อยากได้แต่ไม่ได้ดูเดือดร้อนมากยิ่งขึ้น ความร่ำรวย ความได้ลาภยศ เป็นความสุขในชีวิตที่คนแสวงหาหรือ?

เมื่อเด็กเคยดูลิเกงานวัดบ่อย พระเอกมักมีชีวิตเบื้องต้นที่ข้นแค้นยากไร้ กลอนลิเกที่ได้ฟังเสมอคือ "ประตูวังเขาก็เปิดทำไมไม่ไปเกิดในวัง" แปลว่าทำไม ไม่เลือกเกิดในที่ดีๆ จะได้ไม่ลำบาก

จริง ๆ แล้วความร่ำรวยไม่ใช่การนำมาซึ่งความสุขอย่างที่หลายคนคิดเพราะมี คนรวย หลายคนที่ไม่มีความสุขเลย ผมเคยสนทนากับผู้ใหญ่คนหนึ่งที่มีฐานะดี มีตำแหน่ง ทางสังคมและการเมืองสูง มีคนนับหน้าถือตา เรียกว่าชีวิตนี้น่าจะมีพร้อมทุกอย่างเงินทอง ยศ สรรเสริญ แต่ท่านก็กล่าวกับผมด้วยตนเองว่า "ผมเป็นคนล้มเหลวในชีวิต ทุกวันนี้ ผม ไม่มีความสุข ภรรยาอยู่กับผมไม่ได้ ลูกเกเรไม่เรียนหนังสือ ธุรกิจผม ล้มเหลว กลางคืนผมนอนไม่หลับ" แล้วถามผมว่านอนหลับดีไหม ผมตอบว่าผมนอนหลับ สนิทไม่ได้ฝันมานานแล้ว ท่านบอกว่าน่าอิจฉาจัง

มองย้อนหลังชีวิตตัวเอง ความสุขอยู่ที่ไหน ผมก็ไม่รู้ตัวเองเหมือนกัน ครั้งหนึ่ง เคยมีความสุขที่รู้ตัวว่าเป็นนักเรียนทุนรัฐบาล มีคนบอกว่าเป็นหนึ่งในล้าน เป็นคนแรกของ ตำบลแต่ผมก็กลุ้มใจต่อไปว่าจะรักษาสิ่งที่ได้มาไว้ได้หรือไม่ ถ้าเรียนไม่สำเร็จจะอับอาย ขายหน้าขนาดไหน ยิ่งตอนเรียนจริงๆ ยิ่งกลุ้มใจหนัก เพราะกลัวความผิดหวัง ทั้งตัวเอง และของคนทั้งหลาย

เมื่อทำงานก็มีความมุ่งมั่นในหลักวิชาการ คราใดที่พิสูจน์ให้คนเห็นได้ในเชิง ปฏิบัติว่าหลักวิชาการนั้นถูกต้อง ผมรู้สึกเย็นวาบ รู้ถึงความพอใจ ดีใจ และน่าจะเรียกว่า สุขใจได้ไม่น้อยที่เดียว และยิ่งได้ทำงานตรงกับความเชื่อมั่นเป็นส่วนตัวและทำได้สำเร็จ ดูยิ่งให้ความสุขใจมากยิ่งขึ้นหลายครั้ง ผมจึงกล้าหาญพูดกับใครต่อใครว่าความสุข ความ พอใจ อยู่ที่ความสำเร็จในการงานที่ทำ ไม่ใช่การที่ได้ยศได้ตำแหน่งอะไรหรอก แต่คน ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยเชื่อ

เดือนมีนาคม 2543 ที่ผ่านมาตรงกับวันที่ 9 ผมจำได้ดี กระทรวงศึกษาธิการ จัดงานใหญ่ชื่อมหกรรมการศึกษา ที่เมืองทองธานี งานนี้ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ ฯพณฯ พล.อ.เปรม เดินชมนิทรรศการต่างๆผมเดินตามไม่ใคร่ทัน เพราะคนแน่นมาก กับต้องมีภาระคอยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเป็นระยะๆ แล้วก็มีคนมาตามให้ผมไปดู นิทรรศการร่วมกับคณะของพล.อ.เปรม สุดท้ายเมื่อได้ชมงานจนทั่ว พล.อ.เปรม ได้หยุด พักรับประทานของว่างตามที่มีผู้จัดให้ ผมโชคดีได้ร่วมโต๊ะด้วย

ฯพณฯ พล.อ.เปรม ได้ฝากข้อคิดทางการศึกษาให้ผมหลายเรื่องล้วนเป็น ประโยชน์ทั้งสิ้น แต่ไม่ขอเล่าในที่นี้ ตอนหนึ่งมีคนถามท่านว่าท่านทำอย่างไรจึงดูแข็งแรง มีสง่าราศี อิ่มเอิบ และมีความสุข คำตอบทำให้ทุกคนเงียบงัน พล.อ.เปรม เล่าว่ารู้ไหม ฝรั่งเขาว่าอย่างไร ถ้าเราจะหาความสุขสักหนึ่งชั่วโมงเขาให้ไปตกปลา เพราะการตกปลา เราได้รับอากาศสดชื่น ลมพัดเย็นๆ ดูปลากินเบ็ด ทำให้ลืมทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ปลาคงไม่มี ความสุขด้วยหรอก

ถ้าอยากมีความสุขสักหนึ่งเดือน ฝรั่งเขาบอกให้แต่งงาน เพราะช่วงหนึ่งเดือน แรกของการแต่งงาน ชีวิตจะมีแต่ความหวานสดชื่น "เมื่อแรกรัก น้ำต้มผักก็ว่าหวาน แต่พอนานๆ แม้น้ำตาลก็ว่าขม " ตรงนี้ พล.อ. เปรม ไม่ได้กล่าว ผมคิดเอาเอง หลายราย แตกร้าวภายในเดือนเดียวที่อยู่ต่อไปได้ก็เพราะต่างปรับตัวเข้าหากัน มีสุขบ้างทุกข์บ้าง ไม่ใช่สุขอย่างเดียว

ถ้าอยากมีความสุขนานๆ เป็นความสุขตลอดชีวิต เราต้องอุทิศตนเพื่อคนยาก คนจน ทำงานเพื่อคนยากคนจนให้เขาพ้นจากความยากลำบากช่วยตัวเองได้ ใครทำได้ อย่างนี้จะมีความสุขตลอดชีวิต "ที่ชีวิตผมมีความสุขอย่างนี้ เพราะผมทำงาน เพื่อ คนยากคนจน" พล.อ.เปรม สรุป

ฟังจบทุกคนยกมือไหว้ ทุกคำพูดรู้ได้ว่าหลั่งมาจากส่วนลึกของจิตใจอย่าง แท้จริงผมฟังแล้วขนลุก ทั้งความคิดและการกระทำของท่านน่าสรรเสริญจริงๆ

ผมเลยถือโอกาสเล่าให้ท่านฟังว่า เมื่อตอนผมขึ้นเป็นเลขาธิการคณะกรรมการ การศึกษาแห่งชาติ ได้เป็นระดับ 10 เป็นครั้งแรก ดร.ก่อ สวัสดิพาณิชย์ ถามผมว่าได้เป็น เลขาฯ แล้วคิดจะทำอะไร ผมตอบท่านว่าผมอยากทำงานเพื่อคนยากคนจน อยากเห็นเขา ได้รับการศึกษาที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ เพราะเชื่อว่าการศึกษาจะเปลี่ยนชีวิตเขาได้ ถ้าคนจน ได้รับการศึกษาเขาจะได้มีโอกาสปรับปรุงการงานหน้าที่ให้ดีขึ้น แม้แต่ชาวนาก็คงทำนา ได้มีคุณภาพให้ดีขึ้น คนฐานะดีในสังคมได้เปรียบมามากแล้ว ผมขอทุ่มเทเพื่อคนจนบ้าง ดร.ก่อ บอกผมว่า "ถ้าคุณคิดอย่างนี้ก็ดีแล้ว ผมก็ทำงานเพื่อคนจน ถ้าเลขาฯ คิดเช่นนี้ ผมจะช่วยด้วย"

ผมเรียน พล.อ.เปรม ว่าความคิดของท่านช่างตรงกับอาจารย์ ดร.ก่อ เสียเหลือเกิน ผมฟังท่านแล้วทำให้ผมมีความเชื่อมั่นกับงานที่ผมพยายามผลักดันที่กระทรวงศึกษาธิการ ยิ่งขึ้น

พล.อ. เปรม มองหน้าผมสักครู่แล้วกล่าวว่า ถ้ากระทรวงศึกษาธิการมีคนคิด อย่างผมและอย่างท่านปลัด ไม่ต้องทุกคนหรอก เพียงแค่ครึ่งหนึ่งก็พอ คิดว่าประเทศชาติ ของเราจะเจริญก้าวหน้ากว่าที่เป็นอยู่อย่างมาก ขอปลัดอย่าได้ย่อท้อช่วยกันทำงานเพื่อคน ยากจนต่อไป

ชั่วโมงเศษที่ได้สนทนากับ พล.อ. เปรม มีคุณค่ามากเหลือเกินจึงขอจดจารึก ไว้เป็นส่วนหนึ่งของบันทึกชีวิตของผม และอยากจะถามผู้คนในวงการศึกษาว่า ท่านกำลัง ทำงานเพื่อคนยากคนจนอยู่หรือเปล่า

แหล่งที่มา

พนม พงษ์ไพบูลย์. (2553). บันทึกปลัดกระทรวงศึกษาธิการ: ฉบับที่หนึ่ง ความสุขของชีวิต.

ค้นเมื่อ พฤศจิกายน 23, 2553, จาก
http://www.moe.go.th/web-panom/article-panom/book-panom01.htm

 


Copyright
All copyright rights in the Dewey Decimal Classification system are owned by OCLC. Dewey, Dewey Decimal Classification, DDC and WebDewey are registered trademarks of OCLC
Revised:March 2009


Send comments to Chumpot@hotmail.com