ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์
โครงการห้องสมุดโรงเรียนในฝัน

***ร่วมสร้างองค์ความรู้ สู่การศึกษาตลอดชีวิต วิทยพัฒนาเด็กไทยในท้องถิ่น***


000 หมวดเบ็ดเตล็ด
(Generalities)

100 หมวดปรัชญา
(Philosophy)

200 หมวดศาสนา
(Religion)

300 หมวดสังคมศาสตร์
(Social Sciences)

400 หมวดภาษาศาสตร์
(Language)

500 หมวดวิทยาศาสตร์
(Pure Sciences)

600 หมวดเทคโนโลยี
(Technology)

700 หมวดศิลปะ
(The Arts)

800 หมวดวรรณคดี
(Literature)

900 หมวดประวัติศาสตร์
(Geography & History)


Home

   

370.28 รวมบทความทางการศึกษา

ทิศทางการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ควรจะเป็น
ดร.พนม พงษ์ไพบูลย์

โลกกำลังประสบปัญหาใหญ่ที่คนจำนวนมากยังไม่ตระหนักนัก คือภาวะโลกร้อน (Global Warming) การที่อุณหภูมิของโลกค่อยๆเพิ่มขึ้น ทำให้สภาพดินฟ้าอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงไป น้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนือกำลังละลาย ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ผู้คนหวั่นวิตกน้ำจะท่วมโลก เกิดพายุฝนฟ้าคะนองมากผิดปกติในบางพื้นที่ ต้นเหตุมาจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงมากเกินไป ทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดภาวะเรือนกระจก กักเก็บความร้อนไว้ในโลก

นอกจากนี้ โลกกำลังมีปัญหาน้ำมันราคาแพง ราคาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เศรษฐกิจของโลกปั่นป่วนวุ่นวาย ต้นเหตุเกิดจากการใช้น้ำมันกันมากเกินไป และน้ำมันก็มีอยู่จำกัด ถ้าใช้กันอย่างที่เป็นอยู่ อีกไม่เกิน100ปี น้ำมันจะหมดไปจากโลก คนทั้งโลกจะเดือดร้อนหนักขึ้น ปัญหาการขาดแคลนน้ำมันทำให้เกิดปัญหากระทบกระทั่งระหว่างประเทศ เกิดสงครามในรูปแบบต่างๆ โลกขาดความสงบสุข เกิดความขัดแย้ง เกิดการเอารัดเอาเปรียบ เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในระดับโลก

ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก จึงได้รับผลกระทบจากปัญหาระดับโลกมาเป็นปัญหาของชาติด้วย ปัญหาน้ำมันแพงระดับโลก ทำให้เศรษฐกิจของไทยได้รับผลกระทบ เกิดปัญหาสินค้าราคาแพง ปัญหาเงินเฟ้อ คนมีรายได้ไม่พอรายจ่าย คนที่เดือดร้อนคือคนที่มีรายได้น้อย รัฐบาลต้องหาวิธีการมาช่วยเหลือ ซึ่งก็คงประทังได้เพียงระดับหนึ่ง เพราะรากเหง้าของปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข

ประเทศชาติยังประสบปัญหาอีกหลายอย่างนอกจากปัญหาพลังงาน ปัญหาการเมืองเป็นปัญหาใหญ่ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหาความขัดแย้งทางความคิดของคนสองกลุ่มที่ชัดเจน นำประเทศชาติไปสู่ภาวะวิกฤต ชะงักงันในทุกๆด้าน เกิดปัญหาความไม่สงบสุขในชาติ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ปัญหาลึกซึ้งรุนแรงจนหลายฝ่ายวิตกกังวล เกรงจะหาทางออกไม่ได้

ปัญหาความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ก็เป็นปัญหาใหญ่ของคนไทยทั้งชาติ เพราะทำให้เสียชีวิต ทรัพย์สิน ทรัพยากรของชาติที่ควรจะใช้เพื่อพัฒนาประเทศ กลับต้องนำมาใช้เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ผู้คนขาดความรู้สึกปลอดภัย การประกอบอาชีพมีความยากลำบาก เกิดความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน บั่นทอนความเจริญและความมั่นคงของประเทศชาติ

นอกจากปัญหาหลักๆที่ยกมาแล้ว ประเทศไทยยังมีปัญหาที่ผู้คนไม่ตระหนักถึงอีกจำนวนมาก และปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์มีผลต่อการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ทำให้รูปแบบการดำรงชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไป ทำให้การลื่นไหลของข้อมูลข่าวสารเกิดขึ้นรวดเร็ว ทำให้วิถีชีวิตสะดวกสบายมากขึ้น แต่คนที่ล้าหลังต่อการพัฒนาก็จะถูกทิ้งห่างมากขึ้น การพึ่งพากันในระดับโลกมากขึ้น ส่งผลให้รูปแบบการทำมาหากินเปลี่ยนแปลงไป การงานอาชีพเปลี่ยนไป คนในอาชีพเกษตรกรรมลดจำนวนลง ในขณะที่อาชีพด้านอุตสาหกรรมและบริการเพิ่มขึ้น ชุมชนเมืองขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่ชนบทหดตัวเล็กลง ครอบครัวเดี่ยวเพิ่มขึ้น สุขภาพอนามัยของคนดีขึ้น คนเกิดใหม่ลดลง แต่ผู้สูงอายุมีมากขึ้นมีปัญหาผู้สูงอายุขาดผู้ดูแล

ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นบริบทของการศึกษา ทั้งบริบทในระดับโลกและบริบทภายในประเทศของเราเอง ทั้งหมดส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการพัฒนาการศึกษาของประเทศ ผลกระทบที่เห็นเป็นรูปธรรมก็เช่น ความไม่สงบในภาคใต้ ทำให้ครูและนักเรียนไม่ปลอดภัย ครูขาดขวัญ มีครูย้ายออกจากพื้นที่มาก เกิดปัญหาขาดแคลนครู กิจกรรมการเรียนการสอนทำได้ไม่เต็มที่ เกิดปัญหาคุณภาพการศึกษา ประชากรย้ายถิ่น ทำให้เกิดปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก ในขณะที่โรงเรียนในเมืองไม่พอบริการ ปัญหาเด็กบางกลุ่มโดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสถูกละเลย ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนในเมืองกับโรงเรียนในชนบท ยังมีปัญหาอีกมากมายที่รอการแก้ไข

ในขณะที่ในระบบการศึกษาเองก็มีปัญหา การปฏิรูปการศึกษาที่ทำกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 หลังจากมีพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติเป็นเวลาเกือบ10ปีแล้ว ก็ยังมีปัญหาสืบเนื่อง ปัญหาใหญ่ขณะนี้คือ โรงเรียนมัธมศึกษาเรียกร้องการมีระบบบริหารของตนเองแยกออกมาจากการศึกษาพื้นฐานโดยรวม สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการจัดระบบโครงสร้างที่ไม่ลงตัว ปัญหาการแย่งกันเข้าเรียนต่อโดยเฉพาะชั้นมัธยมศึกษา สะท้อนถึงความไม่พอเพียง และคุณภาพการศึกษาที่แตกต่างกัน เกิดปัญหาการต้มตุ๋นหลอกลวง เรียกรับเงิน เหล่านี้เป็นสิ่งน่าละอาย ไม่สมควรเกิดขึ้นในวงการการศึกษา ปัญหาครูและบุคลากรที่ยังไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน มีการเสนอผลงานเพื่อปรับวิทยฐานะจำนวนมาก แต่ที่ปรับได้มีจำนวนน้อย ปัญหาครูมีหนี้สิน ปัญหาการผลิตครูให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน

ผลการประเมินคุณภาพการศึกษาที่จัดทำและนำเสนอโดยสำนักงานสภาการศึกษา สรุปได้ว่า จากเป้าหมายเชิงนโยบายของชาติที่ต้องการให้คนมีคุณธรรม นำความรู้ นั้นบรรลุเป้าหมายได้เพียงครึ่งเดียว คือการสร้างคุณธรรมให้กับเด็กและเยาวชน แม้จะยังมีปัญหาอยู่มาก แต่โดยรวมแล้วก็ถือว่าจัดได้ดีพอสมควร แต่ความรู้กลับมีปัหา ผลการประเมินระดับชาติไม่ว่าจะชั้น ป.6 ม. 3 หรือ ม.6 ค่าเฉลี่ยผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนไม่ถึงมาตรฐานที่ควรจะเป็นคือ50 พบว่าเด็กไทยอ่อนภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นพื้นฐานการเรียนรู้ที่สำคัญ สำหรับโลกปัจจุบันและอนาคต เราเคยภูมิใจว่าเป็นเสือตัวที่ห้าภาคเศรษฐกิจในเอเชีย ขณะนี้เสือตัวที่ห้ามีปัญหาคุณภาพการศึกษา ผลการประเมินระดับนานาชาติเปิดเผยให้เห็นว่าคุณภาพการศึกษาไทยอยู่ระดับหลังของหลายประเทศในเอเชีย และอยู่ระดับค่อนข้างท้ายในระดับนานาชาติ ผลการประเมินของ สมศ. เปิดเผยว่ามีโรงเรียนไม่ผ่านการประเมินถึง 17,432 โรง และที่มีอาการน่าเป็นห่วง ที่เรียกกันว่าโรงเรียน ICU ถึง 560 โรง เหล่านี้สะท้อนให้เห็นปัญหาด้านคุณภาพมาตรฐานของการศึกษาขั้นพื้นฐาน ถ้าคิดจะแข่งขันในระดับนานาชาติต้องรีบยกมาตรฐานการศึกษาไทย แต่จะทำได้อย่างไรยังเป็นที่น่าเป็นห่วง

จากการวิเคราะห์งบประมาณเพื่อการศึกษา พบว่าเพิ่มขึ้นทุกปี แต่เมื่อเทียบกับสัดส่วนงบประมาณเพื่อการอื่นแล้วไม่ได้เพิ่มขึ้น มีแนวโน้มลดลงด้วยซ้ำ อุดมศึกษามีสัดส่วนการเพิ่มสูงกว่าการศึกษาขั้นพื้นฐาน งบประมาณการศึกษาขั้นพื้นฐานส่วนใหญ่ (80%) ยังใช้เป็นเงินเดือนและค่าจ้าง งบพัฒนามีน้อยและลดลง แผนงานโครงการด้านคุณภาพการศึกษาจึงไม่ค่อยได้รับการดูแล งบลงทุนเพื่อการศึกษาพบว่ามีอัตราต่ำมาก ขัดแย้งกับความต้องการซึ่งมีปริมาณสูง

ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ในมาตรา49 “บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาไม่น้อยกว่าสิบสองปี ที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้อยู่ในภาวะยากลำบาก ต้องได้รับสิทธิตามวรรคหนึ่ง และการสนับสนุนจากรัฐเพื่อให้ได้รับการศึกษาโดยทัดเทียมกับบุคคลอื่น” ยังมีปัญหาทางปฏิบัติอยู่มาก มีการแปลความที่ต่างกัน และเกิดข้อจำกัดในการพัฒนาคุณภาพ มัธยมศึกษาได้รับผลกระทบกมากกว่าประถมศึกษา

ถ้าดูในเชิงปริมาณ การศึกษาภาคบังคับคือประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนต้นจัดได้กว้างขวางและทั่งถึงพอสมควร ประชากรวัยเรียนร้อยละ98ได้รับการศึกษาภาคบังคับถึงม.ต้น แต่สัดส่วนการเรียนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย เข้าถึงได้เพียงร้อยละ73 ค่าเฉลี่ยการศึกษาของคนไทยยังอยู่ที่8.6 ไม่ถึงการศึกษาภาคบังคับ9ปี

ยังมีคนในวงการการศึกษาไม่มากนักที่ทราบว่า กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดกรอบทิศทางการพัฒนาการศึกษา ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่10 (พ.ศ.2550-2554) ออกมาแล้ว กรอบนี้จะเป็นตัวกำหนดทิศทางการพัฒนาการศึกษาของประเทศ5ปีข้างหน้า (จริงๆแล้วเหลืออีกเพียง3ปีเศษๆ) ถ้าไม่รีบดำเนินการคงยากที่จะบรรลุเป้าหมายได้

ภายใต้ปัญหาและข้อจำกัดต่างๆที่ยกมา เป็นความจำเป็นของนักการศึกษาและผู้รับผิดชอบ จะต้องช่วยกันกำหนดแนวทางเดินทางการศึกษาที่เหมาะสมกับสังคมไทย ทั้งในภาพรวมและในพื้นที่ย่อยที่มีความเป็นไปได้ ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ในการยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศโดยรวม สมควรจะทำเรื่องใดก่อนและหลังอย่างไร สมควรได้รับการพิจารณา ประเด็นปัญหาที่อยากฝากให้ช่วยกันคิดแก้ไขคือ

1. การยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาพื้นฐานให้สูงขึ้น ทำอย่างไรจะให้เด็กไทยอ่านคล่อง เขียนคล่อง คิดเลขคล่อง

2. ระบบบริหารการศึกษาพื้นฐานที่ยังไม่ลงตัวจะแก้ปัญหาอย่างไร ความคิดที่จะมีเขตพื้นที่การศึกษาของมัธยมศึกษาเป็นการเฉพาะอาจเป็นเรื่องที่ดี แต่การคิดแก้บางส่วน อาจไม่สามารถแก้ได้ทั้งหมด จะแก้ทั้งระบบได้อย่างไร

3. ปัญหาครูบุคลากรทางการศึกษายังเป็นปัญหาใหญ่ ปัญหาการกระจายครู ปัญหาครูขาด ครูเกิน ปัญหาคุณภาพของครู ปัญหาหนี้สินของครู ล้วนเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาทั้งสิ้น

4. ปัญหาการถ่ายโอนความรับผิดชอบการศึกษาขั้นพื้นฐานสู่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ยังมีความลักลั่นไม่ลงตัว จริงๆแล้วน่าจะเป็นเรื่องการร่วมมือกันรับผิดชอบมากกว่าการถ่ายโอนความรับผิดชอบ จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้อย่างไร

5. หลักสูตรและกระบวนการจัดการเรียนรู้ยังไม่บรรลุผลตามเจตนารมณ์ ครูยังยึดเนื้อหาสาระมากกว่ากระบวนการเรียนรู้

6. สื่อและเทคโนโลยีทางการศึกษายังไม่ทั่วถึง ไม่เพียงพอ และยังพัฒนาได้ช้า โรงเรียนขาดแคลนเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ และการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ยังไม่กว้างขวาง

7. การกระจายอำนาจการจัดการศึกษาจากส่วนกลางไปยังสถานศึกษา และเขตพื้นที่การศึกษายังไม่เป็นการกระจายอำนาจที่แท้จริง ยังเป็นการกระจายความรับผิดชอบโดยมีเงื่อนไข จะแก้ปัญหาได้อย่างไร

8. พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตลอดชีวิตผ่านการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ที่จะต้องจัดควบคู่ไปกับการศึกษาในระบบ แต่ทั้งสองระบบยังแยกกันจัดแบบคู่ขนาน สมควรดำเนินการอย่างไรให้เป็นระบบเดียวกัน

9. สังคมต้องการความช่วยเหลือจากการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาสังคม คนไทยขาดความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตย ขาดการรับรู้เรื่องสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์สุจริต สำนึกสาธารณะ ความโปร่งใส ความเป็นธรรม ความเสมอภาค การศึกษาจะมีส่วนช่วยได้อย่างไร

10.นิสัยบางอย่างที่ควรปลูกฝังเพื่อให้เกิดการพัฒนาตัวเอง เช่น นิสัยรักการแสวงหาความรู้ นิสัยรักการอ่าน รวมถึงการช่วยกันสร้างสังคมให้เป็นสังคมเพื่อการเรียนรู้ สมควรดำเนินการอย่างไร

ที่ยกมา10ประการ เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องช่วยกันคิดแก้ปัญหา และหาทางพัฒนา เพื่อให้การศึกษาขั้นพื้นฐานสามารถสร้างพื้นฐานชีวิตให้คนไทยและสังคมไทยได้อย่างแท้จริง

แหล่งที่มา

Gotoknow.org. (2553). รวมความคิดและบทความของ ดร.พนม พงษ์ไพบูลย์.

ค้นเมื่อ ตุลาคม 23, 2553, จาก
http://gotoknow.org/blog/panom/197908

 


Copyright
All copyright rights in the Dewey Decimal Classification system are owned by OCLC. Dewey, Dewey Decimal Classification, DDC and WebDewey are registered trademarks of OCLC
Revised:March 2009


Send comments to Chumpot@hotmail.com