|
370 การศึกษา
370.28 รวมบทความทางการศึกษา
รวมบทความทางการศึกษาของ ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์
นิธิ เอียวศรีวงศ์ : อวสานของนักวิชาการ
นักวิชาการในมหาวิทยาลัยอเมริกันคนหนึ่ง เคยตั้งข้อสังเกตกับผมว่า นักวิชาการอเมริกันนั้นไม่ค่อยมีอิทธิพลทางการเมืองเท่ากับนักวิชาการไทย ไม่ว่าเขาจะพูดอะไร ไม่ว่าจะพูดดีหรือเฮงซวยแค่ไหน ก็แทบจะหาสื่อมารายงานสิ่งที่เขาพูดไม่ได้ ถึงมีสื่อรายงาน ก็ไม่เคยพาดหัวหนังสือพิมพ์ ซ้ำรายงานสั้นจนจับเหตุผลข้อเสนอของเขาไม่ได้ และที่ร้ายไปกว่านั้นคือสังคมอเมริกันไม่สนใจเลย
ศาสตราจารย์ George McT. Kahin นักรัฐศาสตร์ผู้โด่งดังของมหาวิทยาลัยคอร์แนล เล่าใน Southeast Asia : A Testament ว่า ในการรณรงค์ต่อต้านสงครามเวียดนามของท่านนั้น ท่านต้องเที่ยวตระเวนพูดและสอนเกี่ยวกับสงครามเวียดนามไปตามแคมปัสต่างๆ ของหลายมหาวิทยาลัยทั่วสหรัฐ แม้แต่เข้าร่วมประท้วงกับนักศึกษาในบางครั้ง จนในที่สุด ก็กลายเป็นนักวิชาการที่ต่อต้านสงครามเวียดนามตัวเด่น สภาคองเกรสจึงเชิญท่านไปให้การเกี่ยวกับสงครามเวียดนามแก่คณะกรรมาธิการ แต่สื่อส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ลงคำให้การของท่าน หรือลงเหมือนเป็นข่าวเหตุการณ์มากกว่าการชี้แจงแสดงเหตุผล หรือร้ายไปกว่านั้นบางฉบับก็ลงผิดเสียอีก
ดังนั้น สังคมอเมริกันจึงแทบไม่ได้เรียนรู้ความเห็นต่างเกี่ยวกับนโยบายของสหรัฐที่พึงมีต่อเวียดนาม อย่างน้อยก็ไม่ได้เรียนรู้จากนักวิชาการโดยตรง แต่อาจรับรู้โดยทางอ้อมผ่านการประท้วงขนาดใหญ่ต่างๆ (แต่ในขณะเดียวกัน คนอเมริกันก็อ่านหนังสือมากกว่าไทย จึงอาจรู้ความเห็นทางวิชาการได้ผ่านสื่ออื่นที่ไม่ใช่รายวัน)
ผมจึงเห็นจริงตามที่นักวิชาการอเมริกันตั้งข้อสังเกตกล่าวคือหากนำมาเปรียบเทียบกับนักวิชาการไทยแล้วอิทธิพลทางการเมืองของนักวิชาการอเมริกันมีน้อยมากแต่ในหมู่นักวิชาการไทยไม่ว่าจะพูดอะไร ดีหรือเฮงซวยแค่ไหน ก็มักมีข่าวปรากฏให้ได้รู้กันในสื่อ อย่างน้อยก็ในหน้าหนังสือพิมพ์ และมาในระยะหลังๆ ก็มีแม้แต่ในข่าวทีวีด้วย ยิ่งหากเป็นนักวิชาการใหญ่ ข่าวคำพูดของเขาอาจถูกนำไปพาดหัวหนังสือพิมพ์เอาเลย
อันที่จริง คนที่ถูกจัดว่าเป็นนักวิชาการในเมืองไทยนั้นมีน้อยมาก เช่น อาจารย์เกษียร เตชะพีระ เพิ่งยกตัวเลขมาให้ดูเร็วๆ นี้ว่า เรามีศาสตราจารย์อยู่เพียงเก้าร้อยกว่าคน แต่มีนายพลเข้าไปพันสี่ น่าสังเกตว่าในพันสี่นั้น มีนายพลเพียงไม่ถึง 10 คนกระมังที่พูดอะไรแล้ว สื่อนำไปขยายต่อ แต่มีศาสตราจารย์หรือนักวิชาการที่ยังไม่ได้ตำแหน่งนั้นอีกเป็นร้อย ที่พูดอะไรปับ ก็มีข่าวในสื่อทันที
ไม่เพียงแต่เสียงดังกว่าคนทั่วไปเท่านั้น นักวิชาการยังมักถูกเลือกหรือได้รับเชื้อเชิญให้เข้าไปนั่งตำแหน่งสาธารณะต่างๆ อยู่เสมอ ในรัฐธรรมนูญสองฉบับที่ถูกฉีกทิ้งไป แม้แต่ได้ชื่อว่าเป็นนักวิชาการก็ได้อภิสิทธิ์ขึ้นมาทันที เพราะจะเป็นผู้เลือกบุคคลเข้าไปดำรงตำแหน่งสาธารณะอื่นๆ ได้อีก
"สัตว์ประหลาด" พวกนี้โผล่มาจากไหน และได้อิทธิฤทธิ์เช่นนี้มาอย่างไร
อันที่จริงคำว่า "นักวิชาการ" เป็นคำใหม่ เพิ่งเกิดขึ้น (ผมเข้าใจว่า) หลังนโยบายพัฒนาใน 2504 เป็นต้นมา ใครจะเป็นคนคิดขึ้น และใช้กันครั้งแรกจริงๆ เมื่อไรกันแน่นั้น ผมไม่อยู่ในฐานะจะเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้
ข้อนี้ก็ไม่แปลกประหลาดอะไรนะครับ การที่สังคมหนึ่งๆ เข้าสู่ความทันสมัย ย่อมทำให้เกิดอาชีพเฉพาะด้านใหม่ๆ ขึ้นเยอะแยะ ต้องสร้างศัพท์ใหม่หรือเอาศัพท์เก่ามาใช้ในความหมายใหม่เพื่อเรียกคนในอาชีพเหล่านี้ ทนายความก็ใช่ หมอก็ใช่ ดาราก็ใช่ ตำรวจก็ใช่ และว่าที่จริงทหารก็ใช่ด้วย เพราะคำไทยแต่เดิมทหารเป็นเพียงหมวดหมู่ของไพร่เท่านั้น ไม่ได้หมายถึง "ทหาร" อย่างที่เราใช้ในปัจจุบัน
ข้อแตกต่างของศัพท์ "นักวิชาการ" อยู่ตรงที่มันเกิดหลังจากศัพท์ใหม่ๆ ที่ยกตัวอย่างไปแล้ว ซ้ำหลังมากเสียด้วย แปลว่าตั้งแต่ ร.5 ลงมาถึงสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เราไม่มีสำนึกถึงคนประเภทหนึ่งซึ่งจะถูกเรียกในภายหลังว่า "นักวิชาการ" เลย เพราะเราเรียกคนเหล่านี้ว่า "อาจารย์" ซึ่งในสมัยหนึ่งสงวนไว้สำหรับเรียกครูในมหาวิทยาลัยเป็นส่วนใหญ่ แม้เป็น "อาจารย์" จะโก้ดี แต่ไม่มีอิทธิพลอะไรทางการเมืองนะครับ ผมนึกอย่างไรก็นึกไม่ออกว่า ก่อน 2505 มีอาจารย์มหาวิทยาลัยท่านใดบ้าง ที่สามารถพูดอะไรเป็นสาธารณะ เพื่อให้มีผลต่อนโยบายของรัฐบาล หากจะมีคนอย่างหลวงวิจิตรวาทการ หรือ ดร.หยุด แสงอุทัย ซึ่งแน่นอนว่าความคิดเห็นของท่านเหล่านั้น มีผลต่อนโยบายสาธารณะไม่มากก็น้อย ผมก็อยากเดาว่าคนเหล่านั้นไม่ได้อยากเป็นแค่อาจารย์มหาวิทยาลัยแน่ คนหนุ่มในช่วงนั้นที่พูดอะไรให้พอดังออกมาได้บ้าง คือคุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ซึ่งไม่เคยเรียกตัวเองเป็น "นักวิชาการ" แต่ดูเหมือนจะพอใจให้เรียกว่า "ปัญญาชน" มากกว่า
เป็นหลวงวิจิตรฯ เป็นดร.หยุด หรือเป็นคุณสุลักษณ์ มีนัยยะสำคัญกว่าเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยแน่ และท่านก็ไม่ได้เป็น "นักวิชาการ" เพราะสมัยนั้นยังไม่มีคำนี้ไว้สำหรับเรียกอภิสิทธิ์ชนกลุ่มใด
ไม่แปลกอะไรที่ "นักวิชาการ" จะเกิดหลังนโยบายพัฒนาของสฤษดิ์ ในระหว่าง พ.ศ.2504-2515 นักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นจาก 15,000 คน เป็น 100,000 คน จำนวนของบัณฑิตเพิ่มขึ้นในสังคมไทยอย่างรวดเร็ว สิ่งที่อาจารย์มหาวิทยาลัยพูดมีคนฟังมากขึ้น สิ่งที่เขียนก็มีคนอ่านมากขึ้นเหมือนกัน ซ้ำคนที่ฟังและอ่านยังเป็นคนที่มีรายได้สูงกว่าคนทั่วไป มีสำนึกทางการเมืองและสังคม กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ๆ เป็นผู้บริโภคหลักของสินค้าที่ลงโฆษณาในสื่อ และเป็นลูกค้าหลักของสื่อ
หากคนเหล่านี้ฟังหรืออ่านใคร คนนั้นย่อมไม่ใช่คนสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยธรรมดาเสียแล้ว เขาจึงมีสถานะใหม่คือเป็น "นักวิชาการ" ซึ่งไม่ได้กีดกันไว้เฉพาะผู้มีอาชีพสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่อาจรวมถึงใครก็ได้ที่สามารถแสดงความเห็นทางสังคมหรือการเมือง โดยอ้างอะไรที่เป็นวิชาการ (ตำราหรืองานวิจัยหรือการวิเคราะห์ทางสถิติ ฯลฯ) ก็ล้วนถูกเรียกว่าเป็นนักวิชาการ
ใครเรียกหรือครับ สื่อเริ่มเรียกก่อน เพื่อทำให้ความเห็นซึ่งสื่อก็รู้ว่าจะไม่เป็นที่พอใจของอำนาจเผด็จการ ได้มีโอกาสแสดงออกผ่านสื่อบ้าง อย่างน้อยสื่อไม่ได้พูดเอง แต่คนอื่นเป็นคนพูด ซ้ำคนอื่นนั้นก็ไม่ใช่อ้ายเบื๊อกที่ไหนด้วย แต่เป็นนักวิชาการซึ่งก็น่าจะพูดไปตามหลักวิชา ไม่เจตนาประจบใคร ไม่เจตนาโจมตีใคร "วิชาการ" (ไม่ว่าจะหมายความถึงอะไร) จึงเป็นเกราะป้องกันสื่อ
ไม่ได้เป็นเกราะป้องกันสื่อเท่านั้น ผมคิดว่านักวิชาการเองก็อ้างอะไรที่เป็นวิชาการเพื่อปกป้องตนเองเท่าๆ กัน "ผมไม่ได้พูดเองนะ แต่ "วิชาการ" เป็นคนพูดมาก่อน"
ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นท่ามกลางความไร้เสรีภาพในการพูดและแสดงออกภายใต้เผด็จการทหารที่ครองประเทศมาตั้งแต่2500-2516คิดไปก็เป็นการไขว่คว้าหาเสรีภาพของสังคมไทยที่ชาญฉลาดทีเดียวเพราะในวัฒนธรรมไทยความรู้ (วิชชา) มีอยู่หนึ่งเดียว ไม่ว่าใครพูดก็จะตรงกันทั้งสิ้น ในขณะที่ความเห็นอาจมีได้หลายอย่าง อีกทั้งความรู้ยังสัมพันธ์กับความจริงทางศาสนาด้วย ฉะนั้นจึงมีศักดิ์สูงกว่าอะไรหมดทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นคำแถลงของรัฐบาล, ประกาศสำนักนายกฯ, นโยบายของสภาพัฒน์, หรือคำแก้ตัวของท่านรัฐมนตรี
(ผมคิดเสมอว่า นี่คือเหตุผลที่ต้องเรียกว่า "นักวิชาการ" แทนที่จะเป็น "นักวิทยาการ" เพราะศัพท์บาลีขลังกว่าศัพท์สันสกฤต ซึ่งมักถูกใช้เป็นศัพท์ทางโลกย์ในภาษาไทย มากกว่าบาลี)
อย่างไรก็ตาม จุดที่เป็นพลังทางการเมืองของ "วิชาการ" เช่นนี้ กลับเป็นจุดอ่อนทางการศึกษาและภูมิปัญญาไทยในโลกสมัยใหม่ เพราะหากความรู้หรือความจริงมีหนึ่งเดียว จะมีวิธีเรียนรู้มันด้วยวิธีอะไรดีไปกว่า ทำความเข้าใจแล้วจำเอาไว้ แทนที่จะทำความเข้าใจ แล้ววิพากษ์เพื่อหาจุดอ่อนของความรู้นั้นๆ ว่า มันจริงได้เฉพาะในเงื่อนไขจำกัดบางอย่าง หากพ้นออกไปจากเงื่อนไขนั้น มันก็อาจไม่จริงหรือจริงไม่หมดก็ได้
ผลก็คือทำให้การศึกษาและภูมิปัญญาไทยยืนอยู่กับที่ตลอดมา ในขณะที่เพื่อนบ้านอาจรุดหน้าไปอย่างช้าๆ จนเลยเราไป
ภายใต้ระบอบเผด็จการของสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส เสียงของนักวิชาการเป็นเสียงเดียวในสังคมที่ดูเหมือนจะมีเสรีภาพสูงสุด ทั้งดูเหมือนเป็นอิสระที่สุดด้วย เพราะไม่เกี่ยวข้องกับทหาร, นักการเมือง, หรือทุน กลุ่มใดเป็นพิเศษ ทำให้อิทธิพลทางการเมืองของนักวิชาการยิ่งเพิ่มขึ้น
แต่หลัง 14 ตุลาเป็นต้นมา เสรีภาพในสังคมไทยเปิดกว้างขึ้น แม้จะมีการรัฐประหารและยึดอำนาจในหลายๆ รูปแบบตามมาก็ตาม แต่ผู้ยึดอำนาจจะไม่ลิดรอนเสรีภาพอย่างออกหน้า หรืออย่างไร้ขีดจำกัดอย่างแต่ก่อน (ยกเว้นรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร ซึ่งถึงอย่างไรก็มีอายุอยู่เพียงปีเดียว) เสียงของนักวิชาการก็เริ่มจะดังน้อยลงตามลำดับ ความเป็นอิสระของนักวิชาการก็เริ่มถูกพิสูจน์ว่าไม่จริง หลายคนลาออกจากราชการไปสมัครผู้แทนราษฎรในนามพรรคการเมืองบางพรรค และกลายเป็นนักการเมืองเต็มตัว บางคนไปเป็นที่ปรึกษาของบริษัทโบรกเกอร์ในตลาดหุ้น บางคนเข้าใกล้ทหารอย่างออกหน้า บางคนสังกัดอยู่ในสถาบันพระมหากษัตริย์เชิงเครือข่าย
ก่อนจะถึงสงครามเสื้อสี ผมคิดว่าทรรศนะของสังคมไทยต่อนักวิชาการได้เปลี่ยนไปแล้ว กล่าวคือไม่เชื่ออีกแล้วว่านักวิชาการเป็นอิสระ (ทั้งๆ ที่คนเป็นอิสระจริงๆ ก็ยังมี) ถึงไม่สังกัดกลุ่มผลประโยชน์หรือกลุ่มอำนาจใดเลย ก็มีความลำเอียงหรืออคติเข้าข้างหรือเป็นปฏิปักษ์ต่ออุดมการณ์บางอย่างเป็นพิเศษ
สถานะของนักวิชาการในสังคมไทยได้เปลี่ยนไปแล้วความเห็นทางวิชาการของคนเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่พึงรับฟังเป็นพิเศษอีกต่อไปเพราะคนเหล่านี้ล้วนมีสังกัดสังกัดนี้ก็ต้องพูดอย่างนี้แหละสังกัดนั้นก็ต้องพูดอย่างนั้นแหละ ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการหรือไม่ ความไม่เป็นอิสระของนักวิชาการทำให้ไม่น่าเชื่อถือ นับว่าสอดคล้องกับทรรศนะต่อความรู้ที่มีมาในวัฒนธรรมไทยด้วย เพราะความรู้ (หรือวิชชา) นั้นเกิดขึ้นได้จากการรู้ยิ่งที่ปราศจากการครอบงำของอคติสี่
เมื่อนักวิชาการมีอคติ ก็ไม่มีทางรู้ยิ่งได้สิ่งที่เขาอ้างว่าเป็นวิชาการจึงเป็นเพียงความเห็นที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน
ความเสื่อมอิทธิพลทางการเมืองของนักวิชาการไทยเห็นได้ชัดในคสช. หรือคณะรัฐประหารชุดท้ายสุดนี้ คสช.เป็นคณะรัฐประหารคณะแรกที่เรียก "นักวิชาการ" เข้าไปรายงานตัวบางคนก็ถูกกักตัวไว้ บางคนก็ถูกสร้างให้มีคดีติดตัว ยิ่งกว่านี้ คสช.สั่งตรงไปตรงมาเลยว่า นักวิชาการเป็นหนึ่งในกลุ่มบุคคลที่ห้ามมิให้โทรทัศน์สัมภาษณ์หรือนำไปออกรายการ ร่วมกับนักการเมือง หรือผู้นำม็อบ การกระทำต่อนักวิชาการเช่นนี้ของ คสช. ไม่ได้ทำให้ความชอบธรรมของ คสช.ในสังคมไทยลดลง (แม้อาจไม่เพิ่มขึ้น) อย่างน้อยก็ไม่มีใครสะดุ้งสะเทือนในสังคมไทย
ที่น่าสังเกตก็คือ ในคำแถลงขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชนของต่างประเทศ นักวิชาการ (academicians) จะถูกยกเป็นหนึ่งใน "เหยื่อ" ของการละเมิดของคสช.เสมอ ผมไม่ได้หมายความว่านักวิชาการเป็นที่ยกย่องในโลกตะวันตก แต่ผมคิดว่าในทรรศนะของเขา นักวิชาการเป็นพวกที่ไม่มีอันตรายต่อใคร เพราะฤทธิ์เดชของนักวิชาการนั้นอาจสกัดขัดขวางได้ง่าย เนื่องจากนักวิชาการเพียงแต่เสนอความเห็นเชิงวิชาการ หากเราไม่เห็นด้วยก็แสดงความเห็นเชิงวิชาการคัดค้าน หากทำได้ดี นักวิชาการนั้นๆ ก็ต้องเงียบไปเอง หรืออย่างน้อยก็หมดเสียง เพราะไม่มีใครสื่อความเห็นนั้นอีก
บัดนี้สถานะอภิชนของนักวิชาการในสังคมไทยได้สิ้นสุดลงแล้ว ผมมองความเปลี่ยนแปลงนี้ด้วยความยินดี เพราะจะนำไปสู่ข้อสรุปที่สังคมไทยจะต้องเรียนรู้เสียทีว่า ที่เรียกว่าความรู้นั้นที่จริงก็คือความเห็น ไม่ได้มีอะไรต่างกัน ดังนั้น การศึกษาเล่าเรียน คือการทำความเข้าใจความเห็นของคนอื่นอย่างถึงแก่น แล้วพยายามมองหาจุดแข็ง จุดอ่อนของความเห็นนั้น โดยไม่เกี่ยวว่าความเห็นนั้นเป็นของคนที่ได้รับยกย่องให้เป็นปราชญ์หรือไม่ เป็น "บิดา" ของวิชาโน้นวิชานี้หรือไม่ หรือสวมเสื้อสีอะไร
ในขณะเดียวกัน ใครก็ตามที่จะนำเสนอความเห็นของตนต่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการหรือช่างตัดผม ต้องไตร่ตรองและค้นคว้าหาข้อมูลที่เพรียบพร้อมขึ้น เพื่อทำให้ความเห็นนั้นได้ถูกรับฟัง ไม่ใช่เพราะสถานะของตนเองเท่านั้น
ทั้งหมดนี้ก็ดีแก่ภูมิปัญญาไทยไม่ใช่หรือ
การทำลายสถานะอภิชนของนักวิชาการนั้นดีแก่สังคมแน่แต่ที่น่าวิตกก็คือ "วิชาการ" เล่าจะถูกลดสถานะลงไปด้วยหรือไม่ เช่นผู้มีอำนาจอาจเสนอนโยบายสาธารณะได้ โดยไม่ต้องห่วงว่าขัดแย้งกับความเป็นจริง ตัวเลขสถิติ ประสบการณ์ในสังคมอื่น ตรรกะและเหตุผล ฯลฯ อำนาจดิบเพียงอย่างเดียวคือผู้ตัดสินใจในนโยบายสาธารณะต่างๆ ไม่มีข้อมูลหรือความเห็นแย้งใดๆ มาขัดเกลาให้นโยบายนั้นมีทางทำได้สำเร็จ และส่งผลดีแก่ส่วนรวมเลย
ดังเช่นนโยบายผักตบชวา, ขึ้นภาษีแวต, ภาษีมรดกและที่ดิน, เลิกรถไฟความเร็วสูง, สอนประวัติศาสตร์ที่มีเนื้อหายกย่องวีรบุรุษแก่นักเรียน, ฯลฯ
แหล่งที่มา
มติชน. (2557). นิธิ เอียวศรีวงศ์ : อวสานของนักวิชาการ. ค้นจาก
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1411362433
|
|